แทมพอน เรื่องของผู้หญิง (ตอนที่ 1)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 24 กันยายน 2562
- Tweet
ปีกว่าที่ผ่านมา 3 สาวในอังกฤษ Celtic fans Erin, Orlaith และ Mikaela ได้ร่วมกันเรียกร้องให้สนามฟุตบอลจัดให้มีผ้าอนามัยวางไว้ให้ผู้หญิงใช้ฟรี ซึ่งในระยะแรกได้มีปฏิกริยาต่อต้านบ้างอย่างคำเหน็บแหนมที่ว่า “มีปัญญาซื้อตั๋วฟุตบอลได้แต่ทำไมไม่มีปัญญาซื้อผ้าอนามัยใช้เอง ?”
อย่างไรก็ดี หลังการรณรงค์ปัจจุบันสนามฟุตบอลหลายแห่งได้จัดวางผ้าอนามัยให้ผู้หญิงใช้ฟรีอย่างกว้างขวางทั่วโลก ซึ่งไม่เพียงแต่สนามฟุตบอลเท่านั้น ยังมีการแพร่ไปยังที่ทำงาน บาร์และคาเฟ่ด้วย เรามาทำความรู้จักผ้าอนามัยกัน
ผ้าอนามัย (Pads / sanitary pads / sanitary napkins) มีลักษณะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ทำจากสารดูดซับ ใช้วางไว้ด้านในกางเกงในเพื่อดูดซับประจำเดือน บางชนิดก็มีปีกเพื่อป้องกันการซึมเปื้อนด้านข้าง โดยผ้าอนามัยแบบแผ่นมีทั้งแบบบางสำหรับวันธรรมดาและแบบหนาสำหรับวันที่มามาก
แทมพอน (Tampons) เป็นผ้าอนามัยแบบสอด ทำด้วยสารดูดซับอย่าง ฝ้าย (Cotton) หรือ เรยอน (Rayon) ที่อัดเป็นรูปแท่งทรงกระบอก มีทั้งแบบที่มีและไม่มีตัวนำ (Applicators) เช่นเดียวกันแทมพอนมีตั้งแต่แบบที่ดูดซับได้น้อยไปจนถึงดูดซับได้มาก โดยมีเชือกที่ปลายด้านหนึ่งไว้จับตอนดึงออก
องค์การอาหารและยาของสหรัฐ (FDA) ได้มีการควบคุมแทมพอนและถือเป็นอุปกรณ์การแพทย์ชนิดหนึ่ง ซึ่งบางครั้งแทมพอนได้ถูกนำไปใช้ห้ามเลือด (Hemostasis) ในห้องผ่าตัดด้วย ดังนั้น ผู้ผลิตจะต้องส่งข้อมูลของผลิตภัณฑ์และการทดสอบความปลอดภัยของวัสดุที่ใช้ให้ทาง FDA อนุมัติก่อน
โดย FDA ได้ให้คำแนะนำถึงการใช้แทมพอนดังนี้
1. ปฏิบัติตามวิธีใช้ในฉลากของผลิตภัณฑ์ เช่น ล้างมือก่อนและหลังการสอดผ้าอนามัย
2. ใช้แทมพอนเฉพาะเวลาที่มีประจำเดือนเท่านั้น เพราะการใช้แทมพอนโดยไม่มีประจำเดือนจะทำให้ช่องคลอดแห้งและเพิ่มโอกาสในการเกิดกลุ่มอาการท็อกสิกช็อก (Toxic shock syndrome: TSS) เช่น กรณีที่ไม่มั่นใจว่าประจำเดือนจะมาหรือไม่ ให้ใช้แผ่นอนามัยไปก่อน
3. ควรเปลี่ยนแทมพอนทุก 4 ชั่วโมง และห้ามใช้เกิน 8 ชั่วโมง เพราะแบคทีเรียจะสะสมและก่อให้เกิด TSS ได้
4. ให้พิจารณาระยะเวลาของกิจกรรมกับการเลือกใช้ผ้าอนามัย เช่น ระยะเวลานอน 8 ชั่วโมง ควรใช้ผ้าอนามัยแบบแผ่นแทน
5. ใช้แทมพอนที่มีคุณสมบัติการดูดซับเท่าที่จำเป็น เช่น ในวันที่ประจำเดือนมาน้อยไม่ควรใช้แทมพอนชนิดที่ดูดซับมากเพราะจะเพิ่มความเสี่ยงในการทำให้ช่องคลองแห้ง เนื่องจากน้ำหล่อลื่นในช่องคลอดปกติจะถูกดูดซับไป ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิด TSS
6. ให้สังเกตอาการผิดปกติของตัวเอง เพราะการใช้แทมพอนที่ถูกต้องจะต้องไม่รู้สึกอะไร ดังนั้นหากมีอาการผิดปกติควรหยุดใช้
แหล่งข้อมูล:
- Football grounds to pubs: Our fight for free tampons. https://www.bbc.com/news/av/stories-49421285/football-grounds-to-pubs-our-fight-for-free-tampons [2019, September 23]. .
- Pads and Tampons. https://kidshealth.org/en/kids/pads-tampons.html [2019, September 23]. .
- The Facts on Tampons—and How to Use Them Safely. https://emergency.cdc.gov/agent/paraquat/basics/facts.asp [2019, September 23]. .
- Tampon. https://en.wikipedia.org/wiki/Paraquat [2019, September 23]. .
- Tampon Safety and Regulations. https://www.verywellhealth.com/the-tampon-debate-3520698 [2019, September 23]. .