เลวอร์ฟานอล (Levorphanol)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 4 ตุลาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- เลวอร์ฟานอลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- เลวอร์ฟานอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เลวอร์ฟานอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เลวอร์ฟานอลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- เลวอร์ฟานอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เลวอร์ฟานอลอย่างไร?
- เลวอร์ฟานอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเลวอร์ฟานอลอย่างไร?
- เลวอร์ฟานอลมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- กลุ่มยาแก้ปวดและยาพาราเซตามอล (Analgesics and Paracetamol)
- โอปิออยด์ (Opioid)
- มอร์ฟีน (Morphine)
- ยาคลายเครียด ยากล่อมประสาท (Transquilizer Drugs)
- ยากดประสาทส่วนกลาง (CNS depressants)
บทนำ
ยาเลวอร์ฟานอล (Levorphanol หรือ Levorphanol tartrate)เป็นยาประเภทโอปิออยด์(Opiod) ทางคลินิกนำมาใช้บำบัดอาการปวดตั้งแต่ความรุนปวดระดับปานกลางไปจนกระทั่งปวดแบบรุนแรง ยานี้เป็นที่รู้จักในวงการแพทย์ตั้งแต่ปี ค.ศ.1948 (พ.ศ.2491) โดยใช้เป็นยาระงับอาการปวดเหมือนกับยามอร์ฟีน(Morphine) รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาชนิดนี้มีทั้งยารับประทาน และยาฉีด กรณียารับประทาน ตัวยานี้สามารถถูกดูดซึม จากระบบทางเดินอาหารได้ประมาณ 70% ตับเป็นอวัยวะที่คอยทำลายยานี้อย่างต่อเนื่อง ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 11–16 ชั่วโมง เพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด
ตัวยาเลวอร์ฟานอลจะออกฤทธิ์ที่สมองตลอดจนถึงไขสันหลังและจัดเป็นยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์เป็นยาเสพติด เพื่อลดภาวการณ์ติดยาเลวอร์ฟานอล ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ยานี้ตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
ข้อห้ามและข้อจำกัดของการใช้ยาเลวอร์ฟานอลที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบมีดังนี้ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาชนิดนี้
- ห้ามใช้ร่วมกับยากลุ่ม MAOI, กลุ่มยา Narcotic agonist (Opioid agonist) หรือ Sodium oxybate ด้วยการใช้ยาร่วมกัน จะนำมาซึ่งภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)
- ห้ามใช้ยานี้ขณะที่ผู้ป่วยต้องเข้ารับการผ่าตัด
- ห้ามใช้กับผู้ป่วย หอบหืด ผู้ที่มีอาการท้องเสียรุนแรงเหตุจากยาปฏิชีวนะ ด้วยตัวยาชนิดนี้สามารถทำให้อาการป่วยดังกล่าวทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น
- ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร ทั้งนี้เพื่อป้องกันการส่งผ่านยานี้ไปยังทารก
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีประวัติชอบทำร้ายตัวเอง หรือมีประวัติคลุ้มคลั่ง เพราะยานี้อาจกระตุ้นให้อาการดังกล่าวกลับมาเป็นใหม่
- ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ ด้วยจะทำให้เกิดอาการวิงเวียนและง่วงนอนอย่างรุนแรง
- ห้ามรับประทานยานี้เกินคำสั่งแพทย์ *การรับประทานยานี้เกินขนาดจะเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตต่ำ มีอาการหลับลึก หมดสติ หัวใจเต้นช้า อัตราการหายใจช้าลง
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ด้วยยังไม่มีข้อสรุปถึงความปลอดภัยของการ ใช้ยานี้กับผู้ที่มีอายุในกลุ่มนี้
ยาเลวอร์ฟานอลยังสามารถก่อผลข้างเคียงต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายได้เช่นเดียวกับยาอื่นๆ อาจยกตัวอย่างผลข้างเคียงที่ดูจะรุนแรง ก่อความรำคาญ และอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ เช่น
- กดการหายใจของร่างกายเนื่องจากตัวยาชนิดนี้มีฤทธิ์ลดการตอบสนองของ ก้านสมองที่เป็นสมองส่วนควบคุมการหายใจ
- ลดการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้การย่อยอาหารต้องใช้เวลามากขึ้น ตลอดจนทำให้ลำไส้ใหญ่ลดการบีบตัวจึงเกิดอาการท้องผูกตามมา
- ยานี้จะทำให้หลอดเลือดส่วนปลาย(หลอดเลือดแขน ขา)ขยายตัว จึงส่งผลให้มีภาวะความดันโลหิตต่ำตามมา
ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่ายานี้เป็นยาที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้มากมาย การใช้ยาเลวอร์ฟานอลจึงต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น หากผู้บริโภคมีคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ยานี้ สามารถสอบถามข้อมูลการใช้ยานี้ได้จากแพทย์หรือจากเภสัชกรในสถานพยาบาลที่นำผู้ป่วยเข้ารับการรักษา
เลวอร์ฟานอลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาเลวอร์ฟานอล มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- บำบัดอาการปวด ตั้งแต่ปวดในระดับปานกลาง-ระดับรุนแรง
- ใช้เป็นยาช่วยสงบประสาท/ยากล่อมประสาท
