แคลเซียม อะซีเตท (Calcium acetate)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 23 มกราคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- แคลเซียม อะซีเตทมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- แคลเซียม อะซีเตทมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- แคลเซียม อะซีเตทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- แคลเซียม อะซีเตทมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- แคลเซียม อะซีเตทมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้แคลเซียม อะซีเตทอย่างไร?
- แคลเซียม อะซีเตทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาแคลเซียม อะซีเตทอย่างไร?
- แคลเซียม อะซีเตทมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคกระดูกพรุน โรคกระดูกบาง (Osteoporosis and Osteopenia)
- วัยหมดประจำเดือน (Menopause)
- โรคกระดูก (Bone disease)
- ไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (Hydrochlorothiazide)
- ยาต้านเอชไอวี ยาสูตรฮาร์ท (HAART: Highly Active Antiretroviral Therapy)
บทนำ
แคลเซียม(Calcium)เป็นแร่ธาตุที่มีความจำเป็นต่อกระบวนการดำรงชีวิตของมนุษย์ เพราะเป็นแหล่งวัตถุดิบในการสร้างมวลกระดูกและฟันถึง 99% และอีก 1% ในกระแสเลือดเป็นแคลเซียมที่มีประจุไฟฟ้า(Electrolyte)ซึ่งเหมาะต่อกระบวนการทางชีวะเคมีของร่างกาย การสะสมแคลเซียมเข้าในกระดูกจะเกิดขึ้นในลักษณะของสารประกอบที่มีชื่อเรียกว่า “ไฮดรอกซีอะพาไทต์(Hydroxyapatite)” ที่มีองค์ประกอบหลักๆอยู่ 3 ส่วน คือ แคลเซียม(Ca2+), ฟอสเฟต(PO43-) และหมู่ไฮดรอกไซด์(OH-) สามารถเขียนออกมาในรูปสูตรโมเลกุล Ca10(PO4)6(OH)2 การเกิดสารประกอบดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับสมดุลของแคลเซียมและหมู่ฟอสเฟต(Phosphate)ในกระแสเลือด กรณีที่มีความผิดปกติของร่างกายเกิดขึ้น เช่น มีภาวะไตวายเรื้อรัง, มีภาวะพาราไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำจากการทำงานผิดปกติของต่อมพาราไทรอยด์, การได้รับยาระบาย/ยาแก้ท้องผูกที่มีส่วนประกอบของฟอสเฟต, มีภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย ภาวะต่างๆดังกล่าว ล้วนส่งผลให้ร่างกายมีระดับฟอสเฟตในเลือดสูงเกินจากปกติ(Hyperphosphataemia) และมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องหลายประการ เช่น ทำให้การสังเคราะห์วิตามินดีในร่างกายลดลง ส่งผลให้เกิดอาการ/ภาวะ/โรคกระดูกอ่อน กล้ามเนื้อเป็นตะคริว เกิดอาการชัก ตลอดจนกระทั่งทำให้การทำงานของหัวใจผิดปกติไป การใช้ยาประเภท “แคลเซียม อะซีเตท(Calcium acetate)” หรือชื่ออื่น เช่น Calcium acetate monohydrate, Calcium ethanoate, Acetate of lime ได้เข้ามามีบทบาทในการควบคุมระดับฟอสเฟตของร่างกายที่สูงเกินดังกล่าว
ก่อนการใช้ ยาแคลเซียมอะซีเตท เพื่อรักษาภาวะฟอสเฟตในเลือดสูง ผู้ป่วยจะต้องได้รับการตรวจร่างกาย และการตรวจเลือด เพื่อแพทย์ใช้เป็นข้อมูลสำคัญมาประกอบการสั่งจ่าย ยาแคลเซียม อะซีเตทได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัยต่อผู้ป่วย
รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาแคลเซียม อะซีเตทที่พบเห็นการใช้บ่อยๆ จะเป็นยาชนิดรับประทาน ตัวยามีการละลายน้ำได้ดี และสามารถถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้อย่างรวดเร็ว
อาจมีคำถามว่าจะใช้ ยาแคลเซียม คาร์บอเนต(Calcium carbonate) หรือแคลเซียม กลูโคเนต(Calcium gluconate) มาทดแทนได้หรือไม่ นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาวิจัยและพบว่าแคลเซียม อะซีเตทมีคุณสมบัติละลายน้ำได้ดีกว่าแคลเซียมกลุ่มอื่น มีการปลดปล่อยประจุแคลเซียมได้รวดเร็ว แคลเซียมอิสระดังกล่าวจะเข้ารวมตัวกับหมู่ฟอสเฟตเกิดเป็นสารประกอบที่ไม่ละลายน้ำ ส่งผลให้ระดับฟอสเฟตอิสระในกระแสเลือดลดลงและกลับมาเป็นปกติเช่นเดิม
แคลเซียม อะซีเตทมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาแคลเซียม อะซีเตทมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ควบคุมภาวะฟอสเฟตในร่างกายสูง(Hyperphosphataemia) ที่มีสาเหตุจาก โรคไตวายเรื้อรัง
- รักษาภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำอันเนื่องมาจากพาราไทรอยด์ฮอร์โมนของร่างกายลดลง
- รักษาภาวะกระดูกพรุนในหญิงวัยหมดประจำเดือน
- รักษาอาการโรคกระดูกอ่อน/โรคกระดูกน่วม
แคลเซียม อะซีเตทมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
