เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis / Chocolate cyst)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือ โรคเอ็นโดเมททริโอซิส คืออะไร?

โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่หรือเกิดผิดที่ หรือโรคเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่หรือเกิดผิดที่ หรือโรคเอ็นโดเมททริโอซิส (Endometriosis) คือ โรค/ภาวะที่มีการเจริญเติบโต ของเยื่อบุโพรงมดลูกเกิดขึ้นภายนอกมดลูก ซึ่งส่วนมากจะพบโรคดังกล่าวเกิดในบริเวณภายในอุ้งเชิงกราน (ท้องน้อย)

ในภาวะปกติเยื่อบุโพรงมดลูกจะบุอยู่ภายในโพรงมดลูกเท่านั้น และในแต่ละรอบประจำเดือน หากไม่มีการตั้งครรภ์ เยื่อบุโพรงมดลูกจะลอกตัวออกมาเป็นประจำเดือน หากมีภาวะการเจริญเติบโตของเยื่อบุโพรงมดลูกผิดปกติภายนอกโพรงมดลูก ในช่วงเป็น รอบประจำเดือนก็จะมีการลอกตัวของเยื่อบุโพรงมดลูกที่เจริญผิดที่ดังกล่าวร่วมด้วยเสมอ เป็นเหตุให้เกิดบาดแผลและการอักเสบในอุ้งเชิงกราน ซึ่งจะก่อให้เกิดพังผืดในอุ้งเชิงกราน และอาจมีการสะสมของเลือดที่ออก ทำให้เกิดถุงน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่ เยื่อบุโพรงมดลูกไปเจริญที่รังไข่ ทำให้มีการสะสมของเลือดในรังไข่กลายเป็นถุงน้ำที่มีเลือด สะสมอยู่ ลักษณะของเลือดเก่าที่คั่งค้างอยู่จะมีลักษณะ เป็นสีคล้ำขึ้นคล้ายช็อกโกแลต จึงทำให้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ถุงน้ำช็อกโกแลต หรือ ช็อกโกแลตซีส (Chocolate cyst)” นั่นเอง

โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่เป็นโรคร้ายแรงหรือไม่?

โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ไม่จัดว่าเป็นโรคร้ายแรง แต่ความรุนแรงของอาการอาจมีได้ หลายระดับ ตั้งแต่มีอาการปวดประจำเดือนเล็กน้อย จนถึงระดับปวดประจำเดือนมาก จนส่งผลรบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวัน บางรายอาจมีอาการปวดท้องน้อยเรื่อรังได้จากการมีพังผืดในอุ้งเชิงกราน

ส่วนการเปลี่ยนแปลงของโรคเยื่อบุโพรงมดลูกไปเป็นมะเร็งนั้น จากการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่นั้น อาจจะมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งรังไข่บางชนิดมาก ขึ้นกว่าประชากรทั่วไป แต่โอกาสการเกิดโรคมะเร็งดังกล่าวนั้นต่ำมากๆ และโอกาสการเกิดโรคมะเร็งรังไข่ไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับสตรีที่ไม่ได้เป็นโรคนี้ที่ไม่เคยตั้งครรภ์มาก่อน (โรคมะเร็งรังไข่พบได้สูงกว่าในคนที่ไม่เคยตั้งครรภ์เมื่อเปรียบเทียบกับคนเคยตั้งครรภ์)

โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่พบได้บ่อยหรือไม่และใครบ้างที่มีโอกาสเกิดโรค?

ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดถึงอุบัติการณ์ของโรคเยื่อบุโพรงมดลูเจริญผิดที่ เนื่องจากสตรีที่เป็น โรคนี้จะไม่มีอาการทุกราย หรือบางรายมีอาการน้อยมากจนไม่ได้มารับการตรวจวินิจฉัย โดยมาก ที่พบว่าเป็นโรคดังกล่าวก็ต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการและมารับการรักษาเท่านั้น อย่างไรก็ตาม มีการประ มาณการว่าโรคนี้พบได้ประมาณ 1 ใน 10 ของสตรีวัยเจริญพันธุ์ (วัยยังมีประจำเดือน) หรืออาจจะ มากถึง 5 ใน 10 ของสตรีวัยเจริญพันธุ์ทั้งหมด ดังนั้นจะเห็นได้ว่าอุบัติการณ์ของโรคดังกล่าวอาจ จะมากถึง 50% ของประชากรหญิงวัยเจริญพันธุ์ โดยส่วนมากจะพบในสตรีอายุระหว่าง 25 - 40 ปี สตรีในวัยดังกล่าวจึงเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ โดยจะพบว่า มีความเสี่ยงมากขึ้นหากมีปัจจัยดังต่อไปนี้

  • มีประวัติครอบครัวเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่โดยเฉพาะหากมี มารดา พี่สาว หรือน้องสาว แม่เดียวกันเป็นโรคดังกล่าว
  • เริ่มเป็นประจำเดือนเมื่ออายุน้อย
  • ไม่เคยตั้งครรภ์มาก่อน

สาเหตุของการเกิดโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่คืออะไร?

ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดถึงสาเหตุการเกิดโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หากแต่มีการ สันนิษฐานว่า อาจเกิดจากการไหลย้อนกลับของเลือดประจำเดือนจากโพรงมดลูกผ่านท่อนำไข่ เข้าไปยังอุ้งเชิงกราน ซึ่งเลือดประจำเดือนเหล่านี้จะมีเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกอยู่ ซึ่งเซลล์เยื่อบุ โพรงมดลูกดังกล่าวสามารถเจริญเติบโตได้ในอุ้งเชิงกราน และอาจจะไปเกาะอยู่ตามอวัยวะต่างๆ ได้เช่น รังไข่หรือลำ ไส้

เยื่อบุโพรงมดลูกเหล่านี้สามารถตอบสนองต่อฮอร์โมนเพศหญิงได้ดังเช่นเมื่ออยู่ในโพรง มดลูก ซึ่งหมายความว่า ในช่วงมีรอบประจำเดือน เยื่อบุโพรงมดลูกดังกล่าวก็จะลอกตัวออกจาก อวัยวะหรือผิวของอุ้งเชิงกรานที่เกาะอยู่ ทำให้เกิดแผลภายในอุ้งเชิงกรานและในอวัยวะภายใน ช่องท้อง ซึ่งเมื่อเกิดบาดแผลขึ้น ร่างกายจะพยายามซ่อมแซม บาดแผลเหล่านั้นดัวยการสร้าง เนื้อเยื่อขึ้นมาใหม่ แต่ในบางกรณีการซ่อมแซมนั้นๆจะทำให้เกิดพังผืดหรือแผลเป็นในอุ้งเชิงกราน พังผืดเหล่านั้นอาจดึงรั้งให้อวัยวะที่อยู่ใกล้กันมายึดติดรวมกันได้ เช่น อาจดึงรั้งให้ ลำไส้ใหญ่มาติดกับมดลูกหรือรังไข่ หรืออาจดึงรั้งกระเพาะปัสสาวะมาติดกับมดลูก เป็นต้น

ในบางกรณี เยื่อบุโพรงมดลูกที่ลอกตัวดังกล่าวอาจจะทำให้มีเลือดออก ซึ่งหาก เยื่อบุโพรงมดลูกเหล่านั้นเจริญในที่ที่ไม่มีทางระบายออก เช่น ที่รังไข่ ก็จะเกิดการขังตัว ของเลือดจนกลายเป็น ‘ถุงน้ำที่รังไข่’ โดยเลือดจะมีสีคล้ำ เมื่อสะสมอยู่นาน ทำให้มีลักษณะ คล้ายช็อกโกแลตเหลว จึงมีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการของถุงน้ำที่รังไข่ประเภทนี้ว่า ‘ถุงน้ำช็อกโกแลต’ ดังกล่าวแล้วนั่นเอง

อาการของโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่เป็นอย่างไร?

ตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่นั้น บางรายไม่มี อาการใดๆเลย ซึ่งอาจจะทำให้ไม่ได้มาตรวจวินิจฉัยและรับการรักษา และที่น่าประหลาดใจคือ ในบางกรณี ความรุนแรงของอาการอาจไม่สัมพันธ์กับความรุนแรงของตัวโรคเลย เช่น ในบางรายมีอาการมาก แต่เมื่อได้รับการตรวจวินิจฉัยแล้วกลับพบว่าโรคที่พบมีขนาดเล็กมาก เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม อาการที่ชวนสงสัยว่า ท่านอาจจะเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ มีดังต่อไปนี้

  • ปวดประจำเดือน: ซึ่งอาการปวดประจำเดือนที่สัมพันธ์กับโรคเยื่อบุโพรงมดลูก เจริญผิดที่ มักจะมีอาการปวดก่อนมีประจำเดือนประมาณ 2 - 3 วัน และอาการปวดจะดำเนินไปตลอดช่วงการมีประจำเดือน อาการปวดจะเป็นมากและมักจะแย่ลงเรื่อยๆในประจำเดือนรอบต่อๆ ไป
  • เจ็บลึกๆในช่องคลอดขณะมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งอาการเจ็บปวดมักจะคงอยู่หลังมี เพศสัมพันธ์ ไปอีก 1 - 2 ชั่วโมง
  • ปวดอุ้งเชิงกรานเรื้อรัง
  • มีบุตรยาก
  • อาการอื่นๆที่พบไม่บ่อยเช่น
    • ในช่วงเป็นประจำเดือน จะมีอาการปวดในทวารมากขณะถ่ายอุจจาระ หรือปวดในอุ้งเชิงกรานมากขณะปัสสาวะ
    • ในบางรายอาจมีอาการถ่ายอุจจาระเป็นเลือด หรือปัสสาวะเป็นเลือด ในช่วงที่เป็นประจำเดือน ซึ่งเป็นอาการหนึ่งที่บ่งว่า อาจจะมี เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญในลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย หรือในกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น

ทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่?

เมื่อมีอาการชวนสงสัยดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ ท่านควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง สาขาสูติศาสตร์และนรีเวช เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย โดยมากการตรวจวินิจฉัยจะอิงจากประวัติของอาการต่างๆเป็นหลัก เช่น

  • มีประวัติปวดประจำเดือนมาก และปวดมากขึ้นเรื่อยๆ หรือ
  • ร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น เจ็บลึกๆในช่องคลอดขณะและหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือ
  • มีบุตรยาก เป็นต้น

การตรวจภายใน: อาจจะช่วยวินิจฉัยโรคดังกล่าวได้ หากตรวจพบว่ามีก้อนเนื้อ/พังผืดในบริเวณอุ้งเชิงกราน หรือตรวจพบถุงน้ำรังไข่

การทำอัลตราซาวด์อุ้งเชิงกราน: อาจจะช่วยวินิจฉัยในกรณีที่มีถุงน้ำรังไข่เกิดขึ้น แต่หากเป็นตัวโรคหรือพังผืดในอุ้งเชิงกรานยังมีขนาดเล็กๆ การทำอัลตร้าซาวด์อาจจะ ไม่พบความผิดปกติ

การยืนยันผลการวินิจฉัย: ทำได้โดยการผ่าตัดส่องกล้องทางหน้าท้องเพื่อสำรวจภายใน อุ้งเชิงกรานว่ามีโรคเยื่อบุโพรงมดลูกที่เจริญผิดที่หรือไม่ โดยอาจพบรอยโรคดังกล่าว ร่วมกับการมีพังผืดในอุ้งเชิงกราน หรือพบว่ามีถุงน้ำช็อกโกแลต เป็นต้น การดูด้วยตาเปล่าจากกล้องเพียงอย่างเดียวก็อาจจะเพียงพอต่อการวินิจฉัย แต่หากต้องการการยืนยันที่แน่นอนก็ควรมีการตัดชิ้นเนื้อบริเวณที่เป็นรอยโรคดังกล่าวเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

