โรคเมลิออยด์ หรือ เมลิออยโดสิส (Melioidosis)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือ โรคอะไร? พบบ่อยไหม?

โรคเมลิออยด์ หรือ เมลิออยโดสิส (Melioidosis) เป็นโรคเกิดจากร่างกายติดเชื้อ แบคทีเรียชนิดแกรมลบที่อยู่ในสกุล/Genus ชื่อ Burkholderia ที่ชื่อสกุลเดิมคือ Pseudomanas และอยู่ในชนิด/Species ชื่อ Pseudomallei (Pseudomonas pseudomallei) หรือ อีกชื่อ คือ Burkholderia pseudomallei (B. pseudomallei) ซึ่งเป็นแบคทีเรียพบทั่วไปในน้ำและในดินของประเทศเขตร้อนรวมถึงประเทศไทย และติดต่อสู่คนและสัตว์ได้จากการสัมผัสโดยตรงกับเชื้อนี้ เช่น

  • สูดหายใจเอาละอองเชื้อเข้าไปจากละอองน้ำหรือละอองดิน/ฝุ่น ที่ปนเปื้อนเชื้อนี้ ที่จะก่อให้เกิด ปอดอักเสบ /ปอดบวม
  • ดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อนี้และเชื้อถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด
  • ได้รับเชื้อผ่านทางผิวหนังโดยเฉพาะที่มีแผล โดยสัมผัสเชื้อจากดินหรือแหล่งน้ำ ซึ่งจะทำให้เกิดแผลอักเสบติดเชื้อลุกลาม เป็นหนอง
  • เมื่อเชื้อลุกลามเข้ากระแสเลือดจะก่อให้เกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด

*ส่วนการติดต่อจาก คนสู่คน หรือ สัตว์สู่คน อาจพบได้ แต่พบน้อย โดยจากสัมผัส สารคัดหลั่ง เลือด น้ำนม รวมถึง อุจจาระ ปัสสาวะ ของคน หรือสัตว์ที่เป็นโรคนี้

อนึ่ง:

  • โรคเมลิออยด์มีชื่ออื่น เช่น
    • โรคมงคล่อเทียม
    • โรค Paddy-field disease
    • โรค Whitmore’s disease : ตั้งชื่อตาม Alfred Whitmore พยาธิแพทย์ชาวอังกฤษผู้ซึ่งเป็นคนแรกที่รายงานโรคนี้ในปี ค.ศ. 1911/พ.ศ. 2454
  • เมลิออยโดสิส มาจากภาษากรีก แปลว่า โรคที่มีอาการเหมือนโรคติดเชื้อของลาจากพบโรคนี้ได้บ่อยในลา

ทั้งนี้ B. pseudomallei เป็นแบคทีเรียพบทั่วโลก แต่พบบ่อยในเขตร้อน โดยเฉพาะใน เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ที่รวมถึงประเทศไทย และทางเหนือของออสเตรเลีย โดยมีแหล่ง รังโรค คือ ดิน, แหล่งน้ำตามธรรมชาติ, น้ำหน้าผิวดิน เช่น ในนาข้าว, เป็นต้น ซึ่งเชื้อในแหล่งเหล่านี้จะอยู่ได้นานเป็นหลายๆปี และยังพบได้ในสัตว์บางชนิด เช่น ลา แกะ แพะ ม้า หมู ลิง และหนู ซึ่งสัตว์เหล่านี้ นอกจากเป็นรังโรคแล้ว ยังเป็นโฮสต์ (Host) ของแบคทีเรียนี้ที่รวมถึงคนด้วย

B. pseudomallei เป็นแบคที่เรียที่ถูกฆ่าทำลายด้วยความร้อนสูงตั้งแต่ 75 องศาเซลเซียส(Celsius)ขึ้นไป นานประมาณ 10 นาทีขึ้นไป หรือจากรังสียูวี (UV irradiation) นอกจากนั้นยังถูกทำลายได้ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น 1% Sodium hypochlorite, 70% Ethanol, 2% Glutaraldehyde, ซึ่งเมื่อเชื้ออยู่นอกโฮสต์ที่อุณหภูมิห้อง จะอยู่ได้นานถึง30วัน

