เอฟฟาไวเร็นซ์ (Efavirenz)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเอฟฟาไวเร็นซ์ (Efavirenz หรือ ย่อว่า EFV/อีเอฟวี) เป็นยาต้านรีโทรไวรัส (Antiretroviral agent) ซึ่งรีโทรไวรัสในที่นี้หมายถึง เชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) โดยตัวยามีกลไกออกฤทธิ์ยับยั้งกระ บวนการเชื่อมต่อดีเอ็นเอ (DNA) ของรีโทรไวรัส ด้วยการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์รีเวิร์สทราน สคริปเตส (Reverse Transcriptase enzyme) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ช่วยเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมของ ไวรัสจากอาร์เอ็นเอ (RNA) ไปเป็นดีเอ็นเอ (DNA) เพื่ออาศัยในโครโมโซมของเจ้าบ้าน (Host หมาย ถึง มนุษย์) ที่มีสารพันธุกรรมเป็นดีเอ็นเอได้ ส่งผลทำให้กระบวนการสังเคราะห์ดีเอ็นเอ (DNA) ของ รีโทรไวรัสหยุดชะงัก ทำให้ปริมาณรีโทรไวรัสในร่างกายลดลง

ยาเอฟฟาไวเร็นซ์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

เอฟฟาไวเร็นซ์

ยาเอฟฟาไวเร็นซ์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ สำหรับรักษาการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) โดยใช้ร่วมกับ ยาต้านรีโทรไวรัสชนิดอื่นอีก 2 ชนิด เช่น สตาวูดีน (Stavudine) หรือ ซิโดวูดีน (Zidovudine) และลามิวูดีน (Lamivudine)

ยาเอฟฟาไวเร็นซ์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

เอฟฟาไวเร็นซ์ จัดเป็นยาต้านรีโทรไวรัสกลุ่ม Non-Nucleoside Analog Reverse Transcrip tase Inhibitors (NNRTIs) โดยยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทํางานของเอนไซม์รีเวิร์สทรานสคริปเตส(Reverse Transcriptase enzyme) ซึ่งเอนไซม์ดังกล่าวมีหน้าที่ช่วยสร้างดีเอ็นเอจากอาร์เอ็นเอของรีโทรไวรัสเพื่อให้ไวรัสมีดีเอ็นเอสำหรับเพิ่มจำนวนในเซลล์เจ้าบ้านที่มีสารพันธุกรรมเป็นดีเอ็นเอได้

เมื่อยาเอฟฟาไวเร็นซ์ (Efavirenz) เข้าสู่ร่างกาย ตัวยาจะถูกเปลี่ยนแปลงภายในร่างกาย ทำ ให้มีฤทธิ์ต้านรีโทรไวรัส โดยออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์รีเวิร์สทรานสคริปเตสของรีโทรไวรัส จึงส่งผลทำให้การเชื่อมต่อสายเกลียวดีเอ็นเอของไวรัสหยุดชะงัก เชื้อไวรัสจึงไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้

ยาเอฟฟาไวเร็นซ์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบที่มีจำหน่ายของยาเอฟฟาไวเร็นซ์ มีรูปแบบทางเภสัชภัณฑ์ เช่น เป็นยาเดี่ยวในรูปแบบยาเม็ดขนาด 50, 200, 600 มิลลิกรัม

นอกจากนี้ ยังมียาสูตรผสมระหว่างยาเอฟฟาไวเร็นซ์กับยาต้านรีโทรไวรัสชนิดอื่น เช่น อะทริปลา (Atripla®) เป็นยาต้านเอชไอวีสูตรผสม ใน 1 เม็ด ประกอบด้วย ยาเอฟฟาไวเร็นซ์ 600 มิลลิกรัม, เอ็มตริไซตาบีน (Emtricitabine) 200 มิลลิกรัม และทีโนโฟเวียร์ (Tenofovir) 300 มิลลิกรัม

ยาเอฟฟาไวเร็นซ์มีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?

