แผลเปบติค (Peptic ulcer) / แผลในกระเพาะอาหาร (Gastric ulcer)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 2 กันยายน 2560
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ
- โรคแผลเปบติคมีสาเหตุจากอะไร?
- โรคแผลเปบติคมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคแผลเปบติคได้อย่างไร?
- รักษาโรคแผลเปบติคได้อย่างไร?
- มีผลข้างเคียงจากโรคแผลเปบติคไหม?
- โรคแผลเปบติครุนแรงไหม?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- ป้องกันโรคแผลเปบติคได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินอาหาร (Digestive disease)
- ปวดท้อง (Abdominal pain)
- เลือดออกในทางเดินอาหาร (Gastrointestinal bleeding or GI bleeding)
- ลำไส้อุดตัน (Intestinal obstruction)
- มะเร็งกระเพาะอาหาร (Gastric cancer)
- โรคติดเชื้อเอชไพโลไร (H.pylori infection)
- วิธีใช้ ยาลดกรด ยาแก้โรคกระเพาะ (Guide to safe use of antacid)
- ยาเคลือบกระเพาะอาหาร ยาเคลือบกระเพาะ (Tip of Stomach-lining protector)
- ยาแก้ปวดท้อง ยาบรรเทาอาการปวดท้อง (Antispasmodic drugs)
- ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน (Antiemetics)
- ยาฆ่าเชื้อ (Antimicrobial drug) ยาแก้อักเสบ (Anti inflammatory drug)
บทนำ
โรคแผลเปบติค (Peptic ulcer) หรือ เรียกย่อว่า โรค พียู (PU) หรือ พียูดี (PUD, Pep tic ulcer disease) หรืออาจเรียกว่า โรคแผลในกระเพาะอาหาร (Gastric ulcer) ได้แก่ โรคซึ่งเกิดมีแผลขึ้นในกระเพาะอาหาร และ/หรือ ลำไส้เล็กส่วนต้นที่เรียกว่า ดูโอดีนัม (Duode num) และบางครั้งเป็นส่วนน้อย อาจเกิดแผลในบริเวณปลายหลอดอาหารส่วนที่อยู่ต่อกับกระเพาะอาหารร่วมด้วยได้ ทั้งนี้ เกิดจากเยื่อเมือกบุภายในทางเดินอาหารเหล่านี้ถูกทำลายโดยน้ำย่อยจากกระเพาะอาหาร ชื่อ เปบซิน (Pepsin) ซึ่งเป็นที่มาของชื่อโรคว่า แผลเปบติค ซึ่งเปบซินเป็นน้ำย่อยโปรตีนที่ทำงานร่วมกับกรดในกระเพาะอาหาร โดยมีกรดเป็นตัวปลุกฤทธิ์ (Activate)ให้น้ำย่อยนี้มีประสิทธิภาพในการย่อยเพิ่มขึ้น
เนื่องจาก แผลสามารถเกิดได้ทั้งในกระเพาะอาหาร และในลำไส้เล็กดังกล่าวแล้ว ดัง นั้น โรคนี้เมื่อเกิดแผลเฉพาะในกระเพาะอาหาร จึงเรียกว่า “โรคแผลในกระเพาะอาหาร (Gastric หรือ Stomach ulcer หรือ เรียกย่อว่า จียู, GU) “ และเมื่อเกิดแผลเฉพาะในลำไส้เล็ก จึงเรียกว่า “โรคแผลในลำไส้เล็ก (Duodenal ulcer หรือ เรียกย่อว่า ดียู, DU)”
ในบทความนี้ขอรวมเรียกโรคที่เกิดแผลทั้งในกระเพาะอาหาร และ/หรือลำไส้เล็กว่า โรคแผลเปบติต เพราะเป็นโรคที่มีสาเหตุ อาการ การวินิจฉัย ตลอดจนการรักษาและอื่นๆเหมือนกัน
โรคแผลเปบติค เป็นโรคพบได้บ่อยโรคหนึ่ง พบได้สูงในประเทศด้อยพัฒนา (แต่ไม่มีสถิติชัดเจน) พบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่ในเด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยพบได้สูงขึ้นเรื่อยๆเมื่อสูง อายุขึ้น ทั้งนี้อัตราเกิดโรคใกล้เคียงกันทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย ในสหรัฐอเมริกา พบคนเป็นโรคนี้ได้ประมาณ 350,000-500,000 คนต่อปี โดย 70% พบในช่วงอายุ 25-64 ปี
โรคแผลเปบติคมีสาเหตุจากอะไร?
