เมโทลาโซน (Metolazone)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเมโทลาโซน (Metolazone) เป็นยาขับปัสสาวะที่มีฤทธิ์คล้ายยาไทอะไซด์ (Thiazide) ทางคลินิกได้ใช้ยาเมโทลาโซนมาบำบัดรักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจล้มเหลว รวมถึง อาการบวมน้ำของร่างกาย ยานี้จะออกฤทธิ์ที่ไต โดยยับยั้งการดูด น้ำ และเกลือโซเดียม(Sodium) จากไต กลับเข้าสู่กระแสเลือด

ยาเมโทลาโซนมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาชนิดรับประทาน โดยตัวยาสามารถถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดได้ประมาณ 65% หลังการรับประทานประมาณ 60 นาที ยานี้ก็จะเริ่มออกฤทธิ์ ยานี้จะถูกไตกำจัดออกไปกับปัสสาวะโดยใช้เวลาประมาณ 14 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ

โดยทั่วไป แพทย์มักจะให้ผู้ป่วยรับประทานยาเมโทลาโซนวันละ1ครั้ง หลังอาหารเช้า ก็เพียงพอต่อการรักษาอาการโรคแล้ว ยาเมโทลาโซนอาจถูกใช้เป็นยาเดี่ยว หรือจะใช้ร่วมกับยารักษาโรคหัวใจ หรือโรคความดันโลหิตสูงก็ได้ แต่จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาเมโทลาโซนห้ามมิให้ผู้ป่วยใช้ยาอื่นใดร่วมในการรักษาโรคโดยไม่ได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ ผู้ป่วยต้องแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบทุกครั้งที่เข้ารับการรักษาว่าตนเองมีโรคประจำตัวอะไรบ้าง เพราะโรคต่างๆเหล่านั้นอาจเกิดผลกระทบเมื่อมีการใช้ยาเมโทลาโซนโดยเฉพาะ โรคลูปัส(Lupus) โรคไต โรคตับ โรคเกาต์ และอาจมีภาวะเกลือโซเดียมในเลือดต่ำ และ/หรือมีเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ รวมถึงการอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังเลี้ยงบุตรด้วยน้ำนมของตนเองที่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยาที่รุนแรง นอกจากนั้น การใช้ยาชนิดอื่นใดอยู่ก่อนเป็นสิ่งที่ต้องพึงระวัง และผู้ป่วยต้องเข้าใจว่า ยาต่างๆที่ใช้อยู่นั้น อาจทำให้เกิดผลกระทบ/ผลข้างเคียงกับร่างกายเพิ่มสูงขึ้น เมื่อใช้ร่วมกับยาเมโทลาโซน เช่น ยากลุ่มNSAIDs สามารถทำให้ประสิทธิภาพของยาเมโทลาโซนลดลงได้ หรือยากลุ่ม ACE inhibitors ยาขับปัสสาวะ อย่างเช่น Furosemide ก็อาจสร้างความเสียหายให้กับไตของผู้ป่วยได้มากขึ้นเมื่อใช้ร่วมกับยาเมโทลาโซน

นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังต้องใช้ยาเมโทลาโซน ตรงตามคำสั่งแพทย์ การลืมรับประทานยานี้ สามารถทำให้อาการโรคกลับมากำเริบ เช่น เกิดความดันโลหิตสูงหรืออาการบวมน้ำของร่างกายไม่ดีขึ้น ดังนั้นเป็นหน้าที่ที่ผู้ป่วยต้องรับประทานยาตรงขนาดและเวลาในแต่ละวันตามแพทย์สั่ง

ในบางครั้งยาเมโทลาโซน ก็อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่างๆได้เช่นเดียวกับยาอื่นๆ เช่น วิงเวียนศีรษะ ทำให้ผิวหนังไวต่อแสงแดดง่ายหรือมีอาการ ท้องผูกหรือท้องเสีย กรณีมีอาการข้างเคียงที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น เกิดผื่นคันตามร่างกาย หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก แน่นหน้าอก/ เจ็บหน้าอก ให้สันนิษฐานว่า อาจเกิดอาการแพ้ยานี้ ผู้ป่วยควรต้องรีบมาพบแพทย์ทันที/ฉุกเฉิน

สำหรับผู้ที่เผลอรับประทานยาเมโทลาโซนเกินขนาด สามารถสังเกตได้จากอาการ วิงเวียน ง่วงนอน ปากแห้ง ปัสสาวะมาก และตามมาด้วยอาการปัสสาวะน้อยลง อาจพบเห็นอาการเป็นลมร่วมกับเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หากพบอาการดังกล่าว ควรรีบนำตัวผู้ป่วยมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

ประเทศไทย อาจยังไม่พบเห็นการใช้ยาเมโทลาโซน แต่ในต่างประเทศเมโทลาโซนถูกจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Zytanix , Zaroxdyn และ Mykrox

เมโทลาโซนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เมโทลาโซน

ยาเมโทลาโซนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดภาวะ/โรคความดันโลหิตสูง
  • ลดอาการบวมน้ำของร่างกาย

อนึ่ง ยาเมโทลาโซน ถูกออกแบบมาใช้รักษาอาการป่วยของผู้ใหญ่เท่านั้นและยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยของการใช้ยานี้ในผู้ป่วยเด็ก

เมโทลาโซนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเมโทลาโซนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ที่ไต โดยส่งผลยับยั้งการดูดกลับของเกลือโซเดียม มีผลให้เกลือโซเดียมถูกขับออกจากร่างกาย และเป็นเหตุให้เกิดการเหนี่ยวนำให้ขับออกน้ำตามมาด้วย จากกลไกเหล่านี้ จึงส่งผลลดความดันโลหิต และทำให้อาการบวมน้ำของร่างกายทุเลาลง

เมโทลาโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเมโทลาโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่มีส่วนประกอบของตัวยา Metolazone ขนาด 0.5, 2.5, 5, และ10 มิลลิกรัม/เม็ด

เมโทลาโซนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเมโทลาโซนมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. สำหรับรักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตสูง:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาเริ่มต้นที่ 1.25 มิลลิกรัม/วัน หลังจากนั้นอีก 3–4 สัปดาห์ แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็น 2.5–5 มิลลิกรัม โดยอาจใช้เป็นยาเดี่ยว หรือ อาจใช้ ร่วมกับยารักษาความดันโลหิตสูงชนิดอื่น ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

ข. สำหรับบำบัดอาการบวมน้ำของร่างกาย:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาขนาด 5–10 มิลลิกรัม/วัน หากจำเป็น แพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 20 มิลลิกรัม/วัน ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 80 มิลลิกรัม/วัน

อนึ่ง:

  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
  • ควรรับประทานยานี้หลังอาหารเช้า ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงอาการระคายเคืองกระเพาะอาหาร-ลำไส้ ประกอบกับช่วยลดภาวะตื่นกลางดึกเพื่อมาเข้าห้องน้ำปัสสาวะ
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีภาวะปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด ผู้ป่วยโรคตับขั้นรุนแรง
  • ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเมโทลาโซน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต โรคตับ มีภาวะพร่อง/ขาดเกลือแร่ของร่างกาย รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเมโทลาโซนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

กรณีลืมรับประทานยาเมโทลาโซน สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาในขนาดปกติ

การหยุดรับประทานยาเมโทลาโซนทันที อาจทำให้อาการผู้ป่วยกำเริบขึ้นได้เช่น ความดันโลหิตสูง

เมโทลาโซนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเมโทลาโซนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะโลหิตจาง มีภาวะLeukopenia(เม็ดเลือดขาวต่ำ)
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ตับอ่อนอักเสบ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องอืด
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ อ่อนแรง
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำ เจ็บหน้าอก
  • ผลต่อตับ: เช่น เกิดดีซ่าน
  • ผลต่อไต: เช่น ไตวาย ค่าครีเอตินิน(Creatinine)ในเลือดเพิ่มขึ้น
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน
  • ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกลือ โซเดียม โปแตสเซียม/โพแทสเซียม และแมกนีเซียม ในเลือดลดต่ำ ขณะที่แคลเซียม และกรดยูริคเพิ่มสูง
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น เป็นตะคริวที่กล้ามเนื้อ

มีข้อควรระวังการใช้เมโทลาโซนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเมโทลาโซน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานหรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก สีและกลิ่นยาเปลี่ยนไป
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วน ประกอบ ด้วยจะส่งผลใหเกิดผลข้างเคียงจากยาที่รุนแรงขึ้น
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือผู้ที่เริ่มมีอาการของโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคเกาต์ โรคเอสแอลอี (SLE หรือ โรค Lupus) โรคไต โรคไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูง
  • ระวังการยาใช้เมโทลาโซนกับผู้ที่มีประวัติแพ้ยา Sulfonamide, Sulfonylureas, ยากลุ่ม Carbonic anhydrase inhibitor, และยาThiazides
  • หากพบภาวะแพ้ยานี้ เช่น เจ็บแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก มีผื่นขึ้นตามตัว ให้หยุดใช้ยานี้ทันที แล้วรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • รับประทานยานี้ต่อเนื่อง ตรงตามขนาด และเวลาในแต่ละวันตามแพทย์สั่ง
  • กรณีรับประทานยานี้ตามคำสั่งแพทย์แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบพาผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง เพื่อรับการตรวจร่างกายและดูความก้าวหน้าของการรักษาจากแพทย์
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมเมโทลาโซนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เมโทลาโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเมโทลาโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาเมโทลาโซนร่วมกับยาบางกลุ่ม อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียง จากยากลุ่มดังกล่าวมากขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน ยากลุ่มดังกล่าว เช่น ACE inhibitors , Allopurinol , Amantadine, Diazoxide, Cyclophosphamide, Digitalis , Ketanserin, Lithium, Furosemide, Vecuronium
  • ห้ามใช้ยาเมโทลาโซนร่วมกับยาCisapride ด้วยจะทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเมโทลาโซนร่วมกับยาLithium ด้วยจะทำให้เกิดอาการ ท้องเสีย อาเจียน ง่วงนอน ตัวสั่น และกระหายน้ำตามมา กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • ห้ามรับประทานยาเมโทลาโซนร่วมกับเครื่องดื่มประเภทสุรา ด้วยจะทำให้เกิดอาการ ความดันโลหิตต่ำ วิงเวียน ปวดศีรษะ และเป็นลม ตามมา

ควรเก็บรักษาเมโทลาโซนอย่างไร?

ควรเก็บยาเมโทลาโซนภายใต้อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส(Celsius) หรือเก็บยาตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์

เมโทลาโซนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเมโทลาโซน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Mykrox (ไมคร็อก)Celltech
Zytanix (ไซทานิก) Zydus Cadila Healthcare Ltd
Zaroxolyn (ซาร็อกโซลิน)UCB Pharma, Inc.

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Diurem, Lazon, Mela, Memtoz, Metadur, Metolaz, Metoral, Metoz, Zytanix

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/cdi/metolazone.html[2017,March18]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/metolazone/?type=brief&mtype=generic[2017,March18]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Metolazone[2017,March18]
  4. https://www.drugs.com/drug-interactions/metolazone-index.html?filter=3&generic_only=[2017,March18]
  5. https://www.drugbank.ca/drugs/DB00524[2017,March18]