แคนดีซาร์แทน (Candesartan)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาแคนดีซาร์แทน(Candesartan หรือ Candesartan cilexetil) เป็นยาในกลุ่มแอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์(Angiotensin II receptor antagonist) ทางคลินิกนำมาใช้เป็นยาลดความดันโลหิตสูง โดยใช้ในลักษณะยาเดี่ยว หรือใช้ร่วมกับยารักษาความดันโลหิตสูงตัวอื่นก็ได้ สามารถใช้ยานี้ได้กับผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 1 – ต่ำกว่า 17 ปี

ยาแคนดีซาร์แทน เป็นยาที่ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะหัวใจล้มเหลว ทั้งนี้แพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ป่วย ควบคุมการรับประทานอาหารไขมัน ควบคุมโรคเบาหวาน ลดการสูบบุหรี่ งดอาหารเค็ม และแนะนำให้ออกกำลังกาย

ขนาดรับประทานของยาแคนดีซาร์แทนในผู้ใหญ่ อยู่ในช่วง 2–32 มิลลิกรัม ขนาดรับประทานช่วงเริ่มต้นอยู่ที่ 16 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง และจะเริ่มเห็นผลการควบคุมความดันโลหิตภายใน 2 สัปดาห์แรกนับจากเริ่มใช้ยานี้

กรณีที่ใช้ยาแคนดีซาร์แทนเพียงลำพัง แล้วไม่สามารถควบคุมความดันโลหิตได้ แพทย์อาจจ่ายยาลดความดันโลหิตชนิดเป็นยาขับปัสสาวะร่วมด้วย เช่น ยา Hydrochlorothiazide หรือใช้ยาลดความดันโลหิตตัวอื่นเข้ามาสนับสนุนการรักษาอย่างเช่น ยาAmlodipine นอกจากนี้ยังพบว่า การใช้ยาแคนดีซาร์แทนร่วมกับยากลุ่ม ACE inhibitor สามารถทำให้ประสิทธิผลของการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวดีกว่าการใช้ยา ACE inhibitor โดยลำพัง

รูปแบบผลิตภัณฑ์ของยาแคนดีซาร์แทน เป็นยาชนิดรับประทาน ซึ่งมีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารและกระจายตัวเข้าสู่กระแสเลือดเพียงประมาณ 15% ตัวยานี้จะถูกทำลายที่ผนังลำไส้เล็กโดยเอนไซม์ชื่อเอสเทอเรส (Esterases) ส่วนยานี้ที่ถูกดูดซึม จะถูกทำลายโดยตับ และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 9 ชั่วโมง ในการกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

ข้อจำกัดของการใช้ยาแคนดีซาร์แทนบางประการที่ทำให้ไม่สามารถใช้ยานี้กับผู้ป่วยบางกลุ่มได้ เช่น

  • เป็นผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
  • สตรีตั้งครรภ์ โดยมีรายงานทางคลินิกว่า ยานี้สามารถส่งผลให้ทารกในครรภ์เสียชีวิตได้
  • ผู้ป่วยเด็กซึ่งมีโรคไตระดับที่รุนแรง
  • ห้ามใช้ร่วมกับยา Aliskiren

นอกจากนี้ ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางประเภท ควรต้องแจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกรทุกครั้งก่อนที่จะมีการใช้ยาแคนดีซาร์แทน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาวะแองจิโออีดีมา (Angioedema), ผู้ป่วยโรคหัวใจ(เช่น หัวใจล้มเหลว), ผู้ที่อยู่ในภาวะขาดน้ำ, ผู้มีปริมาณเลือดน้อย(ภาวะโลหิตจาง), ผู้ที่ได้รับการเปลี่ยนไต

สำหรับผู้ที่มีการใช้ยาชนิดอื่นอยู่ก่อน ควรต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้งว่ามีการใช้ยาอะไรบ้าง เช่น ยาขับปัสสาวะ ยากลุ่ม Potassium-sparing diuretics ยากลุ่ม NSAIDs ยากลุ่ม ACE inhibitors และยา Lithium เป็นต้น

ยาแคนดีซาร์แทน ยังสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง) ซึ่งที่พบเห็นบ่อย อย่างเช่น ปวดหลัง วิงเวียน เจ็บคอ มีการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน

กรณีการได้รับยาแคนดีซาร์แทนเกินขนาด ก็สามารถทำให้เกิดอาการ เป็นลม ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็วหรือไม่ก็ช้า รวมถึงมีอาการวิงเวียนอย่างรุนแรง

อนึ่ง ผู้ป่วยต้องใช้ยานี้อย่างต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์ จึงจะทำให้การควบคุมความดันโลหิตเป็นไปอย่างปกติ และระหว่างที่ใช้ยานี้ แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาพบเป็นระยะๆ ทั้งนี้เพื่อ ตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจเลือด ดูการทำงานของไต ดูระดับเกลือโพแทสเซียมในกระแสเลือดว่าอยู่ในระดับปกติหรือไม่

ประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยา ได้ระบุให้ยาแคนดีซาร์แทนอยู่ในหมวดของยาอันตราย ผู้ป่วยจะต้องใช้ยานี้ตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น ผู้ป่วยสามารถซื้อหายานี้ได้ตามร้านขายยา และพบเห็นการใช้ในหลายสถานพยาบาล ซึ่งหากผู้บริโภค/ผู้ป่วยต้องการทราบข้อมูลของยานี้เพิ่มเติม สามารถสอบถามได้จากแพทย์ หรือจากเภสัชกรประจำร้านขายยาโดยทั่วไป

แคนดีซาร์แทนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

แคนดีซาร์แทน

ยาแคนดีซาร์แทนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดรักษาโรคความดันโลหิตสูง โดยสามารถใช้เป็นยาเดี่ยวหรือจะใช้ร่วมกับ ยาลดความดันโลหิตตัวอื่นๆ
  • รักษาภาวะหัวใจล้มเหลว

แคนดีซาร์แทนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาแคนดีซาร์แทนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์กับตัวรับ(Receptor) ที่อยู่ในผนังหลอดเลือดซึ่งถูกเรียกว่า AT1 receptor(Angiotensin 1 receptor) จึงมีผลทำให้สาร Angiotensin II ในเลือดไม่สามารถแสดงฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดหดตัวได้ นอกจากนี้ยังส่งผลลดการหลั่งฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมความดันโลหิต คือ Aldosterone จากต่อมหมวกไต และ Vasopressin จากต่อมใต้สมอง จึงทำให้ยานี้มีฤทธิ์ควบคุมความดันโลหิตได้ตามสรรพคุณ

แคนดีซาร์แทนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาแคนดีซาร์แทนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่เป็นยาเดี่ยว ขนาด 4, 8, 16, และ 32 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น Candesartan 8 มิลลิกรัม+ Hydrochlorothiazide 12.5 มิลลิกรัม/เม็ด, Candesartan 16 มิลลิกรัม+ Hydrochlorothiazide 12.5 มิลลิกรัม/เม็ด, และ Candesartan cilexetil 8 มิลลิกรัม+ Amlodipine 5 มิลลิกรัม/เม็ด

*อนึ่ง การจะเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นยาเดี่ยวหรือยาผสมนั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา

แคนดีซาร์แทนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาแคนดีซาร์แทน มีขนาดรับประทาน เช่น

ก.สำหรับรักษาโรคความดันโลหิตสูง:

  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 17 ปีขึ้นไป: เริ่มต้นรับประทานยา 16 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ขนาดรับประทานที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 8 – 32 มิลลิกรัม/วัน โดยอาจรับประทานวันละ 1ครั้ง หรือจะแบ่งเป็น 2 ครั้งก็ได้ ขึ้นกับแพทย์สั่ง และขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 32 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 1ปี – น้อยกว่า 6 ปี: เริ่มต้นรับประทานยาขนาด 0.2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน 1 – 2 ครั้งขึ้นกับแพทย์สั่ง และขนาดรับประทานที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 0.05 – 0.4 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน 1 – 2 ครั้ง ขึ้นกับแพทย์สั่ง
  • เด็กอายุ 6ปี – น้อยกว่า 17 ปี ที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 50 กิโลกรัม: เริ่มต้นรับประทานยาขนาด 4 – 8 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน 1 – 2 ครั้ง ขึ้นกับแพทย์สั่ง และขนาดรับประทานที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 2 – 16 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน 1 – 2 ครั้ง ขึ้นกับแพทย์สั่ง
  • เด็กอายุ 6 – น้อยกว่า 17 ปี ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 50 กิโลกรัม: เริ่มต้นรับประทานยาขนาด 8 – 16 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน 1 – 2 ครั้ง ขึ้นกับแพทย์สั่ง ขนาดรับประทานที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 4 – 32 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน 1 – 2 ครั้ง ขึ้นกับแพทย์สั่ง
  • เด็กอายุต่ำกว่า1 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกของการใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ การใช้ยานี้และขนาดยานี้ในเด็กวัยนี้ จึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

ข.สำหรับรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว:

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 4 มิลลิกรัม วันละ1 ครั้ง และแพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่าทุก 2 สัปดาห์ จนกระทั่งได้ขนาดรับประทานเป็น 32 มิลลิกรัม/วัน ทั้งนี้ โดยพิจารณาจากการตอบสนองของผู้ป่วยต่อยานี้มาประกอบกัน
  • เด็ก: การใช้ยานี้และขนาดยา ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

อนึ่ง:

  • สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
  • ผู้ป่วยโรคไตไม่มีความจำเป็นต้องปรับขนาดการรับประทาน
  • ผู้ป่วยโรคตับ ให้พิจารณาปรับการรับประทานตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษา
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์
  • ระหว่างการใช้ยานี้ แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยตรวจสอบความดันโลหิตด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้เพื่อให้ทราบถึงประสิทธิผลของการรักษานั่นเอง

