เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ถุงหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 26 มิถุนายน 2564
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- ถุงหุ้มหัวใจอักเสบเกิดจากอะไร?
- ถุงหุ้มหัวใจอักเสบมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยถุงหุ้มหัวใจอักเสบอย่างไร?
- รักษาถุงหุ้มหัวใจอักเสบอย่างไร?
- ถุงหุ้มหัวใจอักเสบรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- ป้องกันถุงหุ้มหัวใจอักเสบอย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
- โรคหัวใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด (Heart disease หรือ Cardiovascular disease)
- โรคหัวใจ: หัวใจวายจากโรคหลอดเลือดหัวใจ (Heart disease: Heart failure from coronary artery disease)
- วัณโรค (Tuberculosis)
- โรคปอดอักเสบ โรคปอดบวม(Pneumonia)
- กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ(Myocarditis)
- หัวใจล้มเหลว(Heart failure)
- โรคหัวใจสลาย (Broken heart syndrome) หรือ โรคทาโกซูโบะ (Takotsubo cardiomyopathy)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
ถุงหุ้มหัวใจอักเสบ/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis) คือ โรคที่เกิดจากมีการอักเสบ ของเยื่อหุ้มหัวใจ(อีกชื่อคือ ถุงหุ้มหัวใจ (Pericardium) ซึ่งการอักเสบอาจจาก ติดเชื้อ, หรือ จากการอักเสบที่ไม่ใช่จากติดเชื้อ เช่น โรคออโตอิมูน/ โรคภูมิต้านตนเอง (เช่น โรคลูปัส-โรค เอสแอลอี/ โรคพุ่มพวง)
ถุงหุ้มหัวใจ (เยื่อหุ้มหัวใจ) เป็นถุงที่หุ้มอยู่โดยรอบหัวใจ เป็นถุงที่ผนังเป็นเนื้อเยื่อบางๆ 2 ชั้น ระหว่างผนังทั้งสองชั้นมีของเหลวอยู่เล็กน้อยประมาณ 20 - 50 มิลลิลิตรเพื่อช่วยหล่อลื่นไม่ให้ผนังทั้ง 2 ชั้นเสียดสีกัน โดยถุงหุ้มหัวใจมีหน้าที่ปกป้องหัวใจไม่ให้เสียดสีกับอวัยวะอื่นๆข้างเคียง และเพื่อป้องกันเชื้อโรคให้เข้าสู่หัวใจได้ยากขึ้น นอกจากนั้นยังช่วยคงรูปร่างและช่วยกระชับหัวใจให้อยู่กับที่จากการที่ต้องเคลื่อนไหวบีบตัวตลอดเวลา
เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ/ถุงหุ้มหัวใจอักเสบ เป็นโรคพบทุกอายุตั้งแต่เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)ไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่พบในผู้ใหญ่สูงกว่าในเด็ก ทั่วไปพบสูงในช่วงอายุ 20 - 50 ปี และพบในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิง เป็นโรคพบได้เรื่อยๆ มีรายงานจากสหรัฐอเมริกาพบโรคในระยะเฉียบพลันแต่ละปีประมาณ 27รายต่อประชากร1แสนคน
เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ/ ถุงหุ้มหัวใจอักเสบ เป็นโรควินิจฉัยได้ยาก การวินิจฉัยมักต้องใช้วิธีที่ยุ่งยากซับซ้อนเทคโนโลยีสูง ดังนั้นส่วนใหญ่ของผู้ป่วยที่วินิจฉัยได้ชัดเจนว่ามีเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจึงมักเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล
เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ/ถุงหุ้มหัวใจอักเสบ ทั่วไปเกิดได้ 3 ลักษณะคือ ถุง/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเฉียบพลัน (Acute pericarditis), ถุง/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบกลับเป็นซ้ำ (Relapsing pericarditis หรือ Recurrent pericarditis), และถุง/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเรื้อรัง (Chronic pericarditis)