อย่างไรก็ตามการตรวจวินิจฉัยโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ไม่จำเป็นต้องทำการ ผ่าตัดส่องกล้องทุกราย อาจจะใช้เพียงอาการ และการตรวจร่างกาย เพื่อวินิจฉัยโรค ก็อาจจะเพียงพอในการให้การรักษา

โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่มีผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงที่เกิดจากโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ได้แก่

  • ปวดประจำเดือนมาก
  • ปวดท้องน้อยเรื้อรัง
  • ภาวะมีบุตรยาก
  • บางรายอาจมี อุจจาระเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด หรือเลือดออกในช่องปอดในช่วงมีประจำเดือน ซึ่งพบได้น้อยมาก จะเกิดได้ในรายที่มีเยื่อบุโพรงมดลูกไปเจริญผิดที่ที่ อวัยวะดังกล่าว

จำเป็นหรือไม่ที่ต้องรักษาโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่?

โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาทุกราย ดังที่ได้กล่าว ไปแล้ว ข้างต้นว่า ในบางรายที่ไม่มีอาการ หรือในรายที่มีอาการน้อยมากๆ ก็ไม่จำเป็นต้อง ได้รับการรักษาเลย และโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่นี้ อาการมักจะดีขึ้นได้เองเมื่อเข้าสู่ วัยหมดประจำเดือนเนื่องจากไม่มีฮอร์โมนเพศหญิงมากระตุ้นการเจริญเติบโตของเยื่อบุโพรง มดลูกแล้ว เยื่อบุโพรงมดลูกเหล่านั้นก็สามารถฝ่อและสลายไปได้เอง

โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่รักษาได้อย่างไร?

จุดมุ่งหมายในการรักษาโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่คือ ลดหรือกำจัดอาการของโรค เช่น

  • หากผู้ป่วยมีอาการปวดประจำเดือน การรักษาก็มุ่งเน้นเพื่อลดอาการปวด
  • ในรายที่มีบุตรยากจากโรคดังกล่าว การรักษาก็จะมุ่งเน้นในเรื่องการช่วยให้มีบุตร
  • หรือหากเป็นกรณีที่มีถุงน้ำรังไข่ การรักษาก็จะมุ่งเพื่อกำจัดถุงน้ำรังไข่ เช่น เฝ้าติดตามเมื่อถุงน้ำมีขนาดเล็กหรือผ่าตัดเฉพาะถุงน้ำเมื่อถุงน้ำมีขนาดใหญ่ เป็นต้น

ดังจะเห็นได้ว่า การรักษาโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่นั้น การรักษามิได้มุ่งจะ กำจัดรอยโรค (ซึ่งโดยมากมักไม่สามารถกำจัดรอยโรคได้หมด) หากแต่เป็นการรักษาตาม อาการของโรค และรอยโรคนั้นสามารถหายไปได้เองเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ดังนั้นการรักษาโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ในผู้ป่วยแต่ละรายนั้นจะขึ้นกับอาการของผู้ป่วย

การรักษาโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ สามารถแบ่งออกเป็น 2 กรณีใหญ่ๆดังนี้ คือ การ รักษาดัวยยา และการรักษาด้วยการผ่าตัด

1. การรักษาด้วยยา: มักจะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ต้องการมีบุตร เนื่องจากยาที่ใช้รักษา โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่นั้น โดยมากจะมีผลต่อฮอร์โมนเพศ และกดการทำงานของ รังไข่ ทำให้ไม่สามารถมีบุตรได้ในระหว่างการรักษา (ยกเว้นยาแก้ปวดที่จะไม่มีผลต่อ การมีบุตร) การรักษาด้วยยามักจะใช้ในรายที่มีอาการปวดประจำเดือนโดยที่ไม่มีถุงน้ำที่รังไข่ หรือมีถุงน้ำรังไข่ขนาดเล็ก ขนาดไม่เกิน 2 - 3 เซนติเมตร

