เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ (Endometritis)
- โดย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ
- 11 สิงหาคม 2564
- Tweet
- ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบคืออะไร?
- ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบมีอาการอย่างไร?
- ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ?
- ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
- แพทย์วินิจฉัยภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบอย่างไร?
- รักษาภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบอย่างไร?
- ภาวะแทรกซ้อนจากเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบมีอะไรบ้าง?
- ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบกลับเป็นซ้ำได้ไหม?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
- ป้องกันเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- อวัยวะเพศภายในสตรี: กายวิภาคอวัยวะเพศภายในสตรี (Anatomy of female internal genitalia)
- ปวดท้องน้อย (Pelvic pain)
- การสวนล้างช่องคลอด (Vaginal douching)
- การผ่าท้องคลอดบุตร การผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้อง (Caesarean section)
- การขูดมดลูก (Fractional dilatation and curettage)
- การใส่ห่วงคุมกำเนิด การใส่ห่วงอนามัย (Intrauterine device birth control)
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กามโรค (STD: Sexually transmitted disease)
- ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial vaginosis)
- ระยะหลังคลอด (Postpartum period)
ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบคืออะไร?
ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ (Endometritis) หรือเรียกว่า ‘เยื่อบุมดลูกอักเสบ’ หรือ ’มดลูกอักเสบ’ เป็นภาวะ/โรคที่มีการอักเสบติดเชื้อที่มักเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียในเยื่อบุมดลูก(เยื่อบุโพรงมดลูก) โดยส่วนมากเป็นการติดเชื้อโรคที่อยู่ในช่องคลอดหรือที่ปากมดลูกที่ลุกลามขึ้นไปในโพรงมดลูก และบางครั้งอาจมีการอักเสบรุนแรงลุกลามเข้าไปถึงชั้น กล้ามเนื้อมดลูก, ท่อนำไข่, และลามออก ไปในอุ้งเชิงกราน/ท้องน้อยได้
การติดเชื้อในเยื่อบุโพรงมดลูกมักเกิดจากเชื้อแบคที่เรียได้หลายชนิดร่วมกัน ซึ่งเชื้อที่พบเป็นสาเหตุได้บ่อยคือ Chlamydia trachomatis, Ureaplasma urealyticum, Peptostrep tococcus, Gardnerella vaginalis, Bacteroides bivius และ Group B Streptococcus
ภาวะติดเชื้อในเยื่อบุโพรงมดลูกเป็นภาวะพบได้เรื่อยๆ โดยอัตราเกิดไม่แน่นอนขึ้นกับหลายปัจจัยเช่น ฐานะทางเศรษฐกิจของผู้ป่วย รวมไปถึงการสาธารณสุขของแต่ละชุมชน ดัง นั้นจึงแตกต่างกันไปในแต่ละชุมชน โรงพยาบาล และประเทศ
ภาวะติดเชื้อในเยื่อบุโพรงมดลูกพบได้ในผู้หญิงทุกวัย แต่พบในวัยเจริญพันธุ์สูงกว่าในวัยอื่นๆ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์และจากการคลอดบุตร
ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบมีอาการอย่างไร?
สามารถมีอาการและอาการแสดงของภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบได้หลายอย่าง เช่น
1. ปวดท้องน้อย
2. มีตกขาวออกทางช่องคลอด ลักษณะอาจเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว
3. ตกขาวมีกลิ่นเหม็น
4. ตกขาวปนเลือดออก
5. บางครั้งมีไข้ได้
6. เจ็บช่องคลอด และ/หรือ บริเวณท้องน้อยเวลามีเพศสัมพันธ์
7. ในกรณีเกิดหลังคลอด น้ำคาวปลาจะมีกลิ่นเหม็น
ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ?
