เอมิลเมตาครีซอล (Amylmetacresol)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเอมิลเมตาครีซอล (Amylmetacresol ย่อว่า AMC) จัดเป็นอนุพันธุ์ของ M-cresol(สารประกอบเคมีในกลุ่ม Phenol กลุ่มที่นำมาใช้เป็นยาฆ่าแมลง และน้ำยาฆ่าเชื้อ) มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อโรค นักวิทยาศาสตร์ได้นำสารประกอบชนิดนี้ไปผสมเป็นสูตรตำรับยาอมแก้เจ็บคอ บรรเทาอาการแผลในช่องปาก โดยมียาฆ่าเชื้อชนิดอื่นผสมอยู่ด้วย อย่างเช่น Dichlorobenzyl alcohol รวมถึงยาชาอย่าง Lignocaine HCl/hydrochloride (Lidocaine) และ Vitamin C

อย่างไรก็ตามยาเอมิลเมตาครีซอลในรูปแบบยาอมมีข้อบ่งใช้เพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอที่อาการไม่รุนแรง และใช้ยานี้ในระยะสั้นๆเท่านั้น ไม่แนะนำให้ใช้เป็นยารักษาอาการเจ็บคอแบบรุนแรงหรือใช้เป็นระยะเวลานานๆ

ยาอมเอมิลเมตาครีซอลสามารถใช้กับ ผู้ใหญ่ ผู้สูงวัย และเด็กตั้งแต่อายุ6-12 ปีขึ้นไป โดยทั่วไป การใช้ยาอมประเภทนี้ให้อมยา 1 เม็ด ทุก 2 ชั่วโมง และวันหนึ่งห้ามอมยาอมชนิดนี้เกิน 8 เม็ด/วัน

*กรณีที่ได้รับยาเอมิลเมตาครีซอลเกินขนาด ต้องรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที ซึ่งแพทย์จะให้การรักษาตามอาการผู้ป่วย โดยอาจใช้วิธีล้างท้องหรือใช้ยาระบาย และยาถ่านกัมมันต์ เพื่อกำจัดและลดพิษของตัวยาเอมิลเมตาครีซอลที่อยู่ในกระเพาะอาหารและในลำไส้

ข้อจำกัดและข้อห้ามที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบก่อนการใช้ยาเอมิลเมตาครีซอล เช่น

  • มีประวัติแพ้ยานี้มาก่อน
  • สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการใช้ยาทุกประเภทซึ่งรวมยาเอมิลเมตาครีซอลด้วย ที่จะเกิดผลข้างเคียงรุนแรงจากยาได้

คณะกรรมการอาหารและยาได้ระบุให้ยาอมเอมิลเมตาครีซอลอยู่ในหมวดยาอันตราย เราสามารถพบเห็นการใช้ยาชนิดนี้ในรูปแบบยาอมแก้เจ็บคอ โดยถูกจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า “Strepsils และ Throatsil”

 

เอมิลเมตาครีซอลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เอมิลเมตาครีซอล

ยาเอมิลเมตาครีซอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้เป็นยาบรรเทาอาการเจ็บคอ มีแผลในช่องปาก โดยต้องมีระยะเวลาการใช้ยาเพียงช่วงสั้นๆ

เอมิลเมตาครีซอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเอมิลเมตาครีซอล มีกลไกการออกฤทธิ์ต้านเชื้อโรคได้เล็กน้อย จึงช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอซึ่งมีสาเหตุจากการติดเชื้อชนิดที่สร้างความรุนแรงน้อยต่อร่างกาย

 

เอมิลเมตาครีซอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเอมิลเมตาครีซอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาเม็ดอมที่มีส่วนประกอบของตัวยาดังต่อไปนี้ เช่น

  • Amylmetacresol 0.6 + Dichlorobenzyl alcohol 1.2 มิลลิกรัม /เม็ด
  • Amylmetacresol 0.6 + Dichlorobenzyl alcohol 1.2 มิลลิกรัม + Vitamin C 100 มิลลิกรัม/เม็ด
  • Amylmetacresol 0.6 + Dichlorobenzyl alcohol 1.2 มิลลิกรัม + Lignocaine HCl 10 มิลลิกรัม/เม็ด

