เอสไตรออล (Estriol)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 1 กรกฎาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- เอสไตรออลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- เอสไตรออลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เอสไตรออลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เอสไตรออลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมใช้ยาควรทำอย่างไร?
- เอสไตรออลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เอสไตรออลอย่างไร?
- เอสไตรออลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเอสไตรออลอย่างไร?
- เอสไตรออลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เอสโตรเจน (Estrogen)
- วัยหมดประจำเดือน (Menopause)
- ภาวะช่องคลอดแห้ง (Vaginal dryness) / ภาวะร้อนวูบวาบในวัยหมดประจำเดือน (Hot flashes in postmenopause)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- Gynoflor
บทนำ
ยาเอสไตรออล (Estriol) จัดเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ชนิดหนึ่งที่พบในร่างกายของสตรี ซึ่งระหว่างที่มีการตั้งครรภ์จะเกิดการผลิตฮอร์โมนนี้จากรังไข่เพิ่มขึ้น เอสไตรออลจะทำให้ผนังของเยื่อบุช่องคลอดมีความหนาตัว ยืดหยุ่น เกิดความชุ่มชื้น และช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในบริเวณช่องคลอด และยังช่วยพัฒนาการเจริญเติบโตทางเพศในสตรีด้วย ในวัยหมดประจำเดือน หรือหลังภาวะรังไข่ถูกตัดจะด้วยสาเหตุใดก็ตามจะส่งผลให้มีการผลิตฮอร์โมนเพศหญิงน้อยลงตามมา ที่ส่งผลกระทบต่อผนังช่องคลอดโดยทำให้แห้งและมีความบางเกิดขึ้นจนเป็นเหตุให้ขณะมีเพศสัมพันธ์จะทำให้สตรีรู้สึกเจ็บและเกิดภาวะช่องคลอดอักเสบตามมา ปัญหาดังกล่าวสามารถบรรเทาได้โดยการใช้ยาเอสไตรออลเป็นฮอร์โมนทดแทนซึ่งต้องใช้ติดต่อกันหลายวันหรือเป็นสัปดาห์ขึ้นไป
ก่อนการใช้ฮอร์โมนเอสไตรออลเพื่อทดแทนฮอร์โมนเพศหญิงของร่างกาย แพทย์มักขอตรวจเต้านมผู้ป่วยก่อน ตรวจคลำกระเพาะอาหาร และอาจรวมถึงการตรวจภายในด้วยเพื่อดูความเสี่ยงของผู้ป่วยต่อการใช้ยาเอสไตรออลนั่นเอง
ยาฮอร์โมนเอสไตรออลยังมีข้อห้ามหรือข้อยกเว้นบางอย่างที่ผู้บริโภคควรทราบก่อนใช้ยานี้ เช่น
- ต้องไม่มีประวัติแพ้ยาฮอร์โมนเอสไตรออลมาก่อน
- ต้องไม่ป่วยด้วยโรคหัวใจล้มเหลว โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือมีภาวะลิ่มเลือดจับตัวง่ายในหลอดเลือด
- ต้องไม่ป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
- ต้องไม่มีภาวะเลือดประจำเดือนออกผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ต้องไม่ป่วยด้วยโรคตับ
- ต้องไม่มีปัญหาของระบบเลือด และ
- ต้องระวังการใช้ยาฮอร์โมนเอสไตรออลร่วมกับผู้ป่วยด้วยโรคประจำตัวต่อไปนี้เช่น โรคหลอดเลือดดำขอด โรคความดันโลหิตสูง โรคหืด โรคเบาหวาน โรคไมเกรน โรคลมชัก โรคตับ และโรคไต
นอกจากนี้การใช้ยาฮอร์โมนเอสไตรออลติดต่อกันเป็นเวลาหลายปีนั้นอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้เช่นกัน ดังนั้นการใช้ยาที่เป็นลักษณะยาฮอร์โมนเพศทดแทนต้องมีการตรวจร่างกายประจำปีและมีการพบแพทย์อยู่เป็นระยะๆตามแพทย์แนะนำ และระหว่างการได้รับยานี้ควรต้องหลีก เลี่ยงการสูบบุหรี่ การดื่มสุรา รวมถึงต้องควบคุมความดันโลหิตให้เป็นปกติตลอดเวลา
รูปแบบของยาแผนปัจจุบันของยาเอสไตรออลเท่าที่พบเห็นในประเทศไทยจะเป็นยาเม็ดแบบสอดเข้าช่องคลอดและยาครีมทาบริเวณช่องคลอด แต่ในบางประเทศอาจพบยาเอสไตรออลในรูปแบบยารับประทาน
