แก๊สแกงกรีน (Gas gangrene)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 3 ตุลาคม 2563
- Tweet
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- แก๊สแกงกรีนเกิดจากอะไร?ติดต่อไหม?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคแก๊สแกงกรีน?
- แก๊สแกงกรีนมีอาการอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยแก๊สแกงกรีนอย่างไร?
- รักษาแก๊สแกงกรีนอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
- แก๊สแกงกรีนก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
- แก๊สแกงกรีนมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ป้องกันแก๊สแกงกรีนอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคติดเชื้อ (Infectious disease)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- ภาวะช็อก อาการช็อก (Shock)
- วัคซีนบาดทะยักชนิดอิมมูโนโกลบูลิน (Tetanus Immune Globulin vaccine)
- วัคซีนบาดทะยักท็อกซอยด์ (Tetanus Toxoid vaccine)
- โรคเนื้อเน่า (Necrotizing fasciitis)
- บาดทะยัก (Tetanus)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
แก๊สแกงกรีน(Gas gangrene)คือ โรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดรุนแรงที่อาจทำให้ ถึงตายได้สูง โดยติดเชื้อลงลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อของเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆ และเนื้อเยื่อต่างๆที่ติดเชื้อโดยเฉพาะกล้ามเนื้อจะมีการตายเน่าและเกิดแก๊สขึ้นในเนื้อเยื่อ/อวัยวะนั้นๆ
แก๊สแกงกรีน เคยเป็นโรคพบบ่อยในทหารที่ไปรบในสงครามโรคครั้งที่1 และได้รับบาดเจ็บ เพราะในยุคนั้นยังขาดแคลนยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาการติดเชื้อจากแบคทีเรียก่อโรคนี้
ปัจจุบัน พบโรคแก๊สแกงกรีนน้อย ทั่วไปมักติดเชื้อจากแผลสกปรกที่ผิวหนัง แต่ก็มีรายงานสามารถติดเชื้อแบคทีเรียประจำถิ่นกลุ่ม ’คลอสตริเดียม/คลอสทริเดียม (Clostridium)’ในลำไส้ได้บ้างซึ่งกรณีนี้พบได้น้อยมากๆ โรคแก๊สแกงกรีนนี้ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสติดเชื้อได้เท่ากัน และเป็นโรคพบทุกวัย ตั้งแต่แรกเกิด เช่นจากแผลสกปรกในการตัดสายสะดือ จนถึงในผู้สูงอายุ
อนึ่ง ชื่ออื่นของ แก๊สแกงกรีน/ โรคแก๊สแกงกรีน คือ Clostridium myonecrosis หรือ Clostridium myositis and myonecrosis ที่หมายถึงกล้ามเนื้ออักเสบและกล้ามเนื้อตายจากเชื้อคลอสตริเดียม/โรคติดเชื้อคลอสตริเดียม ทั้งนี้เพราะโรคนี้เกือบทั้งหมด เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียกลุ่มคลอสตริเดียม
แก๊สแกงกรีนเกิดจากอะไร?ติดต่อไหม?
