เอนโดทีลิน รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ (Endothelin receptor antagonist)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 5 กรกฎาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- เอนโดทีลิน รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- เอนโดทีลิน รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เอนโดทีลิน รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เอนโดทีลิน รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- เอนโดทีลิน รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เอนโดทีลิน รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ อย่างไร?
- เอนโดทีลิน รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเอนโดทีลิน รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ อย่างไร?
- เอนโดทีลิน รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคปอด (Lung disease)
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
- Bosentan
- ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
- ถุงยางอนามัยชาย (Male Condom)
บทนำ
ยาเอนโดทีลิน รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ (Endothelin receptor antagonist) เป็นกลุ่มยาที่ปัจจุบันนำมารักษาอาการป่วยจากโรคความดันโลหิตของหลอดเลือดแดงในปอดสูง (Pulmonary artery hypertension, PAH) โดยสารเอนโดทีลิน (Endothelin) เป็นสารประเภทเปปไทด์ (Peptide, สารในกลุ่มกรดอะมิโน) ที่ถูกผลิตจากเซลล์ภายในหัวใจและในผนังหลอดเลือด สารเอนโดทีลินจะคอยกระตุ้นให้หลอดเลือดหดตัวและเป็นผลให้เกิดความดันโลหิตสูงขึ้น กรณีผู้ที่มีภาวะความดันโล หิตในปอดสูงขึ้นอาจเป็นผลมาจากร่างกายสร้างสารเอนโดทีลินมากเกินไป ดังนั้นยาในกลุ่มเอนโดทีลิน รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ ซึ่งมีฤทธิ์ต่อต้านสารเอนโดทีลินจะช่วยลดความดันโลหิตของหลอดเลือดภายในปอดลงได้ โดยตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับ (Receptor/รีเซปเตอร์) ที่เรียกว่า เอนโดทีลิน รีเซปเตอร์ (Endothelin receptor) ที่ยังถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ เอนโดทีลิน รีเซปเตอร์-เอ (Endothelin-A receptor ย่อว่า ET-A receptor) และเอนโดทีลิน รีเซปเตอร์ บี (Endothelin-B receptor-B ย่อว่า ET-B receptor) หากสารเอนโดทีลินเข้าจับกับรีเซปเตอร์ชนิด เอ (ET-A) จะทำ ให้หลอดเลือดเกิดการหดตัว แต่ถ้าเข้าจับกับรีเซปเตอร์ชนิด บี (ET-B) จะทำให้หลอดเลือดขยายตัว
อาจจำแนกยาในกลุ่มเอนโดทีลิน รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ที่นำมาใช้ทางคลินิกแล้วออกเป็น 2 ประเภทคือ
ก. ดูอัล เอนโดทีลิน รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ (Dual endothelin recepter antagonist): เป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ที่ตัวรับทั้งชนิดเอนโดทีลิน เอ รีเซปเตอร์ และชนิดเอนโดทีลิน บี รีเซปเตอร์ ตัวอย่างยาของกลุ่มนี้เช่นยา Bosentan, Macitentan, Tezosentan โดยยากลุ่มนี้จะเข้าจับและปิดกั้นที่ตัวรับฯทั้งชนิดเอและบี แต่ฤทธิ์การปิดกั้นที่ตัวรับฯชนิดเอจะมีอิทธิพลมากกว่าจึงส่งผลให้หลอดเลือดคลายตัวและทำให้ความดันโลหิตลดลง
ข. ซีเล็คทีฟ เอนโดทีลิน-เอ รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ (Selective Endothelin -A receptor Antagonist): จัดเป็นยาในกลุ่มที่ 2 โดยจะออกฤทธิ์ที่ตัวรับชนิดเอนโดทิลิน-เอ เท่านั้นและส่งผลให้ลดความดันโลหิตของหลอดเลือดได้เช่นกัน ตัวอย่างของยากลุ่มนี้ได้แก่ Sitaxentan, Ambrisentan, Atrasentan, Zibotentan
นอกจากนี้ยังมียากลุ่มซีเล็คทีฟ เอนโดทีลิน-บี รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ (Selective Endothelin-B receptor Antagonist) อีกหลายตัวแต่ยังไม่มีการนำมาใช้ในทางคลินิก จึงขอไม่กล่าวถึง
จากตัวอย่างยาเอนโดทีลิน รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ ที่กล่าวมาทั้งหมด เราอาจพบเห็นยา Bosentan เท่านั้นที่มีใช้ในประเทศไทย และสำหรับข้อห้ามและข้อควรระวังของการใช้ยาเอนโดทีลิน รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ อาจสรุปได้ดังนี้
- เคยมีประวัติแพ้ยานี้มาก่อนหรือไม่
- อยู่ในภาวะตั้งครรภ์รวมถึงต้องระวังเป็นพิเศษหากจะใช้ยานี้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- เป็นผู้ป่วยโรคตับตั้งแต่ระดับความรุนแรงปานกลางไปจนถึงขั้นรุนแรง
ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับการสั่งจ่ายยาเอนโดทีลิน รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ ควรจะต้องปฏิบัติและรับประทานยานี้ตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่สมควรหยุดการรับประทานยานี้เองโดยมิได้ขอคำ ปรึกษาจากแพทย์ ด้วยการรักษาอาการความดันโลหิตในปอดสูงต้องอาศัยการใช้ยานี้อย่างต่อเนื่อง และระหว่างการใช้ยานี้อาจมีอาการวิงเวียนเกิดขึ้นได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆ รวมถึงการทำงานกับเครื่องจักรเพราะอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย นอกจากนั้นการใช้ยานี้กับผู้ป่วยเพศชายอาจทำให้จำนวนอสุจิลดน้อยลงได้ด้วย
อนึ่งอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) บางอย่างจากการใช้ยาเอนโดทีลิน รีเซปเตอร์ แอนตา โกนิสต์ สามารถบ่งบอกสภาพของตับที่ได้รับผลกระทบ (ผลข้างเคียง) จากการใช้ยานี้เช่น คลื่น ไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร มีไข้ ปวดท้อง ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะมีสีคล้ำ มีผื่นคันตามผิวหนัง เหนื่อยง่าย ซึ่งหากพบอาการเหล่านี้ต้องรีบมาโรงพยาบาลโดยเร็วไม่ต้องรอจนถึงวันนัด
บางกรณีที่ผู้ป่วยเผลอรับประทานยานี้เกินขนาด ก็อาจพบเห็นอาการวิงเวียน เป็นลม หัวใจ เต้นเร็ว คลื่นไส้ อาเจียน แน่น/คัดจมูก ความดันโลหิตต่ำ และปวดศีรษะ ซึ่งหากพบอาการเหล่านี้ ต้องรีบมาโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
ในประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยาได้ระบุให้ยาบางตัวของกลุ่มยานี้อยู่ในหมวด ยาควบคุมพิเศษเช่นยา Bosentan การใช้ยากลุ่มนี้จะต้องมีใบสั่งจากแพทย์เท่านั้น
หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยากลุ่มเอนโดทีลิน รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ ผู้บริโภคสามารถสอบถามข้อมูลการใช้ยานี้เพิ่มเติมได้จากแพทย์ผู้รักษาหรือจากเภสัชกรได้โดยทั่วไป
เอนโดทีลิน รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร
เอนโดทีลิน รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อบำบัดรักษาอาการความดันโลหิตของหลอดเลือดแดงในปอดสูง
เอนโดทีลิน รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาเอนโดทีลิน รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ คือตัวยาจะออกฤทธิ์โดยเข้าจับกับตัวรับที่อยู่ในผนังหลอดเลือดของปอดที่มีชื่อเรียกว่า เอนโดทีลิน-เอ รีเซปเตอร์ (Endo thelin-A receptors) ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของหลอดเลือดและทำให้ความดันโลหิตในปอดลดลงจนเป็นที่มาของสรรพคุณ
เอนโดทีลิน รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเอนโดทีลิน รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน ซึ่งมีขนาดความแรงยาต่างกันตามแต่ละชนิดย่อยของตัวยานั้นๆ จึงขอไม่กล่าวถึงในที่นี้
เอนโดทีลิน รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีขนาดรับประทานอย่างไร?
