เมื่อขาอยู่ไม่สุข (ตอนที่ 1)

เมื่อขาอยู่ไม่สุข-1

      

      นายแพทย์ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุขหรือโรค Restless legs syndrome (RLS) เป็นอาการที่ผู้ป่วยรู้สึกว่า มีอะไรมาไต่ที่ขา ยุบ ๆ ยิบ ๆ หรือมีอาการกระตุกของขา ซึ่งอาการมักเกิดขึ้นเฉพาะเวลากลางคืน ช่วงเวลาก่อนนอน หรือเวลานอน

      ความรู้สึกจะรุนแรงมากจนทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าต้องขยับขา ลุกมาถีบขา ลุกขึ้นมาเดิน เพื่อลดอาการ โดยทั่วไปแล้วมักเกิดขึ้นทุกๆ 20-40 วินาที อาการดังกล่าวนับเป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำให้ต้องตื่นกลางดึกอยู่บ่อยๆ ความชุกของโรคนี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออายุมากขึ้น แต่ความรุนแรงของโรคดังกล่าวไม่แตกต่างกันระหว่างผู้สูงอายุกับคนหนุ่มสาว และมักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายถึงสองเท่าตัว

      สาเหตุของการเกิดโรคเกิดจากสารเคมีในสมองที่เรียกว่า โดพามีน ลดน้อยลง ซึ่งเป็นสารเคมีที่ปกติเซลล์ในสมองสร้างขึ้น แต่จะมีความเจ็บป่วยบางอย่างที่ทำให้โดพามีนน้อยลง เช่น โรคพาร์กินสัน หรือป่วยด้วยโรคอื่นๆ ที่ได้รับยาที่ทำให้โดพามีนในร่างกายลดลง หรือระบบรักษาสมดุลของธาตุเหล็กในร่างกายผิดปกติเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการขาอยู่ไม่สุขได้

      แพทย์หญิงไพรัตน์ แสงดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจประเมินอาการ และสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว เพื่อตรวจอาการขากระตุก และการถูกปลุกระหว่างการนอนหลับ

      โดยจะได้รับการประเมินภาวะซีด ภาวะการขาดธาตุเหล็ก การทำงานของไต และระบบประสาท เพื่อหาสาเหตุก่อนเริ่มให้การรักษา ซึ่งในการรักษากลุ่มโรคเหล่านี้ ยาที่ดีที่สุด คือ ยาที่มีฤทธิ์เพิ่มสารโดพามีนในกระแสเลือด เนื่องจากสามารถลดอาการขากระตุกและการถูกปลุกให้ตื่น และอาจให้ยาเสริมธาตุเหล็กในบางราย

      จะเห็นได้ว่าเพียงแค่อาการขากระตุกในช่วงเวลานอนส่งผลทำให้การนอนหลับมีปัญหาได้ ดังนั้น ควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของตัวเองเป็นประจำ อาการขากระตุกหรือขาอยู่ไม่สุขดังกล่าว เป็นอาการที่ไม่อันตราย แต่จะรบกวนชีวิต ทำให้คุณภาพการนอนแย่ลง ทำให้นอนไม่หลับ หากมีอาการควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อคุณภาพชีวิต คุณภาพการนอนที่ดีขึ้น

      กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless legs syndrome = RLS / Willis-Ekbom disease = WED) เป็นความผิดปกติส่วนหนึ่งของระบบประสาทที่ทำให้ไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของขาได้ มักเกิดในตอนเย็นหรือตอนกลางคืนในขณะกำลังนั่งหรือนอน

      และเนื่องจากอาการขาอยู่ไม่สุขเป็นเหตุให้นอนไม่หลับ จึงจัดเป็นหนึ่งในความผิดปกติด้านการนอน (Sleep disorder) ด้วย โดยมีการประมาณว่า ร้อยละ 7-10 ของชาวอเมริกันมีอาการขาอยู่ไม่สุข

      อาการหลัก คือ ขาจะกระตุกอยู่เสมอ มีความรู้สึกไม่สบาย คัน เป็นเหน็บชา (Pins and needles) หรือเหมือนมีอะไรไต่ยั่วเยี้ยะที่ขา (Creepy crawly) และมักเกิดทั้ง 2 ข้าง นอกจากนี้จะ

  • รู้สึกเริ่มมีอาการเมื่อมีการพักนอนหรือนั่ง เช่น นั่งในรถหรือเครื่องบิน
  • อาการบรรเทาได้ด้วยการเคลื่อนไหว เช่น ยืดขา เขย่าขา หรือ ลุกเดิน
  • อาการจะแย่ลงในตอนเย็นหรือกลางคืน
  • ขากระตุกตอนกลางคืน ทำให้นอนไม่ค่อยหลับ

      

แหล่งข้อมูล:

  1. แพทย์ชี้โรคอาการขาอยู่ไม่สุขทำคุณภาพการนอนแย่. http://www.thaihealth.or.th/Content/46012-แพทย์ชี้โรคอาการขาอยู่ไม่สุขทำคุณภาพการนอนแย่.html [2018, December 17].
  2. Restless legs syndrome. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/restless-legs-syndrome/symptoms-causes/syc-20377168 [2018, December 17].
  3. Restless Legs Syndrome. https://www.webmd.com/brain/restless-legs-syndrome/restless-legs-syndrome-rls#1 [2018, December 17].
  4. .
  5. What is restless legs syndrome? https://www.ninds.nih.gov/Disorders/Patient-Caregiver-Education/Fact-Sheets/Restless-Legs-Syndrome-Fact-Sheet [2018, December 17].