เลือดกำเดา การตกเลือดกำเดา (Epistaxis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

เลือดกำเดาคืออะไร? พบได้บ่อยไหม?

เลือดกำเดา หรือ การตกเลือดกำเดา (Epistaxis หรือ Nosebleed) คือ ภาวะที่มีเลือดไหลออกจากช่องจมูก หนึ่งหรือสองช่องก็ได้ โดย 90% ของผู้ป่วย เลือดมักไหลออกจากจมูกส่วนด้านหน้า

เลือดกำเดา พบบ่อยในเด็กที่ชอบใช้เล็บแคะขี้มูกที่แห้งแข็งติดจมูกส่วนด้านหน้า ซึ่งเป็นบริเวณที่หลอดเลือดแดงหลายเส้นมาบรรจบกันเป็นร่างแห หรือเป็นตาข่าย ที่เรียกว่า Kiesselbach’s plexus

เลือดกำเดา เป็นอาการ/ภาวะพบได้บ่อย โดยประมาณ 10% ของประชากรจะมีเลือดกำเดาออกครั้งหนึ่งในชีวิต แต่ประมาณ 10 % ของผู้ป่วยเท่านั้น ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ทั้งนี้ อัตราส่วนของผู้หญิงต่อผู้ชายที่เกิดอาการ คือ 1:1 โดยเป็นอาการที่พบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ พบได้สูงในเด็กช่วงอายุ 2-10 ปี แต่มักไม่พบในเด็กอ่อน

เลือดกำเดาเป็นภาวะรุนแรงไหม ? มีผลข้างเคียงไหม?

เลือดกำเดา

ความรุนแรงของอาการเลือดกำเดาขึ้นกับสาเหตุ โดยทั่วไป เลือดมักหยุดได้เอง ยกเว้นบางกรณีที่เลือดจะออกมาก ไม่สามารถหยุดเองได้ ซึ่งผู้ป่วยต้องพบแพทย์ คือ เมื่อสาเหตุเกิดจาก เนื้องอก โรคมะเร็ง หรือภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

โดยทั่วไป ไม่ค่อยพบผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนจากตกเลือดกำเดา ยกเว้นเมื่อเลือดออกมาก หรือมีเลือดกำเดาออกบ่อย ซึ่งอาจก่อให้เกิดภาวะซีดได้

แต่ในทางอ้อม การตกเลือดกำเดา อาจทำให้ผู้ป่วย และ/หรือญาติผู้อยู่ใกล้ตัวผู้ป่วย เป็นลม หมดสติ ภาวะหายใจล้มเหลว และ/หรือหกล้มหัวฟาด อันเนื่องจากตื่นตระหนกตกใจกลัวที่เห็นเลือดได้

เลือดกำเดามีสาเหตุเกิดจากอะไร?

สาเหตุของการตกเลือดกำเดา คือ

1. สาเหตุเฉพาะที่ในจมูก ซึ่งที่พบได้บ่อย คือ

  • จากความผิดปกติทางกายวิภาคของโพรงจมูก เช่น ผนังจมูกคด หรือผนังจมูกทะลุ ทำให้กระแสลมที่ผ่านจมูก ไหลวนผิดปกติ ทำให้เยื่อบุจมูกแห้ง ส่งผลให้หลอดเลือดบริเวณโพรงจมูกเปราะแตกง่าย
  • การติดเชื้อในโพรงจมูก และ/หรือมี ไซนัสอักเสบ ส่งผลให้หลอดเลือดในจมูก บวมอักเสบ แตกได้ง่าย
  • จากแคะจมูก จนเกิดแผล หรือจนหลอดเลือดแตก
  • จมูกถูกกระแทกจากอุบัติเหตุ
  • มีสิ่งแปลกปลอมในจมูก เช่น ปลิง หรือเมล็ดผลไม้ ซึ่งก่อให้เกิดแผล และการติดเชื้อ

