แคลซิมิเมติก (Calcimimetics)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 12 มิถุนายน 2561
- Tweet
- บทนำ
- กลุ่มยาแคลซิมิเมติกมีอะไรบ้าง?
- แคลซิมิเมติกมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- แคลซิมิเมติกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- แคลซิมิเมติกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- แคลซิมิเมติกมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- แคลซิมิเมติกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้แคลซิมิเมติกอย่างไร?
- แคลซิมิเมติกมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาแคลซิมิเมติกอย่างไร?
- แคลซิมิเมติกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- แคลเซียมในเลือดสูง (Hypercalcemia)
- แคลเซียม เกลือแร่แคลเซียม (Calcium)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบต่อมไร้ท่อ (Anatomy and physiology of endocrine system)
- โรคต่อมไร้ท่อ โรคระบบต่อมไร้ท่อ (Endocrine disease)
- การล้างไต การบำบัดทดแทนไต (Renal replacement therapy)
- โรคไตเรื้อรัง (Chronic kidney disease)
บทนำ
ยาแคลซิมิเมติก (Calcimimetics) เป็นกลุ่มยาที่นำมารักษาภาวะพาราไทรอยด์ ฮอร์โมนในร่างกายมีมากเกินกว่าปกติ ซึ่งมักจะมีสาเหตุจากไตวายเรื้อรัง พาราไทรอยด์ ฮอร์โมน/ ฮอร์โมนจากต่อมพาราไทรอยด์ หรือย่อว่า PTH (Parathyroid hormone) เป็นฮอร์โมนที่มีความสำคัญต่อกระบวนการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อกระดูก และยังมีกลไกช่วยปรับแต่งโครงกระดูกให้เข้ารูปร่างอย่างเหมาะสม หรือแม้แต่การซ่อมแซมกระดูกที่หักก็มีความสัมพันธ์กับสมดุลของระดับ PTH การหลั่ง PTHจากต่อมพาราไทรอยด์ ขึ้นกับปริมาณแคลเซียมในกระแสเลือด กล่าวคือ ถ้าระดับแคลเซียมในเลือดต่ำจะส่งผลให้ PTH หลั่งออกมามาก หากระดับแคลเซียมในเลือดสูงขึ้นจะส่งผลยับยั้งการหลั่ง PTH การมี PTH สูงเกินไปจะทำให้แคลเซียมถูกปลดปล่อยจากกระดูกออกมาจำนวนมาก ส่งผลให้มวลกระดูกมีความแข็งแรงน้อยลงและเสี่ยงต่อกระดูกหักได้ง่ายจากเกิดภาวะกระดูกพรุน นอกจากนี้ ยังอาจทำให้เกิด นิ่วในไต ปัสสาวะมาก ปวดท้อง อ่อนเพลีย ปวดกระดูก ปวดข้อ คลื่นไส้อาเจียน และเบื่ออาหาร กลุ่มยาแคลซิมิเมติก จะออกฤทธิ์ที่บริเวณตัวรับ(Receptor)บนผิวเซลล์ของต่อมพาราไทรอยด์และกระตุ้นให้รับรู้สัญญาณว่ามีแคลเซียมในกระแสเลือดมากเพียงพอแล้ว จึงเป็นผลไม่ให้มีการหลั่ง PTH อีกต่อไป
กลุ่มยาแคลซิมิเมติกมีอะไรบ้าง?
