เออร์โซไดออล (Ursodiol)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 5 มิถุนายน 2561
- Tweet
- บทนำ
- เออร์โซไดออลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- เออร์โซไดออลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เออร์โซไดออลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เออร์โซไดออลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- เออร์โซไดออลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เออร์โซไดออลอย่างไร?
- เออร์โซไดออลมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเออร์โซไดออลอย่างไร?
- เออร์โซไดออลมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ตับแข็ง (Liver cirrhosis)
- นิ่วในถุงน้ำดี นิ่วถุงน้ำดี (Gallstone)
- ถุงน้ำดีอักเสบ (Cholecystitis)
- โรคอ้วน และ น้ำหนักตัวเกิน (Obesity and overweight)
- แผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กตอนต้น
- ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
บทนำ
ในกระบวนการย่อยอาหารของมนุษย์จากในปากไปจนกระทั่งถึงลำไส้ต้องอาศัยปัจจัยต่างๆมากมาย เช่น เอนไซม์ที่ใช้ย่อยสารอาหารจำพวก แป้ง โปรตีน ไขมัน กรดไฮโดรคลอริก(Hydrochloric acid, กรดจากกระเพาะอาหารที่ช่วยย่อยอาหาร และช่วยกำจัดเชื้อโรคที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหาร)เพื่อปรับสภาวะในกระเพาะอาหารให้เหมาะสม กรดน้ำดี(Bile acid)เป็นหนึ่งองค์ประกอบที่ร่างกายต้องใช้ในกระบวนการย่อยสารอาหารประเภทไขมัน กรดน้ำดีจะถูกสร้างจากตับ และถูกกักเก็บที่ถุงน้ำดี เราเรียกกรดน้ำดีชนิดนี้ว่ากรดน้ำดีปฐมภูมิ(Primary bile acids) เมื่อร่างกายหลั่งกรดน้ำดีปฐมภูมิออกมาและเข้าสู่ในลำไส้เพื่อช่วยย่อยไขมัน แบคทีเรียในลำไส้สามารถเปลี่ยนโครงสร้างกรดน้ำดีปฐมภูมิไปเป็นกรดน้ำดีทุติยภูมิ (Secondary bile acid) ซึ่งมีคุณสมบัติย่อยอาหารประเภทไขมันได้เช่นเดียวกัน กรณีที่มีการอักเสบของถุงน้ำดี(ถุงน้ำดีอักเสบ) จะทำให้มีการหลั่งน้ำดีลดลงหรือมีเหตุปัจจัยบางอย่างที่ทำให้ไขมันคอเลสเตอรอลมีการสะสมตกตะกอนจนกลายเป็นนิ่วในถุงน้ำดีที่อาจก่อให้เกิดการอุดตันในท่อน้ำดี ซึ่งจะทำให้เกิดอาการปวดภายในช่องท้องด้านขวาตอนบน(ตำแหน่งของตับและถุงน้ำดี)
ยาเออร์โซไดออล(Ursodiol)หรือจะเรียกอีกชื่อว่า ยากรดเออร์โซดีออกซีโคลิก(Ursodeoxycholic acid ย่อว่า UDCA) ซึ่งมีโครงสร้างเป็นกรดน้ำดีชนิดทุติยภูมิ จัดว่าเป็นยาทางเลือกที่นำมาใช้บำบัดอาการโรคนิ่วในถุงน้ำดี ด้วยยานี้มีกลไกช่วยย่อยไขมันในลำไส้เล็ก ส่งผลให้ไขมันคอเลสเตอรอลจากอาหารถูกแยกออกมาและโดนขับทิ้งไปกับอุจจาระ เมื่อมีปริมาณคอเลสเตอรอลในลำไส้ที่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายลดลง จะส่งผลให้ตับผลิตและหลั่งไขมันคอเลสเตอรอลน้อยลงด้วยเช่นกัน จากขั้นตอนดังกล่าว ทำให้นิ่วในถุงน้ำดีซึ่งมีสาเหตุจากการรวมตัวของคอเลสเตอรอลมีขนาดเล็กลงและหลุดออกจากท่อน้ำดีเข้าสู่ลำไส้ได้
ปัจจุบัน ทางคลินิก สามารถใช้ประโยชน์จากยาเออร์โซไดออลทั้งในเชิงป้องกันและบำบัดรักษาอาการนิ่วถุงน้ำดี ซึ่งรูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาเออร์โซไดออลเป็นยาแบบรับประทาน หลังถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยานี้จะถูกลำเรียงไปยังตับเพื่อตับเปลี่ยนโครงสร้างเคมีของยานี้และจะถูกขับทิ้งไปกับอุจจาระ
สำหรับข้อจำกัดการใช้ยาเออร์โซไดออลที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบมีดังนี้ เช่น
- ยานี้ไม่สามารถบำบัดอาการปวดท้องจากการอักเสบแบบเฉียบพลันของถุงน้ำดีจากท่อน้ำดีที่อุดตัน
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีภาวะถุงน้ำดีมีการบีบตัวต่ำ
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคตับ ทั้งแบบเรื้อรังและแบบเฉียบพลัน
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีแผลในกระเพาะอาหารและในลำไส้ส่วนต้น
- การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์และสตรีในภาวะให้นมบุตร ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของ แพทย์แต่ผู้เดียว
