เมลาโทนิน (Melatonin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

เมื่อแสงสว่างหายไปจากจอรับภาพ (จอตา) ในลูกตา ต่อมไพเนียล (Pineal gland: ต่อมขนาดเล็กรูปร่างคล้ายลูกสนอยู่ด้านล่างสุดของโพรงสมองที่สาม จัดอยู่ในระบบประสาทและระบบต่อมไร้ท่อ) จะหลั่งฮอร์โมนชื่อเมลาโทนิน (Melatonin) ซึ่งสังเคราะห์มาจากกรดอะมิโนชื่อ ทริปโตเฟน (Tryptophan) และถูกกระตุ้นและเร่งปฏิกิริยาจนได้เป็นเมลาโทนินอีกทอดหนึ่ง

การสร้างเมลาโทนินถูกกระตุ้นโดยความมืดและการหลั่งจะถูกยับยั้งโดยแสงสว่าง ดังนั้นเมื่อมีแสงสว่าง ต่อมไพเนียลจะหลั่งเมลาโนโทนินน้อยลง ถ้าไม่มีแสงสว่างจะมีผลให้มีการผลิตเมลาโทนินมากขึ้น มีความเชื่อว่าฮอร์โมนนี้จะหลั่งออกมาตามวงจรชีวิตหรือวัฎจักรชีวภาพประจำวัน หรือบางคนเรียกว่า นาฬิกาชีวิต (Biological rhythm) ใน 24 ชั่วโมงที่เกี่ยวข้องกับจังหวะชีวภาพและการนอนหลับ (Circadian rhythm/จังหวะชีวภาพ) ซึ่งบางท่านแปลว่า นาฬิกาชีวิตเช่นกัน ซึ่งสัมพันธ์กับแสงสว่างและความมืดเช่น วงจรการตื่นและการหลับ

บทบาทของเมลาโทนินต่อการควบคุมจังหวะชีวภาพและการนอนหลับ (Circadian rhythm) เนื่องจากช่วงอายุที่มีการสร้างเมลาโทนินภายในร่างกายลดน้อยลงตามอายุที่มากขึ้น เมลาโทนินที่ได้รับจากการรับประทานเสริมจากการนำมาผลิตเป็นตัวยา จึงอาจช่วยให้คุณภาพการนอนหลับมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 55 ปีซึ่งอาจกำลังอยู่ในภาวะนอนไม่หลับแบบปฐมภูมิ (Primary insomnia) คือเป็นอาการนอนไม่หลับอันเนื่องด้วยเหตุด้านจิตวิทยาและสรีรวิทยาซึ่งมีลักษณะคือ กังวลมากไปว่าจะนอนไม่หลับหรือพยายามตั้งใจหลับมากเกินไป จนอาจทำให้หลับไม่สนิท ตื่นกลางดึก ตื่นแล้วหลับต่อยาก

ยาเมลาโทนินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

เมลาโทนิน

ยาเมลาโทนินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้สำหรับการรักษาแบบใช้ยาตัวเดียวในระยะสั้นๆเพื่อรักษาอาการนอนไม่หลับที่มีลักษณะคุณภาพของการหลับไม่ดีในผู้ป่วยอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 55 ปี

นอกจากนั้น ยังมีการใช้ยาเมลาโทนินสำหรับบรรเทาอาการเมาเวลาเหตุการบินหรืออาการอ่อนเพลียนอนไม่หลับเนื่องมาจากการเดินทางข้ามช่วงเวลาที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า เจ็ตแล็ก (Jet lag) เพื่อช่วยปรับจังหวะชีวภาพ/นาฬิกาชีวิต (Circadian rhythm) ซึ่งมีผลเกี่ยวข้องกับการนอนหลับและช่วยสนับสนุนให้การนอนหลับดีมากขึ้น

ยาเมลาโทนินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

เมลาโทนนินที่เป็นฮอร์โมนตามธรรมชาติซึ่งผลิตจากต่อมไพเนียล ตามหลักทางสรีระวิทยาพบว่า ฮอร์โมนเมลาโทนินจะหลั่งออกมาเพิ่มขึ้นหลังจากเริ่มหัวค่ำและจะหลั่งมากที่สุดเวลาประมาณ 2 - 4 นาฬิกา และจะลดลงครึ่งหนึ่งเมื่อสว่าง โดยเมลาโทนินเกี่ยวข้องกับการคุมจังหวะชีวภาพ (Circadian rhythm) และวงจรของแสงสว่าง-ความมืดของร่างกาย ซึ่งมีผลเกี่ยวข้องกับการนอนหลับและช่วยสนับสนุนให้การหลับดีมากขึ้น

ส่วนการออกฤทธิ์ของยาเมลาโทนินที่ได้รับจากภายนอกร่างกาย เมื่อยาเมลาโทนินเข้าสู่ร่าง กายแล้วจะมีผลต่อตัวรับ (Receptor) เมลาโทนินที่มีชื่อว่า MT/Melatonin 1, MT 2 และ MT 3 ซึ่งปรากฏอยู่ในหลายอวัยวะในร่างกาย (เช่น สมอง ต่อมใต้สมอง จอตา) โดยเชื่อว่ายาเมลาโทนินจะมีผลเพิ่มคุณภาพในการการนอนหลับให้ดีขึ้น เนื่องจากเมื่อตัวยาเมลาโทนินเข้าจับกับตัวรับเหล่านี้ จะมีผลช่วยคุมจังหวะชีวภาพและการนอนหลับให้ทำงานดีขึ้น

อนึ่ง ยาเมลาโทนินจะถูกขจัดออกจากร่างกายผ่านทางเอนไซม์ทำลายยาที่มีชื่อว่า CYP1A2 (Cytochrome P450 1A2) ดังนั้นควรระมัดระวังการใช้ยาเมลาโทนินคู่กับยาชนิดอื่นๆที่มีคุณสมบัติกระตุ้นหรือยับยั้งเอนไซม์ทำลายยาที่มีชื่อว่า CYP1A2 เพราะสามารถส่งผลต่อระดับยาเมลาโทนินในเลือดได้เช่น ยากันชัก (เช่น Carbamazepine)

ยาเมลาโทนินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบทางเภสัชภัณฑ์ของยาเมลาโทนินที่มีจำหน่ายในประเทศไทยคือ รูปแบบเม็ดชนิดออกฤทธิ์นาน (Prolonged-released tablet) ขนาดยา 2 มิลลิกรัมต่อเม็ด โดยวิธีการรับประทานยาควรกลืนยาทั้งเม็ด ไม่ควรหัก บด แบ่งยา เพราะจะทำให้ระบบออกฤทธิ์นานของเม็ดยาถูกทำ ลาย

ยาเมลาโทนินมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?

ยาเมลาโทนินมีขนาดรับประทานเช่น

1. ขนาดยาเมลาโทนินสำหรับการรักษาอาการนอนไม่หลับที่มีคุณภาพของการหลับไม่ดีในผู้ป่วยอายุมากกว่าหรือตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไปคือ 2 มิลลิกรัมวันละ 1 ครั้ง โดยรับประทานยาช่วงเย็นก่อน เข้านอนอย่างน้อย 1 - 2 ชั่วโมง โดยอาจรับประทานยาขนาดนี้ต่อเนื่องนานเป็นเวลา 13 สัปดาห์

2. ขนาดยาเมลาโทนินสำหรับการรักษา/ป้องกันอาการเมาเวลาเหตุการณ์บินหรืออาการอ่อนเพลียนอนไม่หลับเนื่องจากการเดินทางระหว่างประเทศโดยข้ามช่วงเวลาหรืออาการเจ็ตแล็ก (Jet lag): คือ 2 มิลลิกรัมวันละ 1 ครั้งก่อนนอน เริ่มรับประทานยาตั้งแต่ก่อนเข้านอนวันแรกที่ท่านเดินทางไปยังต่างประเทศที่เปลี่ยนช่วงเวลาจากประเทศเดิม แนะนำรับประทานประมาณ 3 คืนติดต่อกันและต่อเนื่องจนท่านสามารถหลับเองได้ตามปกติซึ่งโดยทั่วไปจะประมาณ 3 - 5 วันจึงหยุดรับประทานยาได้