 

เอมิลเมตาครีซอลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาเอมิลเมตาครีซอลมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

  • ผู้ใหญ่: อมยาครั้งละ 1 เม็ด ทุกๆ 2–3 ชั่วโมง และผู้ใหญ่ห้ามใช้ยาอมนี้เกิน 8 เม็ด/วัน
  • เด็กอายุ 6-12 ปี: อมยาครั้งละ 1 เม็ด ทุกๆ 2–3 ชั่วโมง และเด็กห้ามใช้ยาอมเกิน 4 เม็ด/วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี: ห้ามใช้ยานี้

*อนึ่ง: ควรอมยาเม็ดอมนี้ให้ละลายในปากอย่างช้าๆ และห้ามเคี้ยวยาเม็ดอมนี้ *****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

 

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเอมิลเมตาครีซอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเอมิลเมตาครีซอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

กรณีมีอาการเจ็บคอที่ไม่รุนแรงมากนัก และลืมอมยาเอมิลเมตาครีซอล ก็ไม่น่าส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยมากเท่าใดนัก และสามารถใช้ยาเอมิลเมตาครีซอลทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการอมยาเอมิลเมตาครีซอลในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้อมยาขนาดปกติ

 

เอมิลเมตาครีซอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเอมิลเมตาครีซอล อาจทำให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)โดยทำให้เกิด แผลที่ลิ้น หรืออาจทำให้ผู้ป่วยแพ้ยาชนิดนี้ ซึ่งสามารถสังเกตจากหลังใช้ยานี้ จะเกิดอาการหายใจขัด/หายใจลำบาก หรือใบหน้าบวม เป็นต้น

 

มีข้อควรระวังการใช้เอมิลเมตาครีซอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเอมิลเมตาครีซอล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง และใช้ยานี้ตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกร หรือตามเอกสารกำกับยา
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สีและ/หรือกลิ่นยาเปลี่ยนไป
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และ เด็กเล็ก/เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี
  • กรณีที่ใช้ยานี้แล้วอาการเจ็บคอไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน หรือมีอาการเจ็บคอมากขึ้น ควรต้องรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล
  • การได้รับยานี้เกินขนาด จะทำให้มีอาการ คลื่นไส้ และวิงเวียน หากพบอาการเหล่านี้หลังใช้ยานี้ ต้องรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที
  • ห้ามใช้ยาหมดายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเอมิลเมตาครีซอลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

 

เอมิลเมตาครีซอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ด้วยยาเอมิลเมตาครีซอลที่อยู่ในรูปแบบของยาเม็ดอมแก้เจ็บคอ มีระยะเวลาของการใช้ยาเพียงช่วงสั้นๆ ข้อมูลการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานตัวอื่นๆจึงมีน้อยมาก

อย่างไรก็ตาม กรณีใช้ยาอมเอมิลเมตาครีซอลร่วมกับยาอื่นใดแล้วเกิดอาการผิดปกติ หรือมีอาการข้างเคียงมากขึ้น ให้หยุดการใช้ยาเอมิลเมตาครีซอล แล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล ทันที

 

ควรเก็บรักษาเอมิลเมตาครีซอลอย่างไร?

ควรเก็บยาเอมิลเมตาครีซอลภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

เอมิลเมตาครีซอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเอมิลเมตาครีซอล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Strepsils (สเตร็ปซิล) Reckitt Benckiser
Strepsils Maxipluzz (สเตร็ปซิล แมกซิพลัส) Reckitt Benckiser
Strepsils War Ginger (สเตร็ปซิล วาร์ จินเจอร์) Reckitt Benckiser
Throatsil (โทรทซิล) Millimed
Throatsil Herbaline (โทรทซิล เฮอร์บาไลน์) Millimed
Throatsil Plus (โทรทซิล พลัส) Millimed

 

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Cepacol, Gorpils, Lorsept

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Amylmetacresol[2017,July15]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/amylmetacresol/?type=brief&mtype=generic[2017,July15]
  3. http://www.netdoctor.co.uk/medicines/aches-and-pains/a7574/strepsils-original-lozenges/[2017,July15]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/strepsils[2017,July15]