อนึ่ง สาเหตุที่พบไม่บ่อย ที่ทำให้มีเลือดกำเดาออกทีละมากๆ พบได้ในเด็กผู้ชาย ได้แก่ เนื้องอกในจมูก (Juvenile angiofibroma) นอกนั้น อาจพบสาเหตุเกิดจากโรคมะเร็งในโพรงจมูก ในไซนัส หรือในโพรงหลังจมูกได้ ซึ่งทั้งหมดเป็นโรคมะเร็งในผู้ใหญ่

2. สาเหตุของความผิดปกติของระบบร่างกาย ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เพราะเป็นโรคที่มีผนังหลอดเลือดตีบแข็ง และการยืดหยุ่นของหลอดเลือดไม่ดี หลอดเลือดจึงแตกได้ง่าย โรค/ภาวะตับวาย โรค/ภาวะไตวาย โรคหลอดเลือดผิดปกติที่ทำให้ผนังหลอดเลือดแตกได้ง่าย และการมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

นอกนั้น อาจเกิดจากผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยาแอสไพริน ยาแก้ปวดชนิดที่ต้านการอักเสบ/ยาแก้อักเสบ ที่เรียกว่า เอนเสดส์ (NSAID) หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วอร์ฟาริน (Warfarin) และ เฮปาริน (Heparin)

อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดเลือดกำเดาออกซ้ำ?

เลือดกำเดาออกซ้ำ มักเกิดจาก

1. มีความผิดปกติทางกายวิภาคดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ และไม่ได้รับการดูแลรักษา

2. การติดเชื้อในโพรงจมูกและ/หรือในไซนัส (ไซนัสอักเสบ)

3. โรคภูมิแพ้ทำให้คันจมูก ต้องเอานิ้วแคะ หรือขยี้บริเวณที่หลอดเลือดในผนังจมูกมาบรรจบกันเป็นร่างแห หรือเป็นตาข่าย (Kiesselbach’s plexus)

4. ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

5. ผลข้างเคียงจากยาบางชนิดที่ต้องกินเป็นประจำ ดังกล่าวแล้วในหัวข้อสาเหตุ

6. มีเนื้องอก หรือโรคมะเร็ง ในโพรงจมูก ในไซนัส หรือในโพรงหลังจมูก

แพทย์จะทำการตรวจอะไรกับคนไข้ที่ตกเลือดกำเดา?

ก่อนอื่นแพทย์จะทำการหยุดเลือดไม่ให้ไหล แล้วต่อมาจะสอบถามประวัติของโรคต่างๆดังได้กล่าวแล้ว หลังจากนั้น จึงทำการตรวจร่างกาย โดยใช้เครื่องตรวจในช่อง/โพรงจมูก เมื่อพบจุดเลือดออก จะห้ามเลือดโดยใช้สำลีชุบยาหดหลอดเลือด (Vasoconstrictors) หรือใช้ผ้าก๊อซ (Gauze) สอดอัดบริเวณที่มีเลือดกำเดา หรืออาจใช้ยาซึ่งเป็นกรดชนิดอ่อน จี้บริเวณที่มีเลือดออก หรือใช้มือบีบจมูกผู้ป่วยไว้ ทั้งนี้การจะเลือกใช้วิธีไหน ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์

การตรวจทางห้องทดลอง/การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

1. เจาะเลือดตรวจซีบีซี/CBC เกล็ดเลือด และตรวจหาระยะเวลาที่ใช้ในการหยุดภาวะเลือดออก หรือใช้ในการแข็งตัวของเลือด (Coagulation studies)

2. ตรวจภาพตำแหน่งที่คาดว่าเป็นต้นเหตุของเลือดออก เช่น เอกซเรย์ไซนัสเพื่อดูการติดเชื้อของโพรงไซนัส (ไซนัสอักเสบ) เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ เอมอาร์ไอ เมื่อสงสัยสาเหตุจาก เนื้องอก หรือจาก โรคมะเร็ง และตรวจหลอดเลือดของจมูกและลำคอ (Carotid angiogram) เพื่อหาจุดเลือดออกในกรณีเลือดออกไม่หยุด หลังการดูแลรักษาในเบื้องต้น

รักษาการตกเลือดกำเดาอย่างไร?

