แคนนาบินอยด์ (Cannabinoid)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 27 มีนาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- แคนนาบินอยด์มีกี่ประเภท อะไรบ้าง?
- กลไกการออกฤทธิ์ของแคนนาบินอยด์เป็นอย่างไร?
- ประโยชน์ของแคนนาบินอยด์มีอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาเจริญอาหาร (Appetite Enhancers)
- กลุ่มยาแก้ปวดและยาพาราเซตามอล (Analgesics and Paracetamol)
- โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง หรือโรคเอมเอส (MS: Multiple Sclerosis)
- อัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease)
- โรคฮันติงตัน (Huntington’s disease)
บทนำ
สาร/ยาแคนนาบินอยด์(Cannabinoid) เป็นกลุ่มของสารประกอบที่สามารถออกฤทธิ์คล้ายกับสารสื่อประสาทในสมอง การออกฤทธิ์ของยาแคนนาบินอยด์จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการรวมตัวกับตัวรับ(Receptor)ที่มีความจำเพาะเจาะจงหรือที่เรียกกันว่า แคนนาบินอยด์ รีเซพเตอร์ (Cannabinoid receptor) ที่มีอยู่ตามอวัยวะต่างๆของร่างกาย ส่งผลให้อวัยวะเหล่านั้นเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น
- ลดความเจ็บ/ปวด หรือลดการอักเสบของอวัยวะนั้นๆ
- ทำให้อวัยวะเป้าหมายหยุดการทำงาน
- ส่งผลต่อการเต้นของหัวใจ รวมถึงการไหลเวียนเลือด
- กรณีของสมอง สามารถกระตุ้นทำให้เกิดฤทธิ์เสพติดสาร/ยานี้ได้
- ส่งผลต่ออารมณ์และสภาพจิตใจ
- กระตุ้นให้เกิดการตายของเซลล์บางชนิดในร่างกาย
- และอื่นๆ
สารแคนนาบินอยด์ที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบ มีมากกว่า 30 ชนิดขึ้นไป บางชนิดก็ได้นำมาใช้รักษาโรคได้แล้ว เช่น กระตุ้นความอยากอาหาร/ยาเจริญอาหาร ลดอาการอาเจียน/ยาแก้อาเจียน บำบัดผู้ป่วยอัลไซเมอร์ แต่สารแคนนาบินอยด์อีกหลายตัวก็ยังอยู่ในกระบวนการของงานศึกษาวิจัย และรอการยืนยันความปลอดภัยที่จะนำมาใช้กับมนุษย์
แคนนาบินอยด์มีกี่ประเภท อะไรบ้าง?
นักวิทยาศาสตร์ได้แบ่งสาร/ยาจำพวกแคนนาบินอยด์ออกเป็น 3 ประเภท คือ
1. แคนนาบินอยด์ที่ผลิตได้ในร่างกาย (Endocannabinoids): เป็นกลุ่มสารประกอบที่ร่างกายสร้างขึ้นได้เอง และมีชื่อเรียกจำเพาะตามโครงสร้างเคมี ดังนี้ เช่น
- Anandamide: พบได้ในสมองและในอวัยวะต่างๆของร่างกาย หากร่างกายผลิต Anandamide ได้มากอย่างเหมาะสม จะช่วยให้คลายความวิตกกังวล และลดอารมณ์ซึมเศร้า
- 2-Arachidonoylglycerol: พบได้ใน สมอง น้ำนมของมารดา สารแคนนาบินอยด์ตัวนี้มีความสำคัญต่อการทำงานของเอนไซม์ที่ชื่อว่า Phospholipase C ที่ทำหน้าที่ย่อยสารชีวะโมเลกุลอย่าง ไขมันในกลุ่มที่ชื่อ Phospholipids ในร่างกาย
- Noladin ether: พบได้ในสมอง มีฤทธิ์ต่อพฤติกรรมต่างๆของมนุษย์ เช่น อารมณ์ในการแสดงออก
- N-Arachidonoyl dopamine: พบในสมองส่วนต่างๆ เช่น Hippocampus, Cerebellum, และ Striatum สามารถส่งผลต่อกายภาพของร่างกาย คือ ทำให้อุณหภูมิร่างกายต่ำ การเคลื่อนไหวของร่างกายทำได้น้อยลง และเกิดภาวะไร้ความรู้สึกเจ็บ/ปวด
- Virodhamine: เป็นสารแคนนาบินอยด์ที่ยังอยู่ระหว่างงานวิจัย และพบว่าสารประกอบนี้สามารถทำให้อุณหภูมิร่างกายของหนูทดลองลดลง
- Lysophosphatidylinositol: ยังมีรายละเอียดน้อยเกี่ยวกับสารประกอบชนิดนี้ แต่พบว่ามีความสำคัญต่อกระบวนการกระตุ้นให้เกิดการแบ่งเซลล์ ซึ่งรวมถึงเซลล์มะเร็งด้วย
