แดปโทมัยซิน (Daptomycin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 15 พฤศจิกายน 2559
- Tweet
- บทนำ
- แดปโทมัยซินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- แดปโทมัยซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- แดปโทมัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- แดปโทมัยซินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมฉีดยาควรทำอย่างไร?
- แดปโทมัยซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้แดปโทมัยซินอย่างไร?
- แดปโทมัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาแดปโทมัยซินอย่างไร?
- แดปโทมัยซินมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
- ถุงยางอนามัยชาย (Male Condom)
บทนำ
ยาแดปโทมัยซิน(Daptomycin) เป็นยาปฏิชีวนะที่มีโครงสร้างประเภทไลโปเปปไทด์/ประเภทไขมันที่จับกับกรดอะมิโน(Lipopeptide antibiotic) พบได้ในธรรมชาติ โดยผลิตจากแบคทีเรียที่อาศัยในดินที่ชื่อว่า (Saprotroph Streptomyces roseosporus) ยาแดปโทมัยซินเป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียชนิดแกรมบวก (Gram-positive) เท่านั้น เช่น เชื้อ Enterococci รวมไปถึงเชื้อที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะชนิด เมทิซิลลิน (Methicillin-resistant Staphylococcus aureus), Streptococci, และ Corynebacteria, เป็นต้น รูปแบบของผลิตภัณฑ์ของยานี้ เป็นประเภทยาฉีด ตัวยามีลักษณะเป็นผงสีเหลืองนวล-น้ำตาลอ่อน ที่ปราศจากเชื้อ การฉีดให้กับผู้ป่วยจะต้องเตรียมยาให้เป็นสารละลายก่อนที่จะใช้ ซึ่งในการฉีดยานี้เข้าหลอดเลือดดำโดยตรง จะต้องใช้เวลาเดินยามากกว่า 2 นาทีขึ้นไป แต่หากใช้ยานี้โดยการหยดเข้าหลอดเลือดดำจะต้องใช้เวลามากกว่า 30 นาที
ทางคลินิก ใช้ยาแดปโทมัยซินรักษา การติดเชื้อของผิวหนังชนิดที่เป็นการติดเชื้อซับซ้อน (Complicated skin and skin structure infections), การติดเชื้อแบคทีเรีย(เชื้อฯ)ชนิด Staphylococcus aureus ในกระแสเลือด, รวมถึงการติดเชื้อแบคทีเรียที่ตอบสนองกับยาเมทิซิลลินในบริเวณเยื้อบุหัวใจด้านขวา และครอบคลุมไปถึงเชื้อฯที่ดื้อต่อยาเมทิซิลลิน ด้วยเหตุผลทางคลินิกบางประการที่ไม่ทราบแน่ชัด ทำให้ยาแดปโทมัยซินไม่สามารถนำมารักษาโรคปอดบวม (Pneumonia) และการติดเชื้อฯที่เยื่อบุหัวใจด้านซ้าย ที่มีสาเหตุจาก Staphylococcus aureus ได้
เพื่อเป็นการป้องกันแบคทีเรียดื้อต่อยาแดปโทมัยซิน แพทย์จะใช้ยานี้รักษาอาการโรคที่มีสาเหตุมาจากกลุ่มเชื้อแบคทีเรียที่มีการตอบสนองต่อยาแดปโทมัยซินเท่านั้น
ตัวยาแดปโทมัยซินสามารถใช้กับผู้ใหญ่ แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา การใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ จัดอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย แต่ถ้าเป็นสตรีที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรพบว่า ยานี้สามารถซึมผ่านเข้าน้ำนมของมารดา และส่งผ่านไปถึงทารกที่ดื่มนมมารดาได้ซึ่งเป็นข้อจำกัดของการใช้ยานี้