ยาเอฟฟาไวเร็นซ์มีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาสำหรับการรักษาติดเชื้อเอชไอวี เช่น

ก. ขนาดยาและการปรับขนาดยาสำหรับเด็ก: เช่น

  • ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 3 ขวบ หรือมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 10 กิโลกรัม
  • ขนาดยาในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 3 ขวบขึ้นไป: เช่น
น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) ขนาดยาเอฟฟาไวเร็นซ์ (มิลลิกรัม)
10 น้อยกว่า/เท่ากับ 15 200 วันละ 1 ครั้ง
15 น้อยกว่า/เท่ากับ 20 250 วันละ 1 ครั้ง
20 น้อยกว่า/เท่ากับ 25 300 วันละ 1 ครั้ง
25 น้อยกว่า/เท่ากับ 32.5 350 วันละ 1 ครั้ง
32.5 น้อยกว่า/เท่ากับ 40 400 วันละ 1 ครั้ง
มากกว่า 40 600 วันละ 1 ครั้ง

อนึ่ง:

a) เด็กที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 40 กิโลกรัมขึ้นไป ควรรับประทานยาขนาด 600 มิลลิกรัมต่อ 1 วันเท่ากับในผู้ใหญ่

b) เพื่อลดอาการข้างเคียงจากยาที่มีผลต่อระบบประสาท แนะนำให้รับประทานยาช่วงก่อนนอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเริ่มรับประทานยา โดยหลังจากนั้นแล้วประมาน 2 - 4 สัปดาห์ อาการข้างเคียงต่างๆจะค่อยๆทุเลา

c) ในเด็ก การจะรับประทานยานี้ควบคู่กับยาต้านไวรัสเอชไอวีตัวอื่น ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

ข. ขนาดยาและการปรับขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่: เช่น

  • ทั่วไปคือ 600 มิลลิกรัมวันละ 1 ครั้ง โดยรับประทานคู่กับยาต้านรีโทรไวรัสชนิดอื่นอีก 2 ชนิด เช่น เอ็มตริไซตาบีนและทีโนโฟเวียร์ (ซึ่งเป็นสูตรยาที่จากการศึกษาให้ผลดีกว่าการรับประทาน ยาเดี่ยว) และเพื่อลดอาการข้างเคียงจากยาที่มีผลต่อระบบประสาท แนะนำให้รับประทานยาช่วงก่อนนอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเริ่มรับประทานยา โดยหลังจากนั้นแล้วประมาน 2 - 4 สัปดาห์ อาการข้างเคียงต่างๆจะค่อยๆทุเลาลง

*อนึ่ง : ทั้งในผู้ป่วยเด็กและในผู้ป่วยผู้ใหญ่: เช่น

  • ขนาดยากรณีใช้ร่วมกับยาไรแฟมปิน (Rifampin: ยาต้านแบคทีเรีย, ยาต้านวัณโรค): เพิ่มขนาดยาเอฟฟาไวเร็นซ์เป็น 800 มิลลิกรัมวันละ 1 ครั้ง (เพิ่มขนาดยาเฉพาะในผู้ป่วยที่มีน้ำหนักมาก กว่า 50 กิโลกรัม หากน้ำหนักน้อยกว่าเท่ากับ 50 กิโลกรัมไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดยา)
  • ขนาดยากรณีใช้ร่วมกับยาโวลิโคนาโซล (Voriconazole: ยาต้านเชื้อรา): ลดขนาดยาเอฟฟาไวเร็นซ์เป็น 300 มิลลิกรัมวันละ 1 ครั้ง และเพิ่มขนาดยาโวลิโคนาโซลเป็น 400 มิลลิกรัมทุก 12 ชั่วโมง
  • ขนาดยาในผู้ป่วยไตบกพร่อง: ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยา
  • ขนาดยาในผู้ป่วยตับบกพร่อง: ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยา แต่เนื่องจากข้อมูลการศึกษายังน้อยอยู่ จึงแนะนำให้ใช้ยานี้อย่างระมัดระวังในผู้ป่วยที่มีตับบกพร่องระดับไม่รุนแรง (ประเมินความรุน แรงได้ Child-Pugh score class A), และควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีภาวะตับบกพร่องปานกลางถึงรุนแรง (ประเมินได้ Child-Pugh score class B หรือ C)
    • Child-Pugh score คือ วิธีประเมินความรุนแรงการทำงานของตับโดยดูจากผลเลือดร่วมกับ อาการทางคลินิกของโรคตับ ซึ่งแบ่งความรุนแรงเป็น 3 ระดับ/Class จากน้อยไปหามาก คือ A, B,และ C

***** หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาเอฟฟาไวเร็นซ์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร เช่น

  • ประวัติการแพ้ต่างๆ เช่น แพ้ยา แพ้อาหาร แพ้สารเคมีทุกชนิด
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเอฟฟาไวเร็นซ์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาเอฟฟาไวเร็นซ์สามารถผ่านรกและน้ำนมได้ ซึ่งอาจทำให้ยาเข้าสู่ตัวทารกและก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
  • อาชีพและช่วงเวลาการทำงาน เนื่องจากผู้ป่วยมักได้รับคำแนะนำให้รับประทานยาเอฟฟาไวเร็นซ์ในช่วงเวลาก่อนนอนหรือช่วงกลางคืนขณะท้องว่าง เพื่อลดผลข้างเคียงของยา ดังนั้นหากผู้ ป่วยมีอาชีพที่ต้องทำงานช่วงกลางคืน อาจจำเป็นต้องปรับเวลาการรับประทานยาเป็นช่วงก่อนเวลา พักผ่อนและท้องว่าง
  • แจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากช่วงที่ผ่านมาลืมกินยา/ไม่ได้รับยา หรือมีเหตุทำให้ไม่สา มารถรับประทานยาได้อย่างสม่ำเสมอทุกวันได้ เนื่องจากยาเอฟฟาไวเร็นซ์เป็นยาจำเป็นที่ต้องรับประ ทานอย่างสม่ำเสมอและตรงเวลาอย่างเคร่งครัดทุกวัน

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

สำหรับการรักษาการติดเชื้อเอชไอวีด้วยยาเอฟฟาไวเร็นซ์นั้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาให้ตรงเวลาทุกวันอย่างเคร่งครัด รับประทานยาวันละ 1 ครั้ง โดยแนะนำให้รับประทานยาขณะท้องว่างซึ่งเวลาที่เหมาสมที่สุดคือ ช่วงก่อนนอน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ท้องว่าง และยามีผลข้างเคียงที่ส่งผลต่อระบบประสาท (รู้สึกมึนงง, ปวดศีรษะ, ง่วงนอน) จึงเหมาะกับการรับประทานยาในช่วงก่อนนอนและท้องว่าง อีกทั้งยังพบว่าอาหารประเภทไขมันสูงสามารถเพิ่มผลข้างเคียงจากยาได้ เพราะอาหารไขมันสูงจะเพิ่มการดูดซึมยาเอฟฟาไวเร็นซ์

โดยทั่วไปแล้วยาเอฟฟาไวเร็นซ์จะรับประทานเพียงวันละ 1 ครั้ง ดังนั้นเพื่อให้ระดับยาในร่าง กายคงที่ และสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรีโทรไวรัสอย่างมีประสิทธิภาพ จึงควรรับประ ทานยาในเวลาเดียวกันของทุกวัน

