แผลเป็นนูน (Keloid)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 24 มกราคม 2562
- Tweet
- บทนำ
- ทำไมจึงเกิดแผลเป็นนูน?
- แผลอะไรบ้างที่ทำให้เกิดแผลเป็นนูน?
- ผิวส่วนไหนบ้างที่เกิดแผลเป็นนูนได้ง่าย?
- ใครบ้างที่เกิดแผลเป็นนูนได้ง่าย (ปัจจัยเสี่ยง)?
- แผลเป็นนูนมีกี่แบบ? อะไรบ้าง?
- นอกจากเสียภาพลักษณ์แล้วแผลเป็นนูนทำให้เกิดอาการอื่นๆอีกไหม?
- แพทย์รักษาแผลเป็นนูนได้อย่างไร?
- แผลเป็นนูนรักษาหายไหม?
- ป้องกันแผลเป็นนูนได้อย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- บรรณานุกรม
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- เนื้องอก (Tumor)
- มะเร็งผิวหนัง (Skin cancer)
- คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids)
- รังสีรักษา ฉายรังสี ใส่แร่ (Radiation therapy)
- การฉายรังสีรักษา เทคนิคการฉายรังสี (External irradiation)
บทนำ
โรคแผลเป็นนูน (คีลอยด์ หรือ Keloid) ได้แก่ โรค/ภาวะมีเนื้อเยื่อพังผืดเจริญเกินปกติ เห็นเป็นพังผืดหนาในบริเวณรอยแผลต่างๆ โดยเกิดหลังจากแผลเหล่านั้นหายแล้ว ซึ่งแผลเป็นนูนอาจเกิดหลังจากแผลหายเป็นอาทิตย์หรือเป็นเดือน แต่บางคนอาจเป็นปี ซึ่งบางคนที่เป็นน้อยไม่จำเป็นต้องรักษา แต่บางคนที่เป็นมากอาจต้องการการรักษาเพราะทำให้เสียภาพลักษณ์
โรคแผลเป็นนูน พบได้บ่อยทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย และพบได้ในทุกอายุตั้งแต่เด็กจน ถึงผู้สูงอายุ แต่มักเกิดในช่วงวัยหนุ่มสาว และพบได้น้อยลงในวัยเด็กและเมื่อสูงอายุ ทั้งนี้มีโอ กาสเกิดได้ใกล้เคียงกันทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย
ทำไมจึงเกิดแผลเป็นนูน?
ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าทำไมจึงเกิดแผลเป็นนูนขึ้น
- บางทฤษฏีสันนิฐานว่า อาจเกิดจากภูมิคุ้มกัน/ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายในการตอบสนองต่อการเกิดบาดแผลผิดปกติ จึงกระตุ้นให้เกิดแผล เป็นนูน
- บางทฤษฎีสันนิฐานว่า น่าเกิดจากมีฮอร์โมนบางชนิดเข้ามาเกี่ยวข้องในการกระตุ้นให้การซ่อมแซมบาดแผลผิดปกติจนกลายเป็นแผลเป็นนูน
- บางทฤษฎีเชื่อว่า อาจเกิดจากสารบางชนิดที่เป็นปัจจัยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ที่เรียกว่า Growth factor ที่เข้ามาซ่อมแซมบาดแผลผิดปกติจึงก่อให้เกิดแผลเป็นนูนขึ้น
แผลอะไรบ้างที่ทำให้เกิดแผลเป็นนูน?
แผลเป็นนูนสามารถเกิดตามหลังแผลได้ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นแผลเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม เช่น
- แผลผ่าตัด
- แผลเจาะหู
- แผลจากเป็นสิว
- แผลข่วน แผลเกา
- แผลไฟไหม้
- แผลน้ำร้อนลวก
- แผลจากฉีดวัคซีน
- และ/หรือ แผลยุงกัด
ผิวส่วนไหนบ้างที่เกิดแผลเป็นนูนได้ง่าย?