ก่อนการใช้ยาแดปโทมัยซินแพทย์จะต้องมั่นใจว่าผู้ป่วยไม่มีประวัติแพ้ยาชนิด นี้มาก่อน และต้องพิจารณาการใช้ยานี้เป็นพิเศษหากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น มีโรคที่เกี่ยวกับการทำงานของกล้ามเนื้อ, ในผู้ที่มีโรคทางระบบประสาท, ผู้ป่วยด้วยโรคตับ โรคไต รวมถึงผู้ที่มีปัญหาด้านการขับถ่ายอุจจาระอันมีเหตุจากยาปฏิชีวนะชนิดต่างๆ
ยาแดปโทมัยซิน สามารถก่อให้เกิดปัญหายาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)กับยาหลายรายการ อาทิเช่น กลุ่ม HMG-CoA inhibitors/ 3-hydroxy-3-methylglutaryl-coenzymeA inhibitor/Statin (เช่นยา Atorvastatin), หรือกลุ่มยาต้านการแข็งตัวของเลือด อย่างเช่นยา Warfarin, หรือยาปฏิชีวนะบางรายการ อย่างเช่นยา Tobramycin
ยังมีข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาแดปโทมัยซินที่อาจแจกแจงพอสังเขปดังนี้ เช่น
- ยาแดปโทมัยซิน ใช้ต่อต้านเฉพาะแบคทีเรียชนิดแกรมบวก โดยไม่ใช้สามารถรักษาโรคที่มีสาเหตุจากเชื้อรา หรือจากเชื้อไวรัส
- การใช้ยาแดปโทมัยซินจะต้องกระทำให้ครบคอร์ส(Course)ของการรักษา ถึงแม้การใช้ยานี้ในช่วงเริ่มต้น จะทำให้อาการโรคดีขึ้นแล้วก็ตาม
- อาจพบอาการท้องเสียบ้างเล็กน้อยระหว่างใช้ยานี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างปกติเมื่อมีการใช้ยาปฏิชีวนะชนิดต่างๆซึ่งรวมยาแดปโทมัยซินด้วย อย่างไรก็ตาม หากพบว่าผู้ป่วยมีการถ่ายอุจจาระที่มีเลือดปน ต้องรีบแจ้งแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อหาสาเหตุและเพื่อให้การรักษาที่เหมาะสม
- การใช้ยานี้นานๆหรือบ่อยจนเกินไป อาจทำให้มีการติดเชื้อโรคชนิดอื่นที่ไม่ตอบสนองต่อยาแดปโทมัยซินตามมา เช่น เชื้อรา
- เหตุผลหนึ่งที่ทางคลินิกไม่ใช้ยานี้กับ เด็กทารก เด็กเล็ก เด็กโต ด้วยจะเสี่ยงกับการเกิดปัญหา(ผลข้างเคียง)ต่อกล้ามเนื้อ และต่อระบบประสาท
- การใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ ต้องเพิ่มความระวังเป็นพิเศษ ด้วยผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความไว/มีการตอบสนองที่มากเกินไปต่อยาแดปโทมัยซินมากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
- กรณีที่มีอาการวิงเวียนหลังจากได้รับยาแดปโทมัยซิน ให้หลีกเลี่ยงการขับขี่ ยวดยานพาหนะใดๆ และ/หรือการทำงานกับเครื่องจักร ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- หากพบเห็นสิ่งสกปรกเจือปนในยาแดปโทมัยซิน ให้ทิ้งทำลายยาขวดนั้น ห้ามนำมาใช้โดยเด็ดขาด
ทั้งนี้ ในประเทศไทย ยาแดปโทมัยซินถูกกำหนดให้เป็นยาอันตราย ที่ต้องใช้ภายใต้คำสั่งของแพทย์ และจะพบเห็นการใช้ยานี้ได้ในสถานพยาบาลเท่านั้น
แดปโทมัยซินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาแดปโทมัยซินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เพื่อ
- รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียในบริเวณผิวหนังชนิดติดเชื้อที่รุนแรงและซับซ้อน