2. แคนนาบินอยด์ที่พบในพืช(Phytocannabinoids): พบสารนี้ได้ในพืชต่างๆ แต่มีมากในพืชจำพวกกัญชา สารแคนนาบินอยด์กลุ่มนี้ถูกแบ่งแยกย่อยเป็นสารประกอบต่างๆหลายชนิด ดังนี้ เช่น
- Tetrahydrocannabinol: เป็นสาระสำคัญที่สกัดได้จากกัญชา ใช้บำบัด อาการปวด อย่างเช่น ปวดจากเส้นประสาท ลดอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ทำให้การบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะน้อยลง
- Tetrahydrocannobinolic acid: เป็น โปรดรัก(Prodrug) ของสารประกอบTetrahydrocannabinol: ซึ่งทางวิทยาศาสตร์ยังหาประโยชน์โดยตรงจากสารนี้ไม่ได้ แต่ใช้เป็นสารอ้างอิงเพื่อตรวจคัดกรองพืชจำพวกกัญชา
- Cannabidiol: สารประกอบนี้ถูกนำไปผสมกับ Tetrahydrocannabinol ในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 เพื่อใช้เป็นยารักษาโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis)
- Cannabinol: มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันฯ(ภูมิคุ้มกันต้านทานโรค) และช่วยลดการอักเสบ
- Cannabigerol: เป็นสารประกอบที่ยังไม่พบว่าก่อพิษ มีฤทธิ์บรรเทาปวด สามารถต่อต้านเชื้อโรคบางชนิดได้ ช่วยทำให้ผิวหนังชุ่มชื้น ช่วยลดความดันในลูกตาของผู้ป่วยโรคต้อหิน ใช้บำบัดโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง และบำบัดอาการของโรค Huntington’s disease ในห้องทดลองพบว่า สารแคนนาบินอยด์ตัวนี้มีศักยภาพในการบำบัดมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งตับอ่อน มะเร็งผิวหนัง มะเร็งรังไข่ มะเร็งไต มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และมะเร็งลำไส้ใหญ่ นอกจากนี้พบว่า Cannabigerol ยังสามารถบำบัดภาวะภูมิต้านทานตนเองได้อีกด้วย
- Cannabichromene: ยังอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อนำมาเป็นยาต้านการอักเสบ/ยาแก้อักเสบ
อนึ่ง ยังมีสาร/ยาแคนนาบินอยด์ของกลุ่มพืชอีกหลายรายการ ที่ยังไม่สามารถระบุคุณสมบัติและฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา หรือไม่ก็อยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัยจึงไม่ขอนำมากล่าวในบทความนี้
3. แคนนาบินอยด์สังเคราะห์ (Synthetic cannabinoids): วิทยาการปัจจุบันทำให้การค้นคว้าตัวยาสำคัญก้าวหน้าขึ้น และพัฒนาไปถึงขั้นสังเคราะห์สาร/ตัวยาต่างๆขึ้นเพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ สารแคนนาบินอยด์ก็สามารถสังเคราะห์ได้ด้วยเทคโนโลยีเช่นกัน ที่พบเห็นในปัจจุบันมีดังนี้ เช่น
- Dronabinol: ใช้เป็นยากระตุ้นให้อยากอาหาร ยาแก้อาเจียน และใช้เป็นยาบรรเทาปวด/ยาแก้ปวด
- Nabilone: มีฤทธิ์ต้านการอาเจียนในผู้ป่วยที่ต้องได้ยาเคมีบำบัด ช่วยลด อาการปวดจากเส้นประสาท รวมถึงบรรเทาอาการปวดเรื้อรัง ยาNabilone จัดเป็นสารควบคุมชนิดหนึ่ง
- Rimonabant: ใช้เป็นยาลดความอยากอาหาร เคยได้รับการรับรองใน ปี ค.ศ.2006 (พ.ศ.2549) แต่อีก 2 ปีต่อมาถูกเพิกถอนการใช้ทางคลินิก เพราะมีฤทธิ์ต่อจิตประสาทค่อนข้างรุนแรง
- Dimethylheptylpyran: มีฤทธิ์บรรเทาอาการปวดที่มีอาการรุนแรง และใช้เป็นยาต้านการชัก/ยากันชัก เคยมีการศึกษาเพื่อนำมาใช้ในกองทัพทหารและถือเป็นยาที่ห้ามผลิตด้วยผลข้างเคียงบางประการ เช่น ทำให้ง่วงมาก เกิดอาการวิงเวียน เกิดประสาทหลอนอย่างอ่อนๆ ทำให้ความดันโลหิตต่ำ และกล้ามเนื้ออ่อนแรง