กรณีลืมรับประทานยา ให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยามื้อถัดไป (วันถัดไป, ลืมเกิน 12 ชั่วโมง) ให้รอรับประทานยามื้อถัดไปเลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า เช่น ปกติรับประทานยาเวลา 20.00 น. แล้วลืมรับประทาน หากนึกขึ้นได้ตอนเวลา 7.00 น. ของวันถัดมา (ลืมรับประทานยามื้อ 20.00น. ลืมน้อยกว่า 12 ชั่วโมง) ให้รับประทานยามื้อ 20.00 น.ที่ลืมนั้นทันที (และรับประทานมื้อต่อๆไปตามปกติ) แต่หากนึกขึ้นได้ในช่วงที่ใกล้กับช่วง เวลาของยามื้อถัดไป (หมายถึงเกินกว่า 12 ชั่วโมงจากเวลารับประทานยาปกติ) ให้รอรับประทานในมื้อถัดไปในขนาดยาปกติและช่วงเวลาเดิมได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

การรับประทานยาเกินขนาดโดยอุบัติเหตุ พบว่า ทำให้เกิดอาการต่อระบบประสาท และอาจทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็ง และยังไม่มียาต้านพิษที่จำเพาะเจาะจงสำหรับยาเอฟฟาไวเร็นซ์ ซึ่งอาจพิจารณาให้ถ่านกัมมันต์ (Activated charcoal) เพื่อช่วยกำจัดยาที่เหลืออยู่ที่ยังไม่ถูกดูดซึม อีกทั้งยาเอฟฟาไวเร็นซ์สามารถจับกับโปรตีนในร่างกายได้ดี การฟอกไตเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดจึงไม่มีประสิทธิภาพ การรักษาจึงควรตรวจสัญญาณชีพ และให้การรักษาตามอาการทางคลินิกของผู้ป่วย (การรักษาประคับประคองตามอาการ)

อย่างไรก็ตาม การรับประทานยาต้านรีโทรไวรัสที่ไม่สม่ำเสมอ จะทำให้ระดับยาในเลือด/กระ แสโลหิตอยู่ในระดับสูงบ้างต่ำบ้าง ซึ่งช่วงที่ระดับยามีขนาดต่ำ เสมือนเป็นการกระตุ้นให้เชื้อไวรัสเกิดการกลายพันธุ์เป็นสาเหตุของการดื้อยาในเวลาต่อมา

ยาเอฟฟาไวเร็นซ มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผลไม่พึงประสงค์จากยา/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง) ของยาเอฟฟาไวเร็นซ์ที่พบได้บ่อย เช่น อาการข้างเคียงต่อจิตประสาทอย่างรุนแรง ซึ่งรวมถึงอาการเครียดอย่างรุนแรง อาจมีความคิดหรือพยายามฆ่าตัวตาย มีอารมณ์ก้าวร้าว มีอาการวิตกกังวล และเกิดอาการคลั่ง ผู้ป่วยที่มีอาการป่วยทาง จิตย่อมมีความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงของยาสูงกว่าปกติ ในผู้ป่วยที่เกิดอาการข้างเคียงต่อจิตประสาทอย่างรุนแรง ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที

นอกจากนี้ ยานี้ยังมีผลต่อระบบประสาท เช่น อาการวิงเวียน นอนไม่หลับ สมาธิสั้น มีอาการ ง่วงซึม ฝันร้าย และประสาทหลอน อาการมักเกิดขึ้นในช่วงแรกหลังเริ่มใช้ยา และจะทุเลาลงใน 2 - 4 สัปดาห์

ผู้ป่วยที่มีประวัติโรคลมชักควรระวังการใช้ยานี้ และหากกำลังใช้ยากันชัก เช่น ฟีนีทอย (Pheny toin), คาร์บามาซีปีน (Carbamazepine), ฟีโนบาร์บีทาล (Phenobarbital) ร่วมกับยาเอฟฟาไวเร็นซ์ อาจพิจารณาตรวจวัดระดับยากันชักร่วมด้วย เพราะยานี้อาจทำให้ระดับยากันชักในเลือดสูงขึ้นหรือต่ำลงก็ได้

