เยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic conjunctivitis)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
- 16 พฤษภาคม 2564
- Tweet
- เยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้คืออะไร? เกิดได้อย่างไร?
- เยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้มีกี่ชนิด?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดเยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้?
- เยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้มีอาการอย่างไร?
- เมื่อไรควรพบแพทย์
- วินิจฉัยเยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้อย่างไร?
- รักษาเยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้อย่างไร?
- เยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้ก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- เยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ป้องกันเยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้อย่างไร?
- โรคตา (Eye disease)
- การตรวจตา(Eye examination)
- เยื่อตาอักเสบ(Conjunctivitis)
- กระจกตาอักเสบ(Keratitis)
- โรคภูมิแพ้ (Allergy)
- โรคภูมิแพ้หูคอจมูก (ENT and Allergy)
- ตาแห้ง(Dry eye)
- คอนแทคเลนส์ (Dry eye)
- ไข้ละอองฟาง (Hay fever)
เยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้คืออะไร? เกิดได้อย่างไร?
เยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้ หรือ เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ หรือ ภูมิแพ้เยื่อตาอักเสบ หรือ ภูมิแพ้เยื่อบุตาอักเสบ (Allergic conjunctivitis)คือ การอักเสบของเยื่อตา/เยื่อบุตาที่เกิดจาก ปฏิกิริยาภูมิแพ้ของเยื่อบุตาต่อสารก่อภูมิแพ้ที่อาจจะเป็น ละอองเกสรดอกไม้ หญ้า ไรฝุ่น น้ำหอม เครื่องสำอาง มลพิษ ควันไฟ ควันบุหรี่ ขนสัตว์ แมลงสาบ เป็นต้น ที่ถือว่าเป็นการตอบสนองต่อสารภูมิแพ้ที่มากเกินไป/ไวเกิน (Hypersensitivity) โดยเป็นปฏิกิริยาที่เกี่ยวข้องกับสารภูมิต้านทานที่เรียกว่า Immunoglobulin E (IgE)
มีการศึกษาพบว่าภาวะนี้/อาการนี้พบได้ประมาณ 20% ของประชากรทั่วไป และประมาณครึ่งหนึ่งของผู้เกิดอาการนี้มีประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัวด้วย และอาการนี้มีอุบัติการณ์มากขึ้นในประเทศอุตสาหกรรม
เยื่อบุตาเป็นชั้นเนื้อเยื่อบางๆ (Mucous membrane) ที่ปกคลุมลูกตาด้านหน้าสุด ในภาวะ ปกติประกอบด้วยสาร Immunoglobulin และเซลล์ต่างๆเช่น เม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆ (เช่น Neutrophil, Lymphocyte, Plasma cell และ Mast cell) แล้วยังมีเซลล์พิเศษชนิดหนึ่งที่เรียก Langerhans cell ที่ทำหน้าที่คล้ายเซลล์ Macrophage ที่เป็นเซลล์ที่จับกินสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ และกระตุ้นการทำงานของ Lymphocyte ตัวเซลล์ Langerhans จึงเป็นเซลล์ที่เป็นต้นเหตุของการเกิดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค (Immune system) ของเยื่อบุตา นอกจากนี้ เยื่อบุตายังเต็มไปด้วยหลอดน้ำเหลือง (เนื้อเยื่อกลุ่มหนึ่งในระบบน้ำเหลือง), ต่อมน้ำเหลือง ซึ่งเสริมปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันฯให้มากยิ่งขึ้น
กลไกการเกิดภาวะนี้ เริ่มจากสารก่อภูมิแพ้ซึ่งมักมาจากสาร/สิ่งต่างๆที่กล่าวข้างต้น ลอยมาสัมผัสกับน้ำตา, เยื่อบุตา, และกระตุ้น Mast cell ซึ่งจะเกิดปฏิกิริยาที่เรียกว่า Degranulation ทำให้มีการปล่อยสารเคมีต่างๆ (Chemical mediator) ที่ทำให้เยื่อบุตาเกิดการระคายเคือง/การอักเสบ เช่นสาร Histamine, Heparin, Tryptase, Cytokine และ Mediator ตัวอื่นๆ เป็นต้น จึงทำให้เกิดอาการ คันตา ตาแดง โดยเฉพาะจากสาร Histamine ที่จะจับกับตัวรับ(Receptor) ที่ชื่อ H1 receptor (Histamine 1 receptor) ที่ปลายเส้นประสาทที่เยื่อบุตา ทำให้เกิดอาการคันตา นอกจากนี้ Histamine อาจจะจับกับตัวรับ H2 receptor ที่บริเวณหลอดเลือดเยื่อบุตาทำให้ตาแดง ในกรณีนี้อาการไม่รุนแรงมากพบใน Perennial allergic conjunctivitis (เยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้ที่เกิดตลอดปี)
หากมีสาร Cytokine บางชนิดเช่น สาร IL-8 (Interleukin-8) อาจจะกระตุ้นเม็ดเลือดขาวชนิด Neutrophil และ IL-5 จะกระตุ้นเม็ดเลือดขาวชนิด Eosinophil ให้มาจับที่เยื่อบุตา ก่อให้เกิดปฏิกิริยาอักเสบขึ้น พบในเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ที่ยุ่งยากซับซ้อนขึ้น มีอาการรุน แรงขึ้น เช่น ใน Vernal keratoconjunctivitis (เยื่อตาอักเสบจากโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่งที่มักเกิดในฤดูใบไม้ผลิ)
เยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้มีกี่ชนิด?
