สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน การชลอภาวะสายตาสั้น
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
- 28 มีนาคม 2562
- Tweet
เป็นที่สังเกตพบว่ายุคปัจจุบันที่เด็กหันมาใช้มือถือไอแพด อุปกรณ์อิเล็คทรอนิคมากขึ้น อาจทำให้มีคนสายตาสั้นมากขึ้น และสายตาสั้นเพิ่มเร็วและมากขึ้น จึงมีการคิดว่าควรจะมีมาตรการอะไรบ้างที่อาจชลอสายตาสั้นลงได้บ้าง ที่น่าสนใจและกำลังพูดกันมาก ได้แก่
1. การใช้ยาในกลุ่ม muscarinic antagonist
- atropine
- pirenzepine 2% gel (ยังไม่มีจำหน่ายในบ้านเรา)
2. การใช้ lens
- myovision lenses
- orthokeratology
3. Outdoor activity
ระยะนี้พูดกันถึงการใช้ atropine, การทำ myovision lenses และ outdoor activity กันมาก
1. Atropine เป็น nonselective muscarinic antagonist (M3) ซึ่งมีผลต่อ iris และ ciliary body ซึ่งกลไกในการชลอภาวะสายตาสั้น อาจจะเป็น
- ลดการเพ่ง
- อาจมีผลทาง biochemical ต่อจอตาและเปลือกตา (sclera) เกิด remodeling ของเปลือกตา
- จากภาวะที่ม่านตาขยายทำให้ตาได้รับแสง UV มากขึ้น เกิดการเพิ่ม collagen cross linking ภายในเนื้อ sclera เกิดการยับยั้งการขยายของ sclera ดังที่พบว่า axial length (ความยาวลูกตา) ไม่เพิ่มขึ้น ในกรณีที่พบว่ายาชลอสายตาสั้นได้
มีรายงานในปัจจุบัน atropine 0.01% เหมาะสมที่สุด โดยมีหลักดังนี้
1. ไม่จำเป็นต้องใช้ยานี้ในสายตาสั้นทุกคน
2. การให้ยาเพียงชลอให้สายตาสั้นเพิ่มขึ้นช้าลง ไม่ได้แก้ไขสายตาสั้นที่มีอยู่
3. ควรเลือกใช้ในรายที่มีสายตาสั้นเพิ่มขึ้นเร็ว กล่าวคือ สายตาสั้นเพิ่มมากกว่า -1 ถึง -1.5 D ต่อปี
4. มีประวัติโรคจอตาหลุดลอกของคนในครอบครัวจากภาวะสายตาสั้นมาก
5. ควรใช้ในเด็กสายตาสั้นที่มีอายุมากกว่า 5 ปีขึ้นไป
6. ควรตรวจว่าสายตาสั้นเพิ่มขึ้นหรือไม่ทุก 6 เดือน ในผู้ป่วยที่ลองใช้ยาซึ่งควรจะเพิ่มน้อยกว่า 0.50 D
7. อาจให้การรักษาจนถึงอายุ 18 ปี
2. Myovision lenses เลนส์สายตาสั้นทั่วไปช่วยปรับให้ภาพที่ตอนไม่ใส่แว่นในคนสายตาสั้นจะโฟกัสหน้าต่อจอตา เลนส์สายตาสั้นช่วยให้ไปโฟกัสบริเวณจอตาตรงกลาง ด้วยลักษระรูปทรงของดวงตาเป็นทรงกลม เลนส์แว่นสายตาสั้นทั่วไป บริเวณถัดออกไปที่ไม่ใช่ตรงกลาง จะไปโฟกัสหลังจอตาหรือนัยหนึ่งมีสายตายาวบริเวณขอบซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการเพ่ง จึงควรลดกำลังสายตาสั้นลงบริเวณขอบ ๆ เป็น myovision lens โดยทำ lens แว่นสายตาสั้นบริเวณขอบ ๆ น้อยกว่าตรงกลาง (ด้วยสมมุติฐานที่เลนส์สายตาสั้นแก้สายตาสั้นตรงกลาง แต่กลับทำใหเกิดสายตายาวบริเวณขอบ จึงกระตุ้นให้เกิดการเพ่งทำให้สายตาสั้นเพิ่ม) การทำเลนส์ชนิดนี้เชื่อว่าจะชลอการเพิ่มของสายตาสั้นได้
3. Outdoor activity มีรายงานว่าถ้าเด็กมี outdoor activity จะชลอสายตาสั้นด้วยกลไก
- แสงจ้าทำให้รูม่านตาเล็ก ทำให้มองเห็นได้ชัดขึ้น (pinhole effect) ไม่ต้องเพ่ง
แสงกระตุ้นให้จอตาหลั่ง dopamine ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นตัวยับยั้ง axial elongation
- ทำให้มองระยะไกลมากกว่าจึงลดการเพ่ง