เอคโคหัวใจ การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Cardiac echo: Echocardiogram)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือการตรวจอะไร?

เอคโคหัวใจ (Echocardiogram หรือ Echocardiography หรือ Heart ultrasound หรือ Cardiac ultrasound) ที่มักเรียกสั้นๆว่า เอคโค (Echo Test) หรือเรียกว่า “การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง” หรือเรียกว่า “การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง” คือ วิธีตรวจโรคหัวใจวิธีหนึ่งที่ใช้บ่อยในปัจจุบัน โดยเป็นการตรวจเพื่อดูประสิทธิภาพ การทำงานของหัวใจ (เช่น การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ขนาดของห้องหัวใจ การไหลเวียนเลือดในหัวใจ การทำงานของลิ้นหัวใจ และดูตำแหน่งของหลอดเลือดต่างๆที่เข้า-ออกจากหัวใจ) โดยเป็นการตรวจด้วยการใช้การสะท้อนกลับของคลื่นเสียงความถี่สูงที่เรียกว่า อัลตราซาวด์ (Ultrasound) หรือ โซโนแกรม (Sonogram) ทั้งนี้ใช้หลักการเช่นเดียวกับการตรวจอัลตราซาวด์ทางรังสีวินิจฉัยที่ใช้วินิจ ฉัยโรคของอวัยวะต่างๆที่รวมถึงการตรวจอัลตราซาวด์ทารกในครรภ์ที่ใช้ตรวจโรคต่างๆของทารกรวม ทั้งเพศของทารก และตรวจโรคต่างๆทางสูตินรีเวช

การตรวจเอคโคหัวใจมีวิธีตรวจได้หลายรูปแบบตามข้อบ่งชี้ในการตรวจ แต่วิธีที่เป็นการตรวจ มาตรฐานที่ใช้เป็นพื้นฐานเบื้องต้น เป็นหลัก และเป็นวิธีที่ใช้บ่อยที่สุดเรียกว่า “Standard echocardio gram หรือ Conventional cardiogram หรือ Trans thoracic echocardiogram” เรียกย่อว่า “TTE” กล่าวคือเป็นการตรวจผ่านทางผนังทรวงอกโดยหัวเครื่องตรวจที่เรียกว่า Transducer หรือ Probe เคลื่อนอยู่บนผนังด้านหน้าของทรวงอก (อยู่ภายนอกตัวผู้ป่วย)

นอกจากนั้น ยังมีการตรวจเอคโคหัวใจวิธีอื่นอีกหลายวิธี ที่อาจตรวจเพิ่มเติมจากการตรวจวิธีมาตรฐาน/TTE เช่น

  • Doppler echocardiogram: มักตรวจร่วมกับการตรวจเอคโคหัวใจ TTE เพื่อดูการ ไหลเวียนของเลือดในห้องหัวใจต่างๆ รวมไปถึงการเกิดภาวะลิ่มเลือดในห้องหัวใจและในหลอดเลือดหัวใจ ทั้งนี้การตรวจจะผ่านทางผนังด้านหน้าของทรวงอก แต่เพิ่มชนิดหัวเครื่องตรวจและอาจมีการฉีดสารบางอย่าง/สารทึบแสง (Contrast media) เข้าหลอดเลือดขณะตรวจเพื่อช่วยให้เห็นการ ไหลเวียนของเลือดได้ดีขึ้น
  • Transesophageal echocardiogram: เป็นการตรวจที่ผู้ป่วยต้องกลืนหัวตรวจเข้า ไปในหลอดอาหาร อาจต้องมีการใช้ยาระงับปวด/ยาแก้ปวด หรือบางคนอาจต้องใช้ยาสลบขณะตรวจด้วย ทั้งนี้มักใช้ตรวจกรณีแพทย์สงสัยมีโรคที่ส่วนด้านหลังหัวใจ/ส่วนที่อยู่ติดกับหลอดอาหารซึ่งจากการตรวจวิธี TTE ให้ผลไม่ชัดเจน
  • Stress echocardiogram: การตรวจเอคโคหัวใจทันทีหลังมีการออกกำลังกายทั้ง นี้เพราะบางโรคจะตรวจไม่พบในขณะที่หัวใจเต้นปกติ เพราะเกิดอาการเฉพาะกรณีหัวใจมีการเต้นที่เร็วและแรงกว่าปกติ (เช่น เมื่อออกกำลังกาย) เช่น กรณีโรคของหลอดเลือดหัวใจ
  • Contrast echocardiogram: คือการฉีดสารบางอย่างเข้าไปในหลอดเลือดในขณะตรวจเอคโคหัวใจเพื่อช่วยให้เห็นภาพการไหลเวียนของเลือดดีขึ้น
  • Three-D หรือ Four-D echocardiogram: โดยทั่วไปการตรวจเอคโคหัวใจจะให้ภาพเป็นภาพ 2 มิติ แต่เทคโนโลยีใหม่สามารถตรวจให้ภาพเป็น 3 มิติได้ (ภาพมีความลึก) และถ้าเครื่องที่พัฒนาสูงขึ้นอีกก็สามารถให้ภาพการตรวจเป็น 4 มิติได้คือเป็นภาพที่มีการเคลื่อนไหว
  • Intracardiac echocardiography: โดยการตรวจจะเป็นการสอดหัวเครื่องตรวจและสายสวนเข้าไปในหัวใจ ที่จะช่วยให้ทราบพยาธิสภาพหัวใจได้แม่นยำขึ้น แต่ก็เป็นการตรวจที่ซับซ้อน ใช้เทคโนโลยีสูง และตรวจได้เฉพาะบางโรงพยาบาลขนาดใหญ่เท่านั้น
  • Intravascular ultrasound: โดยการตรวจจะเป็นการสอดหัวเครื่องตรวจและสายสวนเข้าไปในหลอดเลือด ที่จะช่วยให้ได้ทราบพยาธิสภาพหลอดเลือดได้แม่นยำขึ้น แต่ก็เป็นการตรวจที่ซับซ้อน ใช้เทคโนโลยีสูง และตรวจได้เฉพาะบางโรงพยาบาลขนาดใหญ่เท่านั้น