แบ่งชนิดเยื่อตา/เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ตามอาการและความรุนแรงได้เป็น
1. Seasonal (Hay fever: ไข้ละอองฟาง) และ Perennial allergic conjunctivitis (PAC): กลุ่มนี้อาการไม่มาก
- ถ้าเป็น Seasonal allergic conjunctivitis มักเป็นไปตามฤดูกาลที่มีละอองเกสรของดอกไม้ปลิวว่อน มักพบในประเทศเมืองหนาว แพ้เกสรดอกไม้ที่มีตามฤดูกาล
- สำหรับบ้านเรามักจะเป็นแบบ Perennial มีอาการประปรายตลอดปี จึงมักจะแพ้ต่อสารที่มีอยู่ประจำเช่น ฝุ่นละออง ขนสัตว์
อนึ่ง: โรคกลุ่มนี้ อาการและอาการแสดงน้อย และมักมีอาการภูมิแพ้ระบบอื่นร่วมด้วยเช่น ภูมิแพ้หูคอจมูก (เช่น น้ำมูกไหล) และอาการโรคหืด
2. Vernal keratoconjunctivitis (VKC): เป็นโรคที่มักเป็นในคนอายุน้อย เป็นแล้วเป็นอีก คำว่า Vernal แปลว่าฤดูใบไม้ผลิ อาการของโรคนี้มักเกิดตอนฤดูใบไม้ผลิหรือฤดูร้อน พบในเด็กและหนุ่มสาวอายุ 5 - 20 ปี ส่วนมากพบในอายุ 11 - 13 ปี ชายเป็นมากกว่าหญิงในอัตรา 2 : 1 โดยอาการมักจะเป็นรุนแรงกว่ากลุ่มแรก มักมีประวัติในครอบครัวเป็นอาการนี้ด้วย ส่วนมากจะเป็นอยู่นาน 4 - 10 ปี บ้านเราพบว่ามากกว่า 50% เป็นนานกว่า 5 ปี ซึ่งอาการจะค่อยๆดีขึ้นและหายไปได้เอง แต่บางรายอาการอาจดำเนินต่อไป
อาการในกลุ่มนี้ยังแบ่งตามอาการแสดงออกเป็น 3 แบบคือ
- Palpebral: พบเกิดอาการที่เยื่อบุตาใต้หนังตา
- Limbal: พบมากที่บริเวณตาขาวต่อกับตาดำที่เรียกว่า Limbus
- และ Mixed type: คือพบอาการเกิดได้ทั้ง 2 ที่/ตำแหน่ง
อนึ่ง: ภาวะนี้มีโอกาสที่อาการจะลามเข้ากระจกตาได้ถึง 50% ซึ่งการลามเข้ากระจกตา (ศัพท์แพทย์ กระจกตาในภาษากรีกคือ Kerato) นี่เอง ที่เป็นที่มาของชื่ออาการชนิดนี้คือ Vernal keratoconjunctivitis
3. Atopic keratoconjunctivitis (AKC): มักพบในคนที่อายุมากกว่าที่เกิดในชนิด VKC อาการคล้าย VKC แต่อาจไม่เป็นตามฤดูกาล (ต่างจาก VKC) พบได้ตลอดปี มักมีอาการแพ้ในระบบอื่นๆด้วย และบางคนมีภูมิคุ้มกันฯลดลงทำให้เกิดอาการอักเสบที่เปลือกตา/หนังตา มีโอกาสติดเชื้อโรคเริม (โรคติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง) แทรกซ้อนขึ้นมา หรือเชื้อ แบคทีเรีย Staphylococcus ที่อยู่บริเวณเปลือกตาก็อาจก่อให้เกิดการอักเสบร่วมด้วยได้ ผู้ป่วยบางรายการอักเสบรุนแรงจนก่อให้เกิดแผลเป็น ทำให้เกิด Symblepharon (ภาวะหนังตายึดติดกับตาขาว) ไปจนเกิดแผลเป็นที่กระจกตาทำให้ตามัวลงได้ บางรายมีอาการของ Limbal stem cell dysfunction (ภาวะขาดเซลล์ต้นกำเนิดของกระจกตา ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้ปวดตาและตาบอดได้) ร่วมด้วย
4. Giant papillary conjunctivitis (GPC): เป็นภูมิแพ้ที่ก่อให้เกิดตุ่ม (Papilla) ขนาดใหญ่บริเวณเยื่อบุตาใต้หนังตาบน ที่พบในผู้ป่วยที่ใช้คอนแทคเลนส์หรือใส่ขนตาปลอม ตลอดจนมีไหมเย็บแผลที่ลูกตา ส่วนมากพบในผู้ใช้คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่มได้เร็วและบ่อยกว่าคอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถใส่คอนแทคเลนส์ต่อไปได้ เชื่อว่าเป็นเหตุเกิดจากขอบคอนแทคเลนส์ถูกับเยื่อบุตาเวลากระพริบตา
ทั้งนี้ ในบรรดาทั้ง 4 ชนิด มีจักษุแพทย์ไทยเคยสำรวจเมื่อปี ค.ศ. 2001 (พ.ศ. 2544) พบ
- ชนิด PAC ได้ประมาณ 81%
- VKC ประมาณ 11%
- AKC ประมาณ 5% และ
- GPC ได้ประมาณ 3%
ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดเยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้?
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดเยื่อตา/เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ได้แก่
1. ผู้ที่มีประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัว
2. มีประวัติโรคภูมิแพ้ในระบบอื่นๆเช่น โรคหืด
3. ผู้ที่ใช้คอนแทคเลนส์
4. ผู้มีอาการตาแห้ง ทำให้สารก่อภูมิแพ้มีโอกาสสัมผัสกับเยื่อบุตาได้ง่าย
5. ผู้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีสารก่อภูมิแพ้เช่น ที่มีฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ ขนสัตว์เลี้ยง อยู่ใกล้โรงงานที่มีมลพิษ
6. สุขภาพร่างกายทั่วไปอ่อนแอ มีโรคเรื้อรัง ขาดสารอาหาร ขาดการออกกำลังกายที่เหมาะสม ซึ่งอาจทำให้ภูมิคุ้มกันฯต่ำ จึงเกิดอาการภูมิแพ้ได้ง่าย
เยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้มีอาการอย่างไร?
