เมเนททรีโนน (Menatetrenone)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเมเนททรีโนน(Menatetrenone) หรือเรียกย่อๆว่า เอ็มเค-โฟร์ (MK-4) ยานี้เป็นหนึ่งในเก้าอนุพันธ์ของวิตามินเค 2(Vitamin K2) อวัยวะของมนุษย์ที่สามารถเปลี่ยนวิตามินเค 1 มาเป็นเมเนททรีโนน ได้แก่ อัณฑะ, ตับอ่อน, และผนังหลอดเลือดแดงฝอย

ทางคลินิก จึงใช้ยาเมเนททรีโนนเป็นยาห้ามเลือด(Hemostatic) นอกจากนี้ ยาเมเนททรีโนนยังมีฤทธิ์ต่อต้านกระบวนการสลายกระดูก และช่วยให้การสะสมแคลเซียมของมวล กระดูกเพิ่มขึ้น ทำให้ยาเมเนททรีโนนถูกใช้เป็นยารักษาภาวะกระดูกพรุน หรือใช้ป้องกันภาวะกระดูกหักง่ายในหญิงวัยหมดประจำเดือน

อาจจำแนกรูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาเมเนททรีโนนได้ดังนี้ เช่น

1. ยารับประทานชนิดแคปซูลนิ่ม: โดยมีวัตถุประสงค์ใช้รักษาภาวะกระดูกพรุนในสตรีหลังหมดประจำเดือน สามารถพบเห็นการจัดจำหน่ายใน ไทย จีน ญี่ปุ่น พม่า และ เวียดนาม

2. เป็นยาฉีด: มีวัตถุประสงค์การใช้เป็นยาห้ามเลือด พบเห็นการจำหน่ายใน ญี่ปุ่น

3. ในประเทศฟิลิปปินส์ได้เริ่มพัฒนาการใช้ยาเมเนททรีโนนในรูปแบบยารับประทานชนิดน้ำเชื่อม โดยมีวัตถุประสงค์ใช้เป็นยาป้องกันโรคเลือดออกในเด็กแรกเกิดอีกด้วย (Hemorrhagic disease of the newborn)

อนึ่ง อย.ไทยได้กำหนดให้ยาเมเนททรีโนนเป็นยาอันตรายที่ต้องใช้ตามคำสั่งของแพทย์และในบ้านเราจะพบเห็นการจัดจำหน่ายยานี้ภายใต้ชื่อการค้าว่า ‘Glakay’

เมเนททรีโนนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เมเนททรีโนน

ยาเมเนททรีโนนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

1. ใช้บำบัดภาวะ/โรคกระดูกพรุน และป้องกันกระดูกหักง่ายในสตรีวัยหมดประจำเดือน

2. ใช้บำบัดอาการปวดหลังในผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน

3. ใช้เป็นยาห้ามเลือด

เมเนททรีโนนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า การสลายของมวลกระดูกขึ้นอยู่กับสารเคมีต่างๆในร่างกาย เช่น Interleukin-1 alpha, Prostaglandin E2, Parathyroid hormone และ 1,25-dihydroxyvitamin D3, ตัวยาเมเนททรีโนนจะยับยั้งการทำงานของสารเคมีดังกล่าว ส่งผลให้สมดุลการสะสมแคลเซียมเข้าสู่มวลกระดูกและการสลายตัวของมวลกระดูกกลับมาเป็นปกติ

เมเนททรีโนนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเมเนททรีโนนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยารับประทานชนิดแคปซูลนิ่ม ที่ประกอบด้วยยา Menatetrenone 15 มิลลิกรัม/ แคปซูล
  • ยาฉีดที่ประกอบด้วยยา Menatetrenone ขนาด 10 มิลลิกรัม/หลอด(Ampule)

เมเนททรีโนนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเมเนททรีโนนมีขนาดรับประทาน สำหรับรักษา ‘ภาวะกระดูกพรุน’ เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 15 มิลลิกรัม หลังอาหาร วันละ 3 ครั้ง โดยต้องรับประทานยาหลังอาหารเพื่อช่วยให้การดูดซึมเข้าสู่ร่างกายดีขึ้น
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนในการใช้ยานี้ในเด็ก

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่าหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเมเนททรีโนน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น มีภาวะเกล็ดเลือดรวมตัวง่ายผิดปกติ รวมทั้งกำลังกิน ยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเมเนททรีโนนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

กรณีลืมรับประทานยายาเมเนททรีโนน สามารถรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดรับประทานเป็น2เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติเท่านั้น

เมเนททรีโนนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเมเนททรีโนนสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น รู้สึกไม่สบายในท้อง ปวดท้อง ท้องเสีย หรือ ท้องผูก คลื่นไส้ เบื่ออาหาร กระเพาะอาหารอักเสบ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ/ปวดหัว
  • ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีอาการผื่นคัน
  • ในผู้ป่วยบางรายอาจพบภาวะบวมน้ำเกิดขึ้น

อนึ่ง: อย่างไรก็ตาม อาการข้างเคียงเหล่านี้ สามารถหายได้เองเมื่อหยุดใช้ยานี้

มีข้อควรระวังการใช้เมเนททรีโนนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้เมเนททรีโนน เช่น

  • ห้ามใช้ในผู้แพ้ยานี้
  • การใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร ผู้สูงอายุ และเด็ก ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยาWarfarin
  • หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากพบอาการผื่นคันตามร่างกาย
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยาด้วยตนเอง
  • การรับประทานยาเมเนททรีโนนร่วมกับยาใดๆควรปรึกษาแพทย์/เภสัชกรก่อนเสมอ
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้ยาของแพทย์อย่างเคร่งครัด และควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเมเนททรีโนนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เมเนททรีโนนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเมเนททรีโนนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาเมเนททรีโนนร่วมกับยาWarfarin ด้วยกลไกการออกฤทธิ์ของยาเมเนททรีโนนจะทำให้ประสิทธิผลการทำงานของยาWarfarin ด้อยลง

ควรเก็บรักษาเมเนททรีโนนอย่างไร?

ควรเก็บรักษาเมเนททรีโนน เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาที่หมดอายุ
  • ไม่ทิ้งยาลงในแม่น้ำคูคลองตามธรรมชาติ

เมเนททรีโนนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเมเนททรีโนน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Glakay (กลาเคย์)Eisai
Kaytwo (เคย์ทู)Eisai

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Menatetrenone [2019,Oct5]
  2. https://www.mims.com/thailand/drug/info/glakay/?type=brief [2019,Oct5]
  3. http://www.120ty.net/bencandy.php?fid=434&id=60705 [2019,Oct5]
  4. https://www.nature.com/articles/pr19972210[2019,Oct5]
  5. https://www.drugs.com/international/menatetrenone.html [2019,Oct5]
  6. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/8511981 [2019,Oct5]