คลื่นเสียงความถี่สูง หรืออัลตราซาวด์ ไม่ใช่รังสีประเภทเอกซเรย์ (Ionizing radiation) ซึ่งจนถึงปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้ว่า อัลตราซาวด์มีผลต่อ DNA ของเซลล์จนก่อให้เกิดเซลล์กลายพันธุ์หรือเกิดการเจริญที่ผิดปกติของเซลล์จนกลายเป็นเซลล์มะเร็ง จึงจัดเป็นคลื่นเสียงหรือรังสีที่อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยจนนำมาใช้ตรวจทารกในครรภ์ได้ แต่ด้วยข้อกำหนดทางการแพทย์ การตรวจนี้จะตรวจได้เฉพาะกรณีมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เท่านั้น

อนึ่งในบทความนี้ขอกล่าวถึงเฉพาะ “การตรวจเอคโคหัวใจวิธีมาตรฐาน หรือ TTE” เท่านั้น

การตรวจเอคโคหัวใจมีประโยชน์อย่างไร?

เอคโคหัวใจ

ประโยชน์จากการตรวจเอคโคหัวใจ ได้แก่

  • ช่วยแพทย์วินิจฉัยโรคหัวใจ โดยตรวจร่วมกับการตรวจวิธีอื่นๆ เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์หัวใจ การสวนหลอดเลือดหัวใจ ทั้งนี้เพื่อการวินิจฉัยโรคทางหัวใจที่แน่นอนขึ้น โดยมักเป็นโรคหัวใจที่เกี่ยวกับ
    • การทำงาน/การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ
    • การทำงานของลิ้นหัวใจ
    • การไหลเวียนของเลือดในหัวใจ
    • การเกิดลิ่มเลือดในหัวใจ
    • ขนาดของห้องหัวใจ
    • และตำแหน่งหลอดเลือดต่างๆที่เข้าและออกจากหัวใจ

ข้อบ่งชี้การตรวจเอคโคหัวใจมีอะไรบ้าง?

ข้อบ่งชี้การตรวจเอคโคหัวใจ เช่น จากประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย, การตรวจร่างกาย, การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจี, อาจร่วมกับเอกซเรย์ภาพปอด, แล้วแพทย์สงสัยว่า ผู้ป่วยอาจมีความผิดปกติจาก

  • การบีบตัว/การเต้นของหัวใจ
  • ขนาดห้องของหัวใจ
  • ความหนาของผนังห้องหัวใจ
  • ลิ้นหัวใจ
  • ตำแหน่งหลอดเลือดที่เข้า-ออกหัวใจ
  • และ/หรือมีน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจ

มีข้อห้าม/อันตรายจากการตรวจเอคโคหัวใจไหม?

