เอสตร้าไดออล (Estradiol)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 7 พฤศจิกายน 2557
- Tweet
- บทนำ
- เอสตร้าไดออลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- เอสตร้าไดออลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เอสตร้าไดออลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เอสตร้าไดออลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- เอสตร้าไดออลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เอสตร้าไดออลอย่างไร?
- เอสตร้าไดออลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเอสตร้าไดออลอย่างไร?
- เอสตร้าไดออลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- การตั้งครรภ์ (Pregnancy)
- ประจำเดือน (Menstruation)
- ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
- ยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนัง (Birth control patch or contraceptive patch)
- การวางแผนครอบครัว (Family planning)
- การคุมกำเนิด (Contraception)
- ยาเบาหวาน หรือ ยารักษาโรคเบาหวาน (Antidiabetic agents)
- ยากันชัก ยาต้านชัก (Anticonvulsant drugs)
บทนำ
ยาเอสตร้าไดออล (Estradiol) จัดเป็นสารประเภทฮอร์โมนเพศของมนุษย์ โดยมีโครงสร้าง เคมีเหมือนสารสเตียรอยด์ที่เป็นฮอร์โมนเพศหญิงของร่างกาย ที่จำเป็นในการพัฒนาโครงสร้างและ ในการเจริญเติบโตของร่างกาย โดยเฉพาะในกลุ่มเนื้อเยื่อระบบสืบพันธุ์ทั้งในเพศหญิงและในเพศ ชาย นอกจากนี้เอสตร้าดออลยังมีผลต่อการทำงานของระบบอื่นในร่างกายได้อีก เช่น การเจริญเติบ โตของกระดูก การทำงานของตับ การกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนจากต่อมพิทูอิทารี (Pituitary gland, ต่อมใต้สมอง) การทำงานของหลอดเลือด เป็นต้น
อนึ่ง เพศหญิงมีฮอร์โมนเอสตร้าไดออลสูงกว่าเพศชายมาก ทางการแพทย์จัดฮอร์โมนชนิดนี้ เป็นฮอร์โมนเพศหญิง โดยเป็นชนิดหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มฮอร์โมนเอสโตรเจน
ในด้านยา วงการเภสัชกรรมได้ผลิตเอสตร้าไดออลมาเป็นรูปแบบ ยาเม็ดคุมกำเนิด มากกว่ารูปแบบผลิตภัณฑ์อื่นอย่างเช่น ยาประเภททาเฉพาะที่ ยาฉีด เป็นต้น
เอสตร้าไดออล เป็นฮอร์โมนที่มีฤทธิ์ต่อระบบการทำงานของร่างกายหลายระบบ การจะนำมา ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น รับประทานเพื่อวัตถุประสงค์ของการคุมกำเนิดหรือใช้รักษาโรค จะต้องถูกคัดกรองด้วยการตรวจสุขภาพร่างกายก่อน การได้รับคำแนะนำที่เหมาะสมถึงความปลอดภัย ข้อควรระวังระหว่างการใช้ยา รวมไปถึงข้อห้ามใช้ ซึ่งจะช่วยในการตัดสินใจการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ของเอสตร้าไดออลได้อย่างถูกต้อง ประชาชนทั่วไปสามารถขอคำปรึกษาการใช้ยาเอสตร้าไดออลได้จากแพทย์หรือเภสัชกรร้านขายยา และไม่สมควรเลือกซื้อหาผลิตภัณฑ์มาใช้เองโดยไม่ได้ขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยว ชาญเหล่านั้นเลย
เอสตร้าไดออลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
เอสตร้าไดออลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- เป็นยาคุมกำเนิด ใช้ป้องกันการตั้งครรภ์
- ใช้เป็นฮอร์โมนทดแทนในหญิงที่หมดประจำเดือน เช่น จากการผ่าตัดรังไข่ทั้ง 2 ข้าง (ก่อนถึงวัยหมดประจำเดือน) หรือในวัยหมดประจำเดือน
- ใช้หลังผ่าตัดแปลงเพศจากชายไปเป็นหญิง
เอสตร้าไดออลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของเอสตร้าไดออลในรูปฮอร์โมนสังเคราะห์นี้ จะยับยั้งการตกไข่และก่อให้ เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ปากมดลูก ทำให้เกิดการสร้างเมือก/สารคัดหลั่งที่ขัดขวางการเดินทางของตัวอสุจิให้เข้าไปในโพรงมดลูก พร้อมกับกระตุ้นให้โพรงมดลูกมีผนังบางลง ทำให้ไม่เหมาะกับการฝังตัวของไข่ (ในเพศหญิง) ส่งผลให้เกิดฤทธิ์ป้องกันการตั้งครรภ์ตามสรรพคุณ