แก๊สแกงกรีน เป็นโรคเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดรุนแรง ที่ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียชนิด คลอสตริเดียม(Clostridium ย่อว่า C.) ที่เป็นแบคทีเรียชนิดไม่ต้องใช้ออกซิเจนในการดำรงชีวิต และเป็นแบคทีเรียสร้างแก๊สและสร้างสารชีวพิษ (Toxin)ได้ ซึ่งที่พบบ่อยที่สุดคือเชื้อ C. perfingens ที่พบก่อโรคคิดเป็น80-90%ของผู้ป่วย ที่พบได้บ่อยรองลงมาตามลำดับ คือ C. novyi, C. septicum, C. histolyticum, C. bifermentan, C. fallax
นอกจากนั้น แบคทีเรียอื่นที่มีรายงานก่อโรคนี้ได้ เช่น
- Group A streptococcus
- Staphylococcus aureus
- Vibrio vulnificus
- Klebsiella pneumonia ที่ก่อการติดเชื้อในแผลของผู้ป่วยโรคเบาหวาน
อนึ่ง การเกิดการตายเฉพาะส่วนของกล้ามเนื้อ(Myonecrosis)สามารถพบได้จากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่การติดเชื้อ แต่พบได้น้อยมากๆ เช่น แผลถูกกัดจากพิษงูบางชนิด, หรือแผลเนื้อตายจากหลอดเลือดอุดตันจากโรคเรื้อรังที่ส่งผลให้หลอดเลือดอักเสบจนหลอดเลือดอุดตัน เช่น แผลเบาหวาน, แผลจากโรคมะเร็ง, ซึ่งเมื่อเกิดแผลขึ้นแล้วจึงมีการติดเชื้อแบคทีเรียต่างๆตามมา ที่อาจเป็นจากแบคทีเรียที่สร้างแก๊ส หรือไม่ก็ได้
แก๊สแกงกรีน/โรคแก๊สแกงกรีน “ไม่ใช่โรคติดต่อ” แต่เป็นโรคจากมีแผล และแผลนี้สัมผัสสิ่งสกปรกที่มีเชื้อแบคทีเรียรุนแรงที่สร้างแก๊สได้ที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สกปรกทั่วไป เช่น ดิน แหล่งน้ำธรรมชาติ สิ่งผุพัง มีด ของมีคมที่สกปรก รวมถึงแบคทีเรียในช่องปากคนและสัตว์(เช่น แผลถูกกัด) และแบคทีเรียประจำถิ่นในลำไส้ที่อยู่ในกากอาหารในลำไส้/ในอุจจาระ ซึ่งถ้าคนมีแผลและแผลนั้นสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากแผลผู้ป่วยแก๊สแกงกรีน แผลคนผู้นั้นก็อาจเกิดแก๊สแกงกรีนได้ แต่การเกิดโรคในลักษณะนี้ มีรายงานน้อยมากๆ
ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคแก๊สแกงกรีน?
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดแก๊สแกงกรีน/โรคแก๊สแกงกรีน ได้แก่
- มีแผลลึก โดยเฉพาะที่ลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อ เช่น แผลอุบัติเหตุรถยนต์ ถูกแทง ถูกยิง ตะปูตำ
- แผลรุนแรงที่ทำให้เกิดการบดขยี้โดยเฉพาะกับชั้นกล้ามเนื้อ จนทำให้เกิดการตายของเนื้อเยื่อ เช่น แผลจากอุบัติเหตุรุนแรง แผลจากแรงระเบิด
- แผลจากวัสดุที่สกปรก แผลที่ปนเปื้อนสิ่งสกปรก เช่น สิ่งเน่าเปื่อย ปฏิกูล
เช่น ถูกกัดทั้งจากคน หรือสัตว์ ถูกตะปูตำ แผลไฟไหม้/น้ำร้อนลวกที่แผลใหญ่กินลึก แผลหิมะกัด แผลฉีดยาเสพติด
- แผลผ่าตัดที่เป็นการผ่าตัดอวัยวะที่เน่าเปื่อย เช่น แผลผ่าตัดถุงน้ำดีอักเสบ หรือแผลผ่าตัดที่หรือปนเปื้อนอุจจาระ เช่น การผ่าตัดลำไส้
แก๊สแกงกรีนมีอาการอย่างไร?
