เวคิวโรเนียม (Vecuronium)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 5 พฤษภาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- เวคิวโรเนียมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- เวคิวโรเนียมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เวคิวโรเนียมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เวคิวโรเนียมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- เวคิวโรเนียมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เวคิวโรเนียมอย่างไร?
- เวคิวโรเนียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเวคิวโรเนียมอย่างไร?
- เวคิวโรเนียมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาหย่อนกล้ามเนื้อ (Nondepolarizing neuromuscular blocker)
- ยาคลายกล้ามเนื้อ (Muscle relaxants drugs)
- ยาไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone)
- ยาแอมโลดิปีน (Amlodipine)
บทนำ
ยาเวคิวโรเนียม (Vecuronium หรือ Vecuronium bromide) เป็นยาคลายกล้ามเนื้อที่อยู่ในหมวดหมู่นอน-ดีโพลาไรซิ่ง บล็อกกิ้ง เอเจนท์ (Non-depolarizing blocking agents, ยาหย่อนกล้ามเนื้อ) ทางคลินิกได้นำยานี้มาใช้ในผู้ป่วยที่ต้องสอดท่อช่วยหายใจรวมถึงผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด
องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้ยาเวคิวโรเนียมเป็นหนึ่งรายการยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลแต่ละแห่งควรมีสำรองใช้เพื่อให้บริการกับผู้ป่วย
รูปแบบของยาแผนปัจจุบันของยาเวคิวโรเนียมจะเป็นยาฉีด ยาเวคิวโรเนียมสามารถอยู่ในกระแสเลือดของมนุษย์ได้นานประมาณ 51 - 80 นาที และตัวยาบางส่วนจะถูกส่งไปทำลายที่ตับ การกำจัดยาออกจากร่างกายจะถูกผ่านทิ้งไปกับอุจจาระและปัสสาวะ
มีข้อจำกัดการใช้ยาเวคิวโรเนียมที่ผู้บริโภคควรทราบก่อนการใช้ยานี้เช่น
- ต้องไม่มีประวัติการแพ้ยาชนิดนี้มาก่อน
- ผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสียจากการได้รับพิษหรือมีภาวะลำไส้ใหญ่อักเสบ (Pseudomem branous colitis) ก็อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ห้ามใช้ยานี้
- เป็นผู้ที่กำลังใช้ยา Quinine หรือ Quinidine ด้วยยาดังกล่าวห้ามใช้ร่วมกับเวคิวโรเนียม
- สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาทุกชนิดซึ่งรวมยาเวคิวโรเนียมอยู่ด้วย
- ผู้ป่วยโรคหืด ต่อมลูกหมากโต ปัสสาวะขัด ผู้ที่มีปัญหาเรื่องการไหลเวียนของเลือด หัวใจ เต้นผิดปกติ ผู้ป่วยโรคตับโรคไต ผู้ที่มีปัญหาในระบบต่อมไร้ท่อ ผู้ป่วยด้วยโรค/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ผู้มีปัญหาทางจิตประสาทหรือเคยคิดฆ่าตัวตาย ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทางศีรษะ ผู้ที่มีความดันในกะโหลกศีรษะสูง ผู้ป่วยด้วยอาการชัก หรือผู้ที่มีโรคระบบทางเดินอาหารอักเสบแบบต่างๆ (เช่น ลำไส้ใหญ่อักเสบ) กลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้หากจำเป็นต้องใช้ยาเวคิวโรเนียมจะต้องเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ยาเป็นอย่างมาก
- มียาบางประเภทเมื่อใช้ร่วมกับยาเวคิวโรเนียมสามารถทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยาเวคิวโรเนียมเพิ่มขึ้นได้เช่น ยากลุ่ม Aminoglycosides, Clindamycin, Cyclosporine, ยาสลบชนิดสูดพ่นผ่านจมูกอย่างเช่น Enflurane, ยา Lincomycin, ยากลุ่มแมกนีเซียมแบบต่างๆ (เช่น Magnesium hydroxide), Trimethaphan (ยาลดความดันโลหิต), Verapamil และอาจรวมถึงยาอื่นที่ยังมิได้กล่าวถึง จึงเป็นเหตุผลที่ผู้ป่วยต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้งว่ามีการใช้ยาอื่นๆชนิดใดอยู่ก่อนหน้านี้
- กรณีเป็นผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มที่อาจได้รับผลกระทบ (ผลข้างเคียง) จากยานี้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
- การใช้ยานี้กับผู้ป่วยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 7 สัปดาห์ถือเป็นข้อที่ต้องระวังเป็นอย่างมากด้วยยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกระบุความปลอดภัยในการใช้ยากับผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างชัดเจน
- หลังได้รับยานี้อาจก่อให้เกิดการไหลเวียนของโลหิตที่ออกจากหัวใจเปลี่ยนแปลงไป ผู้ป่วยจะต้องอยู่ที่สถานพยาบาลสักระยะหนึ่งเพื่อให้แพทย์ตรวจสอบจนมั่นใจว่าร่างกายกลับมาเป็นปกติหลังใช้ยานี้ แพทย์จึงจะอนุญาตให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้
ด้านอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) จากยาเวคิวโรเนียมที่ดูเหมือนจะรุนแรงที่สุดได้แก่ แน่นหน้าอก/เกิดภาวะหายใจขัดข้อง/หายใจลำบาก มีอาการบวมของริมฝีปาก-ใบหน้า-ลิ้น มีภาวะวิงเวียน และมีไข้ อาจเกิดภาวะหัวใจเต้นช้าลง ดังนั้นระหว่างที่ได้รับยานี้ผู้ป่วยจะได้รับการควบคุมสัญญาณชีพต่างๆและอยู่ภายใต้การดูแลของบุคลากรทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด
ยาเวคิวโรเนียมยังมีข้อบ่งใช้บางประการที่ไม่ได้จัดอยู่ในประโยชน์ทางคลินิกกล่าวคือ บางประเทศในแถบซีกโลกตะวันตกได้ใช้ยานี้ในกระบวนการประหารชีวิตโดยใช้กลไกทำให้ระบบการหายใจเป็นอัมพาต
สำหรับประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยาได้จัดให้ยาเวคิวโรเนียมอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ผู้บริโภคสามารถพบเห็นการใช้ยาชนิดนี้แต่เฉพาะในสถานพยาบาลเท่านั้น
เวคิวโรเนียมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาเวคิวโรเนียมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น ใช้เป็นยาร่วมในกระบวนการวางยาสลบเพื่อหัตถการทางการแพทย์เช่น การผ่าตัด การสอดใส่ท่อช่วยหายใจ
เวคิวโรเนียมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเวคิวโรเนียมมีกลไกออกฤทธิ์โดยตัวยาจะปิดกั้นกระแสประสาทจากเส้นใยประสาทที่หล่อเลี้ยงบริเวณกล้ามเนื้อลาย ส่งผลให้กล้ามเนื้อลายเกิดการคลายตัวทำให้ง่ายต่อการทำหัตถการทางการแพทย์ จนเป็นที่มาของสรรพคุณ
เวคิวโรเนียมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเวคิวโรเนียมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น ยาฉีดขนาด 10 และ 20 มิลลิกรัม/ขวด
เวคิวโรเนียมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาเวคิวโรเนียมมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาเช่น
- ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำเริ่มต้นที่ 0.1 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับยาไปแล้วเป็นเวลา 25 - 40 นาทีให้หยดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 0.01 - 0.015 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมโดยให้ยาต่อเนื่องในทุก 12 - 15 นาที
- เด็ก: การใช้ยากับเด็กให้พิจารณาเป็นกรณีของช่วงอายุเด็ก สามารถใช้แนวทางการให้ยาจากเอกสารกำกับยานี้ร่วมกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาเวคิวโรเนียม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาเวคิวโรเนียมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
เวคิวโรเนียมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเวคิวโรเนียมสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น เกิดกล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อไม่มีแรงเหมือนเป็นอัมพาต กล้ามเนื้อลีบลง ก่อให้เกิดภาวะหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก
*ผู้ที่มีอาการแพ้ยาเวคิวโรเนียมจะมีอาการหลอดลมตีบ/หดเกร็ง/หายใจลำบาก ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว มีลมพิษ และผื่นบวมขึ้นเฉียบพลัน
มีข้อควรระวังการใช้เวคิวโรเนียมอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเวคิวโรเนียมเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามใช้ยาที่เสื่อมสภาพแล้ว
- หากพบอาการแพ้ยานี้เช่น อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ตัวบวมหรือมีผื่นคันขึ้นเต็มตัว ต้องหยุดใช้ยานี้ทันทีและแจ้งแพทย์ทันที
- แจ้งแพทย์ทุกครั้งว่ามีการใช้ยาอื่นชนิดใดอยู่บ้างด้วยยาเวคิวโรเนียมสามารถเกิดปฏิกิริยา ระหว่างยากับยาอื่นได้หลายรายการ
- หลังการใช้ยานี้ผู้ป่วยต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ระยะหนึ่งเพื่อรอให้ร่างกายปรับสภาพกลับมาเป็นปกติ แพทย์จึงจะอนุญาตให้กลับบ้านได้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเวคิวโรเนียมด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
เวคิวโรเนียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเวคิวโรเนียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- การใช้ยาเวคิวโรเนียมร่วมกับยา Amikacin, Neomycin, Gentamycin, Tobramycin อาจทำให้ระดับยาเวคิวโรเนียมในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นจนสามารถทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงต่างๆติดตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาเวคิวโรเนียมร่วมกับยา Hydrocortisone อาจทำให้เสี่ยงต่อความผิดปกติที่จะเกิดขึ้นกับระบบกล้ามเนื้อของผู้ป่วย หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาเวคิวโรเนียมร่วมกับยา Amlodipine อาจทำให้ระบบการหายใจติดขัดคล้ายเป็นอัมพาต เพื่อหลีกเลี่ยงอาการเหล่านี้แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยาเวคิวโรเนียมร่วมกับยา Fentanyl อาจทำให้อัตราการเต้นของหัวใจลดลงรวมถึงทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป
ควรเก็บรักษาเวคิวโรเนียมอย่างไร?
ควรเก็บยาเวคิวโรเนียมตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาที่หมดอายุ
เวคิวโรเนียมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเวคิวโรเนียมที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
GERVEC (เจอเวค) | German Rem |
KABIVEC (คาบิเวค) | Fresenius Kabi |
NEOVEC (นีโอเวค) | Neon Labs |
Norcuron (นอร์คูรอน) | NV Organon |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Vecuronium_bromide [2016,April16]
- http://www.drugs.com/cdi/vecuronium.html [2016,April16]
- http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/194#item-9080 [2016,April16]
- http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=Vecuronium+bromide [2016,April16]
- http://www.corvallisoregon.gov/ems-protocols/Pharmacology%20Section/Vecuronium-Final.pdf [2016,April16]
- http://www.drugs.com/drug-interactions/vecuronium-index.html?filter=3&generic_only= [2016,April16]
- http://www.mims.com/India/drug/search?q=vecuronium%20bromide [2016,April16]