เอสตร้าไดออลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
เอสตร้าไดออลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดคุมกำเนิด ชนิดฮอร์โมนผสมขนาด 1 มิลลิกรัม/เม็ด บรรจุแผง 28 เม็ด
- ยาเม็ดคุมกำเนิด ชนิดฮอร์โมนผสมขนาด 30 ไมโครกรัม/เม็ด บรรจุแผง 21 และ 28 เม็ด
- ยาเม็ดคุมกำเนิด ชนิดฮอร์โมนผสมขนาด 35 ไมโครกรัม/เม็ด บรรจุแผง 21 เม็ด
- ยาเม็ดคุมกำเนิด ชนิดฮอร์โมนผสมขนาด 20 ไมโครกรัม/เม็ด บรรจุแผง 21 และ 28 เม็ด
- ยาเม็ด ชนิดฮอร์โมนทดแทนในหญิงวัยหมดประจำเดือน ขนาด 1 และ 2 มิลลิกรัม/เม็ด บรรจุแผง 28 เม็ด
- ยาเม็ดเพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุนขนาด 1 มิลลิกรัม/เม็ด บรรจุแผง 30 เม็ด
- ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนผสมขนาด 30 ไมโครกรัม 16 เม็ด บรรจุรวมกับขนาด 40 ไมโครกรัม 5 เม็ด ในแผงเดียวกัน
- ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนผสมขนาด 40 ไมโครกรัม 7 เม็ด บรรจุรวมกับขนาด 30 ไมโคร กรัม 15 เม็ด และยาที่ปราศจากฮอร์โมน 6 เม็ดในแผงเดียวกัน
- ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนผสม 15 ไมโครกรัม/เม็ด บรรจุแผง 28 เม็ด
- แผ่นปิด/แผ่นแปะผิวหนังชนิดฮอร์โมนผสมขนาด 600 ไมโครกรัม/แผ่น
- ยาเจลทาผิวหนังขนาดความแรง 0.06%
- ยาเจลทาผิวหนังขนาดความแรง 1 มิลลิกรัม/น้ำหนักยาเจล 1 กรัม
- ยาฉีดชนิดฮอร์โมนทดแทนขนาด 5 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
- ยาฉีดสำหรับการแปลงเพศของบุรุษชนิดฮอร์โมนผสมขนาด 3 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
*****หมายเหตุ:
- ฮอร์โมนผสมหมายถึง เอสตร้าไดออล ผสมกับฮอร์โมนเพศหญิงตัวอื่น
- แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘ยาเม็ดคุมกำเนิด’ และเรื่อง ‘ยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนัง’
เอสตร้าไดออลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ด้วยยาในกลุ่มเอสตร้าไดออลมีหลายรายการ ขนาดรับประทานจึงขึ้นกับการพิจารณาของแพทย์ โดยต้องอาศัยข้อมูลประวัติทางการแพทย์ของตัวผู้ป่วย รวมกับเลือกใช้ยาให้ตรงตามอาการและมีความปลอดภัยมากที่สุด ดังนั้นการรับประทานจึงต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ ผู้รักษาเท่านั้น
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเอสตร้าไดออล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเอสตร้าไดออล อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเอสตร้าไดออลสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ โดยสามารถหาข้อมูล เพิ่มเติมได้จากเว็บไซท์ หาหมอ.com เรื่องยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
เอสตร้าไดออลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเอสตร้าไดออล อาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- มีภาวะเลือดออกจากช่องคลอด
- มีอาการปวดประจำเดือน
- ช่องคลอดอักเสบเนื่องจากการติดเชื้อแคนดิดา (เชื้อราในช่องคลอด)
- อาจเสี่ยงต่อการเกิด มะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม หรือ มะเร็งปากมดลูก
- มีน้ำนมไหล
- เจ็บเต้านม
- เกิดภาวะลิ่มเลือดตามหลอดเลือดง่าย (ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ)
- อาจทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเนื่องจากเกิดการตีบตันของหลอดเลือดหัวใจ
- ความดันโลหิตสูง
- คลื่นไส้-อาเจียน
- ปวดเกร็งที่ท้อง
- ท้องเสีย
- อาหารไม่ย่อย
