แกรนิซีตรอน (Granisetron)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 6 กันยายน 2559
- Tweet
- บทนำ
- แกรนิซีตรอนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- แกรนิซีตรอนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- แกรนิซีตรอนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- แกรนิซีตรอนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- แกรนิซีตรอนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้แกรนิซีตรอนอย่างไร?
- แกรนิซีตรอนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาแกรนิซีตรอนอย่างไร?
- แกรนิซีตรอนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เซโรโทนิน 5-เฮชที3 แอนตาโกนิสต์ (Serotonin 5-HT3 antagonists)
- โรคมะเร็ง
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- รังสีรักษา ฉายรังสี ใส่แร่ (Radiation therapy)
- คลื่นไส้ อาเจียน (Nausea and Vomiting)
- กลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome)
- การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด (Coping with chemotherapy)
- การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง (Cancer patient self-care and Cancer care)
บทนำ
ยาแกรนิซีตรอน(Granisetron หรือ Granisetron hydrochloride) เป็นยาในกลุ่มเซโรโทนิน 5-เฮชที3 แอนตาโกนิสต์ (Serotonin 5-HT3 antagonist) ทางคลินิกนำมาใช้รักษาอาการคลื่นไส้-อาเจียนของผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา ยาแกรนิซีตรอนนี้จะออกฤทธิ์ลดการทำงานของ”เส้นประสาทสมองที่ชื่อว่า เส้นประสาทเวกัส(Vagus nerve)” ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่ควบคุมศูนย์อาเจียน
รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาแกรนิซีตรอนจะเป็นยารับประทาน ยาฉีด และยา พลาสเตอร์ปิดผิวหนัง ยานี้สามารถถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย/กระแสเลือดได้จากทางผิวหนัง และจากทางระบบทางเดินอาหารได้ประมาณ 60% และเมื่อเข้าสู่กระแสเลือด ยาแกรนิซีตรอนจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนในเลือดได้ประมาณ 65% ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยทำลายโครงสร้างของยานี้ และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมงในการกำจัดยานี้ออกจากร่างกาย โดยผ่านทิ้งไปปัสสาวะและอุจจาระ
อย่างไรก็ดี มีข้อจำกัดบางประการในการใช้ยาแกรนิซีตรอนที่ผู้บริโภคควรทราบ อาทิเช่น
- ไม่ใช้แกรนิซีตรอนกับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้หรือแพ้ยาในกลุ่ม 5-HT3 receptor antagonist
- เป็นผู้ที่ใช้ยา Apomorphine อยู่ก่อนแล้ว ด้วยจะเสี่ยงกับอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง) บางอย่างที่สูงขึ้น เช่น เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ
- สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เป็นกลุ่มที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาหลายประเภท ซึ่งรวมถึงยาแกรนิซีตรอนด้วย เพราะบุคคลเหล่านี้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงจากยาต่างๆที่บริโภคที่อาจกระทบไปถึงทารกด้วย
- เป็นผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ มีเกลืออิเล็กโทรไลต์(Electrolyte)ในเลือดต่ำ มี คลื่นไฟฟ้าหัวใจ/ ECG ผิดปกติ มีภาวะการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ผิดปกติ(เช่น กระเพาะอาหารอักเสบ เป็นต้น) หรือเพิ่งได้รับการผ่าตัดกระเพาะอาหารและ/หรือลำไส้
สำหรับการใช้ยาแกรนิซีตรอน แพทย์มักจะให้ยานี้ชนิดรับประทานกับผู้ป่วยเป็นเวลา1 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการทำเคมีบำบัด ผู้ป่วยอาจมีอาการข้างเคียงจากยานี้ได้บ้าง อย่างเช่น วิตกกังวล ท้องผูกหรือท้องเสีย วิงเวียน และมีอาการง่วงนอนเกิดขึ้นได้
การใช้ยาแกรนิซีตรอน อาจต้องใช้ต่อเนื่องแต่เป็นระยะเวลาสั้นๆ และต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ซึ่งผู้บริโภคสามารถสอบถามข้อมูลการใช้ยานี้เพิ่มเติมได้จากแพทย์ผู้รักษา หรือจากเภสัชกรได้โดยทั่วไป
แกรนิซีตรอนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาแกรนิซีตรอนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ บำบัดอาการคลื่นไส้ อาเจียนที่มีสาเหตุจากการได้รับยาเคมีบำบัดหรือจากการได้รับรังสีรักษา ของผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือหลังจากได้รับการผ่าตัดใหญ่
แกรนิซีตรอนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธ์ของยาแกรนิซีตรอนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ในลักษณะของ 5-HT3 receptor antagonist ส่งผลให้สารสื่อประสาทในสมองเกิดสมดุลที่เหมาะสม จึงลดการทำงานของเส้นประสาทสมองที่ชื่อว่า “เส้นประสาทเวกัส(Vagus nerve)” ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่ควบคุมศูนย์อาเจียน จึงช่วยยับยั้งอาการคลื่นไส้ อาเจียนตามสรรพคุณ
แกรนิซีตรอนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาแกรนิซีตรอนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 1 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาน้ำชนิดรับประทาน ขนาด 2 มิลลิกรัม/ 10 มิลลิลิตร
- พลาสเตอร์ปิดผิวหนัง
- ยาฉีด
แกรนิซีตรอนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาแกรนิซีตรอน มีขนาดรับประทาน เช่น
ก. เพื่อบำบัดอาการคลื่นไส้-อาเจียนจากการได้รับยาเคมีบำบัด:
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 1 – 2 มิลลิกรัม ก่อนเข้ารับการทำเคมีบำบัด 1 ชั่วโมง จากนั้นให้ยาวันละ 2 มิลลิกรัม เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 9 มิลลิกรัม/วัน
ข.บำบัดอาการคลื่นไส้-อาเจียนจากการได้รับรังสีรักษา:
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 2 มิลลิกรัม ภายใน 1 ชั่วโมงของการได้รับรังสีรักษา
*อนึ่ง
- ยานี้สามารถรับประทานก่อน หรือ หลังอาหารก็ได้
- ในเด็ก: การใช้ยานี้กับเด็ก ให้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาแกรนิซีตรอน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแกรนิซีตรอน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาแกรนิซีตรอน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2เท่า
อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาแกรนิซีตรอนตรงเวลา
แกรนิซีตรอนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาแกรนิซีตรอนอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น อาจทำให้ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก ปวดท้อง ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน ปากแห้ง
- ผลต่อหัวใจ: เช่น ความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- ผลต่อตับ: เช่น ค่าเอนไซม์ทรานซามิเนส(Transaminase, เอนไซม์การทำงานของตับ)ในเลือดเพิ่มขึ้น
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน นอนไม่หลับ วิตกกังวล มีอาการตัวสั่น
มีข้อควรระวังการใช้แกรนิซีตรอนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาแกรนิซีตรอน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามปรับเปลี่ยนขนาดรับประทานเอง
- การใช้ยานี้ในสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ จะต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูง ด้วยมียาหลายตัวที่ห้ามใช้กับผู้ป่วยดังกล่าว แพทย์ผู้รักษาเท่านั้นที่จะเป็นผู้คัดเลือกตัวยาอย่างเหมาะสมให้กับผู้ป่วย
- ระหว่างการใช้ยานี้หากพบว่าอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบกลับไปปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับเปลี่ยนแนวทางการรักษา
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล อย่างเคร่งครัด
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแกรนิซีตรอนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.comบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
แกรนิซีตรอนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาแกรนิซีตรอนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาแกรนิซีตรอนร่วมกับยา Amitriptyline, Buspirone, Almotriptan, Citalopram, Dextromethorphan, อาจทำให้เกิดภาวะ Serotonin syndrome ติดตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาแกรนิซีตรอนร่วมกับยา Moxifloxacin, Anagrelide, ด้วยอาจทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ
ควรเก็บรักษาแกรนิซีตรอนอย่างไร?
ควรเก็บยาแกรนิซีตรอนในช่วงอุณหภูมิ15-30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ห้ามเก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์ เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
แกรนิซีตรอนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาแกรนิซีตรอนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Kytril (คิทรล) | Roche |
SANCUSO (แซงคูโซ) | ProStrakan Inc |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Grandem, Graniset, Granicip, Granisol, Cadigran
บรรณานุกรม
- http://en.wikipedia.org/wiki/Serotonin_antagonist [2016,Aug20]
- https://en.wikipedia.org/wiki/5-HT3_antagonist [2016,Aug20]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Granisetron [2016,Aug20]
- https://www.drugs.com/sfx/granisetron-side-effects.html [2016,Aug20]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/granisetron-index.html?filter=3&generic_only= [2016,Aug20]
- http://www.sancuso.com/hcp/share/pdf/SANCUSO-Full_PI.pdf [2016,Aug20]
- https://www.drugs.com/dosage/granisol.html [2016,Aug20]