ก. ถุง/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเฉียบพลัน (Acute pericarditis): หมายถึง การอักเสบที่เกิดขึ้นกับถุง/เยื่อหุ้มหัวใจอย่างเฉียบพลัน มีอาการรุนแรงกว่าอีกทั้ง 2 ลักษณะ แต่โดยทั่วไปมักรักษาให้หายได้ภายใน 3 เดือน (แพทย์บางท่านให้ระยะเวลานานได้ถึง 6 เดือน) ซึ่งโดยทั่วไปมักรักษาได้หายภายใน 2 - 3 สัปดาห์
โรคถุง/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเฉียบพลันเป็นโรคพบได้เรื่อยๆ พบได้ประมาณ 0.1% ของผู้ ป่วยในโรงพยาบาลทั้งหมด และประมาณ 5% ของผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ฉุกเฉินจากมีอาการเจ็บหน้าอก
ข. ถุงหุ้มหัวใจอักเสบกลับเป็นซ้ำ (Relapsing pericarditis หรือ Recurrent pericarditis): หมายถึง โรคถุง/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเฉียบพลันที่ย้อนกลับมาเกิดซ้ำใหม่อีก พบได้ใน 2 ลักษณะคือ
- เมื่อรักษาโรคเฉียบพลันจนอาการผู้ป่วยดีขึ้นแล้ว แพทย์จำเป็นต้องค่อยๆลดปริมาณยาต้านการอักเสบ/ยาแก้อักเสบให้น้อยลงเรื่อยๆจนสามารถหยุดยาได้ทั้งหมด ในช่วงที่กำลังลดปริมาณยานี้เอง จะมีผู้ป่วยบางรายที่โรคย้อนกลับมาเป็นใหม่อีกเรียก ถุง/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบกลับเป็นซ้ำลักษณะนี้ว่า Incessant relapsing pericarditis และ
- อีกลักษณะหนึ่งเรียกว่า Intermittent relapsing pericarditis คือ โรคถุง/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเฉียบพลันที่โรคย้อนกลับเป็นซ้ำอีกในภายหลังรักษาหายและหยุดยาต่างๆแล้วนานเกิน 6 สัปดาห์ขึ้นไป
อนึ่ง เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ/ถุงหุ้มหัวใจอักเสบกลับเป็นซ้ำพบได้ประมาณ 8 - 80% (ขึ้นกับแหล่งที่มาของการศึกษา)ของผู้ป่วยถุงหุ้มหัวใจอักเสบเฉียบพลันทั้งหมด แต่โดยทั่วไปพบได้ประมาณ 25% โดยมักพบในผู้ป่วยที่มีสาเหตุจากโรคภูมิต้านตนเอง, หรือจากโรคติดเชื้อไวรัส, หรือแพทย์อาจหาสาเหตุไม่พบ, หรือผู้ป่วยมาพบแพทย์ล่าช้า
ค. ถุง/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเรื้อรัง (Chronic pericarditis): หมายถึง โรคที่การอักเสบ ของถุง/เยื่อหุ้มหัวใจเรื้อรังนานเกิน 3 เดือนขึ้นไป (แพทย์บางท่านให้เรื้อรังนานเกิน 6 เดือนขึ้นไป) ซึ่งถุง/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเรื้อรังมักพบเกิดต่อเนื่องมาจากถุง/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเฉียบพลันที่ดื้อต่อการรักษาหรือได้รับการรักษาไม่ครบถ้วนตั้งแต่แรก
ทั้งนี้ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ/ ถุงหุ้มหัวใจอักเสบเรื้อรังมีได้ 2 ลักษณะคือ
- ถุงหุ้มหัวใจเกิดเป็นพังผืดร่วมกับการอักเสบ: ส่งผลให้ถุงหุ้มหัวใจตีบแคบลง ส่งผลให้เกิดการบีบรัดหัวใจ หัวใจจึงบีบตัวเต้นไม่ได้ตามปกติ จึงก่อให้เกิดอาการผิดปกติขึ้น เรียกการอักเสบเรื้อรังในลักษณะนี้ว่า Constrictive pericarditis พบได้ประมาณ 10% ของโรคถุง/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเฉียบพลันที่กลายมาเป็นเรื้อรัง มักพบในผู้ใหญ่มากกว่าในเด็ก และพบในเพศชายสูงกว่าในเพศหญิงประมาณ 3 เท่า (อธิบายไม่ได้ว่าทำไม)
- มีปริมาณของเหลว/น้ำเพิ่มมากกว่าปกติในถุงหุ้มหัวใจ: เรียกการอักเสบเรื้อรังลักษณะนี้ว่า Chronic effusive pericarditis ซึ่งมีรายงานพบได้ประมาณ 20% ของโรคถุง/เยื่อหัวใจอักเสบทั้งหมด
เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ/ถุงหุ้มหัวใจอักเสบ เกิดจากอะไร?
สาเหตุเกิดเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ/ ถุงหุ้มหัวใจอักเสบ ได้แก่
ก. สาเหตุของถุง/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเฉียบพลัน: ที่พบบ่อยคือ
- โรคมะเร็งอวัยวะต่างๆในระยะที่โรคแพร่กระจายทางกระแสเลือด (เช่น มะเร็ง ปอด มะเร็งเต้านม) หรือมะเร็งลุกลามโดยตรงจากมะเร็งบริเวณทรวงอก (เช่น มะเร็งปอด มะเร็งหลอดอาหาร) เข้าสู่ถุงหุ้มหัวใจ พบได้ประมาณ 7 - 35% ของถุง/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบทั้งหมด (ขึ้นกับแต่ละรายงานหรือแต่ละการศึกษา)
- โรคออโตอิมมูน/ โรคภูมิต้านตนเองพบได้ประมาณ 3 - 25%
- จากโรคติดเชื้อไวรัสพบได้ประมาณ 1 - 20% เช่น จากไวรัสโรคไข้หวัดใหญ่ชนิดที่รุนแรง
- จากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดต่างๆที่ไม่ใช่วัณโรคประมาณ 1 - 6% ส่วนจากโรคเชื้อราหรือโรคติดเชื้อปรสิตพบได้น้อยมาก มีรายงานเพียงประปราย
- ผลจากการคั่งของสารพิษตกค้างในร่างกายจากภาวะไตวายพบได้ประมาณ 6 -15%
- จากการติดเชื้อวัณโรคประมาณ 5%
- แพทย์หาสาเหตุไม่พบ (Idiopathic) พบประมาณ 4 - 90%ขึ้นกับแต่ละรายงาน
- ที่เหลือคือ จากสาเหตุอื่นๆ เช่น
- ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดโรคในทรวงอก
- การแพ้ยา
- กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
- ผลข้างเคียงจาก
- การฉายรังสีรักษาโรคมะเร็งบริเวณหัวใจ
- ยาเคมีบำบัดบางชนิด
- อุบัติเหตุต่างๆต่อหัวใจหรือจากการถูกทำร้าย เช่น ถูกแทงที่หัวใจ
ข. สาเหตุของถุง/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบกลับเป็นซ้ำ: เช่นเดียวกับในการอักเสบเฉียบพลัน เพราะมักเป็นโรคที่เกิดต่อเนื่องกันมา
ค. สาเหตุของถุง/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเรื้อรัง: จะคล้ายคลึงกับในถุงหุ้มหัวใจอักเสบเฉียบ พลันเช่นกัน ที่พบบ่อยคือ
- แพทย์หาสาเหตุไม่พบ
- เป็นผลสืบเนื่องจากร่างกายติดเชื้อรุนแรง ที่พบบ่อยเช่น จากโรคติดเชื้อไวรัส และเชื้อแบคทีเรียโดยเฉพาะวัณโรค โดยพบได้น้อยมากจากโรคเชื้อราหรือโรคติดเชื้อเชื้อปรสิต
- โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง
- โรคไต
- ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย
- โรคมะเร็งชนิดต่างๆระยะที่โรคแพร่กระจายทางกระแสเลือด ที่พบบ่อยคือ จากมะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งเม็ดเลือดขาว
- อื่นๆ เช่น ผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัดบางชนิด, การฉายรังสีรักษาบริเวณหัวใจ, การผ่าตัดหัวใจ, อุบัติเหตุต่อหัวใจ
เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ/ ถุงหุ้มหัวใจอักเสบมีอาการอย่างไร?
อาการจากเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ/ถุงหุ้มหัวใจอักเสบได้แก่
ก.อาการของถุงหัวใจอักเสบเฉียบพลัน: ที่พบบ่อยได้แก่ เจ็บแปลบในช่องอกในบริเวณ ข้างใต้ต่อกระดูกอก (Sternum) โดยอาการมักเกิดอย่างเฉียบพลัน และมักร่วมกับการปวดไหล่อาจข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง ซึ่งอาการปวด/เจ็บจะดีขึ้นเมื่อนั่งเอนตัวมาข้างหน้า แต่จะเลว ลงเมื่อนอนราบและ/หรือหายใจลึกๆ
นอกจากนั้น มักร่วมกับ
- มีไข้
- อาจเป็นไข้สูงหรือไข้ต่ำก็ได้
- อ่อนเพลีย
- ใจสั่น
- หัวใจเต้นผิดปกติ อาจเร็วหรือช้าหรือไม่เป็นจังหวะ
- ความดันโลหิตต่ำ
- วิงเวียน
- หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
- ไอโดยไม่มีเสมหะ
- ทั้งนี้เมื่อฟังเสียงหัวใจด้วยเครื่องฟังเสียงหัวใจ(หูฟัง) จะได้ยินเสียงหัวใจผิดปกติเหมือนกำลังเสียดสีกับสิ่งหนึ่งใดอยู่ (Friction rub)
ข.อาการของถุงหัวใจอักเสบกลับเป็นซ้ำ: จะเช่นเดียวกับอาการของถุงหัวใจอักเสบเฉียบพลัน โดยเป็นอาการที่กลับมาอีกในช่วงกำลังค่อยๆหยุดยาหรือภายหลังเมื่อหายจากอาการเดิมแล้วนานกว่า 6 สัปดาห์ขึ้นไป
ค.อาการของถุงหัวใจอักเสบเรื้อรัง: ที่พบบ่อยคือ
- บางครั้งไม่มีอาการถ้าการอักเสบเกิดเพียงเล็กน้อยหรือมีน้ำในถุงหุ้มหัวใจเพียงเล็กน้อย
- บางครั้งอาจมีเพียงอาการเหนื่อยง่ายเมื่อออกแรง
- แต่ในกรณีการอักเสบรุนแรงอาจมีอาการคล้ายในการอักเสบเฉียบพลัน กล่าวคือ เจ็บหน้าอก, ใจสั่น, ไอ, หายใจลำบาก, วิงเวียน, ความดันโลหิตต่ำ, เป็นลม, และมีภาวะหัวใจล้มเหลวในที่สุด
แพทย์วินิจฉัยเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ/ ถุงหุ้มหัวใจอักเสบอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ/ถุงหุ้มหัวใจอักเสบทุกชนิดได้ด้วยวิธีการเดียวกันคือ
- จากซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการต่างๆ ประวัติการเจ็บป่วยที่ผ่านมา การกินยาต่างๆทั้งในอดีตและในปัจจุบัน
- การตรวจร่างกาย รวมถึงการตรวจฟังเสียงการทำงานของหัวใจโดยใช้เครื่องตรวจหูฟัง
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจี
- การตรวจภาพปอดและหัวใจด้วย เอกซเรย์, การตรวจอัลตราซาวด์หัวใจ(เอคโคหัวใจ)
- อาจมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติมเพื่อการสืบค้น ทั้งนี้ขึ้นกับอาการของผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น
- การตรวจภาพหัวใจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) และ/หรือเอมอาร์ไอ
- ตรวจเลือดดูค่าสารต่างๆในการวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวข้องกับโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง
- หรือบางครั้งอาจจำเป็นต้องเจาะ/ดูดน้ำจากถุงหุ้มหัวใจเพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา
- หรือตัดชิ้นเนื้อถุงหุ้มหัวใจเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
รักษาเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ/ถุงหุ้มหัวใจอักเสบอย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ/ถุงหัวใจอักเสบคือ การรักษาสาเหตุ, และ การรักษาตามอาการ
ก. การรักษาสาเหตุ: เช่น รักษาวัณโรค รักษาโรคมะเร็ง รักษาการติดเชื้อต่างๆ เป็นต้น เช่น
- ใช้ยาปฏิชีวนะเมื่อติดเชื้อแบคทีเรีย
- ใช้ยาต้านไวรัสเมื่อเป็นโรคติดเชื้อไวรัส (ถ้ามียา เพราะยาต้านไวรัสมีเฉพาะไวรัสบางชนิดเท่านั้น)
- ใช้ยาต้านเชื้อราเมื่อสาเหตุจากโรคเชื้อรา
- ใช้ยาสเตียรอยด์ เมื่อเกิดจากโรคออโตอิมมูน/ โรคภูมิต้านตนเอง หรือเมื่อแพทย์หาสาเหตุไม่พบ
ข. การรักษาตามอาการ: เช่น
- การเจาะดูดน้ำ/ของเหลวออกจากถุงหุ้มหัวใจ
- อาจร่วมกับการผ่าตัดเจาะรูที่ถุงหุ้มหัวใจเพื่อให้เป็นทางไหลออกของน้ำ/ของเหลวเมื่อมีน้ำในถุงหุ้มหัวใจที่ก่อให้เกิดการเบียดทับหัวใจจนทำงานไม่ได้
- ผ่าตัดถุงหุ้มหัวใจเมื่อถุงหุ้มหัวใจเกิดพังพืดจนบีบรัดหัวใจ
- การให้ออกซิเจนเมื่อหายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- การให้ยาลดไข้เมื่อมีไข้
เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ/ ถุงหุ้มหัวใจอักเสบรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?
