สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน Orbital Cellulitis (เบ้าตาอักเสบ)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
- 13 มิถุนายน 2562
- Tweet
เช้านี้ ดูข่าวจากทีวี เด็กอายุ 3 ขวบ พบแพทย์ด้วยตาขวามีหนังตาบวมแดงรอบ ๆ เบ้าตาจนตาหลับ ไม่สามารถลืมตาได้ เด็กน่าจะซึม มีไข้ร่วมด้วย และแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นเบ้าตาอักเสบ orbital cellulitis ที่ลุกลามมาจากฟันที่ผุทั้งปาก มีการอักเสบอย่างมากในช่องปาก เป็นเหตุของเบ้าตาอักเสบ
เบ้าตาเป็นเสมือนช่องรูปกรวยประกอบด้วยกระดูกเบ้าตาเป็นช่องให้ลูกตาเราอยู่ เบ้าตาเป็นรูปกรวย ด้านหน้ากลม ซึ่งใช้มือคลำเองได้ เป็นกระดูกบริเวณคิ้วเรื่อยมาถึงหางตา มาถึงเบ้าตาล่างกลับไปหัวตา กลับไปที่คิ้วเป็นส่วนหน้าของเบ้าตาเป็นรูปกลม แล้วค่อย ๆ สอบแคบลงไปด้านหลัง โดยสอบลึกลงไปยาวประมาณ 4.5 เซนติเมตร เบ้าตาประกอบด้วยกระดูก 7 ชิ้น ภายในเบ้าตา นอกจากลูกตา ยังมีเนื้อเยื่อในเบ้าตา (orbital soft tissue) ได้แก่
1. กล้ามเนื้อกรอกตา (extraocular muller) ทั้ง 6 มัด รวมทั้งยังมีกล้ามเนื้อยกหนังตา (levator muscle) รวมทั้ง miller muscle ที่เปลือกตาบน และ capsule palpebral fascia ของเปลือกตาล่าง
2. เยื่อหุ้มเบ้าตาและแผ่นกั้น (periorbita and septum) ซึ่งจะแบ่งเบ้าตาเป็นส่วน preseptum และส่วนหลัง
3. เส้นประสาทตา (optic nerve) ซึ่งต่อมาจากขั้วประสาทตา (optic disc)
4. เส้นประสาทสมองที่ 3, 4, 5, 6
5. หลอดเลือดดำและแดง หลอดเลือดดำจากเบ้าตาจะไหลเขาสู่ cavernous sinus ในสมอง
ส่วนรอบ ๆ เบ้าตาประกอบด้วย
1. โพรงไซนัส
2. เนื้อสมอง
3. ระบบน้ำตา
4. หนังตา
จากส่วนของร่างกายรอบ ๆ เบ้าตาข้างต้น หากมีการอักเสบของส่วนต่าง ๆ ดังกล่าว นำไปสู่การอักเสบภายในเบ้าตา ซึ่งมีผลต่ออวัยวะภายในเบ้าตาตามมา กล่าวคือ ถ้ามีไซนัสอักเสบ (รวมทั้งช่องปากอักเสบเข้าสู่โพรงกระดูกของเบ้าตา) หนังตาอักเสบ หรือระบบน้ำตาอักเสบ อาจนำไปสู่เบ้าตาอักเสบได้ ดังเช่นเด็กที่เป็นข่าวในวันนี้
ผลที่ตามมาของการมีเบ้าตาอักเสบที่สำคัญ คือ
1. การอักเสบไปกดประสาทตา หรือดึงรั้งยึดประสาทตา อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นในที่สุด
2. เชื้อโรคอาจลุกลามเข้าหลอดเลือด ลุกลามไปทั่วร่างกาย (septicemia) ทำให้เสียชีวิตได้
3. เชื้อโรคอาจลุกลามไปทางโพรงเลือดดำ cavernous sinus ไปสู่สมอง ทำให้สมองอักเสบ