ยาที่ใช้ในการรักษา เช่น

  • ยาแก้ปวดและยาลดการอักเสบ: อาจใช้ยากลุ่มพาราเซตตามอล (Paracetamol) ในการบรรเทาอาการปวดประจำเดือนในรายที่ปวดไม่มาก หรือหากต้องการฤทธิ์ การแก้ปวดมากขึ้น อาจจะใช้ยาต้านการอักเสบ เช่น พอนสแตน (Ponstan) เป็นต้น ซึ่งยาเหล่านี้จะช่วยลดอาการปวดประจำเดือนได้ในรายที่ปวดไม่มาก
  • ยาเม็ดคุมกำเนิด: มีการรายงานถึงการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดในการรักษาโรคเยื่อบุ โพรงมดลูกเจริญผิดที่ว่า สามารถช่วยลดอาการปวดประจำเดือน และอาการปวด ขณะมีเพศสัมพันธ์ได้
  • ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด (ยาฉีดคุมกำเนิด) เป็นที่นิยมมาก ในการรักษาโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เนื่องจากยามีประสิทธิภาพในการลด อาการปวดได้ดี และมีราคาถูก หากแต่อาจจะมีผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ได้ เช่น
    • ประจำเดือนมาผิดปกติ หรือ
    • บางรายอาจจะไม่มีประจำเดือนมาเลยในขณะที่ไดัรับการรักษา
    • อาจมีภาวะซึมเศร้าซึ่งเป็นผลจากฮอร์โมนในยาคุมกำเนิดชนิดฉีดได้
    • อีกทั้งผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยยาคุมกำเนิดชนิดฉีดมักจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
    • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฉีดเพื่อการรักษาในรายที่ยังมีความต้องการมีบุตร เนื่องจากการใช้ยาคุมกำเนิดมีผลกดการทำงานของรังไข่ในระยะยาว ดังจะเห็นได้จาก เมื่อหยุดการรักษา ภาวะประจำเดือนของผู้ป่วยอาจจะผิดปกติ ได้ยาวนาน กว่าที่รังไข่จะกลับมาทำงานปกติจนมีประจำเดือนตามปกติได้
  • ยาฮอร์โมนแอนโดรเจน: ยาฮอร์โมนกลุ่มแอนโดรเจนที่มีในท้องตลาดคือ ยา Danazol ยากลุ่ม นี้ให้ผลการรักษาโรคและลดอาการปวดประจำเดือนได้ดี อีกทั้งเป็นยาชนิด รับประทาน ซึ่งสะดวกต่อการใช้มากกว่ายาฉีด หากแต่ยากลุ่มนี้อาจจะ มีอาการไม่พึงประสงค์คือ
    • อาจส่งผลให้ผู้กินยา มีลักษณะของเพศชายได้ เช่น ผิวมัน หน้ามัน เป็นสิว มีขน หรือหนวดขึ้น และ
    • ที่เป็นปัญหามากที่ สุดคือ อาจจะทำให้เสียงเปลี่ยนเป็นลักษณะแหบลง คล้าย เสียงผู้ชายได้
    • ซึ่งการเปลียนแปลงอื่นๆ ที่กล่าวมาข้างต้น สามารถหายไปได้หลังหยุดใช้ยา ยกเว้นการเปลี่ยนแปลงของเสียงซึ่งจะคงอยู่ตลอดไปถึงแม้จะหยุดใช้ยา แล้วก็ตาม
  • ยาฮอร์โมน Gonadotropin-releasing hormone (GnRH) ชนิดฉีด ยาฮอร์โมน ชนิดนี้เหมาะในผู้ป่วยที่ยังต้องการมีบุตร แต่มีอาการปวดประจำเดือนมาก ก็สามารถให้ ยาฉีดดังกล่าวนี้รักษาระยะสั้นๆได้ ถึงแม้ว่าในขณะรักษาจะไม่สามารถมีบุตรได้ก็ตาม ซึ่งข้อดีของยาตัวนี้คือ หลังหยุดยาแล้วรังไข่จะกลับมาทำงานได้ตามปกติทันที ที่หยุดให้ยา แต่ข้อเสียของยาตัวนี้คือ ราคาแพง และ มีผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) มากเช่น มีอาการคล้ายวัยหมดประจำเดือน มีร้อนวูบวาบ อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย อาจมีภาวะกระดูกพรุนได้หากใช้เป็นระยะเวลานาน