การใช้ยาประเภทฮอร์โมนที่รวมถึงยาเอสไตรออลอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของร่างกายได้อย่างมากมายหากใช้ผิดวิธี ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยต่อตัวผู้บริโภคเองควรต้องใช้ยาเอสไตรออลตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ห้ามมิให้ไปซื้อหายาฮอร์โมนเอสไตรออลมาใช้เองโดยเด็ดขาด
เอสไตรออลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
เอสไตรออลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น
ก. ยาครีม: ข้อบ่งใช้เช่น
- บำบัดอาการช่องคลอดอักเสบจากการขาดฮอร์โมนเพศหญิง (Atrophic vaginitis)
- ใช้ทาบริเวณช่องคลอดก่อนและหลังผ่าตัดเพื่อให้บาดแผลบริเวณช่องคลอดประสานตัวได้เร็วขึ้น
ข. ยาเหน็บช่องคลอด: ข้อบ่งใช้เช่น
- รักษาภาวะตกขาวที่ไม่ทราบสาเหตุ แต่ทั้งนี้การใช้ยานี้กรณีนี้ต้องเป็นคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
เอสไตรออลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเอสไตรออลมีกลไกการออกฤทธ์โดยตัวยาจะเป็นฮอร์โมนเพศหญิงที่ช่วยปรับสภาพให้ผนังภายในช่องคลอดมีความหนาตัวขึ้นอย่างเหมาะสม มีความชุ่มชื้น และเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในช่องคลอดส่งผลลดอาการแสบ-คันหรือช่องคลอดแห้ง ซึ่งจากกลไกข้างต้นทำให้ยานี้มีฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
เอสไตรออลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ในประเทศไทยยาเอสไตรออลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น
- ยาครีมทาบริเวณช่องคลอดขนาดความเข้มข้น 0.1%
- ยาเม็ดสำหรับเหน็บช่องคลอดซึ่งเม็ดยาแต่ละเม็ดจะมีส่วนประกอบของเชื้อแบคทีเรียแลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) 100 ล้านเซลล์ที่มีชีวิต + ยาเอสไตรออล 0.03 มิลลิกรัม
เอสไตรออลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาเอสไตรออลชนิดทามีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาเช่น
ก. สำหรับบำบัดอาการช่องคลอดอักเสบจากการขาดฮอร์โมนเพศหญิง:
- ผู้ใหญ่: บีบยาใส่อุปกรณ์/หลอดฉีด (ที่มีมาพร้อมกับผลิตภัณฑ์) ตามคู่มือการใช้ในเอกสารกำกับยาเพื่อป้ายภายในช่องคลอด ทั้งนี้ในช่วงเริ่มต้นการรักษาควรป้ายยานี้วันละครั้งก่อนนอนเป็นเวลา 2 - 3 สัปดาห์ จากนั้นลดความถี่การใช้ยาเป็น 2 ครั้งต่อสัปดาห์หรือตามแพทย์แนะนำ ทั้งนี้แพทย์ผู้รักษามักแนะนำการใช้ยานี้ในขนาดต่ำที่สุดที่ทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น และหยุดพัก/เว้นช่วงใช้ยานี้ทุก 2 - 3 เดือนเมื่อใช้ยานี้ครบทุก 4 สัปดาห์
ข. สำหรับใช้ทาบริเวณช่องคลอดก่อนและหลังผ่าตัด:
- ผู้ใหญ่: ก่อนเข้ารับการผ่าตัดช่องคลอดป้ายยานี้ภายในช่องคลอดวันละครั้งเป็นเวลา 2 สัปดาห์ แต่หลังผ่าตัดช่องคลอดแล้วห้ามใช้ยานี้เป็นเวลา 2 สัปดาห์ จากนั้นให้ป้ายยานี้ 2 ครั้ง/สัปดาห์ โดยระยะเวลาใช้ยานี้ขึ้นกับคำสั่งแพทย์ผู้รักษา
- สำหรับการใช้ยานี้ชนิดเป็นยาเหน็บแนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่องยา “Gynoflor”
- ในเด็ก: ยานี้เหมาะกับการใช้ในผู้ใหญ่เท่านั้น ห้ามใช้ยานี้ในเด็กหรือในผู้ที่ยังไม่เคยมีประจำเดือน
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเอสไตรออล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาเอสไตรออล อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาต่างๆ และ/หรือ กับอาหารเสริมที่รับประทาน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภท สามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมใช้ยาควรทำอย่างไร?