ผู้มีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
ก. ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการตั้งครรภ์และการคลอด:
- สตรีตั้งครรภ์ที่มีถุงน้ำคร่ำแตกก่อนที่จะมีการคลอดทารกเป็นเวลานาน ทำให้เชื้อโรคจากช่องคลอดเข้าไปในโพรงมดลูกได้ จึงทำให้เกิดการอักเสบในโพรงมดลูก
- สตรีที่เจ็บครรภ์คลอดที่มารอคลอดบุตรและได้รับการตรวจภายในบ่อยครั้งเกินไป จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงของการติดเชื้อในโพรงมดลูก
- สตรีที่ได้รับการผ่าท้องคลอดบุตร การมีแผลที่ตัวมดลูกทำให้มีโอกาสติดเชื้อในโพรงมดลูกมากกว่าการคลอดทางช่องคลอด
- สตรีระยะหลังคลอดที่ยังมีน้ำคาวปลาไหลจากบริเวณที่รกเกาะในตัวมดลูกยังไม่หายดี ทำให้มีโอกาสติดเชื้อง่ายขึ้น
ข. ปัจจัยที่ไม่สัมพันธ์กับการตั้งครรภ์และการคลอด:
- สตรีที่ได้รับการทำหัตถการต่างๆทางนรีเวช เช่น การขูดมดลูก ทำให้เกิดแผลในโพรงมดลูกทำให้มีโอกาสติดเชื้อง่ายขึ้น
- สตรีที่มีการสวนล้างช่องคลอดบ่อยๆ ทำให้สภาพแวดล้อมในช่องคลอดเปลี่ยน แปลงไปทำให้เพิ่มโอกาสติดเชื้อง่ายขึ้น
- สตรีที่มีการคุมกำเนิดด้วยการใส่ห่วงคุมกำเนิด สายห่วงที่อยู่ในช่องคลอดสามารถเป็นตัวนำเชื้อโรคขึ้นไปในโพรงมดลูกไปทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบได้
- มีการติดเชื้อในช่องคลอดอยู่ก่อนแล้ว ทำให้มีโอกาสที่เชื้อจะขึ้นไปทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบได้มากขึ้นเช่น ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย
- การมีเพศสัมพันธ์ขณะมีประจำเดือน ซึ่งปากมดลูกจะเปิดทำให้เชื้อเข้าไปในโพรงมดลูกง่ายขึ้น และเลือดก็เป็นแหล่งอาหารที่ดีของแบคทีเรีย
- การมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลที่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- การมีคู่นอนหลายคน
- เศรษฐานะต่ำ ส่งผลให้มีสุขอนามัยบริเวณอวัยวะเพศไม่ดี
ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอเมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ อาการ โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยง
แพทย์วินิจฉัยภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบได้จาก
ก. ประวัติอาการ: เช่น มีอาการปวดท้องน้อย มีตกขาวที่ผิดปกติไปจากเดิมอาจมีสีเขียว สีเหลือง บางครั้งมีเลือดปนตกขาว ส่วนมากตกขาวมักมีกลิ่นเหม็นร่วมด้วย บางครั้งมีไข้ร่วมด้วย และหากมีประวัติทางการแพทย์ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่างๆ (ดังกล่าวในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยง) เช่น การทำหัตถการทางนรีเวชต่างๆ ก็จะช่วยให้การวินิจฉัยง่ายขึ้น