ดังกล่าวแล้ว โรคเมลิออยด์ พบทั่วโลก แต่พบบ่อยในภูมิประเทศเขตร้อนโดยเฉพาะเป็นโรคประจำถิ่นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รวมถึงประเทศไทยที่มีรายงานพบได้สูงสุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและพบสูงที่สุดของโลก คือ 12.7รายต่อประชากรไทย 1 แสนคน ทั้งนี้ในปีค.ศ. 2016 จากการศึกษาทางสถิติคาดว่าพบโรคนี้ทั่วโลกได้ประมาณ 165,000 รายต่อปี

โรคเมลิออยด์ พบ ทุกเชื้อชาติ ทุกอายุ ทุกเพศ และทุกวัย ขึ้นกับโอกาสสัมผัสเชื้อนี้ของแต่ละคน ซึ่งพบได้สูงในช่วงอายุ 30 - 40 ปี เพราะเป็นช่วงอายุทำงานจึงสัมผัสแหล่งเชื้อได้สูงกว่าวัยอื่น

 

โรคเมลิออยด์เกิดได้อย่างไร?

โรคเมลิออยด์ เกิดจากร่างกายติดเชื้อแบคทีเรียชื่อ B. pseudomallei โดยระยะฟักตัวของโรคมีได้

  • ตั้งแต่ภายใน24 ชั่วโมงหลังรับเชื้อ ทั่วไปประมาณ 1-21วัน (เฉลี่ยประมาณ 9 วัน) เรียกว่า “ โรคเมลิออยด์เฉียบพลัน’ หรือ
  • เชื้ออาจอยู่ในร่างกายนานเป็นปีจึงจะแสดงอาการ ทั้งนี้ขึ้นกับจำนวนเชื้อที่ร่างกายได้รับและ ภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย เรียกว่า ‘โรคเมลิออยด์แฝง(Latent infection’ หรือ
  • ถ้าอาการโรคเกิดเรื้อรังนานเกิน 2 เดือน จะเรียกว่า ‘โรคเมลิออยด์เรื้อรัง’

ทั้งนี้ การติดเชื้อแบคทีเรียนี้ เกิดได้จาก

  • เชื้อจากดินและ/หรือจากน้ำที่มีเชื้อโรคนี้อยู่สัมผัสผิวหนัง โดยเฉพาะที่บาดเจ็บ หรือเป็นแผล เชื้อจึงเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลเหล่านี้
  • นอกจากนั้นเชื้อยังเข้าสู่ร่างกายได้จาก
    • การสูดหายใจเอาฝุ่นละอองดิน ละอองน้ำ ที่มีเชื้อนี้อยู่ ซึ่งเป็นช่องทางให้เชื้อเข้าสู่ปอดได้โดยเฉพาะในช่วงมีพายุ ลมแรง หรือฝนตก
    • จากการติดเชื้อเกิดจากการกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อนี้
    • จากการสัมผัสกับสัตว์ที่เป็นโฮสต์ เช่น เนื้อสัตว์ แผลที่ตัวสัตว์ และ/หรือ สารคัดหลั่งต่างๆของสัตว์เหล่านั้น
    • อย่างไรก็ตาม รายงาน’การติดต่อระหว่างคนสู่คน’มีได้บ้าง แต่โอกาสเกิดน้อยมาก และยังไม่มีรายงานว่าคนเป็นพาหะโรค/เชื้อนี้

อนึ่ง เชื้อนี้ก่อโรคในคนได้ง่ายจากการสูดหายใจ และเชื้อมีชีวิตอยู่ได้นานในธรรมชาติ จึงมีการนำเชื้อนี้มาทำเป็นอาวุธชีวภาพ (Biological weapon) ซึ่งเชื้อจะก่อโรคจากการสัมผัสผิวหนังและส่วนใหญ่จากการสูดหายใจ ซึ่งระยะฟักตัวของโรคจากเหตุอาวุธชีวภาพนี้ประมาณ 10 - 14 วัน

 

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคเมลิออยด์?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคเมลิออยด์คือ

  • ผู้ที่มีโอกาสสูงในการสัมผัสเชื้อจากดินและ/หรือจากแหล่งน้ำหน้าผิวดินคือ เกษตรกรโดยเฉพาะชาวนา
  • ผู้มีโรคเรื้อรังประจำตัว ที่เป็นสาเหตุให้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะมีการติดเชื้อที่รุนแรงด้วย เช่น
    • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
    • โรคพิษสุราเรื้อรัง
    • โรคไตเรื้อรัง
    • โรคมะเร็ง
    • ผู้ได้รับยาที่กดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เช่น ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะจากใช้ยา Cyclosporine
    • ผู้ป่วยที่ได้รับยาสเตียรอยด์นานๆต่อเนื่อง เช่นในโรคหืด

 

โรคเมลิออยด์มีอาการอย่างไร?

