แคลซินูริน อินฮิบิเตอร์ (Calcineurin inhibitors)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 29 กุมภาพันธ์ 2563
- Tweet
- บทนำ
- แคลซินูริน อินฮิบิเตอร์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- แคลซินูริน อินฮิบิเตอร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- แคลซินูริน อินฮิบิเตอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- แคลซินูริน อินฮิบิเตอร์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- แคลซินูริน อินฮิบิเตอร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้แคลซินูริน อินฮิบิเตอร์อย่างไร?
- แคลซินูริน อินฮิบิเตอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาแคลซินูริน อินฮิบิเตอร์อย่างไร?
- แคลซินูริน อินฮิบิเตอร์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคภูมิแพ้ (Allergy)
- โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก (Atopic dermatitis)
- พิเมโครลิมัส (Pimecrolimus)
- ทาโครลิมัส (Tacrolimus)
- เม็ดเลือดขาว (White blood cell หรือ Leukocyte)
บทนำ
ยาแคลซินูริน อินฮิบิเตอร์ (Calcineurin inhibitors) เป็นกลุ่มยาที่ทำหน้าที่ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ตัวหนึ่งในร่างกายที่มีชื่อเรียกว่า ‘แคลซินูริน(Calcineurin)’ เอนไซม์นี้มี หน้าที่กระตุ้นการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดที-เซลล์ (T-Cell) หรือ ที-ลิมโฟไซต์ (T-Lymphocytes)ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ทำงานตอบสนองต่อการกำจัดและป้องกันเชื้อโรค
ทางการแพทย์ได้นำยากลุ่ม แคลซินูริน อินฮิบิเตอร์ มารักษาโรคผื่นภูมิแพ้ทางผิวหนัง/โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก (Atopic dermatitis) และตัวยาที่นำมาใช้ ได้แก่ยาPimecrolimus และ Tacrolimus โดยมีเภสัชภัณฑ์เป็นแบบยาทาภายนอก กรณีที่มีอาการรุนแรงยาทาภายนอกใช้ไม่ได้ผล แพทย์อาจเปลี่ยนมาใช้ ยาแคลซินูริน อินฮิบิเตอร์ที่เป็นลักษณะของยารับประทานและฉีด อย่างเช่นยา Cyclosporine และ Tacrolimus ตามลำดับ
อาจสรุปประโยชน์ทางการแพทย์ของกลุ่มยา แคลซินูริน อินฮิบิเตอร์ ได้ดังนี้
1. ใช้เป็นยาทางเลือก สำหรับรักษาภาวะโรคภูมิแพ้ทางผิวหนังในกรณีที่ใช้ยา กลุ่มสเตียรอยด์แล้วไม่ได้ผล
2. ใช้เป็นยาทางเลือก กรณีที่ใช้ยาแก้แพ้ชนิดยาทาที่ไม่ใช่กลุ่มสเตียรอยด์แล้วไม่ได้ผล
3. อาจใช้ยากลุ่มนี้ทาบริเวณร่างกายที่เกิดโรคภูมิแพ้ได้เป็นระยะเวลายาวนาน แต่ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
4. ยังไม่พบข้อมูลว่ากลุ่มยา แคลซินูริน อินฮิบิเตอร์ กระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็ง
อย่างไรก็ตาม แพทย์สามารถใช้ยา แคลซินูริน อินฮิบิเตอร์ เพื่อป้องกันการปฏิเสธเนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่ได้รับการปลูกถ่ายใหม่ อาทิ การผ่าตัดเปลี่ยนไต, การผ่าตัดเปลี่ยนตับ, และการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ
สำหรับรูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยากลุ่ม แคลซินูริน อินฮิบิเตอร์ ในประเทศไทยจะเป็นลักษณะ ยาทาภายนอก, ยารับประทาน, และยาหยอดตา
การเลือกใช้ยา แคลซินูริน อินฮิบิเตอร์ ได้อย่างเหมาะสม ปลอดภัย และตรงวัตถุประสงค์ต่อการรักษาโรคของแต่ละบุคคล จะต้องเป็นหน้าที่ของแพทย์เท่านั้น ผู้ป่วยไม่ควรไปซื้อหายากลุ่มนี้มาใช้เองด้วยมีปัจจัยเรื่อง ผลข้างเคียง, การแพ้ยา, ขนาด, และระยะเวลาการใช้ที่เหมาะสมมาประกอบกัน
แคลซินูริน อินฮิบิเตอร์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาแคลซินูริน อินฮิบิเตอร์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:
- ใช้รักษาโรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง เช่นยา Pimecrolimus , Tacrolimus
- ใช้ป้องกันร่างกายปฏิเสธอวัยวะที่ได้รับการปลูกถ่ายหลังการผ่าตัด
เช่น การผ่าตัดเปลี่ยน ไต ตับ หัวใจ ตับอ่อน ไขกระดูก ซึ่งตัวยาที่พบเห็นการ ใช้ได้แก่ยา Tacrolimus และ Cyclosporine
- ใช้เป็นยาหยอดตา เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำตาเมื่อมีภาวะตาแห้ง (Keratoconjunctivitis Sicca) เช่น ยา Cyclosporine
แคลซินูริน อินฮิบิเตอร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาแคลซินูริน อินฮิบิเตอร์ มีกลไกการออกฤทธ์โดย ตัวยาจะเข้ายับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่มีชื่อว่า ‘แคลซินูริน เอนไซม์’ ที่มีหน้าที่กระตุ้น’ที-เซลล์’ของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคให้มีการตอบสนองต่อภาวะการอักเสบของร่างกาย การปิดกั้นเอนไซม์แคลซินูรินจะทำให้ภาวะการอักเสบบรรเทาเบาบางลง จึงเป็นที่มาของสรรพคุณ
แคลซินูริน อินฮิบิเตอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
กลุ่มยาแคลซินูริน อินฮิบิเตอร์ มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์:
- ยารับประทาน
- ยาทาผิวหนังเฉพาะที่
- ยาหยอดตา(อีมัลชั่น) และ
- ยาฉีด
แคลซินูริน อินฮิบิเตอร์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