ข. การตรวจร่างกาย: หากอาการไม่รุนแรง สัญญาณชีพมักปกติ หากอาการรุนแรงจะมีผลให้สัญญาณชีพผิดปกติได้เช่น มีไข้ ชีพจรเต้นเร็ว นอกจากนั้นการตรวจคลำหน้าท้องจะพบ ว่ามีอาการปวด/เจ็บบริเวณท้องน้อยหรือหัวเหน่า
ค. การตรวจภายใน: จะพบตกขาวจำนวนมากในช่องคลอดมีสีเขียวหรือเหลือง มีกลิ่นเหม็น หรือมีเลือดปน กดคลำเจ็บที่บริเวณตัวมดลูก หากการอักเสบรุนแรงจะทำให้กดเจ็บบริเวณ ปีกมดลูกและท้องน้อยได้
ง. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ: เมื่อนำตกขาวมาย้อมสีกรัม (Gram stain) จะพบเชื้อ แบคทีเรียจำนวนมากมายร่วมกับพบเม็ดเลือดขาวในตกขาวจำนวนมาก หากมีการอักเสบติดเชื้อหนองในก็จะพบลักษณะเฉพาะของเชื้อนี้ นอกจากนี้หากตรวจเลือด ซีบีซี/CBC อาจพบมีจำนวนเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น สำหรับการตรวจอัลตราซาวด์มดลูก/ท้องน้อยจะไม่มีลักษณะผิดปกติที่เฉพาะอย่างชัดเจนในโรคนี้
สำหรับวิธีการวินิจฉัยอย่างอื่นที่สามารถทำได้เพื่อพิสูจน์ว่ามีการอักเสบของเยื่อบุโพรงมดลูกแน่นอนได้แก่ การตัดชิ้นเนื้อในโพรงมดลูกเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อดูว่ามีเม็ดเลือดขาวเข้าไปแทรกอยู่ในผนังมดลูก/ชั้นเยื่อบุโพรงมดลูกหรือไม่ แต่ส่วนมากมักไม่ได้ทำหัตถการนี้เนื่องจากเสียเวลาในการรอผลตรวจ และสามารถสร้างความเจ็บปวดให้แก่ผู้ป่วยได้ การวินิจฉัยภาวะนี้จึงวินิจฉัยจากอาการทางคลินิกของผู้ป่วยเป็นส่วนใหญ่
รักษาภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบอย่างไร?
แบ่งการรักษาภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบได้เป็น 2 แบบคือ แบบผู้ป่วยนอกและแบบผู้ ป่วยใน
ก. การรักษาแบบผู้ป่วยนอก: ใช้รักษาในกรณีที่ผู้ป่วยอาการไม่มาก ไข้ไม่สูง ไม่มีภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) ต่างๆ แพทย์จะให้รับประทานยาปฏิชีวนะ 7 - 14 วัน เนื่องจากเชื้อก่อโรคเกิดจากเชื้อหลายชนิด แพทย์จึงต้องให้ยาปฏิชีวนะครอบคลุมเชื้อหลายขนาน
ข. การรักษาแบบผู้ป่วยใน: ใช้รักษาในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการมาก ไข้สูง หนาวสั่น ปวดท้องน้อยอย่างมาก มีภาวะแทรกซ้อนต่างๆเช่น ก้อนฝี/หนองที่ท่อรังไข่และที่รังไข่ หรือรับ ประทานยาปฏิชีวนะแล้วไม่ดีขึ้น แพทย์จะให้นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล จะมีฉีดยาปฏิชีวนะ เข้าทางหลอดเลือดดำจนกว่าอาการจะดีขึ้น แล้วจึงเปลี่ยนมาเป็นยาปฏิชีวนะรับประทาน นอก จากนั้นคือ มีการให้น้ำเกลือ/สารอาหารทางหลอดเลือดดำกรณีกินได้น้อย และให้ยาแก้ปวด, ยาลดไข้
ภาวะแทรกซ้อนจากเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบมีอะไรบ้าง?