เยื่อตา/เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้มีอาการได้ ดังนี้เช่น
1. อาการหลักที่สำคัญคือ คันตา กระพริบตาบ่อยๆ
2. ตาแดง เปลือกตา/หนังตาบวม เยื่อบุตาบวม
3. ชอบขยี้ตา ตาปรือ บางคนมีหนังตาตกด้วย
4. ตาสู้แสงไม่ได้/ ตาไม่สู้แสง (Photophobia)
5. เจ็บตา ลืมตาไม่ขึ้น
6. มีน้ำตาไหล มีขี้ตาเป็นเมือก (Mucoid)
7. หากมีโรคแทรกซ้อน/ผลข้างเคียง เช่น กระจกตาอักเสบ อาจทำให้ตาพร่ามัว ร่วมกับเจ็บปวดตามากขึ้น
8. สำหรับโรคชนิด GPC ในผู้ใช้คอนแทคเลนส์จะมีอาการคันตามาก ทั้งเวลาถอดและใส่คอนแทคเลนส์ ตัวคอนแทคเลนส์ไม่ค่อยเคลื่อนที่เพราะถูกตุ่ม Papilla ที่เกิดขึ้นที่เยื่อตาจับไว้จนอาจเป็นเหตุให้ใส่คอนแทคเลนส์ไม่ได้
เมื่อไรควรพบแพทย์
หากมีอาการผิดปกติทางตา แม้เพียงคันตามาก เคืองตามาก ควรจะพบแพทย์/จักษุแพทย์ เพื่อวินิจฉัยให้ถูกต้อง อาการคันตา เคืองตา ตาแดง อาจเกิดจากโรคของกระจกตา หรือการอัก เสบของเนื้อเยื่อต่างๆภายในลูกตา ซึ่งอาจมีผลเสียหายหากรักษาล่าช้า แม้ภาวะเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ส่วนมากไม่ทำให้สูญเสียสายตา ก็ควรไปรับการตรวจว่าไม่เป็นโรคร้ายแรงอื่น และขอคำแนะนำการปฏิบัติตนตลอดจนการแนะนำการใช้ยาที่เหมาะสมและคำอธิบายให้เข้าใจถึงข้อห้าม การใช้ยาบางตัวที่อาจมีผลเสียตามมา
วินิจฉัยเยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยเยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้ได้จาก
1. ประวัติอาการต่างๆดังกล่าวข้างต้น
2. การตรวจตา: เช่น เมื่อเป็นเรื้อรังอาจมี
- หนังตาตกเล็กน้อย
- ส่วนใหญ่ทั่วไปจะพบตาแดงที่เป็นลักษณะของการอักเสบของเยื่อตา (Conjunctival injection)
- พบขี้ตาเป็นเมือกๆอยู่ทั่วไปในตา
- ตรวจเยื่อบุตาใต้หนังตาบน (ต้องพลิกหนังตาช่วย) จะพบตุ่มที่เรียก Papilla ที่เกิดจากเยื่อบุตาหนาตัวขึ้น เป็นตุ่มละเอียดเล็กๆ สีแดง มีหลอดเลือดอยู่ตรงกลางตุ่ม ขนาดตุ่มมักไม่เกิน 1 มม. (มิลลิเมตร) ยกเว้นในชนิด VKC หรือ ชนิด GPC ที่เกิดการรวมตัวของตุ่มเล็กๆจนกลายเป็นตุ่มใหญ่ ตุ่มเหล่านี้มักพบใต้หนังตาบน สำหรับชนิด AKC อาจพบที่เยื่อบุตาใต้หนังตาล่างและอาจมีความผิดปกติของหนังตามีตุ่มอักเสบ (eczema) ได้ ในกรณีของ VKC ชนิด Limbal จะมีตุ่มนี้บริเวณ Limbus อาจจะเป็นเฉพาะด้านบนหรือรอบตาดำเลย
3. ตรวจพบตาแห้งจากภาวะน้ำตาผิดปกติ (Tear instability)
4. บางรายอาจมีความผิดปกติของกระจกตา พบมากใน VKC และ AKC โดยมีหลอดเลือดเกิดใหม่จากเยื่อบุตาเข้ามาที่ผิวกระจกตา ตรวจพบการอักเสบที่ผิวกระจกตาเป็นจุดเล็กๆ (Punctate keratitis) ซึ่งเกิดจาก Tear instability จากการเปลี่ยนแปลงของน้ำตาชั้น Mucin และการทำงานผิดปกติของเยื่อบุผิวกระจกตา (Corneal epithelium permeability) บางรายที่เป็นรุนแรง อาจพบเป็นแผลที่เรียกกันว่า Shield ulcer บริเวณขอบกระจกตาด้านบน ลักษณะแผลรูปไข่หรือรูปโล่ห์ (ตามชื่อ) เชื่อว่าจากแผลจุดเล็กๆมีการหลุดลอกของเซลล์เยื่อบุผิวกระ จกตา (Epithelium) หรืออาจจากตุ่มที่ใต้หนังตาบนที่มีขนาดใหญ่ (Giant papilla) ครูดผิวกระ จกตาทำให้ผิว Epithelium หลุดลอก
ลักษณะของ Shield ulcer มีข้อสังเกตว่า
- ถ้าเป็นอาการระยะเริ่มแรกหรือระยะที่ 1 ลักษณะของแผลที่ก้นแผลจะเรียบ สะอาด ระยะนี้เมื่อหายจะไม่มีแผลเป็น
- ระยะที่ 2 จะพบว่าก้นแผลไม่สะอาด มีเศษเนื้อเยื่อที่ถูกทำลาย (Tissue dibasic) ระยะนี้แผลจะหายช้า
- และถ้าเป็นระยะที่ 3 นอกจากเป็นแผลแล้ว ขอบแผลมักจะยกขึ้น ระยะนี้แผลหายช้าและจะเกิดแผลเป็นเมื่อหายแล้ว
5. การตรวจทางห้องปฏิบัติการจากขี้ตาหรือจากชิ้นเนื้อเยื่อจะพบ Mast cell จำนวนมาก ร่วมกับเม็ดเลือดขาวชนิด Eosinophil จำนวนมาก พบเม็ดเลือดขาว Lymphocyte และ Neutrophil น้อย
รักษาเยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้อย่างไร?
แนวทางรักษาเยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้ได้แก่
1. ขจัดหรือหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งบางครั้งอาจจะแพ้หลายอย่างหรือไม่แน่ใจว่าแพ้อะไร แต่ถ้าทราบและหลีกเลี่ยงได้จะดีที่สุด
2. หากอาการไม่มาก แพทย์มักเริ่มรักษาด้วยการใช้น้ำตาเทียมซึ่งช่วยขจัดสารก่อภูมิแพ้ ตลอดจนปฏิกิริยาหรือเมือกต่างๆออกไป
3. ยาหยอดตาประเภท ยาแก้แพ้ (Antihistamine) ซึ่งอาจร่วมกับสารหดหลอดเลือด (Vasocon strictor) เพื่อลดอาการตาแดง บางรายอาจร่วมกับยารับประทานในกลุ่ม Antihistamine
4. ยาในกลุ่ม Mast cell stabilizer (ยาหยุดการทำงานของ Mast cell/มาสต์เซลล์-แมสต์เซลล์) เพื่อลดการสร้างสารเคมีที่เป็นสารอักเสบ (Inflammatory chemical mediator) เช่น Histamine ของ Mast cell ซึ่งเมื่อไม่มีสารอักเสบ อาการต่างๆก็จะหายไป ซึ่งมักจะต้องใช้เวลานานกว่ายาจะออกฤทธิ์ เพราะอาการเกิดจากสารเคมี (เช่น Histamine) ที่ได้หลั่งออกมาแล้ว แต่ยาตัวนี้ช่วยลดไม่ให้สารเคมีออกมาเพิ่ม
5. ยากลุ่ม H1 antagonist (Histamine 1 antagonist) เพื่อต้านการทำงานของสาร Histamine
6. ปัจจุบันมียาหยอดตาในขวดเดียวที่มีฤทธิ์ 2 อย่าง (ยาในข้อ 4 และ ข้อ 5) เพื่อความสะดวกในการหยอดยา
7. ยาหยอดตาที่ต้านการอักเสบในกลุ่มยาเอ็นเสด (NSAID: Nonsteroid antiinflamma tory drug)
8. ยาหยอดตาในกลุ่ม Steroid ที่มีหลายชนิด การเลือกใช้จึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้ รักษา
9. ในรายที่มีอาการมาก แพทย์อาจใช้ยา Cyclosporine ชนิดหยอดตาที่มีฤทธิ์ต่อภูมิคุ้ม กันฯ (Immune modurator) พบว่าได้ผลในระดับหนึ่ง แต่ยามีราคาค่อนข้างแพง
10. สำหรับโรคชนิด GPC ที่พบบ่อยในผู้ใช้คอนแทคเลนส์ควรจะแก้ไขโดย
- เลือกใช้คอนแทคฯที่เหมาะสม และควรประกอบคอนแทคฯจากผู้เชี่ยวชาญ
- รักษาความสะอาดของคอนแทคฯอย่างเคร่งครัด ใช้ยาเฉพาะ (Enzyme) ล้างคอนแทคฯ ในรายที่จำเป็น
- เปลี่ยนคอนแทคฯเป็นชนิดรายวัน
- น้ำยาหยอดตาที่ใช้กับคอนแทคฯควรเป็นในกลุ่มไม่มีสารกันเสีย (Non preservative)
- หากมีอาการชนิด GPC ควรหยุดการใช้คอนแทคฯชั่วคราวร่วมกับการใช้ยาดังกล่าวข้างต้น(ตามแพทย์ผู้รักษาแนะนำ)
- บางรายอาจต้องงดการใช้คอนแทคฯไปเลยหากอาการไม่ดีขึ้น
เยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้ก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
เยื่อตา/เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ก่อผลข้างเคียงได้ดังนี้เช่น
1. ผู้ป่วยที่มีเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ มักจะมีโอกาสของการติดเชื้อโรคเริม (Herpes) ที่ตาได้ง่ายขึ้น
2. ในบางรายเมื่อเป็นเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ มักจะมีการติดเชื้อบริเวณหนังตาด้วยเชื้อแบคทีเรีย Staphylococus โดยเฉพาะผู้ป่วยชนิด AKC
3. แม้แต่การอักเสบของเยื่อตาจากเชื้อราก็พบได้บ่อยขึ้น
4. มีรายงานถึงอุบัติการณ์ของภาวะ Keratoconus (กระจกตารูปกรวย) ที่พบมากกว่าคนทั่วไป ที่เชื่อว่าเกิดจากการขยี้ตาบ่อยๆจึงทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของเนื้อกระจกตา ส่งผลทำให้ความโค้งของกระจกตาเปลี่ยนไป
