เอสตาโซแลม (Estazolam)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเอสตาโซแลม(Estazolam อีกชื่อคือ Desmethylalprazolam) เป็นอนุพันธ์ยาของยาเบนโซไดอะซิปีน(Benzodiazepine) ถูกพัฒนาขึ้นในปี ค.ศ.1970 (พ.ศ.2513) ทางคลินิกใช้เป็น ยาคลายความวิตกกังวล/ยาคลายเครียด/ยาช่วยสงบประสาท ยาต้านชัก และทำให้นอนหลับ/ยานอนหลับ รวมถึงทำให้กล้ามเนื้อของร่างกายเกิดการคลายตัว/ยาคลายกล้ามเนื้อ ในทางปฏิบัติ/ในทางคลินิก เราจะพบเห็นการใช้ยานี้เป็นยานอนหลับเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งการออกฤทธิ์ของยาเอสตาโซแลมทำให้นอนหลับได้ยาวนานประมาณ 7–8 ชั่วโมง โดยการใช้ยานี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น

ยาเอสตาโซแลมมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยารับประทาน ที่มีการดูดซึม จากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดได้ประมาณ 93%จากปริมาณที่รับประทาน ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยทำลายโครงสร้างของยานี้ และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 10–24 ชั่วโมง เพื่อกำจัดตัวยาเอสตาโซแลมออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

ข้อห้ามใช้ และข้อควรระวัง ของยาเอสตาโซแลมที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบ มีดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มี ภาวะ/โรคต้อหิน เป็นผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง มีภาวะทางจิต ประสาท/โรคทางจิตเวช
  • สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงจากใช้ยาทุกตัว ซึ่งรวมยาเอสตาโซแลมด้วย ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงควรต้องใช้ยาต่างๆตามคำสั่งแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยา Clozapine , HIV protease inhibitor , Sodium oxybate, ด้วยการใช้ร่วมกับยาเอสตาโซแลม จะก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากยาต่างๆดังกล่าวมากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติ ติดยาเสพติด หรือผู้ที่ติดสุรา
  • ต้องระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ผู้ที่มีประวัติทำร้ายร่างกายของตนเอง ผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยโรคไต รวมถึงผู้ที่มีโรคทางเดินหายใจ เช่น หลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
  • ยานี้สามารถทำให้ความจำแย่ลง การใช้ยานี้ไปสักระยะแล้วเกิดปัญหาต่อระบบ ความจำของสมอง ผู้ป่วยควรต้องรีบปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการใช้ยานี้
  • วัตถุประสงค์ของการใช้ยานี้เพื่อเป็นยานอนหลับสำหรับบำบัดอาการผู้ป่วยเพียง ระยะสั้น 1–2 สัปดาห์เท่านั้น การใช้ยานี้ต่อเนื่องยาวนานกว่านี้ แพทย์อาจต้องเพิ่มขนาด รับประทานจึงจะทำให้ผู้ป่วยนอนหลับ ผู้ป่วยจึงควรใช้ยาตามขนาดและระยะเวลาที่แพทย์ แนะนำเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะติดยานี้
  • *ผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด สามารถสังเกตได้จากมี อาการสับสน หายใจขัด/อึดอัด/หายใจลำบาก วิงเวียน ง่วงนอนมาก จนกระทั่งอาจเข้าขั้นโคม่า กรณีที่ทราบว่าผู้ป่วยได้รับประทานยานี้เกินขนาด ควรต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

ยาเอสตาโซแลมเป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อสมอง การใช้ยานี้ต้องมีความระมัดระวังและอาศัยความชำนาญของแพทย์ในการสั่งจ่ายยา ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยไปสรรหายาเอสตาโซแลมมารับประทานเอง

อนึ่ง ในตลาดการค้ายาแผนปัจจุบัน เราจะพบเห็นการจัดจำหน่ายยาเอสตาโซแลม ภายใต้ชื่อการค้าว่า “Prosom”

เอสตาโซแลมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เอสตาโซแลม

ยาเอสตาโซแลมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้เป็นยานอนหลับ โดยมีระยะเวลาการใช้ยานี้เพียง 1–2 สัปดาห์

เอสตาโซแลมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเอสตาโซแลม มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะกดการทำงานของสมอง จนเกิดการปรับสมดุลของสารสื่อประสาท ทำให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกผ่อนคลายความกังวล จึงช่วยสงบประสาท ทำให้นอนหลับ โดยระยะเวลาของการออกฤทธิ์ที่เกิดขึ้นต่อร่างกายจะมีระยะเวลาประมาณ 7-8 ชั่วโมง จากกลไกดังกล่าวจึงทำให้มีฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

เอสตาโซแลมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเอสตาโซแลมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เป็น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Eatazolam ขนาด 1 และ 2 มิลลิกรัม/เม็ด

เอสตาโซแลมมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเอสตาโซแลม มีขนาดรับประทานเพื่อช่วยให้นอนหลับ เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 1–2 มิลลิกรัม ก่อนนอน
  • ผู้สูงอายุ: รับประทานยาครั้งละ 1 มิลลิกรัม ก่อนนอน
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิก ที่เพียงพอใน ขนาดยา และความปลอดภัย ของยานี้ในเด็ก

อนึ่ง:

  • รับประทานยานี้ตรงตามคำสั่งแพทย์
  • ใช้ยานี้เพียงระยะสั้นๆ 1–2 สัปดาห์ เพื่อป้องกันภาวะการติดยา

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเอสตาโซแลม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคจิต กล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคไต โรคทางเดินหายใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเอสตาโซแลม อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใข้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเอสตาโซแลม สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2เท่า ให้รับประทานขนาดปกติ

แต่อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาเอสตาโซแลม ตรงเวลา

เอสตาโซแลมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเอสตาโซแลมสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ง่วงนอน วิตกกังวล ซึม ฝันประหลาดๆ มีความคิดแปลกๆ ตัวสั่น อารมณ์เปลี่ยนแปลง/อารมณ์แปรปรวน อาจพบอาการประสาทหลอนได้บ้าง
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย วิงเวียน การทรงตัวทำได้ไม่ดี รู้สึกสับสน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน รู้สึกไม่ฉลาด มีอาการชัก หรือกล้ามเนื้อกระตุก
  • ผลต่อตับ: เช่น ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น
  • ผลต่อระบบการหายใจ: เช่น คออักเสบ หอบหืด ไอ หายใจลำบาก เยื่อจมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องผูก ปากแห้ง คลื่นไส้ เบื่ออาหารหรือไม่ก็รับประทานอาหารได้มากขึ้น ท้องอืด กระเพาะอาหารอักเสบ
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ชีพจรเต้นผิดปกติ ใบหน้าแดง หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีผื่นคัน ลมพิษ เหงื่อออกมาก เกิดสิว ผิวแห้ง
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะบ่อย
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น อาจเกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ(Leukopenia)
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น กระหายน้ำ น้ำหนักตัวเพิ่มหรือไม่ก็ลดลง
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง กล้ามเนื้อเป็นตะคริว ปวดคอ ข้ออักเสบ
  • ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า ระคายเคืองตา ปวดตา ตาบวม ตากลัวแสง
  • อื่นๆ: คันช่องคลอด

มีข้อควรระวังการใช้เอสตาโซแลมอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเอสตาโซแลม เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอร์เป็นส่วนประกอบด้วยจะส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงจากยานี้ที่รุนแรงขึ้น
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคต้อหิน ผู้ป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะติดยา ผู้ป่วยที่มีภาวะการหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • หากใช้ยานี้ไปแล้วประมาณ 7-10 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้สูงอายุ ด้วยเสี่ยงกับการเกิดอาการข้างเคียงจากยานี้สูงขึ้นได้ง่าย
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้เป็นเวลานานเกิน 1-2 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการดื้อยา ควรใช้ยานี้เพียงระยะสั้นๆตามคำแนะนำของแพทย์
  • การใช้ยานี้เกิน 2-3 สัปดาห์ ต่อเนื่อง ในขนาดรับประทานที่ค่อนข้างสูง และผู้ป่วย มีความประสงค์อยากใช้ยานี้ต่อ นั่นอาจเป็นสัญญาณของการติดยาของผู้ป่วย
  • หากมีอาการวิงเวียนหลังใช้ยา ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการ ทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักร เพราะจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเอสตาโซแลมด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์ฌสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เอสตาโซแลมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเอสตาโซแลมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาเอสตาโซแลมร่วมกับการดื่มสุราจะเกิดการกดประสาทส่วนกลางหรือกด สมองมากยิ่งขึ้น และเป็นการเพิ่มฤทธิ์สงบประสาท กดการหายใจของร่างกาย ซึ่งจะเป็นอันตรายอย่างมาก จึงถือเป็นข้อห้ามการรับประทานยาเอสตาโซแลมร่วมกับเครื่องดื่ม ที่มีแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด
  • การใช้ยาเอสตาโซแลมร่วมกับยา Hydrocodone , Morphine, อาจทำให้เกิดภาวะ กดการหายใจจนถึงขั้นเสียชีวิต หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาเอสตาโซแลมร่วมกับยา Diphenhydramine , Propoxyphene, อาจทำให้เกิดอาการ วิงเวียน ง่วงนอน รู้สึกสับสน เพื่อป้องกันมิให้เกิดอาการดังกล่าว จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาเอสตาโซแลมอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาเอสตาโซแลม ในช่วงอุณหภูมิ 15–30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

เอสตาโซแลมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเอสตาโซแลม มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Prosom (โปรโซม)Abbott Laboratories

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Eurodin

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Estazolam#Pharmacology[2017,July22]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/estazolam/?type=brief&mtype=generic[2017,July22]
  3. https://www.drugs.com/cdi/estazolam.html[2017,July22]
  4. https://www.drugs.com/sfx/prosom-side-effects.html[2017,July22]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/estazolam-index.html?filter=3&generic_only=#H[2017,July22]