การบริหารยา/การใช้ยากลุ่ม แคลซินูริน อินฮิบิเตอร์ ขึ้นอยู่กับสภาวะของแต่ละโรค เช่น อาการแพ้ทางผิวหนัง, การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะต่างๆ, ตลอดจนกระทั่งอาการแพ้ทางตา, แพทย์เท่านั้นจะเป็นผู้เลือกใช้ยากลุ่มนี้ให้กับผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัยและเหมาะสมที่สุด
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยา แคลซินูริน อินฮิบิเตอร์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง, ความดันโลหิตสูง, ความดันโลหิตต่ำ, โรคติดเชื้อทางผิวหนัง/ผิวหนังอักเสบติดเชื้อ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่เพราะยา แคลซินูริน อินฮิบิเตอร์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้นหรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
แคลซินูริน อินฮิบิเตอร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยา แคลซินูริน อินฮิบิเตอร์ สามารถก่อให้เกิดผล/อาการมาพึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดอาการผื่นคัน ระคายเคือง ผิวหนังอักเสบ เกิดลมพิษ ขนดก
- โรคติดเชื้อไวรัส ตรงบริเวณผิวหนังที่ทายา เช่น งูสวัด หรือ เริม
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดหัว มีไข้ มีอาการชา วิงเวียน ตัวสั่น
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เยื่อจมูกอักเสบ เจ็บคอ_คออักเสบ คอหอยอักเสบ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร:เช่น คลื่นไส้ ปวดเหงือก อาหารไม่ย่อย ท้องเสีย
- ผลต่อสระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำหนักตัวลดลง
- ผลต่อกล้ามเนื้อ:เช่น เป็นตะคริวที่ขา
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น เม็ดเลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด:เช่น ความดันโลหิตสูง ใบหน้าแดง
- ผลต่อตา:เช่น การมองภาพไม่ชัดเจน
มีข้อควรระวังการใช้แคลซินูริน อินฮิบิเตอร์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาแคลซินูริน อินฮิบิเตอร์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยากลุ่มนี้
- การใช้ยากับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก) ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น
- ห้ามปรับขนาดการใช้ยาเองโดยไม่ขอคำแนะนำจากแพทย์
- ห้ามใช้ยานานเกินคำสั่งแพทย์
- หลีกเลี่ยงการออกแดดหรืออยู่ในบริเวณที่มีแสงไฟที่มีความสว่างมากๆเพราะผื่นจะรุนแรงขึ้น
- กรณียาทาผิวหนัง ห้ามใช้ผ้าหรือพลาสเตอร์ยา ปิดทับบริเวณผิวหนังที่ทายา
และควรล้างมือก่อนและหลังใช้ยาทุกครั้ง
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาแคลซินูริน อินฮิบิเตอร์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
แคลซินูริน อินฮิบิเตอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาแคลซินูริน อินฮิบิเตอร์ มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ ยาPimecrolimus ร่วมกับยาTacrolimus ด้วยจะทำให้ความเข้มข้นของยาตัวใดตัวหนึ่งหรือทั้ง 2 ตัวในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงต่อร่างกายตามมา
- ห้ามใช้ ยาCiclosporine ร่วมกับยา Gentamycin, Tobramycin, Vancomycin Trimetroprim, และ Sulfamethoxazole ด้วยจะทำให้ไตของผู้ป่วยทำงานผิดปกติมากขึ้น
- ห้ามใช้ยาTacrolimus ร่วมกับ ยาต้านไวรัสตับอักเสบซี กลุ่ม HCV protease inhibitors, ยาต้านเอชไอวี กลุ่ม HIV Protease inhibitors, และยากลุ่ม Macrolide ด้วยจะทำให้ตัวยาTacrolimus ในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นจนส่งผลกระทบต่อร่างกายตามมา
ควรเก็บรักษาแคลซินูริน อินฮิบิเตอร์อย่างไร?
ควรเก็บรักษาแคลซินูริน อินฮิบิเตอร์ เช่น
- เก็บยาภายใต้คำแนะนำใน ฉลากยา/ เอกสารกำกับยา
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และ ความชื้น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาที่หมดอายุ
- ไม่ทิ้งยาลงในแม่น้ำคูคลองตามธรรมชาติ
แคลซินูริน อินฮิบิเตอร์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
แคลซินูริน อินฮิบิเตอร์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Advagraf (แอดวากราฟ) | Astellas Pharma |
Prograf (โพรกราฟ) | Astellas Pharma |
Elidel (อีลิเดล) | Norvartis |
Cipol-N (ซิพอล-เอ็น) | Chong Kun Dang |
Equoral (อิควอรอล) | Teva /Silom Medical |
Restasis (เรสตาซิส) | Allergan |
บรรณานุกรม
- https://www.drugs.com/drug-class/calcineurin-inhibitors.html [2020,Feb22]
- https://specialty.mims.com/atopic%20dermatitis/treatment [2020,Feb22]
- https://www.mims.com/malaysia/drug/info/pimecrolimus?mtype=generic [2020,Feb22]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/tacrolimus/?type=brief&mtype=generic [2020,Feb22]
- https://www.bauschhealth.com/Portals/25/Pdf/PI/Elidel-PI.pdf [2020,Feb22]
- https://reference.medscape.com/drug/cequa-restasis-cyclosporine-ophthalmic-343637[2020,Feb22]