ปัจจุบันกลุ่มยาแคลซิมิเมติกที่นำมาใช้ทางคลินิกมีดังนี้
1. Cinacalcet: ใช้รักษาภาวะพาราไทรอยด์ฮอร์โมนสูง (Primary and secondary hyperparathyroidism)ในผู้ป่วยโรคไตเรื้องรัง และในผู้ป่วยมะเร็งที่มีภาวะแคลเซียมในเลือดสูง(Hypercalcemia of malignancy) รูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาแบบรับประทาน มีวางจำหน่ายภายใต้ ยาชื่อการค้าว่า Sensipar
2. Etelcalcetide: ใช้ลดระดับ พาราไทรอยด์ฮอร์โมน แคลเซียม และฟอสฟอรัส ในเลือด รูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาฉีด และมีจำหน่ายภายใต้ ยาชื่อการค้าว่า Parsabiv
แคลซิมิเมติกมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
อาจสรุปสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ของยาแคลซิมิเมติกที่ใช้รักษาอาการโรคต่างๆดังนี้
1. ภาวะพาราไทรอยด์ฮอร์โมนสูงแบบปฐมภูมิ (Primary hyperparathyroidism)
2. ภาวะพาราไทรอยด์ฮอร์โมนสูงแบบทุติยภูมิในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง/Chronic kidney disease/CKD (Secondary hyperparathyroidism in non-dialyzed stage 3 and 4 CKD patients)
3. ภาวะพาราไทรอยด์ฮอร์โมนสูงแบบทุติยภูมิในผู้ป่วยที่ต้องรับการฟอกไต/การล้างไต (Secondary hyperparathyroidism in dialyzed patients)
4. บำบัดภาวะพาราไทรอยด์ฮอร์โมนสูงและมีภาวะแคลเซียมในเลือดสูงกับผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายไต (Hypercalcemic hyperparathyroidism in renal transplant patients)
5. บำบัดภาวะพาราไทรอยด์ฮอร์โมนสูงด้วยเหตุจากโรคมะเร็ง(Parathyroid carcinoma)
แคลซิมิเมติกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
แคลซิมิเมติกมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับบนผิวเซลล์ของต่อมพาราไทรอยด์ ก่อให้เกิดสัญญาณกระตุ้นให้เซลล์ต่อมพาราไทรอยด์ระงับการหลั่งพาราไทรอยด์ฮอร์โมน และทำให้อาการป่วยจากภาวะพาราไทรอยด์ฮอร์โมนสูงดีขึ้นตามสรรพคุณ
แคลซิมิเมติกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาแคลซิมิเมติกมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดเคลือบฟิล์มชนิดรับประทาน เช่นยา Cinacalcet (Cinacalcet hydrochloride หรือ Cinacalcet HCl) ขนาด 30, 60, และ 90 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาฉีดที่ต้องฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ เช่นยา Etelcalcetide ขนาด 5 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
แคลซิมิเมติกมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
การเลือกใช้ตัวยาแคลซิมิเมติกที่รวมถึงขนาดยา จะขึ้นอยู่กับ อาการป่วย ความรุนแรง ภาวะโรคแทรกซ้อน แพทย์เท่านั้นจะเป็นผู้บริหารการใช้ยาแคลซิมิเมติกได้อย่างปลอดภัยและเหมาะสมที่สุด
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาแคลซิมิเมติกที่รวม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยากลุ่มแคลซิมิเมติกอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
แคลซิมิเมติกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาแคลซิมิเมติกสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น แคลเซียมในเลือดต่ำ โปแตสเซียมในเลือดสูง เกิดภาวะขาดน้ำ
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน ปวดศีรษะ วิงเวียน
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำหรือไม่ก็สูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจวาย คลื่นไฟฟ้าหัวใจเต้นผิดปกติ
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดโลหิตจาง
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก ปวดท้อง ท้องอืด
- ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น ฮอร์โมนเทสทอสเตอโรน(Testosterone)ลดลง
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ เกิดตะคริว ปวดหลัง
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน หายใจขัด
มีข้อควรระวังการใช้แคลซิมิเมติกอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้แคลซิมิเมติก เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยากลุ่มแคลซิมิเมติก
- การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก ต้องเป็นไปตามคำสั่ง แพทย์เท่านั้น
- ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้โดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
- ระหว่างการใช้ยานี้ผู้ป่วยต้องรับการตรวจเลือดเพื่อการควบคุมระดับแคลเซียมในเลือดตามแพทย์สั่ง
- ระวังการเกิดภาวะลมชัก
- กรณีพบว่ามีอาการเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร สังเกตจากมีอุจจาระสีคล้ำ ต้องรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
- ตรวจวัดความดันโลหิตอยู่เป็นประจำตาม แพทย์ พยาบาล เภสัชกร แนะนำ
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยากลุ่มแคลซิมิเมติกด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่องข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
แคลซิมิเมติกมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาแคลซิมิเมติกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาCinacalcet ร่วมกับยาTamoxifen ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพ การรักษาของยาTamoxifen ด้อยลง
- ห้ามใช้ยาEtelcalcetide ร่วมกับยาRisedronate ด้วยอาจทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ
ควรเก็บรักษาแคลซิมิเมติกอย่างไร?
ควรเก็บยาแคลซิมิเมติกตามเงื่อนไขที่ระบุในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
แคลซิมิเมติกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาแคลซิมิเมติก มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Sensipar (เซนซิพาร์) | Amgen |
Parsabiv (พาร์ซาบิป) | Amgen |
บรรณานุกรม
- https://www.medicinenet.com/interferon/article.htm#what_are_the_available_interferons? [2018,May26]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Etelcalcetide [2018,May26]
- http://medinfo2.psu.ac.th/surgery/Collective%20review/2558/26.Management_of_primary_hyperparathyroidism%20(Kranchai%2016.12.58).pdf [2018,May26]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/cinacalcet.html [2018,May26]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/cinacalcet-with-genox-670-0-2145-3708.html [2018,May26]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Cinacalcet [2018,May26]