เลโวไทรอกซีน ไทรอกซิน เอลทรอกซิน (Levothyroxine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเลโวไทรอกซีน (Levothyroxine หรือ L-thyroxine) หรือนิยมเรียกสั้นๆว่า ‘ไทรอกซีน (Thyroxine)’ หรือชื่อการค้าที่รู้จักกันดี คือ ‘เอลทรอกซิน (Eltroxin)’ ถูกสังเคราะห์เพื่อนำมาใช้กับผู้ป่วยที่มีภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ(ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน) ซึ่งมีสาเหตุจากความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ การรับประทานยานี้จะช่วยปรับระดับการเผาผลาญพลังงาน, ขบวนการสัง เคราะห์, ขบวนการทำลายในระดับเซลล์ของร่างกาย ให้กลับมาเป็นปกติ เช่น การทำงานของ สมอง, การควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย, การเจริญเติบโตของกระดูกและของเนื้อเยื่อในอวัยวะต่างๆ เป็นต้น

หลังจากร่างกายได้รับยาเลโวไทรอกซีน ยาจะถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีที่อวัยวะตับ สมอง กล้ามเนื้อ และไต ร่างกายจะใช้เวลา 6 - 7 วัน ในการกำจัดยาออกจากร่างกาย 50% โดยผ่านไปกับอุจจาระและปัสสาวะ

ด้วยเลโวไทรอกซีนเป็นฮอร์โมนสังเคราะห์ จึงมีฤทธิ์ต่อระบบการทำงานของอวัยวะสำคัญ ของร่างกาย ก่อนการใช้ยาจึงต้องมีการตรวจเลือด เพื่อที่แพทย์จะได้สั่งจ่ายยาในขนาดที่ถูกต้อง และปลอดภัยต่อผู้ป่วย

ยาเลโวไทรอกซีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร

เลโวไทรอกซีน

สรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ของยาเลโวไทรอกซีน เช่น

  • ใช้รักษาผู้ป่วยที่มีระดับไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ

ยาเลโวไทรอกซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธ์ของยาเลโวไทรอกซีนคือ ยาจะถูกเปลี่ยนโครงสร้างไปเป็นสาร L-tri iodothyronine และจะถูกส่งเข้าไปจับกับตัวรับ (Receptor) ของไทรอยด์ฮอร์โมนในระดับเซลล์ ส่งผลให้เซลล์ต่างๆถูกกระตุ้นให้ทำงานตามที่ร่างกายต้องการ

ยาเลโวไทรอกซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ในต่างประเทศมีการจัดจำหน่ายยาเลโวไทรอกซีนในรูปแบบยาเม็ดรับประทานและยาฉีด สำหรับประเทศไทยเรามีการจัดจำหน่ายในรูปแบบของ

  • ยาเม็ดขนาดความแรง 50 และ 100 ไมโครกรัม/เม็ด

ยาเลโวไทรอกซีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดรับประทานของยาเลโวไทรอกซีน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 100 – 300 ไมโครกรัม วันละครั้ง
  • เด็กอายุมากกว่า 1 ปี: รับประทานครั้งละ 25 – 50 ไมโครกรัมต่อวัน หรือ 2.5 – 5 ไม โครกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน
  • เด็กอายุตั้งแต่1ปีลงมา: อยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป

อนึ่ง:

  • ควรรับประทานยาเลโวไทรอกซิน ก่อนอาหารเป็นเวลา ½ - 1 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ และ
  • ต้องใช้ยานี้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเลโวไทรอกซีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หาย ใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเลโวไทรอกซีน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ /มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเลโวไทรอกซีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาเลโวไทรอกซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

อาจพบผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) หลังการใช้ยาเลโวไทรอกซีน เช่น

  • ปวดศีรษะ /ปวดหัว
  • หงุดหงิด
  • น้ำหนักตัวลด
  • เจ็บหน้าอก
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ

มีข้อควรระวังการใช้ยาเลโวไทรอกซีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังในการใช้ยาเลโวไทรอกซีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยาเลโวไทรอกซีน
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวชนิดเฉียบพลัน
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วย โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือผู้ที่มีภาวะต่อมหมวกไตทำงานน้อย
  • ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้สูงอายุ และหญิงที่กำลังตั้งครรภ์
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมถึงยาเลโวไทรอกซีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาเลโวไทรอกซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเลโวไทรอกซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาเลโวไทรอกซีนร่วมกับยาลดน้ำมูกบางตัว สามารถทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง เจ็บหน้าอก ใจสั่น และ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ยาลดน้ำมูกตัวดังกล่าว เช่นยา Phenylephrine, Pseudoephedrine
  • การใช้ยาเลโวไทรอกซีนร่วมกับยาบำรุงร่างกายกลุ่มวิตามินรวม (Multivitamin with Mineral) สามารถลดประสิทธิผลในการรักษาของยาเลโวไทรอกซิน หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน ควรแนะนำผู้ป่วยให้รับประทานยาห่างกัน 4 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ
  • การใช้ยาเลโวไทรอกซีนร่วมกับยาลดกรด สามารถรบกวนการดูดซึมของยาเลโวไทรอกซินจนส่งผลให้ประสิทธิภาพการรักษาด้อยลงไป หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน ควรเว้นระยะเวลาการรับประทานห่างกัน 4 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ ยาลดกรดกลุ่มดังกล่าว เช่นยา Aluminium Hydroxide, Calcium Carbonate, และ Magnesium Hydroxide เป็นต้น
  • การใช้ยาเลโวไทรอกซีนร่วมกับยาเบาหวาน สามารถส่งผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือด อาจต้องแจ้งแพทย์เพื่อแพทย์ปรับขนาดรับประทานยาของผู้ป่วย ยารักษาโรคเบาหวานที่กล่าวถึง เช่นยา Glimepiride, Glipizide, และ Metformin เป็นต้น

ควรเก็บรักษายาเลโวไทรอกซินอย่างไร?

ควรเก็บยาเลโวไทรอกซีน เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • เก็บยาในที่ที่พ้นแสง/ แสงแดด
  • เก็บยาบรรจุด้วยภาชนะสีชาที่ปิดมิดชิด หลีกเลี่ยงความร้อนและความชื้น และ
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาเลโวไทรอกซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเลโวไทรอกซีน มียาชื่อการค้า และชื่อบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
El-Thyro (เอล-ไทโร) M.J. Biopharm
Eltroxin (เอลทรอกซิน) Aspen Pharmacare
Euthyrox (ยูไทร็อก) Merck
Patroxin (แพทร็อกซิน) Patar Lab
Pondtroxin (พอนทร็อกซิน) Pond’s Chemical
Thyrosit (ไทโรซิด) Sriprasit Pharma
Thyroxine-Lam Thong (ไทร็อกซีน-แหลมทอง) Lam Thong

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Levothyroxine [2020,Nov21]
  2. https://www.medicinenet.com/levothyroxine_sodium/article.htm [2020,Nov21]
  3. https://www.mims.com/Thailand/drug/AdvancedSearch/ [2020,Nov21]
  4. https://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fThyrosit%2f%3fq%3dlevothyroxine%2520sodium%26type%3dbrief [2020,Nov21]
  5. https://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fThyroxine-Lam%2520Thong%2f%3fq%3dlevothyroxine%2520sodium%26type%3dbrief [2020,Nov21]
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/12-hour-cold-with-levothyroxine-822-9327-1463-0.html [2020,Nov21]
  7. https://www.medsafe.govt.nz/consumers/cmi/l/levothyroxine.pdf [2020,Nov21]