เอนพีเฮช อินซูลิน (NPH Insulin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 20 มิถุนายน 2560
- Tweet
- บทนำ
- เอนพีเฮช อินซูลินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- เอนพีเฮช อินซูลินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เอนพีเฮช อินซูลินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เอนพีเฮช อินซูลินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมฉีดยาควรทำอย่างไร?
- เอนพีเฮช อินซูลินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เอนพีเฮช อินซูลินอย่างไร?
- เอนพีเฮช อินซูลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเอนพีเฮช อินซูลินอย่างไร?
- เอนพีเฮช อินซูลินมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เบาหวาน (Diabetes mellitus)
- รู้ทันโรคเบาหวาน (Diabetes mellitus)
- เบาหวานในเด็กและวัยรุ่น (Juvenile diabetes mellitus)
- ยาอินซูลิน (Insulin)
- เบาหวานขึ้นตา เบาหวานกินตา (Diabetic retinopathy)
- ยาเบาหวาน หรือ ยารักษาโรคเบาหวาน (Antidiabetic agents)
- วิธีฉีดอินซูลินให้ตนเอง (How to inject insulin)
บทนำ
อินซูลิน(Insulin) เป็นฮอร์โมนจากตับอ่อนที่ทำหน้าที่ช่วยให้ร่างกายมนุษย์สามารถนำน้ำตาลกลูโคส(Glucose)ไปใช้ให้เกิดเป็นพลังงานในการดำรงชีวิต ผู้ที่มีภาวะพร่อง/ขาดอินซูลินจะทำให้เกิดโรคเบาหวาน ประเภทที่ 1 (Diabetes type I) กรณีนี้แพทย์จะใช้อินซูลินในรูปแบบยา ฉีดเข้าร่างกายให้ผู้ป่วย โดยในอดีตนักวิทยาศาสตร์ได้สกัดอินซูลินของสุกร มาฉีดทดแทนในผู้ป่วยที่มีภาวะพร่องอินซูลินซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงมากตามมา แต่ปัจจุบันมนุษย์ได้ใช้เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมตัดต่อสารพันธุกรรมโดยนำยีน/จีน (Gene) ที่ช่วยผลิตฮอร์โมนอินซูลินของมนุษย์ไปใส่ในโครโมโซมของแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Escherichia coli(E. coli) ทำให้ได้แบคทีเรียสายพันธุ์ใหม่ที่สามารถผลิตอินซูลินของมนุษย์และนำมาผลิตเป็นยาอินซูลิน ยาอินซูลินดังกล่าวมีการออกฤทธิ์ได้นานในระยะเวลาสั้นๆประมาณ 3–6 ชั่วโมง(เริ่มออกฤทธิ์ภายใน 30นาที หลังฉีดยา) ที่เรียกอินซูลินประเภทนี้ว่า “Regular insulin หรือ Short acting insulin” ซึ่งพบเห็นการจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Humulin R, Actrapid และอื่นๆ ต่อมา เพื่อให้ได้ยาอินซูลินที่สามารถออกฤทธิ์ได้นานขึ้น ในปี ค.ศ. 1936 (พ.ศ.2479) นัก วิทยาศาสตร์ได้นำยา Regular insulin มาเติมโปรตีนชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า Protamine และทำให้ได้อินซูลินที่มีการออกฤทธิ์ได้ยาวนานขึ้นเป็นประมาณ 12–18 ชั่วโมง(เริ่มออกฤทธิ์ภายใน 2 ชั่วโมงหลังฉีดยา) ที่เรียกว่า “Intermediate-acting insulin” อินซูลินชนิดนี้ถูกตั้งชื่อใหม่ว่า “เอนพีเฮช อินซูลิน(NPH Insulin: Neutral Protamine Hagedorn Insulin) หรือ ไอโซเฟน อินซูลิน(Isophane insulin)” ซึ่งพบเห็นการจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Humulin N, Novolin N และอื่นๆ
ยาไอโซเฟนอินซูลิน/เอนพีเฮชอินซูลิน สามารถนำมารักษาอาการโรคเบาหวานทั้งประเภทที่ I และประเภท II โดยผู้ป่วยต้องได้รับยา 1–2 ครั้ง/วัน ทั้งนี้ขึ้นกับอาการของผู้ป่วย ผู้ป่วยจะต้องได้รับการตรวจสอบน้ำตาลในเลือดเป็นระยะๆตามแพทย์สั่ง เพื่อเป็นการติดตามประสิทธิภาพการออกฤทธิ์ของยาอินซูลินนี้ที่แพทย์สั่งจ่ายว่า เหมาะสมกับผู้ป่วยเบาหวานมากน้อยเพียงใด
ผู้ป่วยเบาหวานบางกลุ่มไม่สามารถใช้ยาไอโซเฟนอินซูลิน/เอนพีเฮชอินซูลิน ด้วยเหตุผลเกิดการแพ้ยานี้/แพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับ หรือสภาพร่างกายหรือผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำอยู่แล้ว
สำหรับผู้ป่วยโรคตับหรือผู้ที่มีภาวะพร่องของเกลือโปแตสเซียมในเลือดก็สามารถได้รับผลกระทบ(ผลข้างเคียง)จากยาไอโซเฟนอินซูลิน/เอนพีเฮชอินซูลิน ได้เช่นกัน ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานควรแจ้งให้แพทย์ทราบโดยละเอียดว่าตนเองมีโรคประจำตัวอื่นใดอยู่บ้าง มียาประเภทอื่นใดที่ต้องรับประทานอยู่ก่อน
ยาเอนพีเฮชอินซูลิน /ไอโซเฟนอินซูลิน จัดเป็นเภสัชภัณฑ์ ที่มีความไวต่ออุณหภูมิสูงจึงต้องจัดเก็บในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิระหว่าง 2–8 องศาเซลเซียส(Celsius) และก่อนนำยาอินซูลินชนิดนี้กลับมาใช้ที่บ้าน ผู้ป่วยเบาหวาน/ญาติจะต้องทำความเข้าใจและเรียนรู้วิธีการใช้ยานี้จากแพทย์/พยาบาล/เภสัชกร และต้องใช้ยาอินซูลินนี้ตามขนาดที่แพทย์แนะนำ นอกจากนี้ยังต้องเรียนรู้สภาวะร่างกาย/อาการจากการที่มีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงเกินไป เพื่อใช้ปฐมพยาบาลตนเองได้อย่างเหมาะสมและถูกต้อง
