แกงกลิโอนิก บล็อกเกอร์ (Ganglionic blocker)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาแกงกลิโอนิก บล็อกเกอร์(Ganglionic blocker)หรือ ยาปิดกั้นการทำงานบริเวณปมประสาท หรือชื่ออื่นได้แก่ Ganglionic blocking agent หรือ Ganglioplegic เป็นกลุ่มยาที่มีฤทธิ์ปิดกั้นการส่งผ่านกระแสประสาทในบริเวณปมประสาทอัตโนมัติ เป็นที่ทราบกันว่าประสาทอัตโนมัติ แบ่งเป็น 2 ระบบย่อย คือ ประสาทพาราซิมพาธีติก(Parasympathetic nervous system) และซิมพาธีติก (Sympathetic nervous system)โดยยาแกงกลิโอนิก บล็อกเกอร์จะมีอิทธิพลหรือออกฤทธิ์ต่อปมประสาทอัตโนมัติทั้ง 2 ระบบย่อย ประโยชน์ทางคลินิกของยาแกงกลิโอนิก บล็อกเกอร์ เท่าที่มีรายงาน คือ ใช้เป็นยาลดความดันโลหิตสูง ใช้บำบัดผู้ติดบุหรี่ ใช้รักษาภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งตัว ตลอดจนช่วยบำบัดอาการปวดศีรษะไมเกรน ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดและคุณสมบัติของยากลุ่มนี่ในแต่ละตัวยา ปัจจุบันพบว่าการใช้ยาแกงกลิโอนิก บล็อกเกอร์ อาจได้รับความนิยมน้อยลงโดยเฉพาะด้านรักษาความดันโลหิตสูงด้วยเหตุผลมียาทางเลือกอื่นที่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงน้อยกว่า เข้ามาทดแทนนั่นเอง

อาจจำแนกกลุ่มยาแกงกลิโอนิก บล็อกเกอร์ ตามลักษณะการออกฤทธิ์ได้ดังนี้

1. Nicotinic receptor antagonists: เป็นกลุ่มยาที่มีกลไกยับยั้งการออกฤทธิ์ของสารสื่อประสาทประเภท Acetylcholine ที่บริเวณตัวรับ(Receptor)ของปมประสาทซึ่งมีชื่อเรียกว่า Nicotinic receptor ซึ่งเป็นผลให้หยุดการส่งผ่านของกระแสประสาทจนเกิดเป็นฤทธิ์ในการรักษา ตัวอย่างของยากลุ่มนี้ ได้แก่

ก. Hexamethonium: ใช้เป็นยาลดความดันโลหิต ใช้เป็นยาบำบัดอาการโรคของระบบประสาทส่วนปลาย แต่ยานี้มีการออกฤทธิ์ในลักษณะที่ไม่จำเพาะเจาะจงกับอาการโรค (Non-specificity) จึงเป็นเหตุผลที่ไม่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน

ข. Pentolinium: มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาฉีดเท่านั้น รู้จักภายใต้ชื่อการค้าว่า Ansolysen ใช้ป้องกันความดันโลหิตสูงในระหว่างการผ่าตัด ในอดีตมักใช้ร่วมกับยา Hexamethonium เพื่อบำบัดภาวะความดันโลหิตสูงขั้นรุนแรง

ค. Mecamylamine: เป็นยาชนิดรับประทานที่ใช้รักษาความดันโลหิตสูง แต่มีบางกรณีที่นำยานี้มาช่วยบำบัดอาการผู้ที่ติดบุหรี่ โดยมีการจำหน่ายยานี้ภายใต้ชื่อ การค้าว่า Inversine และ Vecamyl อาจเป็นด้วยอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ของยานี้จึงทำให้ถูกเพิกถอนการใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ.2009 (พ.ศ.2552) เป็นต้นมา

ง. Trimetaphan : เป็นยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งกระแสประสาททั้ง Parasympathetic และ Sympathetic ทางคลินิกนำมาใช้รักษา ภาวะความดันโลหิตสูงแบบวิกฤต บำบัดการฉีกเซาะของเส้นเลือดเอออร์ตา(Aorta) รักษาภาวะน้ำท่วมปอด ช่วยลดการเสียเลือดระหว่างการผ่าตัดระบบประสาท รูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยารับประทานและยาฉีด ซึ่งสามารถพบเห็นการจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Arfonad

จ. Tubocurarine chloride: จัดเป็นสารอัลคาลอยด์(Alkaloid)ที่มีพิษชนิดหนึ่งใน อดีตมีการใช้ยาชนิดนี้ทาที่ปลายลูกธนูเพื่อใช้ล่าสัตว์ จนกระทั่งปี ค.ศ.1900 (พ.ศ.2443) นักวิทยาศาสตร์นำมาใช้เป็นยาสลบก่อนที่ผู้ป่วยจะเข้ารับการผ่าตัด ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายก่อนการสอดท่อหายใจ ปัจจุบันยาชนิดนี้ได้รับความนิยมน้อยลงเพราะมียาทางเลือกอื่นที่ปลอดภัยกว่าเข้ามาทดแทนอย่างเช่น Cisatracurium และ Rocuronium

