แทมซูโลซิน (Tamsulosin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาแทมซูโลซิน(Tamsulosin หรือ Tamsulosin hydrochloride) เป็นยาประเภทแอลฟา-1 บล็อกเกอร์ (Alpha-1 blockers) มีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อของต่อมลูกหมากและของกระเพาะปัสสาวะคลายตัว ประโยชน์ทางคลินิก จึงนำยาแทมซูโลซินมารักษาโรคท่อปัสสาวะอักเสบ และภาวะต่อมลูกหมากโตของบุรุษเท่านั้น โดยไม่มีวัตถุประสงค์การใช้ยานี้กับสตรีและเด็ก รูปแบบผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบันของยานี้เป็นยาชนิดรับประทาน

ยาแทมซูโลซินถูกดูดซึมได้ค่อนข้างดีจากระบบทางเดินอาหาร และมีการกระจายตัวเข้าสู่กระแสเลือดได้ถึง 100% จากนั้นจะถูกเมตาโบไลท์(Metabolite,กระบวนการทำลายยา)โดยตับ ตัวยานี้จะอยู่ในร่างกายได้นานประมาณ 9 – 13 ชั่วโมง ก่อนที่จะถูกขับออกไปกับปัสสาวะและอุจจาระ ขนาดรับประทานของยาแทมซูโลซินเพียงวันละ1 ครั้ง ก็เพียงพอต่อการควบคุมอาการบวมของต่อมลูกหมาก

ผลข้างเคียงที่ดูโดดเด่นของยาแทมซูโลซิน ได้แก่ การเกิดอาการคล้ายแพ้ยาประเภทซัลฟา (Sulfa allergy) เช่น เกิดผื่นคัน ลมพิษ ตัวบวม มีอาการของทางเดินหายใจ(เช่น หายใจลำบาก) รวมไปถึงเกิดความดันโลหิตต่ำ และหัวใจล้มเหลว จึงเป็นเหตุผลที่ผู้ป่วยจะต้องได้รับคำสั่งจ่ายยานี้จากแพทย์เท่านั้น ห้ามมิให้ไปซื้อยานี้มารับประทานเอง

ข้อจำกัดบางประการของยาแทมซูโลซินที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบ เช่น

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับขั้นรุนแรง
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรี สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ผู้ป่วยความดันโลหิตต่ำ ผู้ที่แพ้ยาซัลฟา
  • ระหว่างการผ่าตัดต้อกระจก ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแทมซูโลซิน ด้วยจะส่งผลกระทบต่อรูม่านตาของผู้ป่วยได้
  • หากเกิดอาการวิงเวียนคล้ายเป็นลม หรือมีความดันโลหิตต่ำ หลังใช้ยานี้ ควรต้องแจ้งแพทย์ เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ด้วยจะ ทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)มากยิ่งขึ้น
  • หยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล หากพบอาการปวดองคชาติ มีไข้ มีแผลในลำคอ ใบหน้า-ลิ้นบวม ตาแห้งมาก แสบเคืองตา เจ็บที่ผิวหนังหรือเกิดแผลที่ผิวหนัง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ร่วมกับยาลดความดันโลหิตชนิดอื่นๆ ด้วยการใช้ยาร่วมกันอาจ ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำหรือไม่แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสม
  • ระหว่างการใช้ยานี้ต้องควบคุมความดันโลหิตร่วมด้วยตามแพทย์ เภสัชกร แนะนำ
  • ควรรับประทานยานี้หลังอาหารเช้าประมาณ 30 นาที การรับประทานยานี้พร้อมอาหารทันที อาจจะลดการดูดซึมของยานี้

ในประเทศไทย จะพบเห็นผลิตภัณฑ์ยานี้ที่ใช้ในลักษณะยาเดี่ยวๆ แต่ในต่างประเทศ อาจพบเห็นสูตรตำรับยาแทมซูโลซินที่มียาอื่นผสมร่วมด้วย เช่น Tamsulosin 0.4 มิลลิกรัม + Dutasteride(ยาในกลุ่ม 5-alpha reductase inhibitor) 0.5 มิลลิกรัม/เม็ด

อนึ่ง กระทรวงสาธารณสุขของไทย ได้กำหนดให้ยาแทมซูโลซินเป็นยาประเภท ยาอันตราย การใช้ยานี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น และหากผู้บริโภค/ผู้ป่วยต้องการทราบข้อมูลการใช้ยานี้เพิ่มเติม ก็สามารถสอบถามได้จากแพทย์ หรือจากเภสัชกรตามร้านขายยาทั่วไป

แทมซูโลซินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

แทมซูโลซิน

ยาแทมซูโลซินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาภาวะต่อมลูกหมากโต

แทมซูโลซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาแทมซูโลซินคือ ตัวยาจะเป็นยาประเภท Antagonist of alpha1-adrenoreceptors (Alpha-1blockers) ที่มีกลไกการออกฤทธิ์โดยจะเข้าจับกับตัวรับ/Receptor ที่ชื่อ Postsynaptic alpha1-adrenoreceptors ที่อยู่ภายในเซลล์กล้ามเนื้อเรียบในต่อมลูกหมาก จึงก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทภายในเซลล์ ทำให้เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อเรียบ และทำให้ต่อมลูกหมากลดอาการหดเกร็ง ส่งผลลดการบีบรัดท่อปัสสาวะในบุรุษ ทำให้ปัสสาวะได้สะดวกขึ้น จากกลไกเหล่านี้ จึงก่อให้เกิดฤทธิ์รักษาตามสรรพคุณ

แทมซูโลซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาแทมซูโลซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 0.4 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาแคปซูลชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับตัวยาอื่น เช่น Tamsulosin 0.4 มิลลิกรัม + Dutasteride 0.5 มิลลิกรัม/เม็ด

แทมซูโลซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาแทมซูโลซิน มีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: รับประทาน 0.4 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง หลังอาหารเช้าประมาณ 30 นาทีขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 0.8 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กและผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: ห้ามใช้ยานี้

อนึ่ง:

  • ขนาดการรับประทานของผู้ป่วยโรคไต-โรคตับที่ไม่ได้จัดอยู่ในระดับที่รุนแรง ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดรับประทานของยานี้
  • ยังไม่มีข้อบ่งใช้ของยานี้กับ สตรี

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาแทมซูโลซิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆอย่าง โรคภูมิแพ้ โรคความดันโลหิตต่ำ โรคหัวใจ รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแทมซูโลซิน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้นหรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภท สามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจน ก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาแทมซูโลซิน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น2เท่า ให้รับประทานยานี้ในขนาดปกติเท่านั้น

แต่อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาแทมซูโลซิน ตรงเวลา

แทมซูโลซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาแทมซูโลซินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย: เช่น กิดการติดเชื้อง่าย มีอาการคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เจ็บหน้าอก ความดันโลหิตต่ำ ชีพจรเต้นผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นเร็ว
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผื่นคัน ลมพิษ Stevens-Johnson syndrome
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ง่วงนอน
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น สมรรถภาพทางเพศถดถอย
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เยื่อมูกอักเสบ คออักเสบ ไอ ไซนัสอักเสบ
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสียหรือท้องผูก คลื่นไส้ อาเจียน ปากแห้ง
  • ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ

มีข้อควรระวังการใช้แทมซูโลซินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาแทมซูโลซิน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีโรคความดันโลหิตต่ำ ผู้ที่ป่วยด้วยโรคตับระยะรุนแรง
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • เฝ้าระวังความดันโลหิตของผู้ป่วยให้เป็นปกติเสมอ ตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร
  • ผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด สังเกตได้จากมีอาการความดันโลหิตต่ำ อาเจียน ท้องเสีย หากพบอาการดังกล่าว ควรต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแทมซูโลซินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมถึงควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

แทมซูโลซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

แทมซูโลซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาแทมซูโลซินร่วมกับยาลดกรด อย่างเช่นยา Cimetidine อาจทำให้ความเข้มข้นของยาแทมซูโลซินในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงสูงขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาแทมซูโลซินร่วมกับยาขับปัสสาวะ อย่างเช่นยา Furosemide อาจทำให้ความเข้มข้นของยาแทมซูโลซินในกระแสเลือดลดลงจนลดประสิทธิภาพการรักษาได้ กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาแทมซูโลซินร่วมกับยาในกลุ่ม Alpha1-blockers ตัวอื่น ด้วยจะเกิดการเสริมฤทธิ์กัน และทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ได้มากขึ้น เช่น มีความดันโลหิตต่ำ
  • ห้ามใช้ยาแทมซูโลซินร่วมกับยา Clarithromycin ด้วยจะทำให้ระดับของตัวยา แทมซูโลซินในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนส่งผลทำให้ความดันโลหิตลดต่ำลงมาก

ควรเก็บรักษาแทมซูโลซินอย่างไร?

ควรเก็บยาแทมซูโลซินในช่วงอุณหภูมิ 20 – 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

แทมซูโลซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาแทมซูโลซิน ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Duodart (ดูโอดาร์ท)GlaxoSmithKline
Harnal OCAS (ฮาร์นอล โอคาส)Astellas Pharma
Uroflow (ยูโรโฟลว)RottendorfPharma

อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Flomax, Alfatam, Bezip, Dynapres, Geritam, Protam, Tamsin, Urimax, Uripro, Veltam

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/tamsulosin.html [2016,Dec3]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Tamsulosin [2016,Dec3]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/tamsulosin/?type=brief&mtype=generic [2016,Dec3]
  4. http://www.news-medical.net/drugs/Duodart.aspx [2016,Dec3]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/tamsulosin-index.html?filter=3&generic_only= [2016,Dec3]