เอ็กซ์เซเมสเทน (Exemestane)
- โดย ภก.ศิวัสว์ ผุลลาภิวัฒน์
- 19 มิถุนายน 2558
- Tweet
- บทนำ
- ยาเอ็กซ์เซเมสเทนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาเอ็กซ์เซเมสเทนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาเอ็กซ์เซเมสเทนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาเอ็กซ์เซเมสเทนมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาเอ็กซ์เซเมสเทนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาเอ็กซ์เซเมสเทนอย่างไร?
- ยาเอ็กซ์เซเมสเทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาเอ็กซ์เซเมสเทนอย่างไร?
- ยาเอ็กซ์เซเมสเทนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- มะเร็งเต้านม (Breast cancer)
- ทาม็อกซิเฟน (Tamoxifen)
- วัยหมดประจำเดือน (Menopause)
- กระดูกพรุน โรคกระดูกบาง (Osteoporosis and Osteopenia)
- ข้อเสื่อม เข่าเสื่อม (Osteoarthritis)
บทนำ
มะเร็งเต้านมในประเทศไทยถือเป็นชนิดของมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิง มีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งปอด และในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้พบมะเร็งเต้านมมีอุบัติ การณ์เกิดสูงขึ้นเรื่อยๆ
มะเร็งเต้านมเกิดจากเนื้อเยื่อเต้านมมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์มะเร็ง ในระยะเบื้อง ต้นอาจมีลักษณะก้อนเนื้อหรือรูปทรงของเต้านมเปลี่ยนแปลงไป มะเร็งเต้านมมีหลายชนิด บางชนิดต้องอาศัยฮอร์โมนเพศหญิงหรือเอสโตรเจนในการเจริญเติบโต (Estrogen Receptor Positive; ย่อว่า อีอาร์บวก/ER+) ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยยาต้านฮอร์โมนเอสเตรเจน อาทิ ทามอกซิเฟน (Tamoxifen) หรือยายับยั้งเอนไซม์อโรมาเทส (Aromatase inhibitors, ย่อว่า เอไอ/AI) ซึ่งสามารถใช้ในผู้หญิงในวัยหมดระดูแล้วเท่านั้น
ยาเอ็กซ์เซเมสเทน (Exemestane) หรือในต่างประเทศใช้ชื่อการค้าว่า Aromasin เป็นยาในกลุ่มยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อโรมาเทสซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ร่างกายใช้ในการสังเคราะห์ เอสโตรเจน ยานี้จึงเปรียบเสมือนการลดฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายลง เซลล์มะเร็งเต้านมชนิดที่จำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนในการกระตุ้นการเจริญเติบโต จึงถูกยับยั้งและลดอัตราการเกิดเนื้องอกหรือมะเร็งที่เต้านมได้
ยาเอ็กซ์เซเมสเทนได้รับการจัดเป็นยาควบคุมพิเศษตามกฎหมายของไทยกล่าวคือ ยานี้สามารถใช้ได้เมื่อแพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายเท่านั้น
ยาเอ็กซ์เซเมสเทนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาเอ็กซ์เซเมสเทนมีข้อบ่งใช้/สรรพคุณสำหรับรักษามะเร็งเต้านมชนิด ER+ ดังนี้เช่น
- รักษามะเร็งเต้านมในระยะลุกลามในสตรีวัยหลังหมดระดู/วัยหมดประจำเดือนหลังรักษาด้วยยาต้านฮอร์โมนเอสโตรเจนเช่น Tamoxifen
- รักษามะเร็งเต้านมด้วยฮอร์โมนหลายชนิด
นอกจากนี้ ยังนำมาใช้เป็นยาเสริมการรักษาในสตรีหลังหมดระดูที่เป็นมะเร็งเต้านมที่ยังไม่ทราบว่าเป็นชนิดที่เซลล์ มะเร็งต้องการฮอร์โมนเอสโตรเจนในการกระตุ้นการเจริญเติบโตหรือ ไม่ (Unknown ER)
เยาเอ็กซ์เซเมสเทนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเอ็กซ์เซเมสเทนมีกลไกการออกฤทธิ์โดยการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อโรมาเทส (Aromatase inhibitors) ที่ทำหน้าที่เปลี่ยนฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) ที่ร่างกายผลิตขึ้นไปเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ซึ่งเซลล์มะเร็งชนิดที่ต้องการฮอร์โมนเอสโตรเจนในการกระตุ้นการเจริญเติบโตจะถูกยับยั้งด้วยยานี้ไม่ให้เจริญเติบโตเนื่องจากระดับฮอร์โมน เอสโตรเจนในร่างกายต่ำลง