ผิวหนังทุกส่วนสามารถเกิดแผลเป็นนูนได้ทั้งหมด แต่ผิวหนังที่เกิดแผลเป็นนูนได้บ่อย คือ ผิวหนังตำแหน่ง
- กระดูกอก(Sternum)
- หัวไหล่
- ต้นแขน
- ติ่งหู
- และแก้ม
ใครบ้างที่เกิดแผลเป็นนูนได้ง่าย (ปัจจัยเสี่ยง)?
บุคคลที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดแผลเป็นนูนเมื่อมีแผลเกิดขึ้นได้แก่
- พันธุกรรม: เพราะพบคนที่มีคนในครอบครัวเป็นแผลเป็นนูนมีโอกาสเกิดแผลเป็นนูนได้ง่าย และเมื่อเคยเป็นแผลเป็นนูนมาก่อนมักเกิดแผลเป็นนูนได้ง่ายเมื่อเกิดแผลต่างๆขึ้น
- เชื้อชาติ/สีผิว: เพราะพบเกิดแผลเป็นนูนได้สูงกว่าในเชื้อชาติจีนและคนผิวดำเมื่อเปรียบเทียบกับคนผิวขาว
- อายุ: ดังกล่าวแล้ว พบแผลเป็นนูนเกิดได้น้อยกว่าในเด็กและในผู้สูงอายุ
- สาเหตุของแผล: แผลจากไฟไหม้/น้ำร้อนลวกมีโอกาสเกิดแผลเป็นนูนสูงกว่าแผลอื่นๆ
- แผลที่หายช้า: มักเกิน 3 สัปดาห์ขึ้นไปมีโอกาสเกิดแผลเป็นนูนได้สูงขึ้น
แผลเป็นนูนมีกี่แบบ? อะไรบ้าง?
แผลเป็นนูนมีได้ 2 แบบ ได้แก่ แผลเป็นนูนชนิดลุกลามออกนอกตัวแผล และแผลเป็นนูนชนิดเกิดเฉพาะบนตัวแผล ซึ่งทั้งสองชนิดคล้ายคลึงกันทั้ง สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง อาการ และวิธีรัก ษา ต่างกันเพียง แผลเป็นนูนชนิดเกิดเฉพาะบนตัวแผลมักหายได้เองเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งอาจเป็นเดือนหรือหลายๆปี และเมื่อได้รับการรักษามักยุบได้ดี และมักไม่ย้อนกลับเป็นซ้ำ
1. แผลเป็นนูนชนิดลุกลามออกนอกตัวแผล:
แผลเป็นนูนแบบนี้ มีลักษณะหนา ตัวแผลมักนูนเหนือผิวหนังตั้งแต่ 4 มิลลิเมตร (มม.) ขึ้นไป และมักเกิดตามหลังแผลหายแล้วอย่างน้อย 3 เดือนไปแล้ว นอกจากนั้นพบบ่อยกว่าในคนมีผิวดำคล้ำ
ซึ่งทางแพทย์เรียกว่า ‘คีลอย (Keloid)’ เป็นแผลเป็นที่ลุกลามออกนอกตัวแผลและเจริญใหญ่ขึ้นเรื่อยๆไม่ยุบหายไปเอง มักเกิดบริเวณผิวหนังส่วนบนของ กระดูกอก หัวไหล่ ต้นแขน และบริเวณหู
2. แผลเป็นนูนชนิดเกิดเฉพาะบนตัวแผล:
แผลเป็นนูนชนิดนี้มักเกิดภายใน 1 เดือนหลังแผลหาย และมักค่อยๆยุบตัวแบนราบลงเมื่อเวลาผ่านไปเป็นเดือนหรือเป็นปี นอกจากนั้นเกิดได้กับคนทุกผิวสี
ซึ่งทางแพทย์เรียกว่า ‘ไฮเปอร์โทรฝิกสการ์ (Hypertrophic scar)’ เป็นแผลเป็นนูนที่ไม่ลุกลามออกนอกรอยแผล เพียงแต่รอยแผลใหญ่นูนขึ้น และเกิดกับแผลส่วนไหนของร่างกายก็ได้ แต่พบได้บ่อยเมื่อเกิดแผลในบริเวณข้อพับ
นอกจากเสียภาพลักษณ์แล้วแผลเป็นนูนทำให้เกิดอาการอื่นๆอีกไหม?