ไม่มีข้อห้าม/อันตรายจากการตรวจเอคโคหัวใจด้วยวิธีมาตรฐาน/TTE เพราะเป็นการตรวจที่ปลอดภัย ตรวจได้ในทุกอายุตั้งแต่เป็นทารกในครรภ์ไปจนถึงผู้สูงอายุ เพราะคลื่นเสียงไม่ใช่เอกซเรย์/รังสีไอออนไนซ์ (X-ray/Ionizing radiation) จึงยังไม่มีรายงานที่แน่ชัดถึง การก่ออันตรายต่อ DNA ของเซลล์ รวมถึง ยังไม่พบว่าเป็นสาเหตุให้เซลล์กลายพันธุ์เป็นเซลล์มะเร็ง

ส่วนวิธีอื่นๆที่ไม่ใช่ TTE อาจมีอันตรายบ้างในขั้นตอนการตรวจ ทั้งนี้ขึ้นกับประเภทการตรวจ เช่น จากยาดมสลบกรณีตรวจเอคโคหัวใจทางหลอดอาหาร หรือจากการแพ้สารที่ฉีดเข้าหลอดเลือด ดำกรณีตรวจด้วยวิธี Contrast echocardiogram เป็นต้น

มีข้อจำกัดของการตรวจเอคโคหัวใจไหม?

ข้อจำกัดในการตรวจเอคโคหัวใจขึ้นกับวิธีตรวจ ทั้งนี้ไม่มีข้อจำกัดถ้าเป็นการตรวจด้วยวิธีมาตรฐาน/TTE แต่ถ้าเป็นการตรวจด้วยวิธีอื่นๆอาจมีข้อจำกัดบ้างเช่น จากการต้องใช้ยาสลบ หรือ ต้องมีการออกกำลังกายอย่างหนักร่วมด้วยที่เป็นข้อจำกัดสำหรับผู้ป่วยบางราย

อย่างไรก็ตามการตรวจเอคโคหัวใจ เป็นการตรวจเฉพาะทางที่ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์โรคหัวใจ และจัดเป็นเครื่องตรวจเทคโนโลยีสูงที่มีราคาแพงและต้องมีเจ้าหน้าที่เฉพาะทางด้านนี้เป็นผู้ช่วยแพทย์โรคหัวใจ ดังนั้นการตรวจเอคโคหัวใจจึงมีจำกัดอยู่เฉพาะโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีแพทย์โรคหัวใจประจำทำงานอยู่เท่านั้น

เตรียมตัวอย่างไรก่อนตรวจเอคโคหัวใจ?

การเตรียมตัวในการตรวจเอคโคหัวใจขึ้นกับแต่ละวิธี ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะวิธีที่ใช้บ่อยที่สุด คือวิธีมาตรฐาน/TTE

การตรวจเอคโคหัวใจวิธี TTE เป็นวิธีตรวจที่ไม่จำเป็นต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้า ปลอดภัย ไม่ต้องมีการกินยา ฉีดยาแก้ปวด หรือใช้ยาสลบ ไม่เจ็บ ไม่จำเป็นต้องงดน้ำ งดอาหาร งดยา (แต่ต้องแจ้งแพทย์/พยาบาล/เจ้าหน้าที่ว่ากินยาอะไรอยู่ เพราะยาเหล่านั้นอาจมีผลต่อการทำงานของหัวใจจึงอาจส่งผลกระทบต่อการแปลผลการตรวจได้) เป็นการตรวจที่ตรวจได้เลยและตรวจที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก ไม่ต้องอยู่โรงพยาบาล และสามารถมารับการตรวจคนเดียวได้ถ้าสามารถช่วยเหลือตนเองได้ตามปกติ

ขั้นตอนและวิธีตรวจเอคโคหัวใจทำอย่างไร?

ขั้นตอนการตรวจ TTE จะเริ่มจากแพทย์โรคหัวใจสงสัยการมีโรคหัวใจที่เป็นข้อบ่งชี้ของการตรวจ TTE แพทย์จะส่งผู้ป่วยไปยังแผนกตรวจเอคโคหัวใจเพื่อการนัดวันและเวลาตรวจ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะสอบถามประวัติทางการแพทย์ต่างๆ รวมทั้งยาที่กินอยู่ แนะนำการสวมเสื้อผ้า รองเท้า ที่สะดวกต่อการถอดและสวมใส่เพราะในวันตรวจผู้ป่วยต้องเปลี่ยนเป็นเสื้อผ้าโรงพยาบาล และไม่ควรสวมใส่ของมีค่า ในบางแห่งอาจแนะนำการงดอาหาร น้ำดื่ม (ยกเว้นยา) ประมาณ 2 ชั่วโมงก่อนตรวจ หรือแนะนำกินอาหารเบาๆ

