เรกูลาร์ อินซูลิน (Regular insulin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเรกูลาร์อินซูลิน(Regular insulin หรือ Insulin regular หรือ Neutral insulin หรือ Soluble insulin) เป็นยาที่เป็นฮอร์โมนอินซูลินของมนุษย์ที่นักวิทยาศาสตร์ใช้เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมตัดต่อสารพันธุกรรมโดยนำยีน/จีน(Gene) ที่ช่วยผลิตฮอร์โมนอินซูลินของมนุษย์ไปใส่ในโครโมโซมของแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Escherichia coli(E.coli) ทำให้ได้แบคทีเรียสายพันธุ์ที่สามารถผลิตอินซูลินของมนุษย์ และเรียกอินซูลินชนิดนี้ว่า “เรกูลาร์อินซูลิน” ทางคลินิก ได้นำยาเรกูลาร์ อินซูลิน มาใช้รักษาอาการโรคเบาหวานประเภทที่ I และ II, ภาวะเลือดเป็นกรดด้วยสาเหตุจากโรคเบาหวาน, ภาวะร่างกายดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน

ยาเรกูลาร์อินซูลินสามารถออกฤทธิ์ควบคุมน้ำตาลในเลือดได้นานประมาณ 3–6 ชั่วโมง และจัดเป็นยาที่ออกฤทธิ์ระยะสั้น(Short-acting insulin)โดยเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 30 นาทีหลังฉีดยา รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาอินซูลินชนิดนี้ เป็นประเภทยาฉีดที่สามารถฉีดเข้าใต้ผิวหนัง เข้ากล้ามเนื้อ หรือฉีดเข้าหลอดเลือดดำก็ได้ ยาอินซูลินจะทำให้เซลล์กล้ามเนื้อและเซลล์เนื้อเยื่อไขมัน/เซลล์ไขมัน (Adipose tissue) ของร่างกายดึงน้ำตาลกลูโคสไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งการใช้ยาเรกูลาร์ อินซูลินเพื่อรักษาเบาหวานนั้น ผู้ป่วยอาจต้องได้รับการฉีดยานี้ 3 ครั้งหรืออาจมากกว่า 3 ครั้ง/วัน ทั้งนี้ด้วยระยะเวลาของการออกฤทธิ์เฉลี่ยอยู่ที่ 6 ชั่วโมง

ระหว่างได้รับยาเรกูลาร์อินซูลิน ผู้ป่วยจะต้องได้รับการทดสอบน้ำตาล ในเลือดเป็นระยะๆตามแพทย์สั่ง เพื่อเป็นการสอบเทียบประสิทธิภาพการออกฤทธิ์ของยาอินซูลินนี้ที่แพทย์สั่งจ่ายว่า เหมาะสมกับผู้ป่วยเบาหวานมากน้อยเพียงใด

ผู้ป่วยเบาหวานบางกลุ่มอาจไม่สามารถใช้เรกูลาร์ อินซูลิน ด้วยแพ้ยานี้/แพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับ หรือสภาพร่างกายผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังต้องระมัดระวังการใช้เรกูลาร์ อินซูลิน ร่วมกับยารักษาเบาหวานชนิดอื่น อย่างเช่นยา Glimepiride หรือ Metformin ด้วยเสี่ยงต่อจะทำให้เกิดหัวใจทำงานผิดปกติ ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานควรแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบโดยละเอียดว่าตนเองมียาประเภทใดที่ต้องรับประทานอยู่ก่อน มีโรคประจำตัวอื่นใดอยู่บ้าง

ยาเรกูลาร์ อินซูลิน จัดเป็นเภสัชภัณฑ์ที่มีความไวต่ออุณหภูมิสูง จึงต้องจัดเก็บ ยานี้ในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส(Celsius) ก่อนนำอินซูลินชนิดนี้กลับมาใช้ที่บ้าน ผู้ป่วยเบาหวาน/ญาติจะต้องทำความเข้าใจเรียนรู้วิธีการใช้ยานี้จากแพทย์/พยาบาล/เภสัชกร และต้องใช้เรกูลาร์อินซูลินตามขนาดที่แพทย์แนะนำ นอกจากนี้ยังต้องเรียนรู้สภาวะร่างกายที่มีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยเบาหวาน) หรือสูงเกินไป เพื่อใช้วิธีปฐมพยาบาลตนเองได้อย่างเหมาะสมและถูกต้อง