อาการของแก๊สแกงกรีน/โรคแก๊สแกงกรีน จะเป็นอาการเฉียบพลัน โดยส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด มักเกิดอาการภายใน 24 ชั่วโมงหลังติดเชื้อ(ระยะฝักตัว) ซึ่งมีรายงานเร็วที่สุดเกิดได้ในระยะเวลาเป็นชั่วโมง และนานที่สุดประมาณ 7 วัน และการดำเนินโรคจะเป็นไปอย่างรวดเร็วในระยะเวลาเร็วเป็นชั่วโมง โดยอาการโรคเกิดทั้งจากตัวแบคทีเรียเอง และจากสารชีวพิษที่แบคทีเรียสร้างขึ้น นอกจากนี้ยังเกิดได้จากติดเชื้อแบคทีเรียหลายๆชนิดพร้อมกัน
โดยอาการที่พบได้ คือ อาการที่บริเวณแผล, และอาการทั่วไปที่เกิดร่วมกับอาการที่แผล
ก. อาการที่บริเวณแผล: เช่น
- แผลจะปวดมาก มากกว่าลักษณะของรอยแผล กดเจ็บมาก
- แผลบวม และมีสารคัดหลั่งออกจากแผล เป็นน้ำเหลือง หรือน้ำเหลืองปนเลือด มักมีแก๊สปน มีกลิ่นเหม็น
- แผลพอง เป็นตุ่มน้ำใส แผลสีซีดในระยะแรก แต่ต่อมาอย่างรวดเร็วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงคล้ำ
- เมื่อสัมผัสแผล หรือขยับตัว จะมีเสียงดังกรอบแกรบจากแผลเนื่องจากมีแก๊สเกิดในแผล
ข. อาการทั่วไปอื่นๆที่เกิดร่วมกับอาการของแผล: เช่น
- มีไข้ มักเป็นไข้สูงปานกลาง ถึงไข้สูงมาก ขึ้นกับความรุนแรงของโรค
- เหงื่อออกมาก กลิ่นตัวเหม็นเหมือนกลิ่นแผล
- ซีด แต่ต่อมาจะมีตัวเหลืองตาเหลืองเมื่อโรคลุลามถึงตับ
- ปัสสาวะน้อย เมื่อโรคลุกลามถึงไต หรือเกิดภาวะช็อก
- สับสน ซึม อาการช็อก โคม่า
- และถ้ารักษาไม่ทันหรือไม่ตอบสนองต่อการรักษา ผู้ป่วยอาจถึงตายได้
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
เมื่อมีอาการดังกล่าวใน’หัวข้ออาการฯ’โดยเฉพาะร่วมกับการปวดแผลมากเกินเหตุ มีแผลร่วมด้วยและแผลมีลักษณะรุนแรงและ/หรือสกปรก และรวมถึงเป็นผู้มีปัจจัยเสี่ยง(ดังกล่าวใน’หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ’) ควรรีบด่วนมาโรงพยาบาลเสมอ ไม่ควรรอดูแลรักษาตนเองก่อน
แพทย์วินิจฉัยแก๊สแกงกรีนอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยแก๊สแกงกรีน/โรคแก๊สแกงกรีน ได้จาก
- ประวัติอาการผู้ป่วย การมีบาดแผล การมีอุบัติเหตุ การใช้เข็มฉีดยา การติดยาเสพติด การผ่าตัด หัตถการทางการแพทย์ต่างๆนอกเหนือจากผ่าตัด เช่น ขูดมดลูก ตัดชิ้นเนื้อ
- การตรวจวัดสัญญาณชีพ
- การตรวจร่างกาย
- การตรวจดูลักษณะบาดแผล
- การตรวจเชื้อ ที่รวมถึงการเพาะเชื้อจากสารคัดหลั่งจากแผล และจากเลือด
- ตรวจเลือดดูค่า ซีบีซี/ความสมบูรณ์ของเลือด, เกลือแร่ในเลือด, ค่าการทำงาน ของตับ ของไต, สารก่อภูมิต้านทาน, สารภูมิต้านทานของเชื้อต่างๆ
- ตรวจภาพอวัยวะที่มีอาการด้วย เอกซเรย์ อัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) และ/หรือเอมอาร์ไอ ตามดุลพินิจของแพทย์
รักษาแก๊สแกงกรีนอย่างไร?