เหตุที่ยานี้สามารถใช้ได้ในเฉพาะสตรีวัยหลังหมดระดู/วัยหมดประจำเดือน เนื่องจากใน ช่วงที่สตรียังมีระดู รังไข่จะเป็นอวัยวะหลักในการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน หากรับประทานยานี้ อาจทำให้เกิดวงจรสะท้อนกลับเชิงบวก (Positive feedback) คือ ทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนมากขึ้นเพื่อมาทดแทนฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลงไป หากแต่สตรีหลังหมดระดู การสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนเกิดขึ้นเฉพาะตามบริเวณเนื้อเยื่อส่วนปลาย (เนื้อเยื่อที่ไม่ใช่อวัยวะ ภายใน) และส่วนมากจะออกฤทธิ์เฉพาะที่เท่านั้น ยานี้จึงออกฤทธิ์ที่เนื้อเยื่อร่างกายโดยเฉพาะบริเวณเต้านมให้ลดการสร้างเอสโตรเจนลง
ยาเอ็กซ์เซเมสเทนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเอ็กซ์เซเมสเทนมีรูปแบบทางเภสัชภัณฑ์/การจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดขนาด 25 มิลลิ กรัม
ยาเอ็กซ์เซเมสเทนมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
ยาเอ็กเซเมสเทนมีขนาดรับประทานสำหรับสตรีโรคมะเร็งเต้านมวัยหลังหมดระดู/วัยหมดประจ้ำดือนดังต่อไปนี้
- มะเร็งเต้านมระยะลุกลาม รับประทานวันละ 25 มิลลิกรัม (วันละ 1 เม็ด)
- มะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้น (ยาเสริมการรักษาภายหลังการผ่าตัดและ/หรือยาเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา) รับประทานวันละ 25 มิลลิกรัม (วันละ 1 เม็ด) ภายหลังการใช้ยาทามอกซิเฟน (Tamoxifen) แล้ว 2 - 3 ปี
- เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านม รับประทานวันละ 25 มิลลิกรัม (วันละ 1 เม็ด) เป็นเวลา 5 ปี
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเอ็กเซเมสเทน ควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติการแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาทุกชนิด
- ประวัติโรคประจำตัว การเคยใช้ยา รวมถึงยาอื่นที่กำลังใช้ร่วมด้วย ทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่าย หรือยาที่ซื้อรับประทานเอง วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร รวมถึงสมุนไพร โดยเฉพาะยาต้านชัก/ยากันชัก ยาคาร์บามาซิพีน (Carbamazepine) ยาฟีโนบาร์บิทอล (Phenobarbital) ยาฟีไนโทอิน (Phenytoin) ยาฆ่าเชื้อ ยาไรแฟมพิซิน (Rifampicin) และสมุนไพรเซนต์จอห์นเวิร์ท (St John’s wort) ซึ่งแพทย์ผู้ทำการรักษาจะเฝ้าระวังผลข้างเคียงจากยาดังกล่าวมากยิ่งขึ้น
- ประวัติโรคประจำตัวโดยเฉพาะโรคกระดูกพรุน โรคตับ และโรคไต
- โดยปรกติยานี้ใช้ในผู้หญิงวัยหลังหมดระดู/วัยหมดประจำเดือน อย่างไรก็ดี หากมีการสั่งจ่ายยานี้ในขณะที่ผู้ป่วยตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ให้แจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบ เนื่องจากยานี้อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเอ็กซ์เซเมสเทนให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้เวลากับยามื้อถัดไป ให้ข้ามไปทานมื้อถัดไป โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
ยาเอ็กซ์เซเมสเทนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเอ็กซ์เซเมสเทนอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) บางประการอาทิ อาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมากผิดปกติ ปวดกล้ามเนื้อและข้อ เหนื่อยง่าย มึนงง นอนไม่หลับ ท้องเสีย ผมร่วง การมองเห็นภาพผิดปกติ
หากมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นและมีแนวโน้มว่าอาการแย่ลงหรือไม่ทุเลา ให้พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเพื่อแจ้งให้แพทย์ทราบ