*กรณีเกิดข้อผิดพลาด ที่ผู้ป่วยได้รับเรกูลาร์อินซูลิน เกินขนาดจะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ระดับเกลือโปแตสเซียมในเลือดต่ำ กรณีที่มีภาวะดังกล่าวไม่รุนแรงมาก ผู้ป่วยสามารถดื่มน้ำหวานหรืออมลูกกวาดที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลก็จะช่วยบรรเทาอาการได้แล้ว แต่กรณีที่เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอย่างรุนแรง ผู้ป่วยอาจอยู่ในสภาพหมดสติ ผู้พบเห็นจะต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน โดยแพทย์จะใช้ยา Glucagon ฉีดเข้ากล้ามเนื้อเพื่อบำบัดอาการ หรือไม่ก็ให้น้ำตาลกลูโคสเข้าทางหลอดเลือดดำเพื่อทำให้ร่างกายผู้ป่วยฟื้นสภาพขาดน้ำตาลโดยเร็ว

องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้ยาเรกูลาร์ อินซูลินเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถาน พยาบาลแต่ละแห่งควรมีสำรองไว้ให้บริการต่อผู้ป่วย คณะกรรมการอาหารและยาของไทยก็ได้บรรจุยาเรกูลาร์ อินซูลินอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งผู้บริโภคสามารถพบเห็นการใช้ยาเรกูลาร์อินซูลิน ทั้งในสถานพยาบาลของรัฐ และของเอกชนโดยทั่วไป

เรกูลาร์ อินซูลินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เรกูลาร์อินซูลิน

ยาเรกูลาร์ อินซูลินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้รักษาโรคเบาหวานทั้งประเภทที่ I และ II
  • รักษาผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะเลือดเป็นกรด (Diabetic ketoacidosis)
  • บำบัดรักษาภาวะร่างกายดื้ออินซูลิน (Insulin resistance)

เรกูลาร์ อินซูลินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเรกูลาร์ อินซูลินมีกลไกการออกฤทธิ์ในบริเวณเซลล์กล้ามเนื้อรวมถึงเซลล์เนื้อเยื่อไขมัน ส่งผลให้ร่างกาย/เนื้อเยื่อเหล่านี้ นำกลูโคสในกระแสเลือดมาใช้ให้เกิดพลังงาน นอกจากนี้ยังช่วยยับยั้งการปลดปล่อยน้ำตาลกลูโคสจากตับเข้าสู่กระแสเลือด ด้วยกลไกนี้ทำให้ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ และเป็นที่มาของสรรพคุณ

เรกูลาร์ อินซูลินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเรกูลาร์ อินซูลินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีดชนิดสารละลายใส ที่ประกอบด้วย Regular insulin ขนาด 100 ยูนิต/มิลลิลิตร

เรกูลาร์ อินซูลินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาเรกูลาร์ อินซูลินมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก.สำหรับผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ I:

  • ผู้ใหญ่และเด็ก: ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังขนาด 0.5–1 ยูนิต/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแพทย์จะแบ่งการฉีดยาเป็น 3-4 ครั้ง/วัน

ข.สำหรับผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ II:

  • ผู้ใหญ่และเด็ก: เริ่มต้นฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังขนาด 0.1 ยูนิต/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 3 หรือมากกว่า 3 ครั้ง/วัน โดยเป็นไปตามคำสั่งแพทย์

ค.สำหรับรักษาภาวะเลือดเป็นกรดด้วยโรคเบาหวาน:

  • ผู้ใหญ่และเด็ก: เริ่มต้นฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังขนาด 0.1 ยูนิต/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุกๆ 1-2 ชั่วโมง

อนึ่ง:

  • ควรฉีดยาเรกูลาร์อินซูลินก่อนรับประทานอาหาร 30 นาที
  • ผู้ป่วย โรคตับ โรคไต แพทย์อาจต้องลดขนาดการใช้ยาลงมาตามความเหมาะสม
  • ฉีดยาอินซูลินชนิดนี้ตรงตามเวลา ต่อเนื่องสม่ำเสมอและไม่ควรปรับขนาดการฉีดยาโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์
  • เรียนรู้ เทคนิคการฉีดยา, การเก็บรักษา, สภาวะมีน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูง จากแพทย พยาบาล เภสัชกร เพื่อดูแลตนเองขณะอยู่ในที่พักอาศัย (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “วิธีฉีดอินซูลินให้ตนเอง” และเรื่อง “ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยเบาหวาน”)

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเรกูลาร์อินซูลิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเรกูลาร์อินซูลินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้นหรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมฉีดยาควรทำอย่างไร?

หากลืมฉีดยาเรกูลาร์อินซูลิน สามารถฉีดยาทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้ฉีดยาในขนาดปกติ

เรกูลาร์ อินซูลินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเรกูลาร์ อินซูลินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อหัวใจ: เช่น อาการบวมน้ำซึ่งมีสาเหตุจากการคั่งของเกลือโซเดียมในร่างกาย
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดภาวะไขมันสะสมผิดปกติในบริเวณผิวหนัง
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจนอาจทำให้ผู้ป่วยหมดสติ อาจเกิดภาวะร่างกายดื้ออินซูลินโดยมีน้ำตาลในเลือดสูง
  • ผลต่อตา: เช่น เกิดความผิดปกติกับเส้นประสาทตา ส่งผลให้ตามัว
  • ผลต่อระบบประสาท: รู้สึกเจ็บปลายประสาท

มีข้อควรระวังการใช้เรกูลาร์ อินซูลินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเรกูลาร์ อินซูลิน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาอินซูลินชนิดนี้
  • ห้ามดื่มเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ขณะใช้ยานี้ ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยมีภาวะ น้ำตาลในเลือดต่ำหรือไม่ก็สูงตามมา
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง และต้องใช้ยาตามขนาดที่แพทย์แนะนำ
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สียาเปลี่ยนไป ตัวยาตกตะกอน
  • ใช้ยานี้ต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ
  • ควรเปลี่ยนตำแหน่งการฉีดยานี้ไม่ให้ซ้ำบริเวณเดิมเพื่อหลีกเลี่ยงผิวหนังอักเสบจากการฉีดยาซ้ำๆ
  • ตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดของตนเองเป็นประจำตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร
  • ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และพักผ่อน ตามที่แพทย์ พยาบาล เภสัชกรแนะนำ
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์ตรวจร่างกายตามนัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเรกูลาร์ อินซูลินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.comบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เรกูลาร์ อินซูลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเรกูลาร์ อินซูลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาเรกูลาร์ อินซูลินร่วมกับ กลุ่มยาMAOIs , Salicylates, Androgen, Beta blockers, อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับลดการใช้ยาเรกูลาร์ อินซูลินลงมาให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายผู้ป่วย
  • การใช้ยาเรกูลาร์ อินซูลินร่วมกับยาThiazides จะเกิดการรบกวนการออกฤทธิ์ของยาเรกูลาร์ อินซูลิน และทำให้ประสิทธิภาพการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดด้อยลง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับเพิ่มขนาดการใช้ของยาเรกูลาร์ อินซูลินตามความเหมาะสมเป็นกรณีไป
  • ห้ามใช้ยาเรกูลาร์ อินซูลินร่วมกับยา Gatifloxacin ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือไม่ก็สูงตามมา

ควรเก็บรักษาเรกูลาร์ อินซูลินอย่างไร?

ควรเก็บยาเรกูลาร์อินซูลินภายใต้อุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

เรกูลาร์ อินซูลินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเรกูลาร์อินซูลินที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Humulin R (ฮิวมูลิน อาร์)Eli Lilly
Novolin R (โนโวลิน อาร์)Novo Nordisk Inc.

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยาเรกูลาร์อินซูลิน เช่น Actrapid

บรรณานุกรม

  1. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2011/018780s120lbl.pdf[2017,June3]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/actrapid%20hm-actrapid%20penfill/?type=brief[2017,June3]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Regular_insulin[2017,June3]
  4. https://www.drugs.com/dosage/insulin-regular.html[2017,June3]
  5. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/search?keyword=soluble+insulin[2017,June3]
  6. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2012/019938s066lbl.pdf[2017,June3]
  7. http://www.diabetes.co.uk/insulin/insulin-actions-and-durations.html[2017,June3]