อาการผื่นที่ผิวหนัง: โดยอาจมีผื่นพุพอง และอาจทำให้ผิวหนังแห้งเป็นสีคล้ำเกิดรอยแตก และ ยังมีรายงานการเกิดผื่นลักษณะอาการของสตีเวนส์ จอห์นสัน ซินโดรม (Stevens Johnson Syndrome) ได้ ฉะนั้นหากใช้ยาเอฟฟาไวเร็นซ์แล้วเกิดผื่นที่ผิวหนัง ควรรีบปรึกษาแพทย์/รีบไปโรงพยาบาล

นอกจากนี้ ยังพบความผิดปกติในการกระจายตัวของมวลไขมันในร่างกาย เช่น อาจพบไขมันพอกตัวผิดปกติ โดยอาจพบก้อนไขมันพอกตัวเป็นก้อนที่คอด้านหลัง (Buffalo hump), เส้นรอบวงของคอขยายขึ้น 5 - 10 ซม., เต้านมขยายใหญ่ขึ้น, ไขมันสะสมตามอวัยวะภายในช่องท้องมากขึ้นทำให้อ้วนกลางลำตัว ทั้งนี้ทั้งหมดมักเกิดร่วมกับภาวะ/โรคไขมันในเลือดสูง (Hyperlipidemia), ภา วะน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemia)

มีข้อควรระวังการใช้ยาเอฟฟาไวเร็นซ์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเอฟฟาไวเร็นซ์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง
  • ไม่ควรใช้ยาเอฟฟาไวเรนซ์คู่กับยาดังต่อไปนี้ เช่น
    • Astemizole (แอสทีมีโซล: ยาต้านฮิสตามีน )
    • Cisapride (ซีสซาพายด์: ยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของกระเพาอาหารและลำไส)
    • Midazolam (ไมดาโซแลม: ยานอนหลับ)
    • Triazolam (ไตรอะซแลม: ยานอนหลับ)
    • Ergot derivetives/ยาที่มีส่วนผสมของ Ergot เช่น Ergotamine (เออร์โกตามีน: ยารักษาไมเกรน) Ergonovine (เออร์โกโนวีน: ยาเพิ่มการบีบตัวของมดลูก ) Methylergonovine (เมททิวเออร์โกโนวีน: ยาเพิ่มการบีบตัวของมดลูก)

เพราะยาเอฟฟาไวเร็นซ์ จะยับยั้งกระบวนการกำจัดยาดังกล่าวออกจากร่างกาย ส่งผลทำให้เกิดพิษของยาดังกล่าวต่อร่างกาย (เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ, อาการง่วงซึมยาวนาน, กดการหายใจ, เส้นเลือดหดตัวรุนแรง จนอาจทำให้เกิดเนื้อเยื่อต่างๆตายจากขาดเลือดได้)

  • ระมัดระวัง/หลีกเลี่ยงการทำงานที่เสี่ยงอันตราย หากกำลังใช้ยาเอฟฟาไวเร็นซ์อยู่ เช่น การขับรถ การคุมเครื่องจักรอุตสาหกรรม เนื่องจากยานี้ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ส่งผลทำให้เกิดอาการ มึนงง เวียนศีรษะ สมาธิสั้น หรือมีอาการครึ่งหลับครึ่งตื่นได้
  • ระมัดระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีประวัติอาการป่วยทางจิต เนื่องจากจะได้รับผลข้างเคียงจากยานี้สูงกว่าปกติ หากเกิดผลข้างเคียงต่อจิตประสาทรุนแรง ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที และผู้ป่วยควรได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับอาการที่มีต่อจิตประสาทอย่างรุนแรงนั้นว่า อาการจะค่อยๆดีขึ้น โดยจะไม่พัฒนาจนทำให้เกิดอาการทางจิตประสาทถาวร
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเอฟฟาไวเร็นซ์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่ม เติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาเอฟฟาไวเร็นซ์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเอฟฟาไวเร็นซ์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