แบ่งภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) จากเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบได้เป็น 2 ระยะได้แก่
ก. ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดในระยะสั้น: คือ ภาวะแทรกซ้อนที่พบเกิดต่อเนื่องกับอาการต่างๆ เช่น
1. มีการลุกลามกระจายของเชื้อโรคเข้าไปในท่อนำไข่และในท้องน้อย/อุ้งเชิงกราน ทำให้เกิดการอักเสบของท่อนำไข่และภายในอุ้งเชิงกราน (การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน)
2. ทำให้เกิดก้อนฝีหนองที่รังไข่และที่ท่อนำไข่ (Tubo-ovarian abscess)
3. หากอาการรุนแรงมากขึ้นอีกสามารถทำให้เกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
4. เกิดภาวะช็อกและอาจเสียชีวิตได้
ข. ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดในระยะยาว: คือภาวะแทรกซ้อนที่เกิดในระยะยาวหลังการรักษาผ่านพ้นไปแล้ว ซึ่งอาจพบมีอาการเป็นๆหายๆได้ตลอดไป
1. ทำให้เกิดพังผืดในโพรงมดลูก ทำให้เลือดประจำเดือนมาน้อยหรือไม่มา
2. ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากเนื่องจากเกิดมีพังผืดไปยึดหรือไปปิดกั้นท่อนำไข่
3. ทำให้เกิดพังผืดในบริเวณอุ้งเชิงกราน
4. ทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อย/อุ้งเชิงกรานเรื้อรัง
5. มีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก/ท้องนอกมดลูก เนื่องจากการมีพังผืดในบริเวณอุ้งเชิงกรานและบริเวณท่อนำไข่ ทำให้กระบวนการจับไข่เข้าท่อนำไข่และการเคลื่อนไหวของท่อนำไข่ไม่ดี
6. เกิดภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบเรื้อรัง
ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรคของภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบขึ้นกับหลายปัจจัยเช่น ความรุนแรงของอาการ ชนิดของเชื้อโรค สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง การพบแพทย์/มาโรงพยาบาลได้เร็วหรือช้า สุขภาพเดิมของตัวผู้ป่วยเอง อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปถ้ามาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลได้เร็ว ก่อนมีอาการรุนแรง โรคมักรักษาได้หาย โดยอาการจะเริ่มดีขึ้นหลังการรักษาประมาณ 3 - 4 วัน แต่ถ้าพบแพทย์/มาโรงพยาบาลล่าช้าหรือเมื่อมีอาการรุนแรงแล้ว การรักษามักยุ่งยากซับซ้อน และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ ภาวะแทรกซ้อน ซึ่งทำให้มีโอกาส ตายได้
ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบกลับเป็นซ้ำได้ไหม?
ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบสามารถกลับเป็นซ้ำได้ หากการรักษาครั้งแรกไม่เพียงพอ เช่น รับประทานยาปฏิชีวนะไม่ครบตามแพทย์สั่ง หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อ หรือต่อการได้รับการทำหัตถการต่างๆด้วยเครื่องมือที่ไม่ปลอดเชื้อ ซ้ำอีก
ดูแลตนเองอย่างไร?
เมื่อมีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ การดูแลตนเองหลังพบแพทย์แล้ว คือ
1. ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ
2. รับประทานยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วนถูกต้อง ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเองถึงแม้อาการจะหายไปแล้ว
3. ควรงดมีเพศสัมพันธ์ช่วงที่มีการอักเสบของเยื่อบุโพรงมดลูก
4. หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่กล่าวแล้วในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยง
5. ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง
6. รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
7. เมื่อต้องการตั้งครรภ์ควรต้องปรึกษาสูตินรีแพทย์ก่อน
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอเมื่อ
- อาการต่างๆเลวลง
- มีอาการผิดปกติใหม่ที่ไม่เคยมี
- อาการต่างๆที่หายไปแล้วกลับคืนมามีอาการอีก
- กังวลในอาการ
ป้องกันเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบได้อย่างไร?
สามารถป้องกันเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบได้ดังนี้
1. หลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด
2. งดมีเพศสัมพันธ์ช่วงมีประจำเดือน
3. สวมถุงยางอนามัยชายเมื่อมีเพsศสัมพันธ์
4. หลีกเลี่ยงมีเพศสัมพันธ์หากฝ่ายชายกำลังมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น มีหนองในท่อปัสสาวะ มีแผลที่อวัยวะเพศ
5. รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ด้วยการไม่ส่ำส่อนทางเพศและด้วยการรักษาสุขอนามัย พึ้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)