เวอราปามิล (Verapamil)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 28 ตุลาคม 2557
- Tweet
- บทนำ
- ยาเวอราปามิลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาเวอราปามิลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาเวอราปามิลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาเวอราปามิลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาเวอราปามิลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาเวอราปามิลอย่างไร?
- ยาเวอราปามิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาเวอราปามิลอย่างไร?
- ยาเวอราปามิลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจเสียจังหวะ (Arrhythmia)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
บทนำ
เวอราปามิล (Verapamil) ใช้เป็นยาลดความดันโลหิตและรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ จัดอยู่ในยาลดความดันโลหิตกลุ่ม Calcium channel blocker ซึ่งไม่นานมานี้ทางวงการแพทย์พบว่า การใช้ยาเวอราปามิลรักษาอาการเจ็บหน้าอกที่เนื่องจากเลือดมาเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ (Angina pectoris) กลับจะทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะได้มากยิ่งขึ้น และถือเป็นข้อห้าม ใช้ในผู้ป่วยดังกล่าว
องค์การอนามัยโลกจัดให้เวอราปามิลอยู่ในหมวดยาจำเป็นสำหรับสาธารณสุขขั้นมูลฐานของแต่ละประเทศ ประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้บรรจุยาเวอราปามิลลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ ทำให้เราสามารถพบเห็นการใช้ยาตัวนี้ในหลายสถานพยาบาล
จากการศึกษาเรื่องการกระจายตัวของยาเวอราปามิล หลังจากเข้าสู่กระแสเลือดพบว่า ตัวยาจะจับตัวกับโปรตีนถึง 90% โดยประมาณ ก่อนที่จะถูกส่งไปเปลี่ยนโครงสร้างที่อวัยวะตับ ซึ่งร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 2 - 8 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาออกจากกระแสเลือด 50% โดยส่วนใหญ่ผ่านไปกับปัสสาวะและส่วนน้อยผ่านไปกับอุจจาระ
ยาเวอราปามิลจัดเป็นยาอันตราย สามารถก่อให้เกิดโทษได้หากใช้ผิดวิธี ดังนั้นการใช้ยาเวอราปามิลต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น
ยาเวอราปามิลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาเวอราปามิลมีสรรพคุณดังนี้
- รักษาโรคความดันโลหิตสูง
- รักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด Supraventricular tachyarrhythmias
ยาเวอราปามิลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเวอราปามิลมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยจะทำให้หลอดเลือดขยายตัว ทำให้ภาวะความดันโลหิตสูงทุเลาลง อีกทั้งช่วยให้เลือดนำออกซิเจนไปเลี้ยงหัวใจได้อย่างเพียงพอ จึงเป็นกลไกให้มีฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณ
ยาเวอราปามิลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเวอราปามิลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้
- รูปแบบยาเม็ดขนาด 40, 80 และ 240 มิลลิกรัม/เม็ด
- รูปแบบยาฉีดขนาด 5 มิลลิกรัม/2 มิลลิลิตร
ยาเวอราปามิลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาเวอราปามิลมีขนาดรับประทานดังนี้
ก. ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 40 - 80 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง โดยขึ้นกับอาการและความรุนแรงของโรค หากเป็นยาชนิดออกฤทธิ์เนิ่นนาน (240 มิลลิกรัม/เม็ด) รับประทานครั้งละ 240 มิลลิกรัม ตอนเช้า วันละครั้ง หลังจากนั้นอีก 1 สัปดาห์ ให้เพิ่มขนาดรับประทานเป็นครั้งละ 240 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น
ข. เด็ก: ขนาดรับประทานขึ้นกับ อายุ น้ำหนักตัว และความรุนแรงของโรค จึงต้องอยู่ในการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์เท่านั้น