2. การรักษาด้วยการผ่าตัด: ผู้ที่ต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดมีลักษณะดังต่อไปนี้

  • มีอาการปวดประจำเดือนหรือปวดอุ้งเชิงกรานมาก
  • ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา
  • มีถุงน้ำที่รังไข่ขนาดใหญ่
  • มีภาวะมีบุตรยากหรือยังต้องการมีบุตร

อนึ่ง การรักษาด้วยการผ่าตัดสามารถทำได้โดยการรักษา

  • แบบอนุรักษ์ (Conservative surgery) ซึ่งเป็นการผ่าตัดเฉพาะรอยโรคหรือถุงน้ำ
  • หรือแบบรุนแรง (Radical surgery) ซึ่งจะผ่าตัดมดลูกและรังไข่ออกทั้งหมด

ก. การผ่าตัดแบบอนุรักษ์ (Conservative surgery): มักจะใช้ในผู้ป่วยที่ยังมีอายุน้อย และยังมีความต้องการการมีบุตร การผ่าตัดดังกล่าว ได้แก่ การตัดเอาเฉพาะรอยโรค ที่พบออกเพื่อลดอาการปวด หรือในรายที่มีถุงน้ำรังไข่ การผ่าตัดก็จะกระทำเพื่อเอาเฉพาะถุงน้ำรังไข่ออก โดยยังเก็บ รักษารังไข่ปกติส่วนที่เหลือที่ไม่ได้เกิดถุงน้ำเอาไว้

  • ข้อดีของการรักษาโดยการผ่าตัดแบบอนุรักษ์ คือ ผู้ป่วยยังไม่เข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือน เนื่องจากยังมีรังไข่ที่ยังสามารถผลิตฮอร์โมนเพศหญิงได้ และยังสามารถตั้งครรภ์ และมีบุตรได้หลังการผ่าตัด
  • ข้อเสียของการรักษาโดยการผ่าตัดแบบอนุรักษ์ คือ มีโอกาสกลับเป็นโรคซ้ำ หลังผ่าตัดรักษาได้ การกลับเป็นซ้ำอาจจะสูงถึง 60% ซึ่งการให้ยารักษาหลังผ่าตัด หรือการช่วยให้ตั้งครรภ์ พบว่า มีผลช่วยลดอัตราการกลับเป็นซ้ำของโรคได้

ข. การผ่าตัดแบบรุนแรง (Radical surgery): คือการผ่าตัดเพื่อตัดมดลูกและรังไข่ มักให้การรักษาในรายที่ผู้ป่วยมีอายุมาก (มักจะพิจารณาทำเมื่อผู้ป่วยมีอายุมากกว่า 40 ปี) และไม่ต้องการมีบุตรแล้ว