สาเหตุพบบ่อยของแผลเปบติคเกิดจากการติดเชื้อ แบคทีเรีย ชื่อ เอช ไพโลไร (H. pylori หรือ Helicobacter pylori) พบได้ประมาณ 60% ของแผลในกระเพาะอาหารทั้งหมด และเป็นประมาณ 90% ของแผลในลำไส้เล็กดูโอดีนัมทั้งหมด
เอช ไพโลไร เป็นแบคทีเรียที่มีคนเป็นรังโรค แต่พบในแมวเลี้ยง และสุนัขเลี้ยงได้บ้าง เป็นแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในส่วนที่มีความเป็นกรดสูง ซึ่ง คือ กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กดูโอดีนัมนั่นเอง เป็นแบคทีเรียที่ติดต่อได้จากการสัมผัสน้ำลายของผู้ติดเชื้อแบคทีเรียนี้ แต่มีรายงานพบแบคทีเรียนี้ในอุจจาระได้ ดังนั้นการติดต่ออีกทาง คือ การกินแบคทีเรียจากอาหาร และน้ำดื่มปนเปื้อนแบคทีเรียนี้ จากการขาดสุขอนามัยพื้นฐาน จึงเป็นสาเหตุให้พบโรคแผลเปบติกได้สูงขึ้นในประเทศด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา ดังกล่าวแล้ว
ส่วนสาเหตุอื่นๆที่พบได้ คือ
- จากผลข้างเคียงของยาต้านการอักเสบ/ยาแก้อักเสบใน กลุ่มยาแก้ปวด เอ็นเสดส์ (NSAIDs, Non-steroidal anti-inflammatory drugs) ที่ใช้รักษาโรคปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อต่างๆ และโรคเกาต์ เช่น ยาแอสไพริน ยาเซเลโคซิบ (Celecoxib) ยาไดโคลฟีแนค (Diclofenac) ยาอินโดเมธาซิน (Indomethacin) และยา ไอบูโปร เฟน (Ibuprofen)
- ความเครียด โดยเฉพาะเมื่อร่างกายมีความเครียดสูงจากการเจ็บป่วย รุนแรง หรือ อุบัติเหตุต่อสมอง จะส่งผลให้กระเพาะอาหารสร้างกรดมากขึ้น และเมื่อร่วมกับเยื่อเมือกของกระเพาะอาหาร และลำไส้ขาดเลือดจากการเจ็บป่วยเหล่า นี้ จึงเกิดเป็นแผลได้ง่าย
- บุหรี่ แต่บางการศึกษาพบว่า การสูบบุหรี่ไม่ใช่สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดแผลเปบติค แต่ทำให้อาการของแผลเปบติครุนแรงขึ้น และยังเป็นสาเหตุให้โรคย้อน กลับเป็นซ้ำภายหลังรักษาหายแล้ว ทั้งนี้เพราะสารพิษในบุหรี่กระตุ้นให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดเพิ่มขึ้น
- แอลกอฮอล์ ไม่ได้เป็นสาเหตุโดยตรงให้เกิดแผลเปบติค แต่เป็นสาเหตุก่อการระคายเคืองต่อเยื่อเมือกของกระเพาะอาหารและของลำไส้เล็ก จึงทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น
- โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร พบเป็นสาเหตุของแผลในกระเพาะอาหารได้ประมาณ 4%
- พันธุกรรม เพราะพบโรคได้สูงกว่าในคนมีประวัติครอบครัวเป็นแผลในลำไส้เล็กดูโอดีนัม
- โรคบางโรคที่พบได้น้อยมากๆ ที่กระตุ้นเซลล์กระเพาะอาหารให้หลั่งกรดมากขึ้น เช่น โรคเนื้องอกบางชนิดของกระเพาะอาหาร
โรคแผลเปบติคมีอาการอย่างไร?