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเวอราปามิล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาเวอราปามิล อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้นหรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรืออาหารเสริมที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเวอราปามิล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาเวอราปามิลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเวอราปามิลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ได้ดัง นี้ เช่น ท้องผูก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ นอกจากนี้ในผู้ป่วยบางรายอาจพบอาการ ปวดศีรษะ ความดันโลหิตต่ำ ข้อเท้าบวม อ่อนเพลีย หงุดหงิด หัวใจเต้นช้าหรือเร็วผิดจังหวะ อาจพบภาวะหัวใจล้มเหลว บางครั้งจะพบอาการทางผิวหนัง เช่น ผิวหนังอักเสบ (เช่น ขึ้นผื่น ลอก) แพ้แสงแดดง่าย (เช่น ผิวหนัง เจ็บ แสบ แดง) เต้านมโตขึ้น หูอื้อ ตัวสั่น และอื่นๆ
มีข้อควรระวังการใช้ยาเวอราปามิลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเวอราปามิลดังนี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่อยู่ในภาวะช็อกเนื่องจากโรคหัวใจ ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นช้าผิดปกติอยู่แล้ว หรือผู้ที่มีภาวะหัวใจด้านล่างซ้ายทำงานผิดปกติ
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำ และผู้ที่หัวใจเต้นผิดปกติ เช่น เต้นเร็วเกินไปและเต้นได้ไม่สม่ำเสมอ (Atrial Fibrillation)
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนา ผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยที่มีโรคตับ โรคไต
- ระวังการใช้ยากับผู้ป่วยที่เป็นเด็กทารก คนชรา หญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- หากมีการใช้ยานี้เป็นเวลานาน ไม่ควรหยุดยาทันที เพราะจะทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเวอราปามิลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาเวอราปามิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเวอราปามิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้
- การใช้ยาเวอราปามิลร่วมกับยาแก้ปวดจากโรคมะเร็งที่มีฤทธิ์เสพติด เช่น Fentanyl สามารถทำให้ยาแก้ปวดดังกล่าวมีระดับในกระแสเลือดสูงกว่าปกติ และก่อให้เกิดอาการข้าง เคียงมากขึ้น หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการรับประทาน
- การใช้ยาเวอราปามิลร่วมกับยาลดไขมันในเลือด อย่างเช่น Lovastatin, Simvastatin อาจก่อให้กล้ามเนื้อลายเกิดอาการ ปวด เจ็บ และอ่อนแรง และส่งผลให้ไตถูกทำลายจนเกิดไตวายจน กระทั่งอาจเสียชีวิต (ตาย) ได้ ดังนั้น หากมีการใช้ยาร่วมกัน ควรต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด หากพบอาการผิดปกติควรต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที
- การใช้ยาเวอราปามิลร่วมกับยากันชักอย่างเช่น Carbamazepine อาจก่อให้เกิดภาวะเสี่ยงที่จะได้รับผลข้างเคียงของ Carbamazepine มากขึ้น หากต้องใช้ยาร่วมกันควรต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
ควรเก็บรักษายาเวอราปามิลอย่างไร?
ควรเก็บยาเวอราปามิลในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius) เก็บยาให้พ้น แสงแดดและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำ
ยาเวอราปามิลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเวอราปามิลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Caveril (คาเวอริล) | Remedica |
Isoptin (ไอซอพติน) | Abbott |
Isoptin SR (ไอซอพติน เอสอาร์) | Abbott |
Sopmil (ซอพมิล) | T.O. Chemicals |
Vermine (เวอร์มายน์) | Pharmasant Lab |
บรรณานุกรม
1 http://en.wikipedia.org/wiki/Verapamil [2014,Sept27]
2 http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/search?keyword=verapamil [2014,Sept27]
3 http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=verapamil [2014,Sept27]
4 http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=verapamil [2014,Sept27]
5 http://www.mims.com/USA/drug/info/verapamil/?type=full&mtype=generic [2014,Sept27]
6 http://www.drugs.com/drug-interactions/verapamil.html [2014,Sept27]
7 http://www.medicinenet.com/verapamil/article.htm [2014,Sept27]
- ยา
Symptom: โรคหัวใจ
Organ: หัวใจและหลอดเลือด
System: เภสัชกรรม