1. ยาเอฟฟาไวเร็นซ์จะทำให้ระดับยาคลาริโทรไมซิน (Clarithromycin: ยาต้านแบคทีเรีย) ในเลือดลดลง แนะนำเปลี่ยนยาคลาลิโทรไมซินเป็นยาอะซิโทรไมซิน (Azithromycin: ยาต้านแบคที เรียอีกชนิด)

2. ยาเอฟฟาไวเร็นซ์จะทำให้ลดระดับยาเมททาโดน (Methadone: ยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์ /ฝิ่น) ลดลง ซึ่งอาจมีผลทำให้เกิดอาการคล้ายถอนยาฝิ่น ดังนั้นจึงต้องคอยสังเกตอาการถอนยาเมททาโดน เพื่อเพิ่มขนาดยาเมททาโดนเพื่อให้เพียงพอต่อการบรรเทาอาการถอนยา

3. ยาเอฟฟาไวเร็นซ์ลดระดับยาไรฟาบูติน (Rifabutin: ยาต้านแบคทีเรีย) ในเลือด แนะนำเพิ่มขนาดยาไรฟาบูตินขึ้น 50%

4. ยาไรแฟมปิน (Rifampin: ยารักษาวัณโรค) อาจลดระดับยาเอฟฟาไวเร็นซ์ลงได้ แต่ข้อมูลยังไม่แน่ชัด ขนาดของยาทั้ง 2 ชนิดเมื่อใช้ร่วมกันจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์

5. ยาเอฟฟาไวเร็นซ์ที่ใช้คู่กับยาริโทรนาเวียร์ (Ritonavir: ยาต้านเอชอีไอวี) จะเพิ่มผลข้าง เคียงของยาทั้งสองชนิด คือ ชา วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ และอาจทำให้เอนไซม์ตับเพิ่มสูงขึ้นได้ (ตับอักเสบ)

6. ยาเอฟฟาไวเร็นซ์ลดระดับยาซาควินาเวียร์ (Saquinavir: ยาต้านเอชไอวี)

7. ยาเอฟฟาไวเร็นซ์สามารถทั้งลดและเพิ่มระดับยาวาฟฟาริน (Warfarin: ยาต้านการแข็งตัวของเลือด)

8. ยาเอฟฟาไวเร็นซ์ลดระดับยาฆ่าเชื้อรา เช่น คีโทโคนาโซล (Ketoconazole: ยาฆ่าเชื้อรา) หรือ อิททราโคนาโซล (Itraconazole: ยาฆ่าเชื้อรา)

9. ยาเอฟฟาไวเร็นซ์สามารถทั้งลดและเพิ่มระดับยากันชัก ฟีนีทอย/Phenytoin , ฟีโนบาป/ Phenobarbital , คาร์บามาซีปีน /Carbamazepine

ควรเก็บรักษายาเอฟฟาไวเร็นซ์อย่างไร?

ควรเก็บยาเอฟฟาไวเร็นซ์ เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง ไม่เก็บยาในที่ร้อน
  • ควรเก็บยาในภาชนะบรรจุเดิม
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • เก็บยาให้พ้นแสง/แสงแดด
  • ไม่เก็บยาในรถยนต์ หรือในห้องน้ำ

ยาเอฟฟาไวเร็นซ์ มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเอฟฟาไวเร็นซ์ มียาชื่อการค้า และบรืษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Efavirenz (เอฟฟาไวเร็นซ์) 600 mg Tablet GPO
Stocrin (สโตคริน) 200 mg, 600 mg Tablet MSD
Stocrin (สโตคริน) 600 mg Tablet Hetero

บรรณานุกรม

1. Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 20th ed. Ohio: Lexi-Comp; 2011-12.

2. Product Information: Efavirenz, GPO, Thailand.

3. TIMS (Thailand). MIMS. 130th ed. Bangkok: UBM Medica ;2013