หากลืมใช้ยาเอสไตรออลสามารถใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการใช้ยาเป็น 2 เท่า
อนึ่งการใช้ยาเอสไตรออลให้ได้ผลควรต้องทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
เอสไตรออลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเอสไตรออลมีผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
ก. ยาครีมสำหรับทาภายในช่องคลอด: เช่น อาจทำให้เกิดอาการดีซ่าน ความดันโลหิตสูงขึ้น ปวดศีรษะ ไมเกรน เกิดการอุดตันของหลอดเลือดจากการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือด รวมถึงการเกิดผื่นคันตามผิวหนัง
ข. ยาเหน็บช่องคลอด: เช่น อาจก่อให้เกิดอาการแสบ-คันในบริเวณช่องคลอดขณะที่เหน็บยานี้จากผู้ป่วยบางรายอาจเกิดอาการแพ้ต่อเชื้อแลคโตบาซิลลัส
มีข้อควรระวังการใช้เอสไตรออลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเอสไตรออลเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาเอสไตรออล
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
- ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ หรือใช้ยานี้ไม่ครบตามกำหนดที่แพทย์แนะนำ หรือหยุดการใช้ยานี้เอง หรือแม้แต่การใช้ยานี้ต่อเนื่องโดยไม่ขอคำแนะนำจากแพทย์
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือผู้ที่มีเนื้องอก/ก้อนที่เต้านม เนื้องอกมดลูก เนื้องอกช่องคลอด รวมถึงผู้ที่มีเลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ขณะใช้ยานี้ห้ามฉีดน้ำเพื่อล้างทำความสะอาดภายในช่องคลอด (การสวนล้างช่องคลอด)
- กรณีของยาเหน็บช่องคลอดอาจพบว่ามีส่วนประกอบของยาที่ไม่ละลายหลงเหลืออยู่ในช่องคลอดบ้าง ผู้บริโภค/ผู้ป่วยจึงควรต้องได้รับคำอธิบายและทำความเข้าใจจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยานี้ทุกครั้ง
- ปฏิบัติตามคำแนะนำอื่นๆของแพทย์ที่จะเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยเอง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฮอร์โมนเอสไตรออลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
เอสไตรออลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเอสไตรออลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- การใช้ยาเอสไตรออลชนิดสอด/เหน็บช่องคลอดคือยา Gynoflor ร่วมกับยาปฏิชีวนะต่างๆที่เป็นลักษณะของยารับประทานหรือยาฉีด สามารถส่งผลต่อเชื้อแลคโตบาซิลลัสในยา Gynoflor และทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาของยาเอสไตรออลลดลง หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเหล่านี้ในเวลาเดียวกัน
- การใช้ยาบางกลุ่มร่วมกับยาเอสไตรออลชนิดครีมจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการรักษาของยาเอสไตรออล หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน ยากลุ่มดังกล่าวเช่น Barbiturates, Hydantoins, Carbamazepine, Griseofulvin, Rifamycins, Nevirapine, Efavirenz, Ritonavir, Nelfinavir, Corticosteroids
ควรเก็บรักษาเอสไตรออลอย่างไร?
ควรเก็บยาเอสไตรออลชนิดเหน็บช่องคลอดภายใต้อุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส (Celsius) ชนิดยาครีมควรเก็บภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
เอสไตรออลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเอสไตรออลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Gynoflor (ไกโนฟลอร์) | Medinova |
Ovestin (โอเวสติน) | MSD |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Estriol [2016,June11]
- http://www.drugs.com/uk/pdf/leaflet/654808.pdf [2016,June11]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/ovestin/ [2016,June11]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/gynoflor/?type=brief [2016,June11]
- http://www.drugs.com/uk/estriol-0-1-vaginal-cream-leaflet.html [2016,June11]