แต่หากรับประทานยานี้แล้วเกิดอาการแพ้ยาเช่น มีผื่นคัน อาการบวมของริมฝีปาก เปลือก ตา/หนังตา ใบหน้า หรือหายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก ให้หยุดยานี้แล้วพบแพทย์/ไปโรงพยา บาลทันที
มีข้อควรระวังการใช้ยาเอ็กซ์เซเมสเทนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเอ็กซ์เซเมสเทนดังนี้เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยาหรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
- ไม่ควรใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ วางแผนตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง:
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเอ็กซ์เซเมสเทนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด ) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาเอ็กซ์เซเมสเทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเอ็กซ์เซเมสเทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดอื่นดังนี้
- ยาเอ็กซ์เซอร์เมสเทนอาจทำให้ระดับยาต่อไปนี้ลดลง ยาอริพิพราโซล (Aripriprazole) ยารักษาโรคซึมเศร้า, ยาอะซิทินิป (Axitinib) ยารักษาโรคมะเร็งไตขั้นรุนแรง, ยาไอบรูทินิป (Ibrutinib) ยารักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว, ยาซาซากลิปทิน (Saxagliptin) ยารักษาโรคเบา หวาน, ยาซิมิพริเวียร์ (Simeprevir) ยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบ ซี, การใช้ยาเอ็กซ์เซอร์เมส เทนร่วมกับยาเหล่านี้ อาจทำให้ประสิทธิภาพของยาเหล่านี้ลดลง จึงควรแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบหากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน เพื่อทำการติดตามปรับยาและตรวจประเมินประสิทธิ ภาพทางการรักษา
- ยาที่ถูกเปลี่ยนแปลงทางตับผ่านเอนไซม์เดียวกับยาเอ็กซ์เซอร์เมสเทนอาทิ ยาต้านชัก/ยากันชัก ยาคาร์บามาซิพีน (Carbamazepine), ยาฟีโนบาร์บิทอล (Phenobarbital), ยาฟีไนโทอิน (Phenytoin), ยาฆ่าเชื้อ, ยาไรแฟมพิซิน (Rifampicin), และสมุนไพรเซนต์จอห์นเวิร์ท (St John’s wort) ไม่แนะนำให้รับประทานร่วมกับยาเอ็กซ์เซอร์เมสเทน เนื่องจากอาจส่งผลต่อระดับยาเอสเซอร์เมสเทนในเลือด
ควรเก็บรักษายาเอ็กซ์เซเมสเทนอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาเอ็กซ์เซเมสเทนดังนี้
- ควรเก็บรักษายาเอ็กซ์เซเมสเทนในภาชนะบรรจุดั้งเดิมของบริษัทผู้ผลิต
- ไม่ควรนำยานี้ออกจากแผงยาก่อนการรับประทาน
- เก็บยานี้ในอุณหภูมิห้อง ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เลือกเก็บยาบริเวณที่แห้ง หลีกเลี่ยงบริเวณที่สัมผัสแสงแดดโดยตรง และ
- เก็บยานี้ให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาเอ็กซ์เซเมสเทนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเอ็กซ์เซเมสเทนที่จัดจำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตดังนี้ เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Exermestane (เอ็กซ์เซอร์เมสเทน) | บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด |
บรรณานุกรม
- American Pharmacists Association. Exermestane, Drug Information Handbook with International Trade Names. 23;2014:827-828.
- Australian Medicins Handbook (AMH). Immunomodulators and Antineoplactics: Aromatase inbitors. 2014: 606-607.
- http://wwwapp1.fda.moph.go.th/consumer/conframe.asp[2015,May23]
- http://www.cancer.gov/cancertopics/treatment/drugs/fda-exemestane[2015,May23]
- http://www.cancerresearchuk.org/about-cancer/cancers-in-general/treatment/cancer-drugs/exemestane [2015,May23]