อาการจากโรคเมลิออยด์มีได้หลากหลายอาจแบ่งเป็นกลุ่มๆได้ดังนี้

ก. การติดเชื้อเฉพาะที่เฉียบพลัน (Acute localized infection): เป็นการติดเชื้อเฉพาะตำแหน่งที่สัมผัสเชื้อโรค เช่น

  • ตำแหน่งแผลที่ผิวหนังที่จะมีลักษณะนูนและเป็นแผลเปื่อย สีออกขาว เทา และอาจเกิดเป็นหนองได้
  • ถ้าเกิดติดเชื้อที่ต่อมน้ำลายจากเชื้อสัมผัสเยื่อเมือกในช่องปากที่ติดต่อกับต่อมน้ำลาย ต่อมน้ำลายจะอักเสบบวม โต เจ็บ อาจเกิดหนอง ซึ่งโรคมักเกิดกับต่อมพาโรติด
  • ถ้าเชื้อเข้าตา จะส่งผลให้เกิดเยื่อตาอักเสบ
  • นอกจากนั้น การอักเสบเฉพาะอวัยวะเหล่านี้จะส่งผลให้เกิดการอักเสบของต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงอวัยวะนั้นๆร่วมด้วยคือ ต่อมน้ำเหลืองจะบวม โต คลำได้ เจ็บ และอาจเกิดเป็นหนองได้

ข. การติดเชื้อที่ปอด (Pulmonary form): เกิดจากการสูดดมเชื้อเข้าไป โดยการติดเชื้อด้วยวิธีนี้เป็นการติดเชื้อรูปแบบที่พบได้บ่อยที่สุดของโรคนี้ ซึ่งอาจพบเป็นการติดเชื้อโดยตรงจากการสูดหายใจ หรือเป็นส่วนหนึ่งของการติดเชื้อแบบการติดเชื้อทางกระแสเลือดก็ได้ โดยมีอาการ เช่น

  • มีไข้
  • ปวดกล้ามเนื้อทั่วตัว
  • ปวดศีรษะ /ปวดหัว
  • อ่อนเพลีย
  • เบื่ออาหาร
  • ไอ
  • เจ็บหน้าอกเมื่อหายใจเข้า - ออก
  • อาจมีไอเป็นเลือด
  • พบมี ปอดอักเสบ/ ปอดบวม, มีฝี/หนองในปอด และอาจเกิด ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด (อาจเป็นหนอง) อาจพบเกิดร่วมกับการมีฝี/หนองที่ผิวหนังด้วย ส่วนใหญ่ของโรครูปแบบนี้จะมีระยะฟักตัวประมาณ 10 - 14 วัน

ค. ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด/ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (Septicemia): เกิดจากเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด อาจผ่านทางผิวหนังที่มีบาดแผลหรือจากการหายใจ โดยระยะฟักตัวของโรคมักประมาณ 2 - 7 วัน และเป็นการติดเชื้อที่รุนแรง ซึ่งถ้าเกิดในผู้มีโรคประจำตัวที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ ผู้ป่วยมักมีโอกาสตายสูง (มีรายงานอัตราตายสูงได้ถึง 90%) ภายในระยะเวลา 2 - 10 วันหลังมีอาการ

ทั้งนี้โรคลักษณะนี้ มักเกิดร่วมกับการติดเชื้อที่ผิวหนังและที่ปอด ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการ

  • ไข้สูงเฉียบพลัน หรือไข้สูงเป็นๆหายๆ
  • หายใจลำบาก
  • เหนื่อย
  • อ่อนเพลียมาก
  • ปวดท้อง
  • ท้องเสีย
  • ไอ
  • ตัวเหลือง ตาเหลือง
  • ปวด/เจ็บกล้ามเนื้อทั่วตัว
  • เกิดฝี/หนองขึ้นกับอวัยวะต่างๆได้ทั่วร่างกาย

ง. การติดเชื้อแบบเรื้อรัง (Chronic melioidosis ): ได้แก่ การเกิดฝี/หนองกับอวัยวะต่าง ๆ โดยเป็นการเกิดแบบเรื้อรัง เช่น ที่ปอด ตับ ม้าม กระดูก กล้ามเนื้อ ผิวหนัง หัวใจ หลอดเลือด สมอง เยื่อหุ้มสมอง ซึ่งพบเกิดได้หลายปีหลังได้รับเชื้อนี้

 

เมื่อไหร่ควรพบแพทย?

ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอเมื่อมีอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ โดยเฉพาะเมื่อเป็นผู้ป่วยกลุ่มมีปัจจัยเสี่ยงที่จะติดโรค และกลุ่มมีปัจจัยเสี่ยงจะมีอาการรุนแรง ดังกล่าวใน ‘หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ’

 

แพทย์วินิจฉัยโรคเมลิออยด์ได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคเมลิออยด์ได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการของผู้ป่วย ประวัติการงาน อาชีพ แหล่งอยู่อาศัย ประวัติโรคประจำตัว
  • การตรวจร่างกาย ที่รวมถึง การตรวจรอยโรคที่ผิวหนัง
  • การตรวจภาพเอกซเรย์ปอด
  • การตรวจเชื้อ และ การตรวจเพาะเชื้อ จากเลือด และ จากสารคัดหลัง รวมถึงจากแผลที่ผิวหนังของผู้ป่วย
  • การตรวจหาสารก่อภูมิต้านทานต่อเชื้อนี้จากเลือด (Serologic test)
  • การตรวจสารคัดหลั่ง เลือด และเนื้อเยื่อจากรอยโรค ด้วยเทคโนโลยีที่ซับซ้อน (ตรวจได้เฉพาะบางโรงพยาบาล) เช่น การตรวจที่เรียกว่า PCR (Polymerase cell reaction)
  • การตรวจภาพอวัยวะต่างๆที่มีอาการ อาจด้วย เอกซเรย์, อัลตราซาวด์, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์/ ซีทีสแกน, และ/หรือ เอมอาร์ไอ เช่น ภาพปอด สมอง ช่องท้อง ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

 

รักษาโรคเมลิออยด์ได้อย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคเมลิออยด์คือ การใช้ยาปฏิชีวนะ, การรักษาตามอาการ, และ การผ่าตัด

ก. การใช้ยาปฏิชีวนะ: คือการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อนี้ โดยยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาโรคนี้ได้ผลดีมีหลายชนิด ซึ่งการจะเลือกใช้ยาชนิดใดและระยะเวลารักษานานเท่าไร จะขึ้นกับความรุนแรงของอาการ, เป็นการติดเชื้อที่อวัยวะใด, ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวชนิดใด และดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

ยาปฏิชีวนะดังกล่าว เช่นยา Doxycycline, Ciprofloxacin, Chloramphenicol, Tetracycline, Imipenem, Ceftazidime, Trimethoprim-sulfamethoxazole

ข. การรักษาตามอาการ: คือ มีอาการอะไรก็รักษาตามอาการนั้น เช่น

  • การให้ยาลดไข้เมื่อมีไข้
  • การให้ยาแก้ปวดเมื่อมีอาการปวด
  • การให้ออกซิเจนช่วยการหายใจ
  • การใส่ท่อช่วยหายใจเมื่อมีปัญหาการหายใจ
  • การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำเมื่อกิน/ดื่มได้น้อย

ค. การผ่าตัดที่รวมถึงการผ่า/เจาะหนองออก เช่น หนองในข้อ, หนองในปอด, หรือ ในโพรงเยื่อหุ้มปอด เป็นต้น

 

โรคเมลิออยด์ก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงสำคัญของโรคเมลิออยด์ คือ

  • การเกิด ฝี/หนองในอวัยวะต่างๆ เช่น สมอง ปอด ตับ ม้าม ซึ่งอาจจำเป็นต้องให้การรักษาด้วยการผ่าตัด/เจาะหนองออก

 

โรคเมลิออยด์มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของโรคเมลิออยด์ คือ เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่มีธรรมชาติของโรครุน แรง และความรุนแรงยังขึ้นกับชนิดอวัยวะที่ติดเชื้อ และ/หรือการมีโรคประจำตัวที่ส่งผลให้ ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ

ในการติดเชื้อที่ปอด/ ปอดอักเสบ/ ปอดบวม หรือ ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ถ้าไม่ได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ มีรายงานอัตราตาย ประมาณ 90 - 95% แต่ถ้าได้รับยาปฏิชีวนะและเชื้อตอบสนองดีต่อยาปฏิชีวนะ อัตราตายประมาณ 40 - 50%

ส่วนในโรคเมลิออยด์แบบ ติดเชื้อที่ผิวหนังและ/หรือแบบเรื้อรัง ถ้าไม่ได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ โรคจะลุกลามเป็นการติดเชื้อที่ปอดและ/หรือภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด แต่ถ้าได้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะและโรคตอบสนองดีต่อยา มีรายงานอัตราตายประมาณ 50%

อนึ่ง โรคเมลิออยด์ถึงแม้จะรักษาได้หายแล้ว แต่สามารถกลับมาติดโรคซ้ำได้เสมอ จากได้รับเชื้อซ้ำอีก หรือจากเชื้อที่ยังฝังตัวอยู่ในร่างกาย

 

ดูแลตนเองอย่างไร?

โดยทั่วไปโรคเมลิออยด์ มักได้รับการรักษาในโรงพยาบาล ในกรณีที่แพทย์อนุญาตให้กลับมารักษาดูแลตนเองที่บ้าน การดูแลตนเองที่บ้าน เช่น

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเองถึงแม้อาการจะดีขึ้น
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคปกติ และไม่มีการติดเชื้อโรคชนิดอื่นๆซ้ำซ้อน
  • ออกกำลังกายทุกวันตามควรกับสุขภาพ
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ได้ครบถ้วนในทุกวัน
  • เลิกบุหรี่
  • เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • รักษาควบคุมโรคประจำตัวให้ได้ดี
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ

 

พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอ เมื่อ

  • อาการต่างๆเลวลง เช่น ซึมลง ไอเป็นเลือดมากขึ้น หายใจลำบากมากขึ้น
  • มีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น คอแข็ง ปวดศีรษะรุนแรง
  • อาการที่เคยหายไปแล้วกลับมามีอาการอีก เช่น มีไข้
  • กังวลในอาการ

 

ป้องกันโรคเมลิออยด์ได้อย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่มียาหรือวัคซีนป้องกันโรคนี้ในคน แต่ในด้านวัคซีนกำลังมีการศึกษาวิจัย อย่างไรก็ตามสามารถป้องกันโรคเมลิออยด์ได้โดย

  • ในการ ทำสวน ทำนา ควรสวมรองเท้าบูทเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้ผิวหนังสัมผัส ดิน แหล่งน้ำโดยตรง
  • เมื่อมีแผลที่มือเท้าโดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคประจำตัว ไม่ควรสัมผัสดินหรือแหล่งน้ำธรรม ชาติ แหล่งน้ำหน้าดิน
  • เมื่อต้องดูแลผู้ป่วยโรคนี้ ต้องระวังการสัมผัสเลือดและสารคัดหลั่งของผู้ป่วยโดยเฉพาะเมื่อมือมีแผล
  • รู้จักใช้หน้ากากอนามัย เมื่อมีพายุหรืออยู่ในแหล่งมีฝุ่นละอองดิน โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในแหล่งสวนและ/หรือนาข้าว หรือในพื้นที่ที่มีเชื้อนี้เป็นเชื้อประจำถิ่น

 

บรรณานุกรม

  1. Cheng,A., and Currie,B. (2005). Clinical Microbiology Review. 18, 383-416
  2. Wiersinga,W., and Peacock, S. (2012). N Engl J Med. 367,1035-1044
  3. https://emedicine.medscape.com/article/830235-overview#showall [2019,Dec7]
  4. https://www.dermnetnz.org/topics/melioidosis/ [2019,Dec7]
  5. http://www.cfsph.iastate.edu/Factsheets/pdfs/melioidosis.pdf [2019,Dec7]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Melioidosis [2019,Dec7]
  7. https://en.wikipedia.org/wiki/Burkholderia_pseudomallei [2019,Dec7]
  8. https://www.canada.ca/en/public-health/services/laboratory-biosafety-biosecurity/pathogen-safety-data-sheets-risk-assessment/burkholderia-pseudomonas-pseudomallei-material-safety-data-sheets-msds.html [2019,Dec7]