ขนาดการรับประทานยากลุ่มเอนโดทีลิน รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ จะต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาแต่เพียงผู้เดียว ดังนั้นจึงแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายเป็นกรณีๆไป
*หมายเหตุ: ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่างอาจต้องหลีกเลี่ยงการใช้ยาในกลุ่มนี้เช่น โรคตับ หรือผู้ที่มีพังผืดในปอด
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเอนโดทีลิน รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/ พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆเช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคตับ โรคเบาหวาน รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเอนโดทีลิน รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเอนโดทีลิน รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไปไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาเอนโดทีลิน รีเซปเตอร์ แอนตา โกนิสต์ ตรงเวลา
เอนโดทีลิน รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเอนโดทีลิน รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น
- ผลต่อตับ: เช่น เกิดอาการตัวเหลือง ตาเหลือง กระตุ้นให้มีการหลั่งเอนไซม์อะมิโนทรานสเฟอเรส (Aminotransferase, เอนไซม์ที่ใช้บอกว่าเซลล์ตับมีการเสียหาย/ตับอักเสบ) ในเลือดเพิ่มมากขึ้น
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น ทำให้จำนวนฮีโมโกลบินลดลง/ภาวะซีด
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เกิดความดันโลหิตต่ำ ชีพจรเต้นผิดปกติ ภาวะหัวใจล้ม เหลว มีภาวะมือเท้าบวม
- ผลต่อระบบการหายใจ: เช่น ช่องทางเดินหายใจอักเสบ/หลอดลมอักเสบ
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสีย ท้องอืด
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดภาวะผื่นคัน
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ และวิงเวียน
- ผลต่อระบบสืบพันธุ์: เช่น ลดจำนวนอสุจิในบุรุษ
มีข้อควรระวังการใช้เอนโดทีลิน รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเอนโดทีลิน รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยาเอนโดทีลิน รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์
- ห้ามใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับที่มีความรุนแรงโรคตั้งแต่ระดับปานกลางไปจนถึงระดับรุนแรง หรือผู้ที่มีพังผืดเกิดขึ้นในปอด
- หากพบระดับเอนไซม์อะมิโนทรานสเฟอเรส (Aminotransferase) ในเลือดเพิ่มขึ้น แพทย์ จะหยุดใช้ยานี้และปรับแนวทางการรักษาให้ใหม่
- ปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดและมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเอนโดทีลิน รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติ พื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
เอนโดทีลิน รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเอนโดทีลิน รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- การใช้ยา Bosentan ร่วมกับยา Hydrocodone, Fentanyl อาจทำให้ระดับของยากลุ่มดัง กล่าวในกระแสเลือดลดน้อยลง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป
- หลีกเลี่ยงการใช้ยา Ambrisentan ร่วมกับยา Tizanidine ด้วยจะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำตามมา
- การใช้ยาเอนโดทีลิน รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ ร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิดอย่างเช่นยา Ethinyl estradiol อาจทำให้ประสิทธิภาพการคุมกำเนิดด้อยลงและสุ่มเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน และ/หรือใช้ถุงยางอนามัยชายร่วมด้วยในการมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้งระหว่างใช้ยานี้
ควรเก็บรักษาเอนโดทีลิน รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ อย่างไร?
ควรเก็บยาเอนโดทีลิน รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ ตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
เอนโดทีลิน รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเอนโดทีลิน รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Tracleer (ทราเคลียร์) | Actelion |
Letairis (เลเทียริส) | Gilead |
บรรณานุกรม
- http://www.phcentral.org/medical/treatments/endothelin.html [2016,June18]
- http://www.gilead.com/~/media/files/pdfs/medicines/cardiovascular/letairis/letairis_pi.pdf [2016,June18]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Endothelin_receptor_antagonist [2016,June18]
- https://www.letairis.com/patients/ [2016,June18]
- http://www.drugs.com/drug-interactions/ambrisentan-with-zanaflex-150-0-2205-1453.html [2016,June18]