อาการสำคัญของโรคแผลเปบติค คือ ปวดท้องบริเวณยอดอกหรือบริเวณใต้ลิ้นปี่ (Epi gastrium) มักปวดเมื่อหิว หรือหลังกินอาหารแล้วประมาณ 2-5 ชั่วโมง อาจตื่นกลางคืนจากปวดท้อง ซึ่งอาการปวดท้องนี้จะดีขึ้นเมื่อ กินอาหาร หรือกินยาเคลือบกระเพาะ หรือกินยาลดกรด
อาการอื่นๆที่พบได้ คือ
- คลื่นไส้ อาจร่วมกับมีอาเจียนบางครั้ง
- เบื่ออาหาร
- ผอมลง
- อาจอาเจียนเป็นเลือด หรือ มีอุจจาระเป็นสีดำเหมือนยางมะตอย เมื่อมีเลือด ออกจากแผล
- ภาวะลำไส้อุดตัน จากแผลก่อให้เกิดพังผืด จึงส่งผลให้ทางเดินในกระเพาะอาหารและ/หรือลำไส้เล็กตีบแคบลง ซึ่งอาการคือ ปวดท้องรุนแรง ร่วมกับอาเจียน โดยเฉพาะหลังกินอาหาร และดื่มน้ำ และไม่สามารถผายลมได้
- อาการจากกระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็กทะลุ โดยจะมีอาการปวดท้องรุนแรงทันที ไม่บรรเทาด้วยยาแก้ปวด และอาจมีไข้สูงร่วมด้วย ทั้งนี้จากมีการอักเสบติดเชื้อรุนแรงของเยื่อบุช่องท้อง (เยื่อบุช่องท้องอักเสบ)
แพทย์วินิจฉัยโรคแผลเปบติคได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคแผลเปบติคได้จาก ประวัติอาการ การตรวจร่างกาย อาจมีการตรวจภาพกระเพาะอาหาร และลำไส้ด้วยเอกซเรย์กลืนแป้ง แต่วิธีนี้มักไม่นิยมในปัจจุบัน หรือการตรวจภาพกระเพาะอาหารและช่องท้องด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ แต่การตรวจที่ให้ผลแน่ นอน คือ การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร และลำไส้ ร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา และอาจมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจหาสารบางชนิดในอุจจาระซึ่งสร้างโดยเชื้อ เอชไพโลไร หรือการตรวจสารบางชนิดที่เชื้อนี้สร้างและร่างกายกำจัดออกทางการหายใจ
รักษาโรคแผลเปบติคได้อย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคแผลเปบติค ขึ้นกับสาเหตุ เช่น กินยาปฏิชีวนะเมื่อเกิดจากติดเชื้อ เอช ไพโลไร หรือการปรับเปลี่ยนการใช้ยา เมื่อเกิดจากยาในกลุ่มเอ็นเสดส์ แต่ร่วมกับกินยาลดกรด และ/หรือ ยาเคลือบกระเพาะอาหาร ซึ่งมีหลากหลายตัวยามาก ทั้งนี้การจะเลือกใช้ยาตัวใดอยู่ในดุลพินิจของแพทย์
นอกจากนั้น คือ การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ยาแก้ปวดชนิดคลายการบีบตัวของกระเพาะอาหาร/ยาแก้ปวดท้อง และยาบรรเทาอาการคลื่นไส้/ ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน และยังอาจมีการผ่าตัดกระเพาะอาหาร หรือลำไส้ เมื่อแผลมีขนาดใหญ่มาก หรือแผลไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา หรือเมื่อมีกระเพาะอาหาร หรือลำไส้อุดตัน หรือทะลุ
มีผลข้างเคียงจากโรคแผลเปบติคไหม?