นอกจากการเสียภาพลักษณ์ แผลเป็นนูนยังก่อให้เกิด ‘อาการคัน’ โดยเฉพาะเมื่อเหงื่อออกมาก
- บางคนอาจเกาจนเลือดออก
- หรือเกิดเป็นแผลติดเชื้อจากการเกา
แพทย์รักษาแผลเป็นนูนได้อย่างไร?
วิธีรักษาแผลเป็นนูนมีหลายวิธี ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง เนื่องจากการไม่รู้สาเหตุเกิดที่ชัดเจนนั่นเอง ต้องลองรักษาไปเรื่อยๆ แพทย์ไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่า ผู้ป่วยคนไหนจะรักษา ได้ผล (ได้ผลประมาณไหน) คนไหนรักษาไม่ได้ผล นอกจากนั้น บางคนยังมีโอกาสกลับเป็นใหม่ได้อีก
ซึ่งวิธีการรักษาเหล่านั้น เช่น
- การทายาบางชนิด
- การปิดแผลเป็นด้วยเทปยา
- การใช้เทคนิคเฉพาะเมื่อจะผ่าตัดในผู้ป่วยมีประวัติเป็นแผลเป็นนูนมาก่อน
- การฉีดยาบางชนิดเข้าในแผลเป็นนูน
- การใช้เลเซอร์
- การผ่าตัดด้วยความเย็น (Cryotherapy)
- การฉายรังสีรักษา (อาจร่วมกับการผ่าตัด )
- การกินยาต้านฮอร์โมนบางชนิด
- และการผ่าตัดแผลเป็นนูนเมื่อแผลเป็นนูนใหญ่และแข็งมาก
ทั้งนี้การที่แพทย์จะเลือกใช้วิธีรักษาอย่างไร ขึ้นกับ
- ขนาดแผล
- ตำแหน่งแผล
- การรักษาวิธีต่างๆที่ผ่านมา
- ความต้องการของผู้ป่วย
- และดุลพินิจของแพทย์
แผลเป็นนูนรักษาหายไหม?
แผลเป็นนูนเป็นโรครักษาได้ยากมากๆ อาจต้องลองรักษาหลายๆวิธี ต้องใช้เวลานานในการรักษา มีโอกาสรักษาไม่ได้ผล หรือรักษาแล้วกลับเป็นอีกสูง
ป้องกันแผลเป็นนูนได้อย่างไร?
การป้องกันแผลเป็นนูนที่ดีที่สุด (แต่ทำได้ยากที่สุด) คือ
- หลีกเลี่ยงการเกิดแผล
- นอกจากนั้นคือ แจ้งแพทย์เสมอถึงประวัติการเคยเป็นแผลเป็นนูนเมื่อต้องมีการผ่าตัด เพราะแพทย์อาจให้การรักษาเพื่อป้องกันการเกิดแผลเป็นตั้งแต่ขณะผ่าตัด ด้วยเทคนิคการเย็บ การปิดแผล การใช้ยาทาแผล และ/หรือ การฉายรังสี (รังสีรักษา)
ควรพบแพทย์เมื่อไร?
ดังกล่าวแล้ว ควรต้องแจ้งแพทย์ตั้งแต่ก่อนผ่าตัด ส่วนเมื่อเกิดแผลเป็นนูนแล้ว ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลแต่เนิ่นๆ เพราะโอกาสควบคุมโรคได้สูงขึ้น เมื่อแผลเป็นนูนยังมีขนาดเล็กและเพิ่งเริ่มเกิด
บรรณานุกรม
- Juckett, G., and Hartman-Adams, H. (2009). Management of keloids and hypertrophic scars. Am Fam Physician, 80, 253-260.
- https://en.wikipedia.org/wiki/Keloid [2019,Jan5]
- https://emedicine.medscape.com/article/876214-overview#showall [2019,Jan5]
- https://emedicine.medscape.com/article/1057599-overview#showall [2019,Jan5]