*หากเกิดข้อผิดพลาดที่ผู้ป่วยได้รับยาอินซูลินชนิดนี้เกินขนาด จะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ กรณีที่มีภาวะดังกล่าวไม่รุนแรงมาก ผู้ป่วยสามารถดื่มน้ำหวานหรืออมลูกกวาดที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลก็จะช่วยบรรเทาอาการได้แล้ว กรณีที่เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอย่างรุนแรง ผู้ป่วยอาจอยู่ในสภาพหมดสติ ผู้พบเห็นจะต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน แพทย์จะใช้ยา Glucagon ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ(เพื่อช่วยให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น) ร่วมกับการให้น้ำตาลกลูโคสเข้าทางหลอดเลือดดำ เพื่อทำให้ร่างกายผู้ป่วยฟื้นสภาพจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำโดยเร็ว (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยเบาหวาน”
องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้ ยาไอโซเฟนอินซูลิน/ เอนพีเฮช อินซูลิน เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลแต่ละแห่งควรมีสำรองไว้ให้บริการต่อผู้ป่วย คณะกรรมการอาหารและยาของไทย ก็ได้บรรจุยาเอนพีเฮชอินซูลินอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย ซึ่งผู้บริโภคสามารถพบเห็นการใช้ยาอินซูลินประเภทนี้ ทั้งในสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนโดยทั่วไป
เอนพีเฮชอินซูลินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาเอนพีเฮช อินซูลินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ
- ใช้รักษาโรคเบาหวานทั้งประเภทที่ I และ II
เอนพีเฮช อินซูลินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเอนพีเฮชอินซูลิน/ไอโซเฟนอินซูลิน มีกลไกการออกฤทธ์ โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ในบริเวณเซลล์กล้ามเนื้อรวมถึงเซลล์ไขมันจนส่งผลให้เซลล์เหล่านั้น นำกลูโคสในกระแสเลือดมาใช้ให้เกิดประโยชน์ นอกจากนี้ยังช่วยยับยั้งการปลดปล่อยน้ำตาลกลูโคสจากตับเข้าสู่กระแสเลือด ด้วยกลไกนี้ จึงทำให้ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติและเป็นที่มาของสรรพคุณ
เอนพีเฮช อินซูลินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเอนพีเฮชอินซูลินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาฉีดชนิดแขวนตะกอนที่ประกอบด้วย Isophane insulin ขนาด 100 ยูนิต/มิลลิลิตร
เอนพีเฮช อินซูลินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาเอนพีเฮชอินซูลินมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
ก.สำหรับผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ I:
- ผู้ใหญ่และเด็ก: ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง ขนาด 0.5–1 ยูนิต/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน ซึ่งแพทย์อาจแบ่งการฉีดยาเป็น 2 ครั้ง/วันก็ได้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
ข.สำหรับผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ II:
- ผู้ใหญ่และเด็ก: เริ่มต้นฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังขนาด 0.1–0.2 ยูนิต/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 1–2 ครั้ง โดยเป็นไปตามคำสั่งแพทย์
อนึ่ง:
- ควรฉีดยานี้ก่อนอาหารมื้อหลัก หรือตามแพทย์สั่ง
- ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต แพทย์อาจปรับลดขนาดการใช้ยาลงมาตามความเหมาะสม
- ฉีดยาอินซูลินชนิดนี้ตรงตามเวลา ต่อเนื่องสม่ำเสมอ และไม่ควรปรับขนาดการฉีดยาโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์
- เรียนรู้ เทคนิคการฉีดยา การเก็บรักษายา สภาวะมีน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูง จากแพทย์ พยาบาล เภสัชกร เพื่อดูแลตนเองขณะอยู่ในที่พักอาศัย (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “วิธีฉีดอินซูลินให้ตนเอง” และเรื่อง “ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยเบาหวาน”)
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเอนพีเฮชอินซูลิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเอนพีเฮชอินซูลิน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมฉีดยาควรทำอย่างไร?
หากลืมฉีดยาเอนพีเฮชอินซูลิน สามารถฉีดยาทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้ฉีดยาในขนาดปกติ
เอนพีเฮช อินซูลินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเอนพีเฮชอินซูลิน/ไอโซเฟนอินซูลินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อหัวใจ: เช่น พบอาการบวมน้ำซึ่งมีสาเหตุจากการคั่งของเกลือโซเดียมในร่างกาย
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดภาวะไขมันสะสมผิดปกติในบริเวณผิวหนัง
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจนอาจทำให้ผู้ป่วยหมดสติ อาจเกิดภาวะร่างกายดื้อต่อยาอินซูลินโดยมีน้ำตาลในเลือดสูง มีภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ
- ผลต่อตา: เช่น มีความผิดปกติกับเส้นประสาทตา
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น รู้สึกเจ็บปลายประสาท
มีข้อควรระวังการใช้เอนพีเฮช อินซูลินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเอนพีเฮช อินซูลิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาอินซูลินชนิดนี้
- ห้ามดื่มเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ขณะใช้ยานี้เพราะจะส่งผลให้ผลข้างเคียงจากยานี้สูงขึ้น
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็กโดยไม่มีคำสั่งแพทย์
- ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง และต้องใช้ยาตามขนาดที่แพทย์แนะนำ
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สียาเปลี่ยนไป ยาตกตะกอนไม่ละลาย
- ใช้ยานี้ต่อเนื่องเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ
- ควรเปลี่ยนตำแหน่งการฉีดยาไม่ให้ซ้ำบริเวณเดิม เพื่อหลีกเลี่ยงผิวหนังอักเสบที่เกิดตรงรอยฉีดยาซ้ำๆ
- ตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดของตนเองเป็นประจำตามแพทย์ พยาบาล เภสัชกร แนนำ
- ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และพักผ่อน ตามที่ แพทย์ พยาบาล เภสัชกรแนะนำ
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์ตรวจร่างกาย และติดตามผลการรักษาตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเอนพีเฮช อินซูลิน/ไอโซเฟน อินซูลิน ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
เอนพีเฮช อินซูลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
เอนพีเฮช อินซูลิน/ไอโซเฟนอินซูลิน มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาไอโซเฟนอินซูลินร่วมกับ ยารักษาเบาหวานชนิดอื่น, กลุ่มยาMAOIs, ACE inhibitor, Salicylates, Anabolic steroid, Beta blockers, อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับลดการใช้ยาไอโซเฟนอินซูลินลงมาให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายผู้ป่วยเป็นกรณีๆไป
- การใช้ยาไอโซเฟนอินซูลินร่วมกับ ยาเม็ดคุมกำเนิด , ยาThiazides ยาไทรอยด์ฮอร์โมน, กลุ่มยา Growth hormone(ฮอร์โมนเพื่อการเจริญเติบโต/ฮอร์โมนชนิดหนึ่งจากต่อมใต้สมอง), จะเกิดการรบกวนการออกฤทธิ์ของยา ไอโซเฟนอินซูลินจนทำให้ประสิทธิภาพการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดด้อยลง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับเพิ่มขนาดยาไอโซเฟน อินซูลินตามความเหมาะสมเป็นกรณีผู้ป่วยไป
- ห้ามใช้ยาไอโซเฟนอินซูลินร่วมกับยา Gatifloxacin ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือไม่ก็สูงตามมา
ควรเก็บรักษาเอนพีเฮช อินซูลินอย่างไร?
ควรเก็บยาเอนพีเฮชอินซูลินภายใต้อุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
เอนพีเฮช อินซูลินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเอนพีเฮชอินซูลิน ที่จำหน่ยในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต /ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Humulin N (ฮิวมูลิน เอน) | Eli Lilly |
Gensulin N (เจ็นซูลิน เอน) | SciGen |
Novolin N (โนโวลิน เอน) | Novo Nordisk A/S |
อนึ่งยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Novolin NPH, NPH Iletin II
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Regular_insulin[2017,June3]
- http://www.diabetes.co.uk/insulin/human-insulin.html[2017,June3]
- http://www.diabetes.co.uk/insulin/intermediate-acting-insulin.html[2017,June3]
- http://reference.medscape.com/drug/humulin-n-novolin-n-insulin-nph-999006[2017,June3]
- https://www.drugs.com/dosage/insulin-isophane.html[2017,June3]
- https://www.drugs.com/dosage/insulin-isophane.html#Usual_Adult_Dose_for_Diabetes_Type_1[2017,June3]
- http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/104#item-8698[2017,June3]
- http://pi.lilly.com/us/HUMULIN-N-USPI.pdf[2017,June3]
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2001/19959s36lbl.pdf[2017,June3]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/insulin%20isophane%2c%20human/?type=brief&mtype=generic[2017,June3]
- http://www.diabetes.co.uk/insulin/insulin-actions-and-durations.html[2017,June3]