เอโมไดอาควิน (Amodiaquine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเอโมไดอาควิน (Amodiaquine) เป็นยาในกลุ่ม 4-Aminoquinoline (กลุ่มยาต้านโรคมาลาเรีย/ไข้จับสั่น) ใช้ต่อต้านเชื้อมาลาเรียโดยมีการออกฤทธิ์ได้ดีกว่ายา Chloroquine ยาเอโมไดอาควินจะถูกนำมาใช้กับอาการมาลาเรียที่มีสาเหตุจากเชื้อชนิด Plasmodium falcipalrum ซึ่งดื้อต่อยา Chloroquine ยาเอโมไดอาควินนี้มีใช้อย่างแพร่หลายในแถบทวีปแอฟริกา เหมาะกับนักท่องเที่ยวเพื่อใช้ป้องกันมาลาเรียก่อนที่จะเข้าพื้นที่ของแอฟริกา ยานี้ไม่เหมาะกับผู้ที่แพ้ยาเอโมไดอาควิน ผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง ผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ที่มีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (Agranulocytosis)

นอกจากนี้การใช้ยาเอโมไดอาควินกับสตรีตั้งครรภ์โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์นั้นควรต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาแต่เพียงผู้เดียว ด้วยยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกมาสนับสนุนว่ายาเอโมไดอาควินส่งผลต่อทารกในครรภ์ให้เกิดวิกลรูป (ความพิการ) ได้หรือไม่

ยาเอโมไดอาควินสามารถซึมผ่านออกมากับน้ำนมมารดาเพียงเล็กน้อยดังนั้นการใช้ยากับสตรี ที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรจึงค่อนข้างปลอดภัย แต่ยังต้องอยู่ในคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเช่นกัน

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาเอโมไดอาควินจะเป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน ยานี้มีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้อย่างรวดเร็วเมื่อรับประทานร่วมกับอาหาร ตับจะเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยาเอโมไดอาควินไปเป็นสารออกฤทธิ์ที่มีชื่อว่า Desethylamodiaquine ซึ่งมีความเข้มข้นในกระแสเลือดมากกว่ายาเอโมไดอาควินที่ไม่ได้ถูกเปลี่ยนโครงสร้างประมาณ 4 - 6 เท่า ร่างกายจะใช้เวลาประมาณ 9 - 18 ชั่วโมงในการกำจัด Desethylamodiaquine ออกจากกระแสเลือด

ยาเอโมไดอาควินสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ต่อระบบต่างๆของร่างกายได้อย่างมากมายเช่น

  • ต่อระบบเลือดทำให้เกิดภาวะ Agranulocytosis
  • ต่อระบบประสาททำให้ปวดศีรษะ วิงเวียน
  • ต่อระบบทางเดินอาหารเช่น ปวดท้อง
  • ต่อการทำงานของตับทำให้มีภาวะตับอักเสบ
  • ต่อผิวหนังทำให้เกิดอาการผื่นคัน

ทางคลินิกยังพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาเอโมไดอาควินเกินขนาดอาจมีอาการรุนแรงของอาการข้างเคียงมากกว่าอาการข้างเคียงปกติทั่วไปเช่น มีอาการปวดศีรษะมาก วิงเวียนมาก การมองภาพผิดปกติ ระบบการทำงานของหลอดเลือดบริเวณหัวใจล้มเหลวอาจเกิดภาวะชักและหยุดหายใจ ในทางปฏิบัติแพทย์จะรักษาผู้ป่วยที่ได้รับยานี้เกินขนาดตามอาการที่เกิดขึ้นโดยยังไม่มียาล้างพิษที่เฉพาะเจาะจง

องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้ยาเอโมไดอาควินเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลของประเทศที่มีมาลาเรียชุกชุมควรมีสำรองไว้ใช้ในสถานพยาบาล ยานี้มีสูตรตำรับทั้งชนิดที่เป็นยาเดี่ยวและที่ผสมร่วมกับยาอื่น แพทย์เท่านั้นที่จะเป็นผู้พิจารณาการใช้ยานี้ได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัยต่อผู้ป่วย

อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยาเอโมไดอาควินในต่างประเทศเช่น Camoquin, Flavoquine

เอโมไดอาควินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

เอโมไดอาควิน

ยาเอโมไดอาควินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้รักษาและป้องกันโรคมาลาเรียที่มีสาเหตุจากเชื้อ Plasmodium falcipalrum

เอโมไดอาควินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเอโมไดอาควินคือ ตัวยาจะถูกเปลี่ยนโครงสร้างไปเป็นสาร Desethylamodiaquine ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่มีชื่อว่า Heme polymerase ในเชื้อมาลาเรียทำให้เชื้อมาลาเรียไม่สามารถจำลองสารพันธุกรรมเพิ่มขึ้นได้ และหยุดการเจริญเติบโต หยุดการแพร่พันธุ์และตายลงในที่สุด

เอโมไดอาควินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเอโมไดอาควินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 150 มิลลิกรัม/เม็ด
  • กรณีที่เชื้อ Plasmodium falcipalrum มีแนวโน้มที่จะดื้อยาแพทย์จะเลือกใช้สูตรตำรับที่ผสมร่วมกับยาต้านมาลาเรียตัวอื่นเช่น
    • ARTESUNATE (ยาต้านมาลาเรียอีกชนิด) 25 มิลลิกรัม + AMODIAQUINE 67.5 มิลลิกรัมต่อเม็ด
    • ARTESUNATE 50 มิลลิกรัม + AMODIAQUINE 135 มิลลิกรัมต่อเม็ด
    • ARTESUNATE 100 มิลลิกรัม + AMODIAQUINE 270 มิลลิกรัมต่อเม็ด

เอโมไดอาควินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเอโมไดอาควินมีขนาดรับประทานเช่น

  • เด็กอายุ 1 - 6 ปี: รับประทาน 150 มิลลิกรัม/วันก่อนหรือหลังอาหารก็ได้เป็นเวลา 3 วัน
  • เด็กอายุ 7 - 13 ปี: รับประทาน 300 มิลลิกรัม/วันก่อนหรือหลังอาหารก็ได้เป็นเวลา 3 วัน
  • เด็กอายุตั้งแต่ 14 ปีขึ้นไป - ผู้ใหญ่: รับประทาน 600 มิลลิกรัม/วันก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ เป็นเวลา 3 วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดในการใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป

*อนึ่ง ตัวอย่างขนาดรับประทานของยาเอโมไดอาควินข้างต้นจะต้องใช้ควบคู่กับยาต้านมาลาเรียอีก 1 ตัวคือ Artemisinin โดยขนาดการใช้ยา Artemisinin จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเช่นกัน

*****หมายเหตุ:

  • ขนาดและระยะเวลาของการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาเอโมไดอาควิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาเอโมไดอาควินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเอโมไดอาควินสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาเอโมไดอาควินตรงเวลา

เอโมไดอาควินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเอโมไดอาควินอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น มีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ วิงเวียน เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อาจพบอาการท้องเสียร่วมด้วย เกิดภาวะตับอักเสบหรือตับทำงานผิดปกติ รวมถึงเกิดผื่นคันขึ้นตามผิวหนัง

มีข้อควรระวังการใช้เอโมไดอาควินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเอโมไดอาควินเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาเอโมไดอาควิน
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะตับอักเสบ ตับทำงานผิดปกติ ผู้ที่มีภาวะจอตาทำงานผิดปกติ
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
  • การใช้ยานี้ไม่ครบตามคำสั่งแพทย์จะส่งผลให้อาการโรคไม่หายขาดและมีโอกาสกลับมาเป็นใหม่ได้สูง
  • การใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และ ผู้สูงอายุ ต้องเป็นไปตามคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
  • ระหว่างใช้ยานี้ให้ระวังการเกิดภาวะตับ - ไตเสียหาย
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่ติดสุราเพราะจะก่อให้เกิดพิษหรือทำให้ตับทำงานหนักมากขึ้น
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติด้วยโรคลมชักด้วยยานี้อาจกระตุ้นให้อาการชักกลับมาเป็นใหม่ได้
  • หยุดการใช้ยานี้ทันทีเมื่อเกิดอาการแพ้ยาแล้วรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเอโมไดอาควินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

เอโมไดอาควินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเอโมไดอาควินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเอโมไดอาควินร่วมกับยาต้านไวรัส Efavirenz ด้วยจะทำให้เกิดพิษต่อตับของผู้ป่วย
  • การใช้ยาเอโมไดอาควินร่วมกับยาลดกรดที่มีส่วนประกอบของเกลือแมกนีเซียมหรือยาประเภท Kaolin จะทำให้การดูดซึมของยาเอโมไดอาควินลดต่ำลง หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเอโมไดอาควินร่วมกับยาต่อไปนี้ Trimethoprim, Ketoconazole, Ritona vir, Saquinavir, Lopinavir, Gemfibrozil และ Montelukast ด้วยกลุ่มยาเหล่านี้จะทำให้การทำงานของเอนไซม์ที่ตับไม่สามารถเปลี่ยนโครงสร้างของยาเอโมไดอาควินไปเป็นสาร Desethylamodia quine มีผลทำให้ฤทธิ์ในการต่อต้านเชื้อมาลาเรียด้อยประสิทธิภาพลงไป

ควรเก็บรักษาเอโมไดอาควินอย่างไร?

ปกติในสูตรตำรับยาเอโมไดอาควินชนิดเม็ดจะมีอายุการใช้งานได้นานถึง 3 ปีโดยต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขการเก็บรักษาดังนี้เช่น เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และไม่ควรนำยาที่หมดอายุมาปะปนกับยาที่ยังมีคุณภาพดี

เอโมไดอาควินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเอโมไดอาควินที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Amodiaquine hydrochloride tablets (เอโมไดอาควิน ไฮโดรคลอไรด์ แทเบลต) Guilin Pharmaceutical Co
ARTESUNATE AMODIAQUINE WINTHROP (อาร์เทซูเนท เอโมไดอาควิน วินทร็อป) Maphar - Morocco

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Amodiaquine [2016,Jan23]
  2. http://apps.who.int/prequal/whopar/whoparproducts/MA045part4v2.pdf [2016,Jan23]
  3. http://www.drugbank.ca/drugs/DB00613 [2016,Jan23]
  4. http://www.wipo.int/export/sites/www/research/en/data/sanofi/marketed_products/Artesunate_and_Amodiquine.pdf [2016,Jan23]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Polymerase [2016,Jan23]
  6. http://www.medindia.net/doctors/drug_information/amodiaquine.html [2016,Jan23]
  7. http://apps.who.int/prequal/whopar/whoparproducts/MA058part6v2.pdf [2016,Jan23]
  8. http://apps.who.int/prequal/whopar/whoparproducts/MA058part3v1.pdf [2016,Jan23]