เอ็นเคไนด์ (Encainide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเอ็นเคไนด์(Encainide หรือ Encainide hydrochloride หรือ Encainide HCl) เป็นยารักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ชนิด Atrial fibrillation หัวใจเต้นเร็วชนิด Ventricular tachycardia/Ventricular fibrillation โดยตัวยามีกลไกปิดกั้นช่องทางการส่งผ่านประจุไฟฟ้าที่มีชื่อเรียกว่า Sodium channel blocker ส่งผลลดภาวะกระตุ้นการทำงานของหัวใจเกินปกติ ทำให้หัวใจกลับมีการทำงานช้าลงจนมีการเต้นที่เป็นปกติ

ยาเอ็นเคไนด์มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาชนิดรับประทาน หลังการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร ร่างกายจะใช้เวลาประมาณ 1–2 ชั่วโมงเพื่อขับยานี้ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

โดยทั่วไป ผู้ป่วยที่จะได้รับยาเอ็นเคไนด์ ต้องได้รับการตรวจยืนยันสภาพการทำงานของหัวใจจากแพทย์ซึ่งการตรวจต้องกระทำในสถานพยาบาลเท่านั้น ในระยะเริ่มต้นของการรักษา แพทย์อาจสั่งจ่ายยานี้ให้ผู้ป่วยรับประทานครั้งละ 25 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้งเพื่อควบคุมอาการของหัวใจที่เต้นผิดปกติ หลังการใช้ยานี้ไปแล้ว 3–5 วัน แพทย์อาจปรับขนาดการให้ยานี้เพิ่มเป็นครั้งละ 35 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง จากนั้นอีก 3–5 วัน แพทย์จะประเมินอาการเต้นของหัวใจ หากยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจจะปรับเพิ่มขนาดรับประทานเป็นครั้งละ 50 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ในทางคลินิก การปรับขนาดรับประทานยาชนิดนี้ ต้องกระทำแบบค่อยเป็นค่อยไปและต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ การปรับขนาดการใช้ยานี้ขึ้นอย่างกะทันหัน จะส่งผลเสียต่อผู้ป่วยมากขึ้น ในทางปฏิบัติ เคยมีรายงานว่าผู้ป่วยอาจใช้ยาเอ็นเคไนด์ ได้มากกว่า 200 มิลลิกรัม/วัน จึงจะทำให้หัวใจของผู้ป่วยตอบสนองต่อการใช้ยานี้ได้เป็นอย่างดี สิ่งสำคัญ ผู้ป่วยจะต้องใช้ยาเอ็นเคไนด์ตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด

อนึ่ง ในท้องตลาดยาแผนปัจจุบัน เราจะพบเห็นการจัดจำหน่ายยาเอ็นเคไนด์ ภายใต้ชื่อการค้าว่า “Enkaid”

เอ็นเคไนด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เอ็นเคไนด์

ยาเอ็นเคไนด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดรักษา อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจเต้นเร็ว

เอ็นเคไนด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเอ็นเคไนด์มีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะปิดกั้นการนำกระแสไฟฟ้าที่มีความผิดปกติในหัวใจ จึงส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้หัวใจมีการเต้นช้าลงและเป็นปกติมากขึ้น

เอ็นเคไนด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเอ็นเคไนด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Encainide HCl 25 และ 35 มิลลิกรัม/แคปซูล

เอ็นเคไนด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเอ็นเคไนด์ มีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานยาครั้งละ 25 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง หรือทุก 8 ชั่วโมง หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 3–5 วัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาเป็น 35 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง การปรับขนาดการใช้ยาแพทย์จะอาศัยข้อมูลการตอบสนองของหัวใจต่อยานี้ ซึ่งบางกรณี แพทย์อาจต้องปรับขนาดการใช้ยากับผู้ป่วย เป็นรับประทานครั้งละ 75 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง

อนึ่ง:

• ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้เอง/เพิ่มขึ้นอย่างกะทันหัน การใช้ยานี้ต้องให้แพทย์เป็นผู้ปรับขนาดรับประทานเท่านั้น

• ควรกินยานี้ตรงเวลาทุกวันตามแพทย์สั่ง ซึ่งอาจเป็นก่อนหรือ หลังอาหารก็ได้

  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเอ็นเคไนด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเอ็นเคไนด์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

กรณีที่ลืมรับประทานยาเอ็นเคไนด์ สามารถรับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ห้ามรับประทานยาเพิ่มเป็น 2เท่า ให้รับประทานในขนาดปกติ

แต่อย่างไรก็ดี การรับประทานยาเอ็นเคไนด์ ตรงตามคำสั่งแพทย์ จึงจะส่งผลให้การรักษามีประสิทธิผลมากที่สุด

เอ็นเคไนด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเอ็นเคไนด์สามารถก่อให้เกิด ผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
  • ผลต่อตับ: เช่น ตัวเหลืองตาเหลือง ตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ
  • ผลต่อตา: เช่น การมองเห็นผิดปกติ

มีข้อควรระวังการใช้เอ็นเคไนด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเอ็นเคไนด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง ต้องใช้ยาตรงตามที่แพทย์แนะนำ
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น แคปซูลแตกหัก แคปซูลเปียกชื้น สีแคปซูลเปลี่ยน
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก การใช้ยากับผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
  • กรณีที่ใช้ยานี้แล้วไม่ได้ผล ให้รีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพบาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
  • การปรับขนาดรับประทานยานี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ และต้องได้รับ การตรวจการทำงานของหัวใจและการตรวจร่างกายตามที่แพทย์กำหนด
  • ระวังการเกิดภาวะเกลือโปแตสเซียมในเลือดต่ำ หรือเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ ระหว่างใช้ยานี้ผู้ป่วยจึงต้องรับการตรวจอิเล็กโทรไลต์(Electrolyte)ในเลือดร่วมด้วยตามแพทย์สั่ง
  • ระวังภาวะ หัวใจเต้นช้า หัวใจล้มเหลว เพื่อเป็นการป้องกันอาการเหล่านี้ ผู้ป่วยต้องมารับการตรวจร่างกายตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง หรือกรณีที่รู้สึกว่า การทำงานของหัวใจมีความผิดปกติ จะต้องรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว
  • *การได้รับยานี้เกินขนาดอาจเป็นเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ซึ่งสามารถสังเกตอาการผู้ป่วยได้รับยานี้เกินขนาด อาทิเช่น มีความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นช้า หรือมีบางกรณีอาจพบอาการชักร่วมด้วย
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเอ็นเคไนด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยา ใช้เองเสมอ

เอ็นเคไนด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเอ็นเคไนด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาเอ็นเคไนด์ร่วมกับยา Cimetidine อาจทำให้ระดับยาเอ็นเคไนด์ ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงที่สูงขึ้นจากยาเอ็นเคไนด์ตามมา กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับลดขนาดรับประทานของยาเอ็นเคไนด์ตามความเหมาะสมกับผู้ป่วย

ควรเก็บรักษาเอ็นเคไนด์อย่างไร?

ควรเก็บยายาเอ็นเคไนด์ตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และห้ามเก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

เอ็นเคไนด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเอ็นเคไนด์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Enkaid (เอ็นเคด)BRISTOL LABORATORIES

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/pro/enkaid.html[2017,July29]
  2. https://www.drugs.com/dosage/enkaid.html[2017,July29]
  3. https://www.drugbank.ca/drugs/DB01228[2017,July29]
  4. http://www.druglib.com/druginfo/enkaid/indications_dosage/[2017,July29]
  5. http://www.druglib.com/druginfo/enkaid/side-effects_adverse-reactions/[2017,July29]
  6. http://www.druglib.com/druginfo/enkaid/interactions_overdosage_contraindications/[2017,July29]