แซกคาริน (Saccharin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 26 กรกฎาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- แซกคารินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- แซกคารินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- แซกคารินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- แซกคารินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการใช้แซกคารินควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- แซกคารินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้แซกคารินอย่างไร?
- แซกคารินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาแซกคารินอย่างไร?
- แซกคารินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เบาหวาน (Diabetes mellitus)
- สารก่อมะเร็ง (Carcinogen)
- มะเร็ง (Cancer)
- ยาฆ่าเชื้อ (Antimicrobial drug) ยาแก้อักเสบ (Anti inflammatory drug)
- สารให้ความหวาน (Sweeteners) น้ำตาลเทียม (Artificial sweetener)
บทนำ
สารแซกคาริน (Saccharin หรือ Saccharin sodium) หรือที่คนไทยเรียกว่า ขัณฑสกร มีลักษณะเป็นผลึกสีขาวไม่มีกลิ่น จัดเป็นสารประกอบที่มีความหวานมากกว่าน้ำตาล 300 - 400 เท่า หากชิมโดยตรงจะรู้สึกมีรสขม การใช้แซกคารินจึงควรต้องมีความเข้มข้นต่ำกว่า 0.1% เพื่อหลีกเลี่ยงรสขมดังกล่าว แซกคารินถูกผลิตขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1879 (พ.ศ. 2422) ขณะนั้นยังไม่เป็นที่แพร่หลายนักจนกระทั่งเข้าสู่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นช่วงขาดแคลนน้ำตาลที่ใช้บริโภค ประชาชนก็เริ่มให้ความสนใจแซกคารินมากขึ้นเป็นลำดับโดยถูกใช้เป็นตัวปรุงแต่งรสชาติของเครื่องดื่ม ขนมหวาน คุกกี้ ยาสีฟัน และยาต่างๆ
แซกคารินเป็นสารที่ไม่ได้ให้พลังงานต่อร่างกายจึงใช้ทดแทนน้ำตาลเพื่อปรับรสชาติในอาหารของผู้ป่วยโรคเบาหวาน
การได้รับแซกคารินในปริมาณสูงเกินไปจะสังเกตได้จากผู้บริโภคจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน/ท้องเสีย ปวดท้อง มีอาการง่วงซึม และอาจชักได้
ส่วนผู้ที่แพ้แซกคารินอาจพบอาการอาเจียน ท้องเดิน และมีผื่นคันขึ้นตามผิวหนัง
ปัจจุบันทางการแพทย์พบว่า แซกคารินสามารถกระตุ้นการเกิดมะเร็งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในห้องปฏิบัติการได้ แต่ยังไม่มีรายงานที่แน่ชัดของการเป็นสารก่อมะเร็งในคนที่บริโภคสารนี้ในปริมาณที่กำหนดในเอกสารกำกับยา/กำกับผลิตภัณฑ์ ซึ่งอุตสาหกรรมยายังมีการใช้แซกคารินเป็นสารตัวกลาง (Chemical intermediate) เพื่อสังเคราะห์ยาบางชนิดในกลุ่มยาแก้อักเสบ NSAID เช่น Piroxicam, Tenoxicam, Sudoxicam, Isoxicam และ Meloxicam โดยทั่วไปแซกคารินในอุตสาหกรรมยาจะไม่ได้ใช้เป็นสารออกฤทธิ์แต่จะใช้ในเชิงปรับแต่งให้ยามีรสชาติน่ารับประทานมากขึ้น ตัวอย่างสูตรตำรับยาบางชนิดที่มีแซกคารินเป็นองค์ประกอบเช่น Aspirin 81, Bupropion hydrochloride extended-release, Sodium fluoride และ Psyllium seed-saccharin
แซกคารินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
สารแซกคารินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ
- ใช้ทดแทนน้ำตาลเพื่อปรับรสชาติในอาหารของผู้ป่วยโรคเบาหวาน
- ใช้เป็นสารปรุงแต่งรสชาติของผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบันรวมถึงของอาหาร
แซกคารินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤธิ์ของสารแซกคารินคือ การใช้แซกคารินในปริมาณความเข้มข้นที่เหมาะสมจะทำให้ระบบการรับรสชาติของมนุษย์แปลผลเป็นรสหวาน จึงใช้ปรับรสชาติของสูตรตำรับยาต่างๆของอาหารต่างๆและของเครื่องดื่มต่างๆ
แซกคารินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
สารแซกคารินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น
- ผงแกรนูล (Granule, ผงเม็ดหยาบ) บรรจุซองขนาด 0.8 กรัม/ซอง
- แซกคารินอัดเม็ดขนาด 60 มิลลิกรัม/เม็ด
- เป็นผงวัตถุดิบที่นำไปผสมกับยาและอาหารต่างๆ
แซกคารินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