ก. วันตรวจ: ผู้ป่วยควรมาถึงห้องตรวจก่อนนัดประมาณ 30 - 60 นาทีเพื่อการเตรียมเอกสารของโรงพยาบาล เปลี่ยนเครื่องแต่งกาย เข้าห้องน้ำ และนั่งพักให้ปกติก่อนเข้าห้องตรวจ

ข. ในห้องตรวจ: มักมีแพทย์กับเจ้าหน้าที่เฉพาะทาง หรือบางแห่งอาจไม่มีแพทย์แต่เป็นเจ้าหน้าที่ ที่ชำนาญการการตรวจด้านเอคโคหัวใจ แต่เจ้าหน้าที่จะติดต่อปรึกษาแพทย์โรคหัวใจเสมอถึงความสมบูรณ์ของการตรวจก่อนให้ผู้ป่วยกลับบ้าน

  • ในห้องตรวจจะประกอบด้วยเตียงนอนผู้ป่วยและเครื่องมือตรวจ รวมทั้งจอคอมพิวเตอร์ที่ผู้ป่วยสามารถมองเห็นภาพการตรวจได้
  • เจ้าหน้าที่จะขอให้ผู้ป่วยนอนหงายบนเตียงตรวจและถอดเสื้อผ้าส่วนบนออก ต่อจากนั้นจะทาเจลที่ใช้เพื่อช่วยการตรวจนี้ลงบนผนังทรวงอกตำแหน่งที่จะวางหัวตรวจ (Transducer) โดยเจล(Gel) นี้จะเป็นตัวช่วยส่งผ่านสัญญาณเสียงระหว่างหัวเครื่องตรวจกับหัวใจได้ดีขึ้น ส่งผลให้ได้ภาพตรวจที่ชัดเจนขึ้น
  • อนึ่งเจลนี้ไม่มีอันตราย ล้างออกง่ายด้วยน้ำประปาทั่วไป แต่ผู้ป่วยบางคน (น้อยคนมาก) ที่แพ้เจล โดยผิวหนังส่วนที่ทาเจลอาจรู้สึกระคายเคืองหรือขึ้นผื่นเล็กน้อย ซึ่งจะหายไปเองใน 1 - 2 วัน ไม่ต้องมีการรักษาอะไร
  • หลังทาเจลแล้ว เจ้าหน้าที่จะแปะ/ติดหัวตรวจซึ่งต้องติดให้แน่นกับผนังทรวงอก ดังนั้นบาง คนอาจรู้สึกแน่นอึดอัดได้บ้าง
  • หลังจากนั้นผู้ป่วยทำตัวปกติ หายใจปกติ ลืมตาหรือหลับตาก็ได้ อย่าพยายามเคลื่อนไหว ระหว่างตรวจให้นอนในท่าที่เจ้าหน้าที่แนะนำ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นนอนตะแคงซ้าย และอาจมีการเปลี่ยนท่านอนในระหว่างการตรวจ ทั้งนี้เพื่อให้ได้ภาพหัวใจที่ชัดเจนที่สุด
  • ถ้ามีการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ร่วมด้วย ระหว่างตรวจเจ้าหน้าที่ก็จะติดหัวตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ผนังทรวงอกเพิ่มเติมโดยไม่มีการฉีดยา กินยา (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจี)
  • ระหว่างที่ผู้ป่วยนอนนิ่งๆ เปลี่ยนท่านอนตามเจ้าหน้าที่แนะนำ หายใจตามปกติ เครื่องจะจับ คลื่นเสียงที่สะท้อนกลับจากหัวใจ ผ่านผนังทรวงอก ผ่านหัวตรวจ เข้าสู่เครืองแสดงผล/จอคอมพิวเตอร์ เจ้าหน้าที่บันทึกผลอาจเป็นในรูปของแผ่นกระดาษ ซีดี แผ่นฟิลม์ หรือเทป ทั้งนี้แล้วแต่ยี่ห้อเครื่องตรวจ ต่อจากนั้นแพทย์โรคหัวใจจะตรวจสอบผลตรวจในเบื้องต้น ถ้าผลตรวจไม่ครบถ้วนก็จะมีการบันทึกภาพเพิมเติมจนได้ผลครบถ้วนตามแพทย์ต้องการ เจ้าหน้าที่ฯจะถอดเครื่องมือออก เช็ดเจลบนทรวงอกผู้ป่วย อนุญาตให้ผู้ป่วยเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นของตนเอง แล้วกลับมายังเคาเตอร์เพื่อรอรับใบนัดหมายให้มารับผลตรวจ
  • หลังรับใบนัดฟังผล ชำระค่าตรวจ (ถ้ายังไม่ได้ชำระในวันนัดตรวจ) ผู้ป่วยก็กลับบ้านได้ ใช้ชีวิตทุกอย่างตามปกติ คลุกคลีได้กับทุกคนรวมถึงทารกในครรภ์

ใช้เวลาตรวจนานเท่าไร?

