เอสซิตาโลแพรม (Escitalopram)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเอสซิตาโลแพรม(Escitalopram) จัดอยู่ในกลุ่มยา Selective serotonin reuptake inhibitor/ SSRI เริ่มนำมาใช้ทางคลินิกในปี ค.ศ.2002 (พ.ศ.2545) เพื่อใช้รักษา โรคซึมเศร้า(Antidepressant) รูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาชนิดรับประทานโดยผู้ป่วย ต้องรับประทานยาสม่ำเสมอตามคำสั่งแพทย์ ภายในสัปดาห์แรกระดับยาที่สะสมใน ร่างกายจะออกฤทธิ์บรรเทาอาการซึมเศร้าได้ตามลำดับ

ประมาณ 80% ของยาเอสซิตาโลแพรมที่รับประทานเข้าไป จะกระจายไปตามกระแสเลือด เอนไซม์จากตับจะคอยทำลายและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของยานี้อย่างต่อเนื่อง ร่างกายต้องใช้เวลา 27–32 ชั่วโมงเพื่อขับยานี้ทิ้งไปกับปัสสาวะ

ผลข้างเคียงที่พบเห็นได้บ่อยหลังการใช้ยาเอสซิตาโลแพรม เช่น สมรรถนะทางเพศถดถอยลง นอกจากนี้การหยุดยานี้อย่างกะทันหันสามารถทำให้เกิดภาวะถอนยาตามมา โดยผู้ป่วยอาจมีการรับรู้หรือสัมผัสของร่างกายที่เปลี่ยนไป เช่น เกิดความรู้สึกเหมือนโดนไฟฟ้าช็อต, วิงเวียนศีรษะ, รู้สึกซึมเศร้าอย่างเฉียบพลัน, เป็นต้น

*การใช้ยาเอสซิตาโลแพรมกับสตรีมีครรภ์เป็นเรื่องที่ต้องหลีกเลี่ยง ด้วยยาชนิดนี้อาจทำให้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด ประกอบกับน้ำหนักตัวของทารกลดลง

*อีกประการสำคัญ การรับประทานยาเอสซิตาโลแพรมเกินขนาด สามารถส่งผลเสียต่อร่างกายได้มากมาย อาทิ

  • มีอาการหัวใจเต้นเร็ว
  • การเคลื่อนไหวของร่างกายทำได้ช้า
  • กล้ามเนื้อตึงตัวมากหรือมีการกระตุกของกล้ามเนื้อ

และ กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคตับ หรือผู้ป่วยสูงอายุ จะเสี่ยงต่อภาวะยาเอสซิตาโลแพรมเกินขนาดมากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ

ในประเทศไทยทาง อย.ได้กำหนดให้ยาเอสซิตาโลแพรมอยู่ในหมวด ยาอันตราย และ ยาควบคุมพิเศษ มีวางจำหน่ายในหลายชื่อการค้า เช่นยา Esidep, Esopam, Jovia 20, หรือ Lexapro และมักจะพบเห็นการใช้ยาเอสซิตาโลแพรมตามสถานพยาบาลที่เปิดบริการรักษาอาการทางจิตประสาทเท่านั้น

เอสซิตาโลแพรมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เอสซิตาโลแพรม

ยาเอสซิตาโลแพรมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดอาการซึมเศร้า (Treatment of depression)
  • บำบัดอาการวิตกกังวล (Treatment of generalized anxiety disorder)

เอสซิตาโลแพรมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ตัวยาเอสซิตาโลแพรม มีกลไกออกฤทธิ์ปิดกั้นการดูดเก็บกลับของสารสื่อประสาท ที่มีชื่อว่า เซโรโทนิน (Serotonin ย่อว่า 5-HT) ทำให้ปริมาณเซโรโทนินในสมองมีปริมาณเพิ่มขึ้นในระดับที่เป็นปกติ นักวิทยาศาสตร์พบว่าสารสื่อเซโรโทนินจะช่วยส่งเสริม ให้สภาพความรู้สึกทางอารมณ์ของมนุษย์เป็นไปอย่างปกติ และทำให้อาการซึมเศร้า หรืออาการวิตกกังวล ดีขึ้นตามสรรพคุณ

เอสซิตาโลแพรมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเอสซิตาโลแพรมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Escitalopram 10 และ 20 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาน้ำชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Escitalopram 1 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

เอสซิตาโลแพรมมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเอสซิตาโลแพรมมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. สำหรับบำบัดอาการซึมเศร้า: เช่น

  • วัยรุ่น: รับประทานยา 10 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 3 สัปดาห์ แพทย์อาจจะปรับขนาดรับประทานเป็น 20 มิลลิกรัม/วัน
  • ผู้ใหญ่:รับประทานยา 10 มิลลิกรัม วันละครั้ง หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็น 20 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนด้าน ประสิทธิผล ความปลอดภัย ผลข้างเคียง และขนาดยานี้ในเด็ก

ข. สำหรับบำบัดอาการวิตกกังวล: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาเริ่มต้น 10 มิลลิกรัม/วัน หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็น 20 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนด้าน ประสิทธิผล ความปลอดภัย ผลข้างเคียง และขนาดยานี้ในเด็ก

อนึ่ง:

  • ทั่วไป แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาประเมินผลการรักษาหลังจากใช้ยานี้ต่อเนื่อง 8 สัปดาห์ขึ้นไป ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้ง
  • ขนาดรับประทานยานี้ในผู้ป่วยโรคตับไม่ควรเกิน 10 มิลลิกรัม/วัน
  • กรณีผู้ป่วยโรคไตระยะรุนแรง แพทย์จำเป็นต้องปรับขนาดรับประทานตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละบุคคล
  • ผู้ป่วยอาจต้องใช้ยานี้เป็นเวลาหลายเดือน และการหยุดใช้ยานี้ ต้องให้แพทย์ เป็นผู้กำหนดเท่านั้น
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับยากลุ่ม MAOI (ผู้ป่วยต้องหยุดการใช้ MAOI ไปแล้วอย่างน้อย 14 วัน จึงหันมาใช้ยาเอสซิตาโลแพรมได้)

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเอสซิตาโลแพรม ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่น/หายใจติดขัด/ หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคไต โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเอสซิตาโลแพรมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

กรณีลืมรับประทานยาเอสซิตาโลแพรม สามารถรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติเท่านั้น

เอสซิตาโลแพรมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเอสซิตาโลแพรม สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปากคอแห้ง ท้องเสีย คลื่นไส้ ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย อาเจียน ปวดฟัน ท้องอืด ลำไส้อักเสบ และ/หรือ กระเพาะอาหารอักเสบ ถ่ายอุจจาระบ่อย ลำไส้แปรปรวน (IBS)
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีกลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome) ปวดศีรษะ/ ปวดหัว วิงเวียน ง่วงนอน สั่น ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน เกิดโรคทางเส้นประสาท มีแผลบริเวณรากประสาท
  • ผลต่อสภาพทางจิตใจ: เช่น อาจมีอาการวิตกกังวลหรือซึมเศร้าเพิ่มขึ้น นอนไม่หลับ ฝันร้าย กระสับกระส่าย
  • ผลต่อทางเดินสืบพันธุ์: เช่น เกิดถุงน้ำรังไข่ มีเลือดออกบริเวณช่องคลอด สมรรถภาพทางเพศในชายเสื่อม
  • ผลต่อการเกิดมะเร็ง: ผลยังไม่ชัดเจน
  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค: เช่น มีกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่, ติดเชื้อต่างๆง่ายขึ้น, เกิดงูสวัด, ติดเชื้อวัณโรค
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดข้อ ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดคอ ปวดบ่า/ ปวดไหล่ ปวดขา กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อหดเกร็งตัว เกิดตระคิวที่ขา กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต เอ็นอักเสบ มีอาการกล้ามเนื้อกระตุก
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น เกิดภาวะฮอร์โมนโปรแลกตินในเลือดสูง (Hyperprolactinemia)
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น โรคไขมันในเลือดสูง น้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำ ระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เจ็บคอ-คออักเสบ ไซนัสอักเสบ ไอ ปอดบวม นอนกรน ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการหายใจไม่ออกหรือเกิดหอบหืด โรคติดเชื้อ ทางเดินหายใจ ความดันหลอดเลือดปอดสูงขึ้น
  • ผลต่อไต: เช่น ไตอักเสบ กรวยไตอักเสบ เกิดนิ่วในไต ไตวายเฉียบพลัน
  • ผลต่อตา: เช่น การมองเห็นภาพผิดปกติ ปวดตา ระคายตา รูม่านตาขยาย เลือดออกในตา ตาแห้ง ตาพร่า
  • ผลต่อตับ: เช่น ตับทำงานผิดปกติ/ ตับอักเสบ ตับวาย เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำหรือความดันโลหิตสูง แน่นหน้าอก ชีพจรเต้นผิดปกติ คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นช้าหรือหัวใจเต้นเร็ว บวมน้ำ หลอดเลือดขอด
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เลือดจาง /โรคซีด เกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวต่ำ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดสิว ผมร่วง ผิวแห้ง ลมพิษ Stevens Johnson syndrome

