เลสเบี้ยนก็เสี่ยงมะเร็งปากมดลูก (ตอนที่ 1)

เลสเบี้ยนก็เสี่ยงมะเร็งปากมดลูก-1

      

      Dr Michael Brady ที่ปรึกษาสุขภาพของ NHS England's LGBT (The NHS England Lesbian Gay Bisexual and Trans) ได้เปิดเผยว่า เป็นความเข้าใจผิดว่า พวกรักร่วมเพศ เกย์ เลสเบี้ยน จะไม่มีความเสี่ยงในการติดโรคจากการมีเพศสัมพันธ์ เพราะตราบใดที่คุณมีปากมดลูก คุณก็สามารถที่จะเป็นมะเร็งที่ปากมดลูกได้ ซึ่งมะเร็งชนิดนี้เป็นมะเร็งที่เราสามารถป้องกันได้ ดังนั้น เราจึงควรมีการตรวจสุขภาพให้เป็นประจำ

      การตรวจแปปสเมียร์ (Smear test) จะช่วยในการคัดกรองถึงความเปลี่ยนแปลงที่ปากมดลูกซึ่งสามารถพัฒนาไปเป็นเซลล์มะเร็งได้ โดยเกือบทั้งหมดของมะเร็งปากมดลูกมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ Human papillomavirus (HPV)

      Prof Anne Mackie กรรมการของ Public Health England ได้กล่าวว่า ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงด้วยกันก็สามารถติดเชื้อ HPV ได้

      ดังนั้น ผู้หญิงที่มีปากมดลูก (Cervix) อายุระหว่าง 25 และ 64 ปี จึงควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ

      มะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer) เป็นมะเร็งที่เกิดในเซลล์ของปากมดลูก (Cervix) ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส Human papillomavirus (HPV) โดยติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งเชื้อไวรัสนี้สามารถทำให้เซลล์ปากมดลูกที่ปกติกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากสภาพแวดล้อมและวิถีการใช้ชีวิตด้วย

      มะเร็งปากมดลูกสามารถแบ่งออกได้เป็น

  • ชนิด Squamous cell carcinoma ซึ่งเป็นชนิดที่พบมากถึงร้อยละ 80-90 มักเกิดที่ปากมดลูกด้านนอก (Ectocervix)
  • ชนิด Adenocarcinoma พบประมาณร้อยละ 20 มักเกิดที่คอมดลูก (Endocervical canal)

      โดยในระยะแรกอาการจะไม่ปรากฏแต่อย่างใด แต่จะมาปรากฏในระยะที่โรคมีการพัฒนาไปมากแล้ว ซึ่งได้แก่

  • เลือดออกหลังการมีเพศสัมพันธ์ หรือหลังวัยหมดประจำเดือน
  • เลือดออกมากและมีกลิ่นเหม็น
  • ปวดท้องน้อย (Pelvic pain) หรือเจ็บระหว่างการมีเพศสัมพันธ์
  • มีประจำเดือนมากหรือนานกว่าปกติ

      ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูก ได้แก่

  • การมีคู่สัมพันธ์หลายคน ยิ่งมีคู่นอนที่มาก ยิ่งมีโอกาสเป็นโรคมาก
  • การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย
  • ติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศัมพันธ์ (Sexually transmitted infections: STIs) เช่น หนองในเทียม (Chlamydia) หนองในแท้ (Gonorrhea) โรคซิฟิลิส (Syphilis) และ โรคเอดส์ (HIV/AIDS)
  • การกินยาเม็ดคุมกำเนิด (Oral contraceptives) เป็นระยะเวลานาน
  • มีการตั้งครรภ์และคลอดบุตรก่อนอายุ 17 ปี
  • มีระบบภูมิต้านทานต่ำ
  • สูบบุหรี่
  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Lesbian women cervical screening myth is 'dangerous'. https://www.bbc.com/news/health-48802285 [2019, August 22].
  2. Cervical cancer. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/cervical-cancer/symptoms-causes/syc-20352501 [2019, August 22].
  3. Uterine Cervix. http://www.bccancer.bc.ca/health-professionals/clinical-resources/cancer-management-guidelines/gynecology/uterine-cervix [2019, August 22].
  4. Cervical Cancer Symptoms, Signs, Causes, and Prognosis. https://www.medicinenet.com/cervical_cancer/article.htm [2019, August 22].