แนวทางการรักษาการตกเลือดกำเดา ได้แก่

1. หยุดเลือดโดย

  • การใช้ยาเฉพาะที่เพื่อให้หลอดเลือดหดตัวเพื่อช่วยให้เลือดหยุด
  • การทำให้หลอดเลือดที่มีเลือดออกตีบตัน ด้วยการสอดใส่ผ้าก๊อซเข้าทางด้านหน้า และ/หรือด้านหลังช่องจมูกเพื่อกดอัดหลอดเลือด
  • การผ่าตัดผูก หลอดเลือด
  • หรือการใส่สารเข้าไปในหลอดเลือดเพื่ออุดหลอดเลือดที่มีเลือดออก (Embolization) ซึ่งจะเลือกใช้วิธีการใด ขึ้นกับความรุนแรงของการมีเลือดออก สาเหตุ และดุลพินิจของแพทย์

2. จัดท่าให้ผู้ป่วยนั่งหัวสูง ก้มหน้าเล็กน้อย เพื่อไม่ให้เลือดไหลลงคอซึ่งจะทำให้สำลักเลือด เลือดจะออกมากขึ้น และเลือดอาจไหลเข้าไปในปอดก่อให้เกิดปอดอักเสบตามมาได้ เอาผ้าเย็นประคบสันจมูก เพื่อให้ความเย็นช่วยทำให้หลอดเลือดหดตัว

3. รักษาตามอาการ เช่น เอาสำลีชุบยาหดหลอดเลือดสอดใส่และกดอัดในโพรงจมูกบริเวณเลือดออก และ/หรือ เอามือบีบจมูกไว้

ป้องกันเลือดกำเดาออกได้ไหม ? อย่างไร ?

การป้องกันการตกเลือดกำเดา ต้องหาสาเหตุให้พบ และให้การดูแลรักษาตามสาเหตุนั้นๆ จึงจะป้องกันได้ เช่น สอนเด็กไม่ให้แคะจมูก หรือสอดใส่สิ่งแปลกปลอมเข้าไปในโพรงจมูก การรักษาผนังจมูกคด และการรักษาเนื้องอก หรือโรคมะเร็ง เป็นต้น เมื่อสาเหตุเหล่านั้นอาจก่อให้เกิดการตกเลือดกำเดาได้

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อตกเลือดกำเดา?

อยู่ที่บ้านวิธีง่ายๆในการดูแลตัวเองเมื่อตกเลือดกำเดา คือ ให้นั่งหัวสูง ก้มหน้าเล็กน้อย เอามือกดผนังจมูกข้างนั้น ถ้าเลือดออกจากสองข้างของจมูก ให้เอามือบีบจมูกไว้ (หายใจทางปากแทน) การกด/บีบ ต้องกด/บีบให้แน่น และควรทำนานประมาณ 10-20 นาที ที่ต้องทำดังนี้เพราะว่า 90% เลือดมักออกจากหลอดเลือดจมูกส่วนหน้าดังกล่าวแล้ว การกด/บีบจมูกจึงช่วยกดบีบหลอดเลือด จึงช่วยให้เลือดหยุดไหลได้ นอกจากนั้น อาจให้คนช่วยใช้น้ำแข็งประคบจมูก ห้ามใส่น้ำแข็งเข้าไปในจมูก

ภายใน 24 ชั่วโมงหลังเลือดหยุดต้องป้องกันไม่ให้เลือดออกซ้ำ โดย

  • พักผ่อน ไม่ควรออกแรง เล่นนอกบ้าน หรือเล่นรุนแรง
  • ไม่สั่งน้ำมูกแรง ไม่แคะจมูก
  • ไม่ยกของหนัก
  • ไม่ดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มอุ่น/ร้อน เพราะหลอดเลือดจะขยาย เลือดจึงอาจออกได้อีก
  • แพทย์บางท่านแนะนำให้ ช่วงนอนหลับ ควรหนุนหมอนสูง

ดูแลเด็กอย่างไรเมื่อเด็กมีเลือดกำเดาออก?