เลวอร์ฟานอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ตัวยาเลวอร์ฟานอลจะออกฤทธิ์ต่อสมองและไขสันหลัง ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยน ความรู้สึก การรับรู้ ตลอดจนปรับลดอาการเจ็บปวดของร่างกาย ด้วยกลไกนี้เอง จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาได้ตามสรรพคุณ
เลวอร์ฟานอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเลวอร์ฟานอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาฉีด ที่ประกอบด้วยตัวยา Levorphanol ขนาด 2 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Levorphanol ขนาด 2 มิลลิกรัม/เม็ด
เลวอร์ฟานอลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาเลวอร์ฟานอล มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา สำหรับระงับอาการปวด เช่น
- ผู้อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ 1 มิลลิกรัม ทุกๆ 3–6 ชั่วโมง เท่าที่จำเป็น หรือฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ หรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง 1–2 มิลลิกรัม ทุก 6–8 ชั่วโมง หรือรับประทานยาขนาด 2 มิลลิกรัม ทุกๆ 6–8 ชั่วโมง ทั้งนี้การจะเลือกใช้ยารูปแบบใดและขนาดยา ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ และในบางกรณี แพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 3 มิลลิกรัม ทุกๆ 6–8 ชั่วโมง
- ผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยในการใช้ยานี้
อนึ่ง:
- การปรับขนาดการใช้ยา แพทย์จะพิจารณาจากความรุนแรงของ อาการปวด อายุ น้ำหนักตัว ตลอดจนสภาพร่างกาย ของผู้ป่วย ว่ามีโรคประจำตัว อย่างเช่น โรคไต โรคตับ ร่วมด้วยหรือไม่
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเลวอร์ฟานอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคจิตประสาท/โรคทางจิตเวช รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่เพราะยาเลวอร์ฟานอล อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเลวอร์ฟานอล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ
แต่อย่างไรก็ตาม การลืมรับประทานยาเลวอร์ฟานอล อาจก่อให้เกิดอาการปวดที่รุนแรงตามมา
เลวอร์ฟานอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเลวอร์ฟานอลสามารถก่อให้เกิด ผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น อาจทำให้มีอาการทางจิตเวชในผู้ป่วยบางราย กดการทำงานของศูนย์ควบคุมการหายใจ/ก้านสมอง อาจมีความจำเสื่อม ง่วงนอน วิงเวียน
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น อาจพบอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะตลอดจนเกิดความดันโลหิตต่ำ
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องผูก
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะขัด
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น อาจเกิดผื่นคันตามผิวหนัง
มีข้อควรระวังการใช้เลวอร์ฟานอลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเลวอร์ฟานอล เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
- ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง และใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำ
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก
- ห้ามใช้ยานี้นานเกินคำสั่งแพทย์
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเลวอร์ฟานอลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
เลวอร์ฟานอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเลวอร์ฟานอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาเลวอร์ฟานอลร่วมกับยา Chlordiazepoxide , Phenobarbital, ด้วยจะก่อให้เกิดภาวะกดการหายใจ เกิดอาการโคม่า จนอาจทำให้เสียชีวิตในที่สุด
- ห้ามใช้ยาเลวอร์ฟานอลร่วมกับยา Bupropion , Tramadol, ด้วยจะเป็นเหตุให้ เกิดอาการชักได้ง่ายมากขึ้น
- ห้ามใช้ยาเลวอร์ฟานอลร่วมกับการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพราะจะก่อให้เกิดอาการ วิงเวียน ง่วงนอน ความดันโลหิตต่ำ อย่างรุนแรงตามมา
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเลวอร์ฟานอลร่วมกับยา Dextromethorphan ด้วยจะทำให้ ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงจากการใช้ยาร่วมกันมากขึ้น เช่น วิงเวียน ง่วงนอน รู้สึกสับสน การครองสติทำได้ลำบาก
ควรเก็บรักษาเลวอร์ฟานอลอย่างไร?
ควรเก็บยาเลวอร์ฟานอล ภายใต้คำแนะนำของเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
เลวอร์ฟานอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเลวอร์ฟานอล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Levo-dromoran (เลโว-โดรโมแรน) | ICN Pharmaceuticals Inc |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Levorphanol[2017,Sept16]
- https://www.drugs.com/cdi/levorphanol.html[2017,Sept16]
- https://www.drugs.com/sfx/levorphanol-side-effects.html[2017,Sept16]
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB00854[2017,Sept16]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/levorphanol,levo-dromoran-index.html?filter=3&generic_only=[2017,Sept16]