ผลข้างเคียง (ผลแทรกซ้อน) จากแผลเปบติค มักเป็นภาวะรุนแรง และอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ โดยผลข้างเคียงที่พบได้ คือ
- มีเลือดออกจากแผล ส่งผลให้อาเจียนเป็นเลือด หรือ ถ่ายอุจจาระสีดำเหมือนยางมะตอย
- แผลก่อให้เกิดการตีบตันของกระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็ก จึงก่อให้เกิดภาวะกระเพาะอาหาร และ/หรือลำไส้เล็กอุดตัน เกิดการปวดท้องอย่างรุนแรงร่วมกับอาเจียน โดย เฉพาะภายหลังกินอาหาร และดื่มน้ำ และมักผายลมไม่ได้
- กระเพาะอาหาร และ/หรือลำไส้ทะลุ เป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียรุนแรงของช่องท้อง (เยื่อบุช่องท้องอักเสบ)
โรคแผลเปบติครุนแรงไหม?
โรคแผลเปบติค โดยทั่วไปไม่รุนแรงเมื่อทราบสาเหตุและได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง เป็นโรคที่รักษาได้หาย แต่ถ้าเกิดจากโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นโรคมีความรุนแรงสูงมาก
ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
การดูแลตนเอง และการพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเมื่อเป็นโรคแผลเปบติค คือ
- ปฏิบัติตามแพทย์/พยาบาลแนะนำ กินยาต่างๆให้ถูกต้อง ครบถ้วน
- งด/เลิกบุหรี่ และไม่สูบบุหรี่ งด/เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจเป็นสาเหตุ และเป็นตัวเพิ่มความรุนแรงของโรค
- ไม่ซื้อยาแก้ปวดต่างๆกินเอง ควรปรึกษาแพทย์ พยาบาล หรือ เภสัชกรก่อนเสมอ
- สังเกตความสัมพันธ์ระหว่างอาหาร และเครื่องดื่มที่รับประทาน กับอาการเสมอ ควรหลีกเลี่ยงอาหารเครื่องดื่มที่ทำให้อาการรุนแรงขึ้น ซึ่งมักได้แก่ อาหารรสจัด เผ็ดจัด และรสเปรี้ยว
- รักษาสุขภาพจิตไม่ให้เครียดจนเกินเหตุ เข้าใจชีวิต
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
- ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อมีอาการต่างๆเลวลง หรือมีอาการต่างๆผิดปกติไปจากเดิม หรือเมื่อกังวลในอาการ
- ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน เมื่อมีอาการของเลือดออกจากแผล หรือ กระเพาะอาหาร/ลำไส้เล็กอุดตัน หรือ กระเพาะอาหาร หรือ ลำไส้เล็กทะลุ ดังได้กล่าวแล้ว
ป้องกันโรคแผลเปบติคได้อย่างไร?
การป้องกันโรคแผลเปบติคที่สำคัญ คือ การป้องกันสาเหตุ ที่สำคัญ คือ
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ โดย เฉพาะการใช้ช้อนกลาง และการล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะหลังเข้าห้องน้ำ และก่อนกินอาหาร
- รักษาสุขภาพจิต ผ่อนคลายความเครียด
- ไม่ซื้อยาแก้ปวดกินเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ พยาบาล หรือ เภสัชกรก่อน
- เลิก/ไม่สูบบุหรี่ เลิก/ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- เมื่อมีอาการปวดท้องบริเวณลิ้นปี่บ่อยๆ เป็นๆหายๆ หรือเรื้อรัง อาการไม่ดีขึ้นหลังดูแลตนเองในเบื้องต้น ควรพบแพทย์เสมอ เพื่อการวินิจฉัยหาสาเหตุและให้การรักษาแต่เนิ่นๆ ก่อนโรคลุกลามเป็นแผลเปบติค หรืออาจเป็นอาการของโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้ (แต่เป็นสาเหตุที่พบได้น้อยกว่ามากเมื่อเปรียบ เทียบกับสาเหตุอื่นๆ) โดยเฉพาะเมื่อเริ่มมีอาการเมื่ออายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
บรรณานุกรม
- Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
- Ramakrishnan, K., and Salinas, R. (2007). Peptic ulcer. Am Fam Physician. 76, 1005-1012.
- https://en.wikipedia.org/wiki/Peptic_ulcer_disease[2017,Sept2]
Updated 2017,September 2