การตรวจเอคโคหัวใจวิธีมาตรฐาน/TTE ทั่วไปใช้เวลาตรวจประมาณ 30 - 45 นาที มักไม่เกิน 1 ชั่วโมง

มีผลข้างเคียงจากการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอย่างไร?

โดยทั่วไปไม่มีผลข้างเคียงใดๆจากการตรวจเอคโคหัวใจวิธีมาตรฐาน/TTE แต่บางคนอาจแพ้เล็กน้อยต่อเจลที่ใช้ป้ายผิวหนังดังกล่าวในหัวข้อ “ขั้นตอนการตรวจ”

อนึ่งการตรวจเอคโคหัวใจ/TTE สามารถตรวจซ้ำได้บ่อยตามดุลพินิจของแพทย์ และในวันเดียวกัน อาจตรวจซ้ำหลายๆครั้งก็ได้โดยไม่มีผลข้างเคียง เพราะดังกล่าวแล้วว่าเป็นการตรวจที่ปลอดภัย

ดูแลตนเองอย่างไรหลังตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ?

หลังการตรวจเอคโคหัวใจวิธีมาตรฐาน/TTE ไม่จำเป็นต้องมีการดูแลตนเองเป็นพิเศษแต่อย่างไร สามารถทำงานใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องดูแลผิวหนังที่ทาเจล/ติดหัวตรวจเป็นพิเศษ อาบ น้ำใช้สบู่ ได้ตามปกติ คลุกคลีกับทุกคนที่รวมถึงหญิงตั้งครรภ์และเด็กอ่อนได้ปกติ

ในกรณีมีผื่น/ระคายเคืองผิวหนังดังกล่าวแล้วในหัวข้อ “ขั้นตอนและวิธีตรวจเอคโคหัวใจทำอย่าง ไร?” ก็ไม่จำเป็นต้องมีการดูแลเป็นพิเศษเพราะอาการต่างๆจะเกิดน้อยมากและหายได้เองใน 1 - 2 วัน

แปลผลและทราบผลตรวจเมื่อไร?

แพทย์โรคหัวใจจะแปลผลการตรวจเอคโคหัวใจจากภาพ โดยดูความแรงของการบีบตัวของหัวใจ ขนาดหัวใจ ขนาดห้องต่างๆของหัวใจ ความหนาของผนังห้องหัวใจ ตำแหน่งเข้า-ออกหัวใจของหลอดเลือด ฯลฯ หลังจากนั้นนำมาประกอบกับประวัติอาการของผู้ป่วย การตรวจฟังการเต้นของหัว ใจด้วยหูฟัง การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจี เอกซเรย์ปอด และการตรวจร่างกาย ก็สามารถให้การวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคหัวใจหรือไม่ ถ้าเป็น น่าจะเป็นโรคหัวใจชนิดสาเหตุจากอะไร และจำเป็นต้องตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมหรือไม่ เช่น เอคโคหัวใจวิธีเฉพาะอื่นๆ, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์/ ซีทีสแกนภาพหัวใจ, เอมอาร์ไอภาพหัวใจ, หรือการตรวจสวนหลอดเลือดต่างๆของหัวใจ

ส่วนการจะทราบผลการตรวจเมื่อไหร่ ขึ้นกับแต่ละระบบการทำงานของแต่ละโรงพยาบาลเช่น บางโรงพยาบาลอาจมอบผลตรวจให้กับผู้ป่วยหลังจากตรวจเสร็จ บางโรงพยาบาลนัดผู้ป่วยฟังผลจากแพทย์ผู้ดูแลรักษาผู้ป่วย ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรสอบถามเจ้าหน้าที่ถึงการรับทราบผลตรวจว่าจะต้อง ทำอย่างไร

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Echocardiography[2020,June6]
  2. https://www.heart.org/en/health-topics/heart-attack/diagnosing-a-heart-attack/echocardiogram-echo[2020,June6]
  3. https://www.nhlbi.nih.gov/health-topics/echocardiography [2020,June6]