แดดจัดเสี่ยงตาย (ตอนที่ 9)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 10 พฤษภาคม 2563
- Tweet
ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงของผิวไหม้แดด ได้แก่
- มีผิวบาง ตาสีฟ้า ผมสีบลอนหรือแดง
- อาศัยอยู่ในที่แดดจัดหรือมีระดับความสูง
- ทำงานกลางแจ้ง
- มีกิจกรรมกลางแจ้ง (Outdoor recreation) และดื่มแอลกอฮอล์
- มีประวัติผิวไหม้แดด
- ถูกรังสียูวีเป็นประจำทั้งจากแสงแดดหรือแหล่งอื่น
- กินยาที่มีสารไวต่อแสงทำให้ผิวไหม้ง่าย (Photosensitizing medications)
สำหรับการวินิจฉัยโรค แพทย์อาจแนะนำให้ทำทดสอบแสง (Phototesting)
[Phototesting เป็นการทำทดสอบทางผิวหนังเพื่อดูความไวของผิวหนังต่อแสงที่นำมาทดสอบซึ่งได้แก่ แสงยูวีเอและแสงยูวีบี โดยจะฉายแสงบริเวณบนผิวหนังที่ไม่มีผื่นหรือรอยโรค เช่น บริเวณหลังหรือก้นและสังเกตบริเวณที่ทำทดสอบแสงว่า มีรอยแดงหรือรอยโรคเกิดขึ้นหรือไม่]
ส่วนการรักษาแพทย์จะบรรเทาอาการปวด บวม และไม่สบาย
ในขณะที่เราสามารถดูแลตัวเองได้ด้วยการ
- ทำให้ผิวเย็นลง ด้วยการประคบเย็น (ห้ามวางไอซ์แพคลงบนผิวไหม้โดยตรง)
- ใช้โลชั่นหรือเจล (ที่ไม่มีน้ำมัน/Oil-based เป็นส่วนประกอบ) เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว
- ดื่มน้ำให้มากเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
- ทำความสะอาดแผลตุ่มพองด้วยสบู่และน้ำ แล้วใช้ยาปฏิชีวนะทา
- ปล่อยให้ผิวลอกออกตามธรรมชาติ ห้ามดึงหรือลอกเอง และเมื่อผิวลอกให้ทาโลชั่นหรือเจลเพิ่มความชุ่มชื้น
- อย่าโดนแดด
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ลงท้ายด้วย '-caine' เช่น ยา Benzocaine เพราะยาดังกล่าวอาจทำให้ผิวระคายเคืองหรือเป็นสาเหตุของการแพ้อันเนื่องมาจากเนื้อเยื่อและอวัยวะภายในร่างกายเกิดภาวะขาดออกซิเจน (Methemoglobinemia)
ในส่วนของการป้องกันผิวไหม้แดดทำได้ด้วยการ
- หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งในช่วงเวลาที่มีแดดจัด
- ปกปิดร่างกายเมื่อออกไปนอกบ้าน เช่น สวมหมวกปีกกว้าง ใส่เสื้อแขนยาว
- ทายากันแดดและลิปกันแดดที่มีค่า SPF ตั้งแต่ 30 ขึ้นไปซึ่งสามารถป้องกันรังสี UVA และ UVB ก่อนออกแดดประมาณ 15-30 นาที
- ใส่แว่นตากันแดดเมื่อออกไปนอกบ้าน
- ระวังการใช้ยาที่เพิ่มความไวของแสง เช่น ยาต้านฮิสทามีน (Antihistamines) ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยาปฏิชีวนะบางชนิด (Antibiotics) ยารักษาโรคซึมเศร้า (Antidepressants) ยาต้านอาการทางจิต (Antipsychotics) และยาลดคลอเรสเตอรอลบางชนิด
แหล่งข้อมูล:
- Sunburn. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/sunburn/symptoms-causes/syc-20355922 [2020, May 9].
- Sunburn And Your Skin. https://www.skincancer.org/risk-factors/sunburn/ [2020, May 9].
- Sunburn. https://www.nhs.uk/conditions/sunburn/ [2020, May 9].