เมเฟนามิค (Mefenamic)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 19 กรกฎาคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยาเมเฟนามิคมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาเมเฟนามิคออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาเมฟานามิคมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาเมเฟนามิคมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาเมเฟนามิคมีผลไม่พึงประสงค์ไหม?
- ยาเมเฟนามิคมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?
- มีข้อควรระวังหรือข้อห้ามในการใช้ยาเมเฟนามิคไหม?
- ควรเก็บรักษายาเมเฟนามิคอย่างไร?
- ยาเมเฟนามิคมีชื่ออื่นๆไหม? ผลิตโดยบริษัทอะไรบ้าง?
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยา
- กลุ่มยาแก้ปวด และยาพาราเซตามอล (Analgesics and Paracetamol)
- โรคข้อ (Joint disease)
- ประจำเดือน (Menstruation)
- กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS / Premenstrual syndrome)
- กลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน (PMDD / Premenstrual dysphoric disorder)
- ยาฆ่าเชื้อ (Antimicrobial drug) ยาแก้อักเสบ (Anti inflammatory drug)
บทนำ
ยาเมฟานามิค (Mefenamic) เป็นยาในกลุ่มยาแก้ปวด โดยอยู่ในพวกเดียวกับยาเอ็นเสด (NSAIDs, non-steroidal antiinflammatory drugs) จึงเป็นทั้งยาแก้ปวดและยาต้านการอักเสบ/ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์อีกตัวหนึ่ง
ยาเมเฟนามิคมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาเมเฟนามิคมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ :
- เป็นยาต้านการอักเสบและบรรเทาปวดระดับน้อยไปจน ถึงระดับปานกลาง เช่น
- ปวดฟันหลังผ่าตัด
- ปวดประจำเดือน
- ปวดกระดูก
- และปวดจากโรคข้อบางชนิด
- นอกจากนั้นยังใช้ลดอาการไข้ได้ด้วย
ยาเมเฟนามิคออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาเมเฟนามิคคือ ยับยั้งการสร้างสารพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ซึ่งเป็นสารเกี่ยวข้องกับการปวด และยังลดการบีบตัวของมดลูก (ยังไม่ทราบกลไกที่แน่ชัด) แต่ก็ถือว่าเป็นผลดีของยาตัวนี้ จึงใช้แพร่หลายในคนที่ปวดประจำเดือน
ยาเมฟานามิคมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเมเฟนามิคจัดจำหน่ายในรูปแบบ :
- ยาเม็ด และยาแคปซูล ขนาด 250 และ 500 มิลลิกรัม
ยาเมเฟนามิคมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ด้วยยาเมเฟนามิค จัดเป็นยาอันตราย และมีผลข้างเคียงมากมาย จึงไม่ควรซื้อยานี้กินเอง ขนาดของยาที่รับประทานในผู้ใหญ่และในเด็กมีขนาดที่ต่างกัน *ดังนั้น
- ควรได้รับคำแนะนำการใช้ยานี้จากแพทย์หรือจากเภสัชกรเท่านั้น
- สำหรับผู้ใหญ่ขนาดสูงสุดที่รับประทานไม่ควรเกิน 500 มิลลิกรัม/ครั้งและไม่เกิน 3 ครั้ง/วัน
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเมเฟนามิค ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด และเมื่อแพ้ยาแล้วมีอาการอย่างไร เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่น/หายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- โรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง เพราะยาเมเฟนามิคอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์หรือไม่ หรือกำลังให้นมบุตรหรือไม่ เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านรกหรือผ่านเข้าสู่น้ำนม และเข้าสู่ทารก ก่อผลข้างเคียงต่อทารกได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเมเฟนามิค สามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ หากการลืมทานยา ใกล้กับมื้อถัดไป ให้รับประทานยาขนาดปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า และสามารถหยุดยาได้เมื่อหายจากอาการปวด
ยาเมเฟนามิคมีผลไม่พึงประสงค์ไหม?
ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ของยาเมเฟนามิค เช่น
- การได้รับยานี้ต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดแตก (เลือดจึงออกได้ง่ายและหยุดยาก)
- โลหิตจาง/ โรคซีด
- ระคายเคืองในช่องท้อง/กระเพาะอาหาร
- ท้องผูก บางคนก็ท้องเสีย
- เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ เช่น แผลเปบติค
- ผิวหนังบวม
- หอบหืด
- ปวดหัว
- ง่วงนอน
- หงุดหงิด
- ภาวะหัวใจล้มเหลว (ซึ่งอันตรายมาก)
- ความดันโลหิตสูง
- ใจสั่น
- ลมพิษ
- เกิดภาวะตับและไตทำงานผิดปกติ
*หมายเหตุ: เห็นอาการข้างเคียงมากมายอย่างนี้ การใช้ยานี้จึงต้องระวัง ปรึกษาเภสัชกร หรือแพทย์ก่อนใช้ยานี้ จะปลอดภัยมากขึ้น
ยาเมเฟนามิคมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?
ปฏิกิริยาระหว่างยาเมื่อกินยาเมเฟนามิคร่วมกับยาอื่นๆ เช่น
- การกินยาเมเฟนามิคร่วมกับเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ จะเพิ่มความเสี่ยงมีเลือดออกในกระเพาะอาหารและลำไส้ (เลือดออกในทางเดินอาหาร)
- การกินยาเมเฟนามิคร่วมกับยาลดความดันยาลดความดันเลือดสูง จะทำให้ประสิทธิภาพในการลดความดันโลหิตน้อยลง และอาจก่อให้เกิดภาวะไตล้มเหลว ซึ่งยาลดความดันฯ เช่นยา อะลาซีพริล (Alacepril) และ อัลพรีโนลอล (Alprenolol)
- การกินยาเมเฟนามิคร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือดจะเสริมฤทธิ์กัน และก่อให้เกิดภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ง่าย ซึ่งยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่นยา อะซีโนคูมารอล (Acenocoumarol) และ วอร์ฟาริน (Warfarin)
- การกินยาเมเฟนามิคร่วมกับยาจิตเวช อาจเพิ่มผลข้างเคียงจากยานั้นๆให้มากขึ้น เช่น ยา กลุ่มลิเธียม (Lithium) เป็นต้น
มีข้อควรระวังหรือข้อห้ามในการใช้ยาเมเฟนามิคไหม?
มีข้อควรระวังหรือข้อห้ามในการใช้ยาเมเฟนามิค เช่น
ก. ข้อควรระวังในการใช้ยาเมเฟนามิค: นอกจากกล่าวแล้วใน’หัวข้อ ผลไม่พึงประสงค์จากยา’ พึงระวังเป็นอย่างยิ่ง เพราะยาก่อให้เกิดการบาดเจ็บเสียหายทั้งกับตับและไต ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคตับและ/หรือโรคไตต้องหลีกเลี่ยงยานี้ เมื่อจะใช้ยานี้ต้องเป็นคำแนะนำจากแพทย์เท่านั้น
ข. ข้อห้ามใช้ยาเมเฟนามิค: ในกรณี เช่น
- ห้ามใช้ในผู้แพ้ยานี้
- ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเลือดชนิดต่างๆ (เช่น โรคเกล็ดเลือดต่ำ)
- ผู้ที่ตั้งครรภ์ (ยาอาจก่อความพิการต่อทารกในครรภ์ได้)
- หญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร (ยาอาจปน ออกมากับน้ำนมและก่อผลอันไม่พึงประสงค์ต่อเด็กได้)
- ผู้ที่ผ่าตัดเส้นเลือดที่หัวใจ
- ผู้ป่วยโรคหัวใจ
ค. อื่นๆ:
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวม ถึงยาเมเฟนามิคด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ควรเก็บรักษายาเมเฟนามิคอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาเมเฟนามิค เช่น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด
- เก็บยาในที่แห้ง ไม่เปียกชื้น
- ห้ามเก็บยาในตู้แช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่ควรเก็บยาในที่ที่มีอุณหภูมิสูง หรือโดนแสง/ แสงแดด
- ควรต้องเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาเมเฟนามิคมีชื่ออื่นๆไหม? ผลิตโดยบริษัทอะไรบ้าง?
ชื่ออื่นๆทางการค้าของยาเมเฟนามิค และผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Ponstan (พอนสแตน) | Pfizer |
Mefa (เมฟา) | Macropha |
Fenamic (เฟนามิค) | Siam Bheasoch |
Prostan (โปรสแตน) | Medicine Product |