- ปัสสาวะขัด
- กระเพาะอาหารอักเสบ
- เพิ่มโอกาสเกิดนิ่วในถุงน้ำดี
- ตับอ่อนอักเสบ
- เสี่ยงกับภาวะตับโต
- ผื่นคันตามผิวหนัง
- เกิดลิ่มเลือดบริเวณหลอดเลือดที่เลี้ยงบริเวณลูกตา
- เกิดไมเกรน
- ดีซ่าน
- วิงเวียน
- อารมณ์หงุดหงิดง่าย
- วิตกกังวล
- น้ำหนักตัวเพิ่ม
- บวมน้ำ
- ขาเป็นตะคริว
- เกิดริดสีดวงทวาร
- ลมพิษขึ้นคล้ายกับอาการแพ้ยา
- มีแคลเซียมในเลือดต่ำ
- หอบหืด
- ไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง
จะพบว่า เอสตร้าไดออล อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้มากมายหากใช้ยานี้โดยไม่ระมัดระวัง และขาดการตรวจสอบร่างกายระหว่างการใช้ฮอร์โมนนี้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งอาจพบความเสี่ยงโดยเฉพาะโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งที่รังไข่ ด้วยเอสตร้าไดออลสามารถกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอของเนื้อเยื่อที่อวัยวะดังกล่าวจนพัฒนาไปเป็นเนื้อร้ายได้
มีข้อควรระวังการใช้เอสตร้าไดออลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้เอสตร้าไดออล เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้เอสตร้าไดออลเพื่อรักษาภาวะประจำเดือนมามากโดยมิได้ตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงก่อน
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีประวัติมะเร็งเต้านม
- ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดดำขอด ผู้ป่วยที่มีประวัติลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด (ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ) ผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยโรคตับ
- ห้ามใช้กับ หญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ระหว่างการรับประทานยาคุมกำเนิดที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเอสตร้าไดออล ควรตรวจคลำเต้านมเพื่อตรวจสอบความผิดปกติ เช่น มีก้อนเนื้อเกิดขึ้นหรือไม่
- หากพบอาการผิดปกติใดๆของร่างกายในระหว่างการใช้ฮอร์โมนเอสตร้าไดออล เช่น ปวดหัวรุนแรง เจ็บหน้าอก อารมณ์เปลี่ยนแปลงเร็ว เป็นตะคริว ฯลฯ ให้รีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อขอคำปรึกษาและปรับเปลี่ยนการรักษาให้ถูกต้อง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเอสตร้าไดออลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณ และให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
เอสตร้าไดออลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
เอสตร้าไดออลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาเอสตร้าไดออลร่วมกับยาสเตียรอยด์ฮอร์โมน เช่นยา Hydrocortisone อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจาก ยาสเตีรอยด์ดังกล่าว หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาเอสตร้าไดออลร่วมกับยากันชัก เช่นยา Phenobarbital อาจทำให้ลดระดับของยาเอสตร้าไดออลในกระแสเลือด ส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ หรือส่งผลให้เกิดการตั้งครรภ์โดยมิได้ตั้งใจ หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป
- การใช้ยาเอสตร้าไดออลร่วมกับยาขยายหลอดลม เช่นยา Aminophylline สามารถทำให้ระดับของยา Aminophylline ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น ควรให้แพทย์ผู้รักษาปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสม
- การใช้ยาเอสตร้าไดออลร่วมกับยารักษาโรคเบาหวาน เช่น ยาInsulin อาจทำให้ยารักษาเบาหวานด้อยประสิทธิภาพลง แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
ควรเก็บรักษาเอสตร้าไดออลอย่างไร?