การใช้ยาแคลเซียม อะซีเตทจะต้องรับประทานพร้อมกับมื้ออาหาร ยาแคลเซียม อะซีเตทมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะปลดปล่อยแคลเซียมอิสระให้เข้ารวมตัวกับฟอสเฟตที่มีอยู่ในมื้ออาหารนั้นๆ เกิดเป็นสารประกอบแคลเซียมฟอสเฟต(Calcium phosphate)ที่ไม่ละลายน้ำ และมีการดูดซึมเข้ากระแสเลือดต่ำ แคลเซียมฟอสเฟตดังกล่าวจะถูกขับออกจากร่างกายมาทางอุจจาระ กลไกดังกล่าวจะ ลดการเพิ่มปริมาณฟอสเฟตเข้าสู่กระแสเลือด ขณะที่ร่างกายจะใช้ฟอสเฟตที่มีเกินในกระแสเลือดเพื่อกระบวนการดำรงชีวิตอย่างต่อเนื่อง ด้วยขั้นตอนเหล่านี้ ทำให้ปริมาณฟอสเฟตในเลือดลดลงมาอยู่ที่ระดับปกติได้ตามสรรพคุณ
แคลเซียม อะซีเตทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาแคลเซียม อะซีเตทมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Calcium acetate ขนาด 667 และ 1,000 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Calcium acetate ขนาด 667 มิลลิกรัม/แคปซูล
แคลเซียม อะซีเตทมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาแคลเซียม อะซีเตทมีขนาดรับประทาน เช่น สำหรับภาวะฟอสเฟตในเลือดสูงเกินปกติ:
- ผู้ใหญ่: รับประทานยาขนาด 1334 มิลลิกรัม พร้อมกับมื้ออาหาร แพทย์อาจเพิ่มขนาดรับประทานเป็นครั้งละ 2,001–2,668 มิลลิกรัม โดยพิจารณาใช้กับผู้ป่วยเป็นกรณีไป
- เด็ก: การใช้ยานี้กับเด็กให้เป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาแคลเซียมอะซีเตท ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแคลเซียม อะซีเตท อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาแคลเซียมอะซีเตท สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ
แคลเซียม อะซีเตทมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาแคลเซียม อะซีเตท สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น แคลเซียมในเลือดสูง เบื่ออาหาร
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน
มีข้อควรระวังการใช้แคลเซียม อะซีเตทอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาแคลเซียม อะซีเตท เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีภาวะแคลเซียมในเลือดสูง
- ต้องมารับการตรวจเลือดเพื่อดูระดับฟอสเฟตตามแพทย์สั่ง ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในช่วงให้นมบุตร และเด็ก ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
- รับประทานยานี้ต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์ ห้ามหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
- กรณีพบอาการแพ้ยา เช่น มีผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง ผิวหนังลอก แน่นหน้าอก หายใจขัด ใบหน้า-ปาก-คอมีอาการบวม ซึ่งเป็นอาการแพ้ยานี้ ต้องหยุดใช้ยานี้ทันที แล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาแคลเซียม อะซีเตทด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
แคลเซียม อะซีเตทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาแคลเซียม อะซีเตทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาแคลเซียม อะซีเตทร่วมกับยารักษา/ยาต้านเอชไอวี อย่างเช่น Dolutegravir ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาDolutegravir ด้อยลงไป
- ห้ามใช้ยาแคลเซียม อะซีเตทร่วมกับ ยา HCTZ ด้วยจะทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดสูงเกินไป
ควรเก็บรักษาแคลเซียม อะซีเตทอย่างไร?
สามารถเก็บยาแคลเซียมอะซีเตทภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
แคลเซียม อะซีเตทมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาแคลเซียม อะซีเตท มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Calcetate (แคลซีเตท) | Charoon Bhesaj |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Septacal, Lanum
บรรณานุกรม
- https://www.livestrong.com/article/285930-what-causes-calcium-build-up-on-bones/ [2017,Dec11]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Calcium_acetate [2017,Dec11]
- https://www.drugs.com/pro/calcium-acetate-capsules.html [2017,Dec11]
- https://www.drugs.com/mtm/calcium-acetate.html [2017,Dec11]
- https://www.drugs.com/calcium-acetate-images.html [2017,Dec11]
- https://www.drugs.com/sfx/calcium-acetate-side-effects.html [2017,Dec11]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/calcium-acetate-index.html?filter=2&generic_only= [2017,Dec11]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/calcium-acetate-index.html?filter=3&generic_only= [2017,Dec11]
- https://www.webmd.com/a-to-z-guides/phosphate-in-urine#1 [2017,Dec11]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/calcium%20acetate/?type=brief&mtype=generic [2017,Dec11]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/calcetate-calcetate-m/?type=brief [2017,Dec11]