ทางการแพทย์ ยังใช้ยาเออร์โซไดออลมาบำบัดรักษาโรคตับแข็งจากทางเดินน้ำดีถูกทำลาย (Primary biliary cirrhosis) และถือเป็นประโยชน์อีกหนึ่งข้อของยาชนิดนี้/ยานี้ คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้กำหนดให้ยาเออร์โซไดออลเป็นยาประเภทยาอันตราย ก่อนใช้ยาชนิดนี้ผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องรับการตรวจร่างกายเพื่อให้แพทย์ยืนยันความชัดเจนของโรคและสั่งจ่ายยานี้ได้อย่างปลอดภัย
เออร์โซไดออลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาเออร์โซไดออลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้รักษานิ่วในถุงน้ำดี
- ใช้ป้องกันการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีกับผู้ป่วยด้วยโรคอ้วนและกำลังลดน้ำหนัก
- บำบัดอาการตับแข็งจากท่อน้ำดีถูกทำลาย (Primary biliary cirrhosis)
เออร์โซไดออลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเออร์โซไดออลเป็นยาที่ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำดีที่มีคุณภาพให้กับร่างกาย ยานี้มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะเข้าไปทำหน้าที่ทดแทนน้ำดีที่ไม่มีคุณภาพซึ่งคอยสร้างความเสียหายกับตับ(Replacing/displacing toxic concentrations of endogenous hydrophobic bile acid) ส่งผลทำให้เกิดความปลอดภัยและช่วยป้องกันการตายของเซลล์ตับ นอกจากนี้ ยาเออร์โซไดออลยังเป็นยาที่ช่วยทำให้ไขมันคอเลสเตอรอลจากอาหารถูกแยกออกมาและโดนขับทิ้งไปกับอุจจาระ ส่งผลให้ตับผลิตและหลั่งไขมันคอเลสเตอรอลน้อยลงด้วยเช่นกัน จากขั้นตอนดังกล่าว จึงส่งผลให้อาการตับแข็งและนิ่วในถุงน้ำดีมีอาการดีขึ้นตามลำดับ
เออร์โซไดออลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเออร์โซไดออลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Ursodeoxycholic acid 250 มิลลิกรัม/แคปซูล
เออร์โซไดออลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาเออร์โซไดออลมีขนาดรับประทาน เช่น
ก. บำบัดอาการนิ่วในถุงน้ำดี:
- ผู้ใหญ่: รับประทานยา 8–12 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ1ครั้งก่อนนอน หรือจะแบ่งรับประทานเป็นวันละ 2 ครั้ง โดยรับประทานพร้อมอาหาร ทั่วไป ระะยะเวลาการรักษาอยู่ในช่วง 3–4 เดือน บางกรณีอาจต้องใช้ยานี้ต่อเนื่องถึง 2 ปี สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในช่วงลดน้ำหนักตัว แพทย์อาจต้องใช้ยานี้ 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
ข. ป้องกันการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีในผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน:
- ผู้ใหญ่: รับประทานยา 300 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น พร้อมอาหาร
ค. บำบัดอาการตับแข็งจากท่อน้ำดีโดนทำลาย (Primary biliary cirrhosis):
- ผู้ใหญ่: รับประทานยา 10–16 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่ง รับประทานเป็น 2–4 ครั้ง หลังจากการใช้ยาเออร์โซไดออลไปแล้ว 3 เดือน แพทย์อาจปรับเปลี่ยน เป็นรับประทานยานี้วันละ1ครั้งก่อนนอน
อนึ่ง:
- ยานี้ไม่สามารถรักษานิ่วในถุงน้ำดีที่มีสาเหตุจากก้อนนิ่วที่เกิดจาก แคลเซียม/หินปูนมารวมตัวกัน
- แพทย์อาจจ่ายยาแก้ปวดร่วมกับยาเออร์โซไดออล ผู้ป่วยจึงควรหลีกเลี่ยงการ ซื้อหายาแก้ปวดอื่นใดมารับประทานเอง
- หลังการใช้ยานี้แล้วอาการไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยต้องรีบกลับมาพบแพทย์เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- เด็ก: การใช้ยานี้ในเด็กที่รวมถึงขนาดยา จะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้อง ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเออร์โซไดออล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเออร์โซไดออลอาจ ส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
กรณีที่ผู้ป่วยลืมรับประทานยาเออร์โซไดออล สามารถรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่าให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ
แต่อย่างไรก็ตาม การจะใช้ยานี้บำบัดอาการนิ่วในถุงน้ำดีได้อย่างมีประสิทธิผล ต้องอาศัยการรับประทานยานี้ต่อเนื่อง ตลอดจนกระทั่งการควบคุมอาหารที่มีไขมันเป็นส่วน ประกอบตาม แพทย์ พยาบาล เภสัชกร แนะนำเสมอ
เออร์โซไดออลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเออร์โซไดออลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก อาเจียน คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ท้องอืด หลอดอาหารอักเสบ เกิดแผลในกระเพาะอาหาร
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เกิดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนได้ง่ายไซนัสอักเสบ คออักเสบ ไอ หลอดลมอักเสบ เยื่อจมูกอักเสบ
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน มีอาการบวมของผิวหนัง เกิดลมพิษ
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำตาลในเลือดสูงเพิ่มขึ้น
- ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดหลัง
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น เกิดโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้ง่าย
- ผลต่อตับ :เช่น เกิดดีซ่าน เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น/ตับทำงานผิดปกติ ค่าบิลิรูบินในเลือดสูง
- อื่นๆ: ประจำเดือนขาดในสตรีวัยมีประจำเดือน
มีข้อควรระวังการใช้เออร์โซไดออลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเออร์โซไดออล เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ หรือ แพ้ส่วนประกอบของยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร นอกจากมีคำสั่งแพทย์
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง หรือหยุดรับประทานยานี้โดยไม่ขอ คำปรึกษาจากแพทย์
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายเพื่อการตรวจร่างกายและติดตามผลการรักษาอย่างสม่ำเสมอ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเออร์โซไดออลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่องข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
เออร์โซไดออลมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเออร์โซไดออลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามรับประทานยาเออร์โซไดออลร่วมกับยาCholestyramine และ Colestipol ด้วยจะลดการดูดซึมยาเออร์โซไดออลจากระบบทางเดินอาหารจึงทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาเออร์โซไดออลด้อยลง
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยาเออร์โซไดออลร่วมกับ ยาClofibrate และยาเม็ดคุมกำเนิด ชนิดต่างๆ ด้วยจะทำให้ตับมีการหลั่งคอเลสเตอรอลมากยิ่งขึ้นจนเป็นผลให้นิ่วในถุงน้ำดี มีขนาดโตขึ้น
- การใช้ยาเออร์โซไดออลร่วมกับยาCiclosporin จะทำให้การดูดซึมของยาCiclosporinจากระบบทางเดินอาหารและเข้าสู่ร่างกายมากขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
ควรเก็บรักษาเออร์โซไดออลอย่างไร?
ควรเก็บยาเออร์โซไดออล ภายใต้อุณหภูมิ 20–25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บ ยาที่เสื่อมสภาพ หรือยาที่หมดอายุแล้ว
เออร์โซไดออลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเออร์โซไดออล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Ursode (เออร์โสด) | Charoon Bhesaj |
Ursolin (เออร์โซลิน) | Berlin Pharm |
Urso (เออโซ) | Axcan Pharma |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Ursodeoxycholic_acid [2018,May19]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/ursodeoxycholic%20acid/?type=brief&mtype=generic [2018,May19]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/ursode/?type=brief [2018,May19]
- https://www.drugs.com/cdi/ursodiol.html [2018,May19]
- https://www.drugs.com/sfx/ursodiol-side-effects.html [2018,May19]
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2009/020675s017lbl.pdf [2018,May19]