แนวทางการรักษา แก๊สแกงกรีน/โรคแก๊สแกงกรีน คือ การใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย, การกำจัดต้นตอของเชื้อที่เป็นตัวก่อโรค, การรักษาตามอาการ (การรักษาประคับประคองตามอาการ) และการต้านพิษจากสารชีวพิษ
ก. การให้ยาปฏิชีวนะ: ซึ่งมักจำเป็นต้องให้ทางหลอดเลือดดำเพื่อฆ่าแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุให้ลดจำนวนลงได้มากที่สุดและได้เร็วที่สุด ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการลดปริมาณสารชีวพิษที่แบคทีเรียสร้างลงไปด้วยในเวลาเดียวกัน ยาปฏิชีวนะที่ใช้มีได้หลายชนิด และขึ้นกับชนิดของแบคทีเรียสาเหตุ ยาปฏิชีวนะที่ใช้ เช่นยา Pennicillin, Clindamycin, Cephalosporin
ทั้งนี้ การใช้ยาปฏิชีวนะ อาจใช้หลายๆตัวร่วมกัน รวมถึงร่วมกับยาที่เป็นยากิน เช่นยา Metronidazole
ข. การรักษาต้นต่อของเชื้อที่เป็นตัวก่อโรค: ในบางครั้งที่การควบคุมโรคด้วยยาปฏิชีวนะได้ผลไม่ดีพอ แพทย์อาจใช้วิธีอื่นเพื่อกำจัดต้นตอของเชื้อแบคทีเรีย เช่น
- การผ่าตัด อาจเป็นการตัดเอาเฉพาะเนื้อเยื่อส่วนแผลออกไป(Wide excision) หรือตัดอวัยวะต้นตอที่ติดเชื้อออกทั้งอวัยวะ เช่น ตัด แขน/ขา กรณีแผลรุนแรงที่ต้นตอคือ แขน/ขา
- การให้ผู้ป่วยสูดดมออกซิเจนแรงดันบรรยากาศสูง(Hyperbaric oxygen) เนื่องจากเชื้อดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นเชื้อที่เจริญเติบโตได้ดีโดยไม่ต้องใช้ออกซิเจน ดังนั้นการให้ผู้ป่วย/ร่างกายได้รับออกซิเจนสูง อาจช่วยฆ่า/หยุดการเจริญเติบโตของแบคทีเรียกลุ่มนี้ได้ และออกซิเจนแรงดันบรรยากาศสูงนี้ยังช่วยในกระบวนสร้างซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อให้หายเร็วขึ้น
ค. การรักษาตามอาการ: ได้แก่การรักษาตามอาการผู้ป่วย เช่น ยาแก้ปวด, ยาลดไข้, การให้ออกซิเจนทั่วไปกรณีผู้ป่วยมีอาการทางการหายใจ, การให้สารน้ำ/สารอาหารทางหลอดเลือดดำกรณีผู้ป่วย ดื่มน้ำ หรือกินอาหารทางปากได้น้อย/ไม่ได้
ง. การต้านพิษจากสารชีวพิษ: ปัจจุบันยังไม่มียาใดๆที่ใช้รักษา/ต้านพิษของสารชีวพิษของแบคทีเรีย หรือของสัตว์ต่างๆ การรักษาจะเป็นการรักษาประคับประคองตามอาการที่เกิดขึ้น ดังได้กล่าวใน’หัวข้อ การรักษาตามอาการ’
ดูแลตนเองอย่างไร?