มีข้อควรระวังการใช้เอสซิตาโลแพรมอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเอสซิตาโลแพรม เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก การใช้ยากับผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานโดยไม่ขอคำปรึกษาจากแพทย์ก่อน
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต
  • การรับประทานยาเอสซิตาโลแพรมร่วมกับยาใดๆควรปรึกษาแพทย์/เภสัชกรก่อนเสมอ
  • หลังรับประทานยานี้แล้วมีอาการวิงเวียนศีรษะ ห้ามขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆ รวมถึงการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรทุกชนิด เพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • หากพบอาการข้างเคียงที่รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น ท้องเสียบ่อยครั้ง วิงเวียนศีรษะมากให้รีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้ยาของ แพทย์ เภสัชกร พยาบาล อย่างเคร่งครัด และควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเอสซิตาโลแพรมด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เอสซิตาโลแพรมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเอสซิตาโลแพรมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาเอสซิตาโลแพรม ร่วมกับ ยาNortriptyline ด้วยจะทำให้เกิด กลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome) ตามมา
  • ห้ามใช้ยาเอสซิตาโลแพรม ร่วมกับยา Mifepristone, Norfloxacin เพราะเสี่ยงต่อ การมีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเอสซิตาโลแพรม ร่วมกับ ยาBupropion เพราะจะทำให้ระดับยาเอสซิตาโลแพรมในเลือดเพิ่มขึ้นจนเกิดความเสี่ยงต่อการได้รับอาการข้างเคียง ตามมา
  • ห้ามใช้ยาเอสซิตาโลแพรม ร่วมกับยา Amphetamine ด้วยจะทำให้ร่างกายได้รับผลข้างเคียงจากยาAmphetamine เพิ่มมากขึ้น

ควรเก็บรักษาเอสซิตาโลแพรมอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาเอสซิตาโลแพรม เช่น

  • สามารถเก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาที่หมดอายุ
  • ไม่ทิ้งยาลงในแม่น้ำคูคลองตามธรรมชาติ

เอสซิตาโลแพรมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยา เอสซิตาโลแพรม มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น ชื่อการค้า

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Escitalopram Sandoz (เอสซิตาโลแพรม แซนดอส)Sandoz
Esidep (อีไซเดป)Ranbaxy
Esopam (เอสโซแพม)Unison
Jovia 20 (โจเวีย 20) Great Eastern Drug
Lexapro (เลกซาโปร)Lundbeck

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Escitalopram#Depression [2019,Nov2]
  2. https://www.drugs.com/escitalopram.html [2019,Nov2]
  3. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2017/021323s047lbl.pdf [2019,Nov2]
  4. https://www.mims.com/thailand/drug/search?q=escitalopram[2019,Nov2]
  5. https://www.healthline.com/health/mental-health/serotonin#mental-health[2019,Nov2]