- รักษาการติดเชื้อในกระแสเลือด(ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ)ที่มีสาเหตุจากแบคทีเรียชนิด Staphylococcus aureus
แดปโทมัยซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาแดปโทมัยซินคือ ตัวยาจะเข้ารวมตัวกับเยื่อหุ้มเซลล์ของแบคทีเรีย ทำให้เยื่อหุ้มเซลล์แตกและมีรอยรั่ว ส่งผลกระทบต่อกระบวนการสังเคราะห์สารโปรตีนของสารพันธุกรรมทั้งดีเอ็นเอ (DNA) และอาร์เอ็นเอ (RNA) ส่งผลทำให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโต ขาดคุณสมบัติในการแพร่พันธุ์ และตายลงในที่สุด กลไกที่กล่าวมา จะเกิดกับแบคทีเรียชนิดแกรมบวกที่ตอบสนองต่อยาแดปโทมัยซินเท่านั้น
แดปโทมัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาแดปโทมัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาฉีด ขนาด 500 มิลลิกรัม/ขวด
แดปโทมัยซินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาแดปโทมัยซินมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
ก.สำหรับการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังที่ติดเชื้อรุนแรงซับซ้อน:
- ผู้ใหญ่: ให้ยาทางหลอดเลือดดำ ขนาด 4 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ1ครั้ง เป็นเวลา 7 – 14 วัน
อนึ่ง กรณีให้ยาแบบหยดยาเข้าหลอดเลือดดำ ต้องใช้เวลาในการให้ยานานมากกว่า 30 นาทีขึ้นไป หรือกรณีให้ยาโดยฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ควรใช้เวลาเดินยานานมากกว่า 2 นาทีขึ้นไป
ข. สำหรับการติดเชื้อในกระแสเลือดที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus:
- ผู้ใหญ่: หยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำขนาด 6 มิลลิกรัม/วัน เป็นเวลา 2 – 6 สัปดาห์ โดยใช้อัตราการหยดยาจนหมด นานมากกว่า 30 นาทีขึ้นไป
อนึ่ง:
- เนื่องจากมีบางการศึกษาของยาแดปโทมัยซิน ห้ามใช้น้ำเกลือเป็นตัวทำละลาย ด้วยจะก่อให้เกิดสารละลายที่เป็นลักษณะไฮเปอร์ออสโมติก/เข้มข้นมาก(Hyperosmotic solution) ดังนั้น เพื่อป้องกันการสับสน ให้ยึดวิธีการเตรียมยาฉีดแดปโทมัยซิน ตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา
- ห้ามใช้สารละลายเด็กซ์โตรส (Dextrose) ในการเจือจางยาแดปโทมัยซิน ด้วยตัวยาแดปโทมัยซินไม่สามารถผสมเข้ากันได้กับเด็กซ์โตรส
- ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยา Ceftriaxone ด้วยยาทั้ง 2 รายการไม่สามารถผสมเข้ากันได้
- การใช้ยานี้ให้ระวังการเกิดภาวะ Eosinophilic pneumonia (โรคปอดอักเสบ ที่เกิดจากมีเม็ดเลือดขาวชนิด Eosinophil เข้ามาอยู่ในเนื้อปอด)
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาแดปโทมัยซิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง รวมถึง กำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแดปโทมัยซิน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมฉีดยาควรทำอย่างไร?
หากลืมมารับการฉีดยาแดปโทมัยซิน ให้แจ้ง แพทย์ พยาบาล หรือ โรงพยาบาล เพื่อจะได้ดำเนินการนัดหมายมาฉีดยาใหม่ในเวลาเหมาะสม กรณีที่เวลาของการฉีดยาใกล้เคียงกับการฉีดในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
แต่อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรได้รับการฉีดยาแดปโทมัยซิน ตรงเวลา
แดปโทมัยซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาแดปโทมัยซินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสียหรือท้องผูก อาเจียน คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ปวดท้อง ลำไส้ใหญ่อักเสบ
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อลายสลาย
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ วิตกกังวล
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เจ็บหน้าอก ความดันโลหิตสูง หรือไม่ก็ต่ำ
- ผลต่อตับ: เช่น ตัวเหลืองตาเหลือง
- อื่นๆ: เช่น มีไข้
มีข้อควรระวังการใช้แดปโทมัยซินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาแดปโทมัยซิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาแดปโทมัยซิน
- ห้ามใช้ยาที่มีการปนเปื้อน หรือมีรอยรั่วแตกของขวดบรรจุ
- ห้ามใช้ยานี้กับเด็ก และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ระวังการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์
- แจ้งแพทย์ถึงโรคประจำตัว รวมถึงมียาอื่นๆอะไรที่กำลังรับประทาน/ใช้อยู่ก่อน
- ระหว่างการใช้ยานี้ ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจเลือดตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อดู จำนวนเม็ดเลือดขาว, ระดับสารครีเอตินิน(Creatinine), และเอนไซม์การทำงานของตับ ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นข้อมูลติดตามประสิทธิภาพของการรักษา
- หากใช้ยานี้แล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือกลับแย่ลง ควรต้องรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับการรักษา
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแดปโทมัยซินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริมและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
แดปโทมัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาแดปโทมัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาแดปโทมัยซินร่วมกับยา Ibuprofen, Ketoprofen จะทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยาแดปโทมัยซินมากยิ่งขึ้น จนอาจเป็นอันตรายกับไต หากจำเป็นต้องใช้ ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาแดปโทมัยซินร่วมกับยา Atorvastatin, Lovastatin ด้วยอาจเกิดผลกระทบ(ผลข้างเคียง)ต่อกล้ามเนื้อของผู้ป่วยได้ เช่น ปวดกล้ามเนื้อมาก กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาแดปโทมัยซินร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิด อย่างเช่น Ethinyl estradiol ด้วยอาจทำให้ฤทธิ์ของการคุมกำเนิดด้อยประสิทธิภาพลงไป ดังนั้นควรคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นร่วมไปด้วยเมื่อใช้ยาร่วมกัน เช่น ถุงยางอนามัยชาย
- การใช้ยาแดปโทมัยซินร่วมกับยากลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์(Aminoglycoside)อย่าง เช่น Gentamycin, Tobramycin, และ Rifampicin จะเกิดฤทธิ์สนับสนุนในการต่อต้านเชื้อแบคทีเรียประเภท Staphylococci และ Enterococci ซึ่งการใช้ยาร่วมกันจะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
ควรเก็บรักษาแดปโทมัยซินอย่างไร?
ควรเก็บยาแดปโทมัยซินในช่วงอุณหภูมิ 2 – 8 องศาเซลเซียส(Celsius) โดยตัวยาที่เจือจางเป็นสารละลายแล้ว สามารถเก็บต่อได้ไม่เกิน 12 ชั่วโมง ภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส หรือเก็บได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง ภายใต้อุณหภูมิ 2 – 8 องศาเซลเซียส เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงสว่าง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
แดปโทมัยซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาแดปโทมัยซินที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Cubicin (คิวบิซิน) | AstraZeneca |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Daptomycin [2016,Oct29]
- https://www.drugs.com/cdi/daptomycin.html [2016,Oct29]
- https://www.merckmanuals.com/professional/infectious-diseases/bacteria-and-antibacterial-drugs/daptomycin [2016,Oct29]
- http://www.webmd.com/drugs/2/drug-77600/daptomycin-intravenous/details#images [2016,Oct29]
- https://www.merck.com/product/usa/pi_circulars/c/cubicin/cubicin_pi.pdf [2016,Oct29]
- http://www.merck.com/product/usa/pi_circulars/c/cubicin_rf/cubicin_rf_pi.pdf [2016,Oct29]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/daptomycin/?type=brief&mtype=generic [2016,Oct29]