เมื่อเป็นโรคแก๊สแกงกรีน การดูแลตนเองหลังแพทย์อนุญาตให้กลับมาดูแลตนเองที่บ้าน ได้แก่
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเอง
- ทำความสะอาดแผลตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ ดังนั้นก่อนออกจากโรงพยาบาล ผู้ป่วยและครอบครัว ต้องฝึกทำแผลกับ แพทย์ พยาบาล จนมั่นใจว่าสามารถทำแผลเองได้ถูกต้อง
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่ปกติ เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวได้ดีและอย่างรวดเร็ว และป้องกันการติดเชื้ออื่นๆซ้ำเติม
- กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน
- เคลื่อนไหวร่างกาย ออกกำลังกายทุกวัน ตามควรกับสุขภาพ
- ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา เพื่อช่วยให้ร่างกายไม่ขาดอาหาร หลอดเลือดทำงานได้ดี แผลหายไว ร่างกายฟื้นตัวได้ดี
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตรงตามนัดเสมอ โดยเฉพาะการรับวัคซีนต่างๆ เช่น วัคซีนบาดทะยักท็อกซอยด์
ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
เมื่อเป็นโรคแก๊สแกงกรีน และแพทย์อนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลมาดูแลตนเองต่อที่บ้าน ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดเมื่อ
- อาการต่างๆที่เป็นอยู่เลวลง เช่น ปวดแผลมากขึ้น แผลเน่าลุกลามมากขึ้น กลับมามีไข้สูง
- มีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น อาการชัก แขนขาอ่อนแรง ท้องเสียร่วมกับอุจจาระเป็นเลือด
- มีผลข้างเคียงอย่างต่อเนื่องจากยาแพทย์สั่งที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้มาก วิงเวียนศีรษะมาก นอนไม่หลับทุกคืน ท้องผูกหรือท้องเสียมาก
- กังวลในอาการ
แก๊สแกงกรีนก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
ผลข้างเคียงที่พบบ่อยจากแก๊สแกงกรีน/โรคแก๊สแกงกรีน คือ
- เชื้อแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิตส่งผลให้เกิดภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
- ตับวาย
- ไตวาย
- อาการช็อก ภาวะช็อก
- การถูกตัดอวัยวะที่ติดเชื้อรุนแรง เช่น ตัดแขน หรือขากรณีมีการติดเชื้อจนเนื้อเน่าตายรุนแรงที่แขน หรือ ขา
แก๊สแกงกรีนมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
โรคแก๊สแกงกรีนมีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี ทั่วไปอัตราตายประมาณ 25% ผู้ป่วยอาจตายได้อย่างรวดเร็วในระยะเวลาเป็นชั่วโมงหลังเกิดอาการ
การพยากรณ์โรคจะเลวขึ้นอีกเมื่อเกิดในผู้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำและในผู้สูงอายุ ซึ่งอัตราตายจะประมาณ 50%ขึ้นไป
และการพยากรณ์โรคจะเลวที่สุดเมื่อเกิดจากติดเชื้อภายในร่างกายหรือจากแพทย์หาบาดแผลต้นตอของเชื้อไม่ได้ และ/หรือกรณีมาโรงพยาบาลล่าช้าซึ่งทั่วไปผู้ป่วยมักตายเกือบ100%
ป้องกันแก๊สแกงกรีนอย่างไร?
แก๊สแกงกรีนเป็นโรคพบน้อย และไม่ใช่โรคระบาด ดังนั้นการศึกษาวิจัยในการรักษาป้องกันโรคนี้จึงยังไม่หนักแน่นพอ ส่งผลให้ยังไม่มี ยา หรือวัคซีน ที่ป้องกันโรคนี้ได้
การป้องกันโรคแก๊สแกงกรีนโดยทั่วไปจึงได้แก่
- ระมัดระวังการเกิดแผลสกปรก
- เมื่อเกิดแผล ต้องรีบล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำเปล่าสะอาดและสบู่ ต่อจากนั้นถ้าแผลรุนแรง แผลสกปรก และ/หรือ แผลลึก ต้องรีบด่วนมาโรงพยาบาล
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงลดโอกาสติดเชื้อ และลดความรุนแรงหากเกิดการติดเชื้อ
- กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน ในปริมาณเหมาะสมที่ไม่ทำให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน ร่วมกับการออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่เป็นปกติ เมื่อมีการติดเชื้อ จะช่วยให้ร่างกายต่อสู่กับเชื้อโรคได้ดี รวมถึงตอบสนองต่อการรักษาได้ดี
- รักษาควบคุมโรคต่างๆที่มีผลให้ภูมิคุ้มกันต้านโรคต่ำให้ได้ดี เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
- ไม่สูบบุหรี่
- ไม่ดื่มสุรา
บรรณานุกรม
- Richard W. Titball Microbiology 2005; 151: 2821–2828
- https://en.wikipedia.org/wiki/Gas_gangrene [2020,Sept26]
- https://emedicine.medscape.com/article/217943-overview#showall [2020,Sept26]
- https://microbewiki.kenyon.edu/index.php/Gas_gangrene_(Clostridial_myonecrosis) [2020,Sept26]
- https://emedicine.medscape.com/article/214992-overview#showall [2020,Sept26]