ฉ. ยังมียาตัวอื่นๆในกลุ่ม Nicotinic receptor antagonists ที่ถูกกล่าวถึงแต่ยังไม่พบข้อโดดเด่นที่จะนำมาใช้ทางคลินิก จึงไม่มีการจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าใดๆ เช่นยา Pempidine, Benzohexonium, Chlorisondamine และ Pentamine

2. Nicotinic receptor agonists: เป็นยาที่ออกฤทธิ์ปิดกั้นการส่งผ่านของกระแสประสาท ซึ่งตัวยาที่โดดเด่นของยากลุ่มนี้ คือ Nicotine ประโยชน์ทางคลินิกคือ นำมาบำบัดอาการของผู้ที่ติดบุหรี่ โดยตัวยาNicotine จะช่วยลดอาการอยากบุหรี่ให้น้อยลงเป็นลำดับ บางโอกาสก็นำยานี้มาใช้เป็นยาปรับปรุงพฤติกรรมหรือเพิ่มสมรรถภาพทางร่างกายและช่วยกระตุ้นอารมณ์ทางสันทนาการ ปัจจุบันยังพบเห็นการใช้ยานิโคตินในรูปแบบของ หมากฝรั่งและพลาสเตอร์ปิดผิวหนัง ซึ่งมีจำหน่ายในประเทศไทยตามร้านขายยาขนาดกลางได้ทั่วไป

3. Blocking Ach release: เป็นยาแกงกลิโอนิก บล็อกเกอร์ที่มีความต่างจาก 2 กลุ่มแรก ด้วยตัวยาจะออกฤทธิ์ปิดกั้นการหลั่งสารสื่อประสาทที่ปมประสาท สารประกอบ/ยาที่โดดเด่นในกลุ่มยา Blocking Ach release ได้แก่ Botulinum toxin ซึ่งผลิตจากแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Clostridium botulinum Botulinum toxin จัดเป็นสารโปรตีนที่ก่อให้เกิดพิษต่อระบบเส้นประสาท ยานี้มีรูปแบบของเภสัชภัณฑ์เป็นยาฉีด ทางคลินิกนำมา ลดอาการหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ บำบัดอาการหนังตากระตุก ยับยั้งการเกิดเหงื่อ ป้องกันการเกิดอาการไมเกรน ในด้านความงาม ได้ใช้สาร Botulinum toxin มาลดรอยเหี่ยวย่นที่รู้จักกันดีภายใต้ชื่อการค้าว่า Botox

กลุ่มยาแกงกลิโอนิก บล็อกเกอร์สามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียงได้เช่นเดียวกับยาอื่นๆทั่วไป เช่น ทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำอย่างรุนแรง เกิดอาการท้องผูก ปัสสาวะขัด ปากแห้ง การเลือกใช้ยาชนิดใดในกลุ่มยาแกงกลิโอนิก บล็อกเกอร์ได้อย่างปลอดภัย จะต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์แต่ผู้เดียว

แกงกลิโอนิก บล็อกเกอร์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

แกงกลิโอนิกบล็อกเกอร์

ยาแกงกลิโอนิก บล็อกเกอร์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตสูง(ปัจจุบันมีการใช้ยากลุ่มนี้น้อยลงด้วยมีผลข้างเคียงมาก)
  • ใช้เป็นยาอดบุหรี่
  • เป็นยาลดอาการหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ

แกงกลิโอนิก บล็อกเกอร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ในหัวข้อนี้ ขอยกตัวอย่างเฉพาะกลไกการออกฤทธิ์เด่นๆของยาแกงกลิโอนิก บล็อกเกอร์ อย่างเช่น การลดความดันโลหิตสูงเท่านั้น โดยยาแกงกลิโอนิก บล็อกเกอร์สามารถออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทอัตโนมัติซึ่งมีอยู่ทั่วอวัยวะต่างๆของร่างกาย และการออกฤทธิ์นี้จะก่อการยับยั้งการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติชนิดซิมพาธีติกที่บริเวณหลอดเลือดซึ่งจะทำให้หลอดเลือดเกิดการคลายตัว ทำให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก ด้วยเหตุผลนี้เองจึงเกิดฤทธิ์ในการลดความดันโลหิตตามมา

อนึ่ง กลไกการออกฤทธิ์อื่นๆของยาแกงกลิโอนิก บล็อกเกอร์ ได้กล่าวไว้แล้วในหัวข้อ “บทนำ”

แกงกลิโอนิก บล็อกเกอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาแกงกลิโอนิก บล็อกเกอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีดและยาชนิดรับประทาน โดยการจะเลือกใช้ยาชนิดใด จะขึ้นอยู่กับความสามารถในการดูดซึมตัวยาของผู้ป่วยจากระบบทางเดินอาหาร การกระจายตัวของตัวยาในร่างกาย ตลอดจนกระทั่งการทำลายโครงสร้างของยาแต่ละตัวของร่างกาย