การรับประทานแซกคารินควรเป็นไปตามความเหมาะสม ด้วยแซกคารินไม่ได้จัดเป็นยาแต่เป็นสารแต่งรสหวานที่ต้องใช้ในความเข้มข้นที่เหมาะสมหรือตามที่ระบุในเอกสารกำกับยาที่แนบมากับตัวผลิตภัณฑ์
เมื่อมีการใช้แซกคารินควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดหรือสารปรุงแต่งอาหารใดเป็นประจำรวมถึงแซกคาริน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยา (แพ้สารต่างๆ) ทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยา/ใช้สารต่างๆแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา/ใช้สารอะไรอยู่ เพราะสารแซกคารินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ/สารอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
แซกคารินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
แซกคารินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน/ท้องเสีย ปวดท้อง ผื่นคัน
มีข้อควรระวังการใช้แซกคารินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้สารแซกคารินเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยา/แพ้สารแซกคาริน
- ห้ามใช้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามใช้เกินขนาดรับประทานที่ระบุมากับผลิตภัณฑ์
- หากพบอาการแพ้ยา/แพ้สารนี้เช่น อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ตัวบวม ผื่นขึ้นเต็มตัว ให้หยุดใช้ผลิตภัณฑ์แซกคารินทันทีแล้วรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
- ห้ามใช้สารนี้ที่หมดอายุ
- ห้ามเก็บสารนี้ที่หมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา/สารต่างๆ” ที่รวมถึงยาแผน ปัจจุบัน ยาแผนโบราณ สมุนไพร สารปรุงแต่งรสชาติต่างๆอย่างแซกคาริน ด้วยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาหรือสารปรุงแต่งทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยา/สารต่างๆใช้เองเสมอ
แซกคารินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ด้วยแซกคารินใช้เป็นสารเพิ่มความหวานไม่ใช่ยาจึงยังไม่มีข้อมูลการศึกษาถึงปฏิกิริยาระหว่างยารับประทานต่างๆกับแซกคาริน อย่างไรก็ตามหากพบว่าการรับประทานยาต่างๆร่วมกับแซกคาริน แล้วเกิดอาการผิดปกติต่างๆของร่างกาย ให้หยุดการใช้แซกคารินทันทีแล้วรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว
ควรเก็บรักษาแซกคารินอย่างไร?
สามารถเก็บผลิตภัณฑ์แซกคารินในอุณหภูมิห้องที่เย็น เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น ห้ามเก็บในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บผลิตภัณฑ์แซกคารินให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
แซกคารินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
แซกคารินที่จำหน่ายในประเทศไทย มีชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Necta Sweet (เนคต้าสวีท) | Necta Sweet Inc |
Sweet'n Low (สวีท’เอน โลว์) | Cumberland Packing Corporation |
อนึ่งชื่อการค้าอื่นของแซกคารินที่จำหน่ายในต่างประเทศเช่น Sweet twin, Sweet and low
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Saccharin#Safety_and_health_effects [2july16]
- https://www.drugs.com/breastfeeding/saccharin.html [2july16]
- http://www1.fda.moph.go.th/consumer/csmb/csmb2545.nsf/aa98b95101fdb3f680256759002b9119/195a6228395d25f5c7256ccc000f7de3?OpenDocument [2july16]
- https://www.drugs.com/inactive/saccharin-172.html [2july16]
- http://www.webmd.com/drugs/2/drug-144870/psyllium-seed-saccharin-oral/details [2july16]
- https://pubchem.ncbi.nlm.nih.gov/compound/saccharin [2july16]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Sweet%27n_Low#/media/File:SweetnLowSweetener.JPG [2july16]
- http://www.sweetnlow.com/faq/health [2july16]
- http://www.tabletwise.com/saccharin-tablet [2july16]
- http://www.cancer.gov/about-cancer/causes-prevention/risk/diet/artificial-sweeteners-fact-sheet [2july16]