การดูแลเด็กเลือดกำเดาออก คือ

1. หยุดเลือดโดยการบีบจมูกเช่นเดียวกับที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อการดูแลตนเอง นานประมาณ 10-20 นาที

2. ใช้ยาหดหลอดเลือดโดยชุบสำลี หรือใช้ผ้าก๊อซ หรือสำลีเปล่าที่สะอาด (กรณีไม่มียาหดหลอดเลือด) สอดอัดเข้าในช่องจมูกด้านเลือดออกให้แน่น

3. ให้เด็กนั่งก้มหน้าแล้วใช้ผ้าเย็นประคบดั้งจมูก

4. ถ้าเลือดไม่หยุดภายใน 20 นาที ให้นำเด็กไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน

เมื่อไรควรพบแพทย์?

ควรรีบพบแพทย์/แพทย์หูคอจมูก หรือไปโรงพยาบาลฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงที่เลือดออก เมื่อ

  • เลือดกำเดา เกิดจากอุบัติเหตุ เช่น ถูกของแข็งที่จมูก
  • เลือดออกมาก และ/หรือ มีอาการผิดปกติร่วมด้วย เช่น วิงเวียน ซีด เหงื่ออกมาก ใจสั่น เป็นลม
  • มีปัญหาทางการหายใจ
  • เลือดไม่หยุดภายใน 20 นาที ทั้งที่ได้รับการดูแลในเบื้องต้นแล้ว
  • มีประวัติเป็นโรคเลือดและ/หรือ มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
  • เป็นโรคความดันโลหิตสูง ภาวะตับวาย หรือ ภาวะไตวาย
  • ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด
  • เมื่อเลือดกำเดาออกซ้ำภายใน 24 ชั่วโมง
  • เมื่อเลือดกำเดาออกบ่อย
  • เมื่อเกิดในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี
  • เมื่อกังวลในอาการ

บรรณานุกรม

  1. http://www.mayoclinic.org/symptoms/nosebleeds/basics/when-to-see-doctor/sym-20050914 [2018,June30]
  2. Padgam N. Epistaxis : anatomical and clinical correlate. J Laryngol Otol 1990 ; 104 : 308
  3. Satyyawati, Singhal SK, Multiple live leech from nose in single patient-a rare entity Indian J of Otolaryngol H&N Surg. 2002 ; 54 : 154-155.
  4. Tan LKS., Calmoun KH. Epistaxis. Med Clin North America. 1999 ; 83 : 43-56
  5. Wurman LH. The management of epistaxis. Am. J Otol 1992 ; 13 : 193
  6. Elani MM. Therapeutic embolization in the treatment of in tractable epistaxis. Arch Otol Head Neck surgery 1996 ; 121 ; 65
  7. Call WH. ; Control of epistaxis. Surg. Clin North. Am 1969 ; 49 : 1235-1247
  8. Shaheen OH. Arterial epistaxis. J. Laryngol Otol 1975 ; 17-34
  9. กรีฑา ม่วงทอง. Epistaxis. หู คอ จมูก เร่งด่วน ใน : กรีฑา ม่วงทอง ปริยนันทน์ จารุจินดา ธฤต มุนินทร์นพมาศ บรรณาธิการ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า โครงการตำราพิมพ์ครั้งที่ 1 ก.ย. 2552 นำอักษรการพิมพ์ 91-103.