- Levonantradol: เป็นยาสังเคราะห์เลียนแบบสาร Dronabinol มีฤทธิ์ต้านอาเจียน และช่วยบรรเทาปวด ปัจจุบันยับไม่มีการผลิตในเชิงการค้า
ทั้งนี้ ในตลาดยา ยังมียา/สารแคนนาบินอยด์สังเคราะห์อีกหลายรายการที่ยังไม่ได้รับการตั้งชื่อ นักวิทยาศาสตร์จะใส่รหัสประจำตัวให้ยาในกลุ่มแคนนาบินอยด์ที่กำลังศึกษานี้ เพื่อรอการวิจัยและพัฒนาต่อไป
กลไกการออกฤทธิ์ของแคนนาบินอยด์เป็นอย่างไร?
สาร/ยาแคนนาบินอยด์มีกลไกการออกฤทธิ์ โดยยาจะเข้าจับกับตัวรับในร่างกาย นักวิทยาศาสตร์ได้แบ่งตัวรับของแคนนาบินอยด์ออกเป็น 2 ชนิด คือ
1. Cannabinoid receptor type1: ตัวรับชนิดนี้พบมากที่สมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมองส่วนที่เรียกว่า Basal ganglia และ Limbic system รวมถึง Hippocampus, Striatum, Cerebellum ตลอดจนกระทั่งในอวัยวะของระบบสืบพันธุ์
2. Cannabinoid receptor type2: เป็นตัวรับที่พบมากในเซลล์ของอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เช่น ม้าม รวมถึงพบได้ในระบบประสาทส่วนปลายของร่างกาย(ส่วนนอกสมอง) การออกฤทธิ์ของแคนนาบินอยด์แต่ละชนิดจะมีความจำเพาะต่อตัวรับทั้ง type1 และ type2 อย่างเหมาะสม ส่งผลเกิดการกระตุ้นในลักษณะของสัญญาณเหมือนกับสารสื่อประสาท ทำให้อวัยวะต่างๆตอบสนองออกมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบการหายใจ การทำงานของหัวใจ มีผลต่อระบบประสาทสั่งการ ต่อการเคลื่อนไหวของอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร บรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน แสดงฤทธิ์ลดอาการเจ็บปวด และลดการอักเสบ
อย่างไรก็ตาม การใช้ยาแคนนาบินอยด์อย่างเหมาะสมและตรงอาการเท่านั้นจึงจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งแพทย์เท่านั้นที่จะสั่งใช้ยากลุ่มนี้ได้อย่างเหมาะสมกับผู้ป่วยที่สุด
ประโยชน์ของแคนนาบินอยด์มีอะไรบ้าง?
ประโยชน์ของยาแคนนาบินอยด์ เช่น
- ใช้เป็น ยาบำบัดอาการปวด ยาแก้อาเจียน ยาบรรเทาความวิตกกังวล ยาลดอาการซึมเศร้า/ยาต้านเศร้า
- มีการศึกษาเพื่อใช้แคนนาบินอยด์เป็นยาต้านมะเร็งชนิดต่างๆ ซึ่งต้องรอข้อสรุปผลดี-ผลเสียจากผลการวิจัย จึงจะสามารถนำมาใช้ได้จริงทางคลินิก
ทั้งนี้การเลือกใช้ยาแคนนาบินอยด์ได้อย่างปลอดภัย ควรต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์เท่านั้น ไม่ควรใช้สาร/ยาแคนนาบินอยด์ตามคำบอกต่อหรือหลงเชื่อโดยขาดหลักทางวิชาการ
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Cannabinoid#Phytocannabinoids [2018,March10]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Anandamide#Synthesis_and_degradation [2018,March10]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/25233417 [2018,March10]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Tetrahydrocannabinol [2018,March10]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Cannabigerol [2018,March10]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Nabilone [2018,March10]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Levonantradol [2018,March10]