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาแคนดีซาร์แทน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแคนดีซาร์แทนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาแคนดีซาร์แทน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

แต่อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาแคนดีซาร์แทน ให้ตรงเวลา

แคนดีซาร์แทนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาแคนดีซาร์แทนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น โรคติดเชื้อในช่องทางเดินหายใจส่วนบน คออักเสบ/คอหอยอักเสบ เยื่อจมูกอักเสบ ไอ
  • ผลต่อไต: เช่น อาจสร้างความเสียหายให้กับไต/ไตอักเสบ สารยูเรียในเลือด เพิ่มขึ้น ระดับสารคลีเอตินีน(Creatinine)ในเลือดเพิ่มขึ้น
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ ง่วงนอน
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ชีพจรเต้นผิดปกติ
  • ผลต่อตับ: เช่น ตับทำงานผิดปกติ/ ตับอักเสบ
  • ผลต่อการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น มีภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูง ระดับเกลือโซเดียมในเลือดต่ำ
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อลายสลาย
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีลมพิษ เกิดผื่นคัน
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น เกิดภาวะ วิตกกังวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ฝันร้าย
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะ Neutropenia(เม็ดเลือดขาวชนิด Neutrophilต่ำ), Leukopenia(เม็ดเลือดขาวทุกชนิดต่ำ), Agranulocytosis(เม็ดเลือดขาวต่ำขั้นรุนแรง)
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้

มีข้อควรระวังการใช้แคนดีซาร์แทนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาแคนดีซาร์แทน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปี และกับสตรีตั้งครรภ์
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานเอง โดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
  • การใช้ยาลดความดันโลหิตทุกชนิด รวมถึงยาแคนดีซาร์แทน มักต้องใช้เวลานานในการรักษา ผู้ป่วยต้องรับประทานยานี้อย่างต่อเนื่อง เป็นประจำ ตามคำสั่งแพทย์ และไม่ควรหยุดรับประทานยาเองโดยไม่มีคำสั่งแพทย์
  • หากพบอาการแพ้ยา เช่น ใบหน้าบวม หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ผื่นคันขึ้นเต็มตัว ให้หยุดการใช้ยานี้ทันที และรีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ระวังการใช้ยานี้ในกลุ่มผู้ป่วยต่อไปนี้ เช่น ผู้ที่มีระดับโซเดียมในเลือดต่ำ ผู้ที่มีลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติ(โรคลิ้นหัวใจ) ผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดแดงในไตตีบตัน ผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดและต้องถูกวางยาสลบ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ในการควบคุมโรค ควรควบคุมอาหารร่วมด้วยเสมอ โดยเฉพาะ อาหารไขมัน อาหารเค็ม และควรออกกำลังกาย ควบคู่ไปกับการใช้ยานี้
  • ปฏิบัติตามคำสั่ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแคนดีซาร์แทนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้อง ปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

แคนดีซาร์แทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาแคนดีซาร์แทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาแคนดีซาร์แทนร่วมกับยากลุ่ม NSAIDs จะทำให้ประสิทธิภาพการลด ความดันโลหิตด้อยลงไป หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาแคนดีซาร์แทนร่วมกับยา Lithium อาจทำให้ระดับยา Lithium ในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นจนอาจทำให้ได้รับผลข้างเคียงจากยา Lithium สูงขึ้นตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาแคนดีซาร์แทนร่วมกับยาที่มีส่วนผสมของเกลือโพแทสเซียม (เช่น ยา Potassium iodide) หรือเป็นยาขับปัสสาวะประเภท Potassium-sparing antidiuretic อาจทำให้ระดับเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูงขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • ห้ามใช้ยาแคนดีซาร์แทนร่วมกับยา Aliskiren ด้วยจะทำให้เกิดพิษต่อไต/ไตอักเสบ และทำให้ความดันโลหิตต่ำ

ควรเก็บรักษาแคนดีซาร์แทนอย่างไร?

ควรเก็บยาแคนดีซาร์แทน ในช่วงอุณหภูมิ 15 – 30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

แคนดีซาร์แทนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาแคนดีซาร์แทน ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Blopress (โบลเพรส) Takeda
Blopress Plus (โบลเพรส พลัส)Takeda
Todesaar (โทเดลซา) T. O. Chemicals
Unisia (ยูนีเซีย)Takeda

อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Atacand, Amias, Ratacand, Candelong, Candesar,Candez, Cantar

บรรณานุกรม

  1. http://www.mims.com/thailand/drug/info/candesartan/?type=brief&mtype=generic [2016,Oct29]
  2. https://www.drugs.com/pro/candesartan.html [2016,Oct29]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Candesartan [2016,Oct29]
  4. https://www.drugs.com/sfx/candesartan-side-effects.html [2016,Oct29]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/aliskiren-with-candesartan-124-0-487-0.html [2016,Oct29]