แบคโตรแบน (Bactroban)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาแบคโตรแบน (Bactroban) เป็นชื่อการค้าของยาทาผิวภายนอก ประกอบด้วยตัวยาสำคัญชื่อ มิวพิโรซิน (Mupirocin) ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะประเภท Monoxycarbolic acid ยานี้ถูกสกัดแยกได้จากแบคทีเรียแกรมลบที่มีชื่อว่า Pseudomonas fluorescens การใช้ยานี้ในระดับความเข้มข้นต่ำๆจะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียมิให้ลุกลาม หากใช้ความเข้มข้นสูงๆจะออกฤทธิ์ฆ่าแบคทีเรียได้โดยตรง และพบว่ายานี้มีการดูดซึมทางผิวหนังน้อยกว่า 0.3%

องค์การอนามัยโลกจัดให้มิวพิโรซินเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานในระดับชุมชน คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยามิวพิโรซินลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยระบุการใช้ต่อต้านแบคทีเรียที่ดื้อต่อยาเมทิซิลลิน (Methicillin/Meticillin) เชื้อแบคทีเรียที่ตอบสนองต่อยามิวพิโรซินนี้ได้ แก่ Staphylococcus aureus และ Staphylococcus pyogenes ซึ่งก่อนการใช้ยานี้ผู้บริโภคหรือผู้ป่วยสามารถขอคำแนะนำได้จากแพทย์และเภสัชกรตามร้านขายยาทั่วไป

แบคโตรแบนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

แบคโตรแบน

ยาแบคโตรแบนมีสรรพคุณใช้บำบัดรักษาการติดเชื้อที่เกิดจากบาดแผลบริเวณผิวหนัง

แบคโตรแบนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ตัวยาสำคัญของยาแบคโตรแบนคือ ยามิวพิโรซินที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างโปรตีนของแบคทีเรียที่ตอบสนองกับยานี้ ส่งผลให้แบคทีเรียนั้นๆหยุดการเจริญเติบโตและตายลงในที่สุด

แบคโตรแบนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาแบคโตรแบนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาขี้ผึ้งที่มีความเข้มข้น 2 มิลลิกรัม/น้ำหนักยา 100 มิลลิกรัม

แบคโตรแบนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาแบคโตรแบนมีขนาดการบริหารยา/การใช้ยาดังนี้เช่น

  • ผู้ใหญ่และเด็ก: ทายาบริเวณผิวหนังที่เป็นบาดแผลวันละ 2 - 4 ครั้งเป็นเวลา 10 วัน ควรใช้ผ้าพันแผลปิดทับอีกชั้นหนึ่ง

ทั้งนี้ หลังใช้ยานี้หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 3 - 5 วันควรต้องกลับไปพบแพทย์เพื่อเปลี่ยนยาและประเมินการรักษาใหม่

*****หมายเหตุ:

  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาแบคโตรแบน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาแบคโตรแบนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมทายาควรทำอย่างไร?

หากลืมทายาแบคโตรแบนสามารถทายาเมื่อนึกขึ้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการทายาเป็น 2 เท่า

แบคโตรแบนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ตัวยามิวพิโรซินในยาแบคโตรแบนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น ผื่นคันในบริเวณที่ทายา ผิวแห้งหรือเกิดภาวะเป็นรอยไหม้

มีข้อควรระวังการใช้แบคโตรแบนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาแบคโตรแบนดังนี้เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ไม่ควรใช้ยานี้ใกล้บริเวณตาหรือทาภายในจมูก
  • ให้หยุดยานี้ทันทีหลังทายาแล้วพบอาการผื่นขึ้นมาก บวม แดง ในบริเวณบาดแผล
  • การใช้ยานี้เป็นเวลานานเกินไปต้องระวังการเจริญเติบโตของกลุ่มเชื้อที่ดื้อต่อยานี้ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง เชื้อดื้อยา)
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแบคโตรแบน) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

แบคโตรแบนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

เนื่องจากยาแบคโตรแบนมีรูปแบบเป็นลักษณะยาทาภายนอก จึงไม่ค่อยพบปฏิกิริยาระหว่างยากับกลุ่มยารับประทานใดๆ

ควรเก็บรักษาแบคโตรแบนอย่างไร?

ควรเก็บยาแบคโตรแบนที่อุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำและในรถยนต์ และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

แบคโตรแบนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาแบคโตรแบนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Bacidal (เบไซดอล) Charoon Bhesaj
Bactex (แบคเท็กซ์) Union Drug
Bactokil (แบคโทคิล) Chinta
Bactroban (แบคโตรแบน) GlaxoSmithKline
Banbact (แบนแบคท์) T. Man Pharma
Muporin (มูโพริน) T.O. Chemicals

บรรณานุกรม

1 http://en.wikipedia.org/wiki/Mupirocin [2015,Jan31]
2 http://www.mims.com/USA/drug/info/Bactroban/Bactroban%20Cream?type=full [2015,Jan31]
3 http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/183#item-9005 [2015,Jan31]
4 http://www.mims.com/USA/drug/info/mupirocin/?type=full&mtype=generic#Dosage [2015,Jan31]
5 http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=mupirocin [2015,Jan31]
6 http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Bactex/?type=brief [2015,Jan31]