เอปทิฟิบาไทด์ (Eptifibatide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเอปทิฟิบาไทด์(Eptifibatide)เป็นยาต้านเกล็ดเลือดประเภท ไกลโคโปรตีน IIบี/IIIเออินฮิบิเตอร์ (Glycoprotein IIb/IIIa inhibitors) ทางคลินิกนำยานี้มาใช้รักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายจากหลอดเลือดหัวใจที่ตีบ(Unstable angina) และยังใช้เป็นยาป้องกันการจับตัว/รวมตัวของเกล็ดเลือดขณะทำการขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน(Angioplasty) ยาเอปทิฟิบาไทด์เป็นอนุพันธ์ประเภทสารโปรตีนที่พบได้ในพิษงูหางกระดิ่ง(Sistrurus miliarius barbouri) รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาเอปทิฟิบาไทด์เป็นยาฉีด ร่างกายจะต้องใช้เวลาประมาณ 2.5 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านไปกับปัสสาวะ

ยาเอปทิฟิบาไทด์ จัดอยู่ในประเภทยาอันตรายที่มีอันตรายสูง ประกอบกับมีข้อจำกัดการใช้งานอยู่หลายประการ ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีภาวะตกเลือดภายใน 30 วันที่ผ่านมา
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติหลอดเลือดสมองแตก
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีระดับเกล็ดเลือดต่ำกว่า 100,000 เซลล์/ไมโครลิตร
  • ห้ามใช้กับผู้ที่เพิ่งได้รับการผ่าตัดใหญ่ภายใน 6 สัปดาห์ที่ผ่านมา
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการล้างไตเป็นประจำ
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงมากกว่า 200/110 มิลลิเมตรปรอท (Systolic blood pressure >200 mm Hg / diastolic blood pressure >110 mm Hg) การที่จะใช้ยาเอปทิฟิบาไทด์กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ แพทย์จะต้องใช้ยาควบคุมความดันโลหิตให้กลับมาเป็นปกติเสียก่อน
  • การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในช่วงให้นมบุตร ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์เท่านั้น
  • การจะใช้ยาอื่นใดร่วมกับยาต้านเกล็ดเลือดทุกประเภทรวมยาเอปทิฟิบาไทด์ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น

ในทางปฏิบัติแพทย์สามารถใช้ยาเอปทิฟิบาไทด์ร่วมกับยาต่างๆได้ เช่น Alteplase, Atropine, Dobutamine, Heparin, Lidocaine, Meperidine, Metoprolol Midazolam, Morphine, Nitroglycerin, หรือ Verapamil แต่ห้ามนำยาเอปทิฟิบาไทด์ ผสมร่วมกับ ยาFurosemide สิ่งสำคัญก่อนใช้ยาเอปทิฟิบาไทด์ บุคลากรทางการแพทย์จะต้องตรวจสภาพของภาชนะบรรจุยา ต้องไม่มีรอยปริแตกหรือมีสิ่งปนเปื้อนใดๆลงในตัวยาเอปทิฟิบาไทด์ สีของยานี้ต้องเป็นลักษณะดั้งเดิมเหมือนกับที่เริ่มต้นผลิต และห้ามใช้ยาที่หมดอายุแล้ว การเตรียมยาเอปทิฟิบาไทด์เพื่อฉีดให้ผู้ป่วย สามารถเจือจางตัวยานี้ร่วมกับสารละลาย 0.9% Sodium chloride หรือ 5% Dextrose

* ทั้งนี้ มีบันทึกงานวิจัยเกี่ยวกับการให้ยาเอปทิฟิบาไทด์เกินขนาดในสัตว์ทดลอง และพบว่าตัวยาจะทำให้ร่างกายของสัตว์ไม่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ มีอาการหายใจขัด/หายใจลำบาก หนังตาตก การบีบหดตัวหรือการทำงานของกล้ามเนื้อลดลง อาการดังกล่าวสามารถใช้ทำนายผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่ได้รับยาเอปทิฟิบาไทด์เกินขนาดได้เช่นเดียวกัน การช่วยเหลือในกรณีนี้ แพทย์จะใช้วิธีการฟอกเลือด เพียงสถานเดียว จากเหตุผลที่กล่าวมา บุคลากรทางการแพทย์ที่จะใช้ยานี้กับผู้ป่วย จะต้องได้รับการฝึกฝนจนชำนาญและปฏิบัติขั้นตอนการให้ยานี้กับผู้ป่วยอย่างถูกต้องโดยไม่มีข้อผิดพลาด

อนึ่ง หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อมูลของยาเอปทิฟิบาไทด์ ผู้ป่วย/ผู้บริโภคสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้จากแพทย์ผู้ที่ให้การตรวจรักษา หรือจาก เภสัชกรในสถานพยาบาลนั้นๆได้

เอปทิฟิบาไทด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เอปทิฟิบาไทด์

ยาเอปทิฟิบาไทด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ป้องกันการจับตัว/รวมตัวของเกล็ดเลือดขณะขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน
  • บำบัดอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายจากหลอดเลือดหัวใจตีบ(Unstable angina) แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “โรคหัวใจ: การซ่อมรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบ

เอปทิฟิบาไทด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเอปทิฟิบาไทด์ มีกลไกการออกฤทธ์โดย ตัวยาจะเข้ารวมตัวกับตัวรับ(Receptor) ที่อยู่บริเวณพื้นผิวของเกล็ดเลือด ที่มีชื่อว่า Glycoprotein IIb receptor หรือ Glycoprotein IIIa receptor ส่งผลทำให้เกล็ดเลือดหมดความสามารถที่จะรวมตัวกับสารหรือโปรตีนบางอย่างที่จะก่อให้เกิดกระบวนการแข็งตัวของเลือด อย่างเช่น Fibrinogen , von willebrand factor จากกลไกที่กล่าวมา จึงทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

เอปทิฟิบาไทด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเอปทิฟิบาไทด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีด ที่มีส่วนประกอบของตัวยา Eptifibatide ขนาด 0.75 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร และ 2 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

เอปทิฟิบาไทด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาเอปทิฟิบาไทด์ มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก. สำหรับการป้องกันการจับตัวของเกล็ดเลือดขณะการทำบอลลูน:

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยา 180 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เข้าหลอดเลือดดำก่อนเข้ารับการทำบอลลูน

• จากนั้น แพทย์จะให้หยดยาเอปทิฟิบาไทด์เข้าหลอดเลือดฯขนาด 2 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที

• ระหว่างนี้ แพทย์อาจให้ยาครั้งที่สอง โดยฉีดยาเข้าหลอดเลือดฯขนาด 180 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยเว้นห่างจากการให้ยาครั้งแรก ไปแล้วประมาณ 10 นาที

• การหยดยาเข้าหลอดเลือดฯของผู้ป่วย จะสิ้นสุดเมื่อมีคำสั่งจากแพทย์ให้ผู้ป่วย

• กลับบ้านได้ หรืออาจใช้เวลาการหยดยาเข้าหลอดฯเลือดนาน 18-24 ชั่วโมง

• เวลาการหยดยาเข้าหลอดเลือด ไม่ควรน้อยกว่า 12 ชั่วโมง เป็นอย่างต่ำ

ข. สำหรับบำบัดอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายด้วยหลอดเลือดหัวใจตีบ:

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยา 180 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เข้าหลอดเลือดฯ

• จากนั้นให้หยดยาเข้าหลอดเลือดฯ 2 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที

• การหยดยาเข้าหลอดเลือดฯของผู้ป่วยจะสิ้นสุด เมื่อแพทย์มีคำสั่งให้ผู้ป่วยกลับบ้าน หรือใช้เวลาถึง 72 ชั่วโมง

• กรณีที่ผู้ป่วยต้องได้รับการทำบอลลูน หรือต้องเข้ารับหัตถการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ(บายพาสหัวใจ)เพิ่มเติม แพทย์อาจสั่งให้หยดยานี้เข้าหลอดเลือดฯหลังการทำหัตถการดังกล่าวต่ออีก 18–24 ชั่วโมงโดย อาจต้องหยดยาเข้าหลอดเลือดนานถึง 96 ชั่วโมง

อนึ่ง:

  • กรณีผู้ป่วยที่มีค่าครีเอตินินเคลียร์แรนซ์(Creatinine clearance) น้อยกว่า 50 มิลลิลิตร/นาที แพทย์จะลดขนาดการหยดยาเข้าหลอดเลือดฯเหลือเพียง 1 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยา เอปทิฟิบาไทด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเอปทิฟิบาไทด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา กับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

เอปทิฟิบาไทด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเอปทิฟิบาไทด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น อาจมีเลือดออกในกะโหลกศีรษะ/เลือดออกในสมอง
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น เลือดออกในทางเดินอาหาร
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น มีภาวะความดันโลหิตต่ำ
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีปริมาณเกล็ดเลือดต่ำจนเกิดภาวะเลือดออกง่าย
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เลือดออกในปอด

มีข้อควรระวังการใช้เอปทิฟิบาไทด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเอปทิฟิบาไทด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ และ/หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร นอกจากมีคำสั่งแพทย์
  • หลีกเลี่ยง กิจกรรมต่างๆ กีฬาต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บหรือบาดแผลตามร่างกายหลังจากได้รับยานี้มาใหม่ๆ เพราะจะทำให้เกิดภาวะตกเลือดจากแผลนั้นๆได้
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และมารับการตรวจรักษา/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเอปทิฟิบาไทด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เอปทิฟิบาไทด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเอปทิฟิบาไทด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาเอปทิฟิบาไทด์ร่วมกับ ยาต้านเกล็ดเลือดชนิดอื่นๆ แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันภาวะเลือดออกง่าย รวมถึงอาการข้างเคียงต่างๆจากยาต่างๆที่ใช้ร่วมกัน
  • การใช้ยาเอปทิฟิบาไทด์ร่วมกับยา Urokinase, Ticlopidine, จะก่อให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเอปทิฟิบาไทด์ร่วมกับยา Apixaban, Tipranavir, ด้วยจะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดออกง่าย

ควรเก็บรักษาเอปทิฟิบาไทด์อย่างไร?

ควรเก็บยาเอปทิฟิบาไทด์ภายใต้อุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

เอปทิฟิบาไทด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเอปทิฟิบาไทด์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Integrilin (อินเทกริลิน) Patheon

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Eptifibatide [2017,Nov25]
  2. https://www.merck.com/product/usa/pi_circulars/i/integrilin/integrilin_pi.pdf [2017,Nov25]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/eptifibatide?mtype=generic [2017,Nov25]
  4. https://www.drugs.com/integrilin.html [2017,Nov25]
  5. https://www.drugs.com/dosage/integrilin.html [2017,Nov25]
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/eptifibatide,integrilin-index.html?filter=3&generic_only= [2017,Nov25]