แกงกลิโอนิก บล็อกเกอร์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

การบริหารยา/ใช้ยาแกงกลิโอนิก บล็อกเกอร์ แต่ละตัวขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของอาการผู้ป่วยแต่ละรายบุคคล รวมถึงการตอบสนองของร่างกายผู้ป่วยต่อยาแต่ละตัวที่ใช้ อายุผู้ป่วย โรคประจำตัว ตลอดจนผลข้างเคียงจากตัวยาที่อาจจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ได้ ดังนั้นการใช้ยาในกลุ่มแกงกลิโอนิก บล็อกเกอร์ จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์แต่ผู้เดียวเท่านั้น

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาแกงกลิโอนิก บล็อกเกอร์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคของระบบทางเดินปัสสาวะ โรคกล้ามเนื้อ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแกงกลิโอนิก บล็อกเกอร์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาแกงกลิโอนิก บล็อกเกอร์ สามารถรับประทานยาทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไปไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ

แต่อย่างไรก็ดี การลืมรับประทานยาแกงกลิโอนิก บล็อกเกอร์ สามารถทำให้อาการโรคที่ต้องใช้ยานี้บำบัดรักษากำเริบตามมา

แกงกลิโอนิก บล็อกเกอร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาแกงกลิโอนิก บล็อกเกอร์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบสืบพันธุ์ เช่น สมรรถภาพทางเพศของบุรุษถดถอย
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น ปากแห้ง อวัยวะของระบบทางเดินอาหารเคลื่อนไหวน้อยลงจนอาจเกิดอาการ ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูก
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะขัด
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว
  • ผลต่อตา เช่น ตาพร่า

มีข้อควรระวังการใช้แกงกลิโอนิก บล็อกเกอร์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาแกงกลิโอนิก บล็อกเกอร์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มนี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงวัย/ผู้สูงอายุ นอกจากมีคำสั่งแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะขับปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด ผู้ป่วยความดันโลหิตต่ำ ผู้ที่มีภาวะท้องผูก
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยากลุ่มแกงกลิโอนิก บล็อกเกอร์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด)รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

แกงกลิโอนิก บล็อกเกอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาแกงกลิโอนิก บล็อกเกอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยา Botulinum toxin ร่วมกับยา Amitriptyline เพราะจะทำให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆจากยาทั้ง2ตัวสูงขึ้นตามมา เช่น ปากแห้ง ตาพร่า ตลอดจนก่อให้เกิดปัญหากับการทำงานของระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะขัด
  • ห้ามใช้ยาTrimetaphan ร่วมกับยาAlfuzosin ด้วยจะทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำตามมา
  • การใช้ยา Nicotine ร่วมกับยา Ergotamine และ Dihydroergotamine อาจส่งผลให้หลอดเลือดตีบตัว และทำให้การไหลเวียนของเลือดเป็นไปได้ยากขึ้น ส่งผลให้ผิวซีด เลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลง ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ตาพร่า ปวดท้อง เจ็บหน้าอก หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาแกงกลิโอนิก บล็อกเกอร์อย่างไร?

ควรเก็บยาแกงกลิโอนิก บล็อกเกอร์ภายใต้คำแนะนำของเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

แกงกลิโอนิก บล็อกเกอร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาแกงกลิโอนิก บล็อกเกอร์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Arfonad (อาร์โฟแนด) Roche
Botox (โบท็อกซ์ ) Allergan
Bistrium (บีสเทรียม) Bristol-Myers Squibb
Nicomild-2/Nicomild-4 (นิโคมายด์-2/นิโคมายด์-4) Millimed
NicoDerm (นิโคเดิร์ม)ALZA Corporation
Nicorette (นิโคเรท)Johnson & Johnson
Nicotinell Mint (นิโคทิเนล มินท์)Novartis
Nicotinell TTS-10/ TTS-20/ TTS-30 (นิโคทิเนล ทีทีเอส-10/ ทีทีเอส-20/ ทีทีเอส-30)Novartis

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Ganglionic_blocker[2017,Oct14]
  2. http://www.sciencedirect.com/topics/neuroscience/ganglionic-blocker [2017,Oct14]
  3. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/mesh?term=Ganglionic+Blockers [2017,Oct14]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Nicotinic_antagonist[2017,Oct14]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Depolarization#Depolarization_block[2017,Oct14]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Hexamethonium[2017,Oct14]
  7. https://www.drugbank.ca/drugs/DB08960[2017,Oct14]
  8. https://en.wikipedia.org/wiki/Pentolinium[2017,Oct14]
  9. https://www.drugbank.ca/drugs/DB00657[2017,Oct14]
  10. https://en.wikipedia.org/wiki/Tubocurarine_chloride[2017,Oct14]
  11. https://en.wikipedia.org/wiki/Botulinum_toxin[2017,Oct14]
  12. http://www.med.cmu.ac.th/dept/pharmaco/LearningCenter/Supanimit/01FM%20Sympatholytic%20drugs-3.pdf[2017,Oct14]
  13. http://cvpharmacology.com/vasodilator/Ganglion[2017,Oct14]
  14. http://cology4u.blogspot.com/2011/06/ganglionic-blockers.html[2017,Oct14]
  15. https://www.drugbank.ca/drugs/DB01116[2017,Oct14]
  16. http://www.mims.com/thailand/drug/info/botox[2017,Oct14]