ความรุนแรง (การพยากรณ์โรค) ของเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ/ถุงหุ้มหัวใจอักเสบขึ้นกับสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย, อายุ(ผู้สูงอายุ ความรุนแรงโรคสูง), การพบแพทย์ได้เร็ว (โอกาสรักษาหายสูงขึ้น), และสาเหตุ เช่น
- เมื่อเกิดจากโรคมะเร็ง ความรุนแรงจะสูงสุด ,มักเป็นสาเหตุถึงตาย
- เมื่อเกิดจากการติดเชื้อ ความรุนแรงจะขึ้นกับความรุนแรงของเชื้อ เช่น โรคเชื้อรา ความรุนแรงสูง และยังขึ้นกับอายุและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยอีกด้วย
- เมื่อโรคเกิดโดยแพทย์หาสาเหตุไม่พบหรือจากโรคออโตอิมมูน/ โรคภูมิต้านตนเอง ความรุนแรงขึ้นกับอายุ, และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย, ซึ่งมีได้ตั้งแต่ ไม่จำเป็นต้องรักษา, ใช้การเฝ้าติดตามอาการเพราะโรคจะหายได้เอง,หรือรักษาได้หายภายใน 2 - 3 สัปดาห์, หรือโรครุนแรงจนเป็นเหตุให้ตายได้
อย่างไรก็ตาม โรคถุง/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบภายหลังรักษาหายแล้ว สามารถย้อนกลับเป็นซ้ำได้อีกประมาณ 8 - 80% โดยมักพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง, หรือโรคถุง/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเกิดจากโรคติดเชื้อไวรัส, หรือแพทย์หาสาเหตุไม่พบ, หรือผู้ป่วยมาพบแพทย์ล่าช้า
ผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนจากโรคถุงหุ้มหัวใจอักเสบ เช่น
- ภาวะเกิดน้ำให้ถุงหุ้มหัวใจ
- ภาวะถุงหุ้มหัวใจเกิดเป็นพังผืด
ซึ่งทั้ง 2 ภาวะจะก่อให้เกิดการบีบรัดหัวใจ ส่งผลให้หัวใจทำงานไม่ได้ ส่งผลต่อเนื่องให้เกิดภาวะหายใจล้มเหลวและอาจตายในที่สุด
ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
การดูแลตนเองที่ดีที่สุดคือ เมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆดังกล่าวในหัวข้อ “อาการ” ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
ส่วนเมื่อทราบแล้วว่าเป็นโรคถุง/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ การดูแลตนเองคือการปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ ซึ่งโดยทั่วไปได้แก่
- พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการออกแรงหรือการออกกำลังกายเกินกำลัง
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) ป้องกันการติดเชื้อซ้ำ
- รักษาควบคุมโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุให้ได้ดี
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
- รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
- มีอาการผิดปกติไปจากเดิม
- อาการต่างๆเลวลง
- มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ท้องเสีย หรือท้องผูกต่อเนื่อง
- เมื่อมีความกังวลในอาการ
ป้องกันเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ/ถุงหุ้มหัวใจอักเสบอย่างไร?
การป้องกัน เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ/ถุงหุ้มหัวใจอักเสบคือ การป้องกันสาเหตุ (ดังกล่าวในหัวข้อ “สาเหตุ”) ที่ป้องกันได้ โดยเฉพาะจากการติดเชื้อ ซึ่งวิธีป้องกันการติดเชื้อที่มีประสิทธิภาพก็คือ การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
บรรณานุกรม
- Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill
- Goyle,K., and Walling,A. (2002). Diagnosing pericarditis. Am Fam Physician. 66, 1695-1702.
- Khandaker, M. et al. (2010). Pericardiual disease: diagnosis and management. Mayo Clin Proc. 85, 572-593.
- Sagrista-Sauleda,J.et al. (2004). Effusive-constrictive pericarditis. N Engl J Med. 350, 469-475.
- Soler-Soler, J. et al. (2004). Relapsing pericarditis. Heart. 90, 1364-1368.
- Tingle, L. et al. (2007). Acute pericarditis. Am Fam Physician. 76, 1509-1514.
- https://www.cedars-sinai.org/health-library/diseases-and-conditions/p/pericarditis.html [2021,June26]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Pericarditis [2021,June26]
- https://emedicine.medscape.com/article/157096-overview#a6 [2021,June26]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Acute_pericarditis [2021,June26]
- https://www.medscape.com/viewarticle/751203 [2021,June26]
- https://www.wikidoc.org/index.php/Pericarditis_epidemiology_and_demographics [2021,June26]