สามารถเก็บยาเอสตร้าไดออล เช่น
- สามารถเก็บยาได้ที่อุณหภูมิห้อง
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และ
- ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
เอสตร้าไดออลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเอสตร้าไดออล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Anna (แอนนา) | Thai Nakorn Patana |
Annie (แอนนี) | Pharmahof |
Annylyn 21 (แอนนีลิน 21) | Thai Nakorn Patana |
Annylyn 28 (แอนนีลิน 28) | Thai Nakorn Patana |
Belara (เบลารา) | Abbott |
B-Lady (บี-เลดี้) | DKT Healthcare |
Ciclomex-20 (ไซโคลเม็กซ์-20) | Sinensix Pharma |
Cilest (ซิลเลส) | Janssen-Cilag |
Climara 50 (ไคลมารา 50) | Bayer HealthCare Pharma |
Climen 28 (ไคลเมน 28) | Bayer HealthCare Pharma |
Cyclo Progynova (ไซโคล โพรจีโนวา) | Bayer HealthCare Pharma |
Cypress (ไซเพรส) | Famy Care |
Dafne 35 (แดฟนี 35) | Recalcine |
Daisy (เดย์ซี่) | Famy Care |
Diane-35 (ไอแอน-35) | Bayer HealthCare Pharma |
Dior 21 (ดิออร์ 21) | Thai Nakorn Patana |
Dior 28 (ดิออร์ 28) | Thai Nakorn Patana |
Divigel (ดิวิเจล) | Orion |
Duoton Fort T P (ดูโอตัน ฟอร์ท ทีพี) | T P Drug |
Ediol (อีดิออล) | Synmosa |
Femine 30 (เฟมิเน 30) | Millimed |
Femoston 1/10 (เฟมอสตัน 1/10) | Abbott |
Femoston Conti (เฟมอสตัน คอนติ) | Abbott |
Gynera/Gynera ED (กายเนรา/กายเนรา อีดี) | Bayer HealthCare Pharma |
Helen (เฮเลน) | Masa Lab |
Jeny-FMP (เจนี่ เอฟเอ็มพี) | Thai Nakorn Patana |
Lady-E35 (เลดี้-อี 35) | Masa Lab |
Lindynette 20/Lindynette 30 (ลินดิเนท 20/ลินดิเนท 30) | Gedeon Richter |
Marvelon 21/Marvelon 28 (มาร์วีลอน 21/มาร์วีลอน 28) | MSD |
Meliane/Meliane ED (เมลิแอน/เมลิแอน อีดี) | Bayer HealthCare Pharma |
Mercilon 21/Mercilon 28 (เมอร์ซิลอน 21/เมอร์ซิลอน 28) | MSD |
Microgynon 30 ED (ไมโครกายนอน 30 อีดี) | Bayer HealthCare Pharma |
Nordette-21 (นอร์เดท-21) | Pfizer |
Oestradiol Benzoate March (โอเอสตร้าไดออล เบนโซเอท มาร์ท) | March Pharma |
Oestrogel (โอเอสโตรเจล) | Besins Healthcare |
Oilezz (ออยเลซ) | Aspen Pharmacare |
Phenokinon-F Injection (เฟโนคินอน-เอฟ อินเจ็คชั่น) | Vesco Pharma |
Postmenop (โพสเมนอพ) | Recalcine |
Preme (พรีม) | Thai Nakorn Patana |
Sucee (ซูซี่) | Biolab |
Triquilar ED (ไตรควิลาร์ อีดี) | Bayer HealthCare Pharma |
Yasmin (ยาสมิน) | Bayer HealthCare Pharma |
Yaz (ยาซ) | Bayer HealthCare Pharma |
บรรณานุกรม
1 http://en.wikipedia.org/wiki/Estradiol [2020,Oct31]
2 http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=estradiol&page=0[2020,Oct31]
3 https://www.drugs.com/drug-interactions/estradiol.html [2020,Oct31]
4 https://www.drugs.com/estradiol.html[2020,Oct31]
6 http://www.webmd.com/drugs/2/drug-5186/estradiol-oral/details/list-contraindications[2020,Oct31]
7 http://www.drugs.com/breastfeeding/ethinyl-estradiol.html [2020,Oct31]