  • ข้อดีของการรักษาโดยการผ่าตัดแบบรุนแรง คือ เป็นการรักษาที่หายขาด โอกาส กลับเป็นซ้ำของโรคต่ำมาก
  • ข้อเสียของการรักษาโดยการผ่าตัดแบบรุนแรง คือ หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะเข้าสู่ภาวะ วัยหมดประจำเดือน ทำให้อาจมีผลเสียจากการเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน เช่น มีอาการร้อนวูบวาบ โรคกระ ดูกพรุน โรคไขมันในเลือดสูง ซึ่งทำให้มีโอกาสเสี่ยง ต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดสมอง ดังนั้น ผู้ป่วยในกลุ่มนี้ หลังผ่าตัดมักจะต้องได้รับการให้ฮอร์โมนเพศทดแทน

ทั้งนี้การผ่าตัดรักษาทั้งสองวิธีสามารถทำได้ทั้งการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง และการผ่าตัดผ่านกล้อง ซึ่ง ณ ปัจจุบัน การผ่าตัดผ่านกล้องได้รับความนิยมมาก เนื่องจาก มีความปลอดภัยสูง บาดแผลมีขนาดเล็ก ทำให้เจ็บแผลผ่าตัดน้อยกว่า และฟื้นตัวหลังผ่าตัด เร็วกว่าการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง อีกทั้งช่วยลดการเกิดพังผืดจากการผ่าตัดได้ จึงมักเป็นทาง เลือกแรกสำหรับผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ยาก ที่มีโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

หากเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่แล้วควรดูแลตนเองอย่างไร?

โดยมากผู้ที่เป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ มักมาพบแพทย์ล่าช้า เนื่องจากอาการนำสำคัญของโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่คือ อาการปวดประจำเดือน ซึ่งสตรีที่มีอาการ ปวดประจำเดือนโดยมากมักเข้าใจว่า เป็นอาการปกติของการมีประจำเดือน ดังนั้นหากสตรี ท่านใดที่มีอาการปวดประจำเดือนมากและอาการเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ควรปรึกษาแพทย์ เฉพาะทางสาขาสูติศาสตร์และนรีเวช เพื่อเข้ารับการรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากโรคดังกล่าวแล้ว

สำหรับท่านที่ได้รับการวินิจฉัยหรือได้รับการรักษาโรคดังกล่าวแล้ว ควรติดตาม การรักษาให้สม่ำเสมอตามแพทย์นัด เนื่องจากโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ สามารถกลับเป็นซ้ำได้ตลอดช่วงวัยเจริญพันธุ์

โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ป้องกันได้หรือไม่? อย่างไร?

ปัจจุบัน ยังไม่พบวิธีป้องกันการเกิดโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ที่ได้ผลเป็นที่น่า พึงพอใจ

  • มีข้อมูลเรื่องการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สามารถช่วยลดโอกาสการเกิดโรคได้ แต่ผลการป้องกันไม่แน่นอน
  • การรับประทานอาหาร หรือวิตามิน ไม่พบว่าช่วยลดโอกาสการเกิดโรค
  • ดังนั้น การดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงหากมีอาการ ที่ชวนสงสัยว่าจะเป็นโรคดังกล่าว ควรรีบปรึกษาแพทย์/สูตินรีพทย์ก็น่าจะเป็นการดู แลตนเองที่ดีที่สุด เพื่อการรักษาโรคแต่เนิ่นๆในระยะที่โรคยังไม่รุนแรง

บรรณานุกรม

1.ACOG Committee on Practice Bulletins--Gynecology. ACOG practice bulletin. Medical management of endometriosis. Number 11, December 1999 (replaces Technical Bulletin Number 184, September 1993). Clinical management guidelines for obstetrician-gynecologists. Int J Gynaecol Obstet 2000; 71:183.

2.Farquhar C, Endometriosis. BMJ. 2007; 3;334 (7587):249-53.

3.Hughes E, Fedorkow D, Collins J, Vandekerckhove P. Ovulation suppression for endometriosis. Cochrane Database Syst Rev 2000;:CD000155.

4.Kennedy S, Bergqvist A, Chapron C, et al. ESHRE guideline for the diagnosis and treatment of endometriosis. Hum Reprod 2005; 20:2698.