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อพบว่ามีเยื่อตา/เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ได้แก่
1. หากพบว่าเป็นเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ แม้จะมีอาการคันตามาก อย่าขยี้ตา อาจใช้น้ำเย็นประคบ จะทำให้อาการคันน้อยลง รวมทั้งรักษาสุขอนามัยของตาและรอบๆตา อย่าปล่อยให้มีขี้ตาเกรอะกรัง
2. ไม่ต้องกังวลมากนัก ส่วนใหญ่อาการทางภูมิแพ้จะค่อยๆหายไปหรือเป็นห่างขึ้น จนหายได้ในที่สุด จากการสร้างภูมิคุ้มกันฯของร่างกายดีขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น ซึ่งที่สำคัญคือ การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
3. ระหว่างมีการอักเสบของตาควรพักการใช้สายตาลงบ้าง ใช้แว่นกันแดดกันลมช่วย อา การจะลดลงได้
4. ยังคงทำงานเรียนหนังสือได้ตามปกติ เพียงแต่พักผ่อนและพักใช้สายตาให้มากขึ้น
5. ใช้ยาต่างๆตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษาให้ถูกต้อง ครบถ้วน ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
6. อย่าซื้อยามาหยอดตาหรือกินเอง อย่างน้อยควรได้รับคำแนะนำจากเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อน
7. พบจักษุแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
8. ควรพบจักษุแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอ เมื่ออาการเลวลง และ/หรือมีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนเกิดขึ้น และ/หรืออาการที่เคยเป็นแต่หายไปแล้วกลับมาเป็นใหม่อีกเช่น น้ำตาไหล ตาแดง มีขี้ตา และ/หรือเมื่อกังวลในอาการ
เยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรคของเยื่อตา/เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ จัดอยู่ในเกณฑ์ดี อาการมักรักษาควบคุมได้ดีเมื่อปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษา ร่วมกับการดูแลตนเองดังกล่าวในหัวข้อ การดูแลตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และการดูแลตนเองด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรง และมีภูมิคุ้มกันฯที่ปกติ
ป้องกันเยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้อย่างไร?
ป้องกันเยื่อตา/เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ได้โดย
1. หากมีประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัว ควรตระหนักว่าอาจจะมีอาการภูมิแพ้ได้ที่รวมถึงที่เยื่อตา จึงควรต้องคอยสังเกตว่า ตนเองแพ้อะไร (อะไรเป็นสารก่อภูมิแพ้) เพื่อการหลีกเลี่ยง ป้องกัน
2. หลีกเลี่ยงสารที่มักก่อให้เกิดภูมิแพ้เช่น เกสรดอกไม้ ไรฝุ่น เชื้อรา ฝุ่นละออง ขนสัตว์ เครื่องสำอาง น้ำหอม ขนสัตว์ เป็นต้น และต้องสังเกตเสมอว่า เกิดอาการอย่างไร เมื่อสัมผัสสิ่งเหล่านี้
3. หากใช้คอนแทคเลนส์ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้อย่างเคร่งครัด
4. รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง (ด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน/สุขบัญญัติแห่ง ชาติ) อันจะทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันฯที่ดี ปกติ ไม่เกิดโรคได้ง่าย