3. ไม่แนะนำให้ใช้ยาเมลาโทนินในผู้ป่วยกลุ่มเด็กและวัยรุ่นเนื่องจากข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยยังไม่เพียงพอ

4. ยังไม่มีการศึกษาการใช้ยาเมลาโทนินในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตที่ผิดปกติ ดังนั้นอาจพิจารณาใช้ยาในขนาดปกติ แต่ควรระมัดระวังการใช้เป็นพิเศษ

5. ยังไม่มีการศึกษาแน่ชัดในการใช้ยาเมลาโทนินในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับผิดปกติ แต่มีการศึกษาพบว่า ระดับเมลาโทนินเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงกลางวันเนื่องจากผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับผิดปกติจะขจัดยาได้ลดลง ดังนั้นไม่แนะนำให้ใช้ยาเมลาโทนินในผู้ป่วยที่มีตับผิดปกติ

*อนึ่ง: การรับประทานยานี้ควรกลืนยาทั้งเม็ด ไม่ควรหัก บด แบ่งยา เพราะจะทำให้ระบบที่ทำให้ตัวยาออกฤทธิ์นานถูกทำลาย

*****หมายเหตุ:

  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษา แพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาเมลาโทนิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยา/แพ้อาหาร/แพ้สารเคมีทุกชนิด
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาเมลาโทนินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อนแล้ว
  • ประวัติการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร, วิตามิน เนื่องจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือวิตามินบางชนิดอาจส่งผลต่อยาเมลาโทนินได้
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรหรือไม่

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

กรณีลืมรับประทานยาเมลาโทนินซึ่งเป็นยาที่มีวิธีการรับประทานยาวันละ 1 ครั้งต่อวัน โดยปกติช่วงในการรับประทานยาเมลาโทนินจะเป็นช่วงเย็นก่อนเข้านอน หากผู้ป่วยลืมรับประทานยาให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ซึ่งอยู่ในช่วงก่อนเวลาจะเข้านอน หรือรอรับประทานยาในครั้งถัดไปโดยไม่ต้องนำยามื้อที่ลืมรับประทานมารับประทานเพิ่ม

ยาเมลาโทนินผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการไม่พึงประสงค์) ที่พบได้บ่อยของยาเมลาโทนินคือ ปวดศีรษะ ปวดหลัง และปวดข้อ

อาการไม่พึงประสงค์อื่นๆที่พบได้ไม่บ่อยเช่น หงุดหงิด กระวนกระวาย นอนไม่หลับ ฝันร้าย มึนงง ปวดท้องช่วงบน อาหารไม่ย่อย ปากแห้ง ผิวหนังอักเสบ

ถ้าอาการไม่พึงประสงค์ที่พบเหล่านี้รุนแรงมากขึ้นหรือพบอาการไม่พึงประสงค์อื่นๆที่กล่าวมา โปรดพบแพทย์หรือเภสัชกรหรือไปโรงพยาบาลก่อนนัดเพื่อค้นหาสาเหตุของอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวต่อไป

มีข้อควรระวังการใช้ยาเมลาโทนินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเมลาโทนินเช่น

  • การใช้ยานี้ในช่วงกำลังตั้งครรภ์/ให้นมบุตร ไม่มีการศึกษาสนับสนุนที่เพียงพอเกี่ยวกับผลของการได้รับเมลาโทนินต่อการตั้งครรภ์และการเจริญเติบโตของตัวอ่อนในครรภ์ ดังนั้นแนะนำให้หยุดการใช้เมลาโทนินในหญิงที่ตั้งใจจะตั้งครรภ์ คาดว่าเมลาโทนินที่ได้รับจากภายนอก/ยาเมลาโทนินสามารถขับออกทางน้ำนมได้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของทารก ควรหยุดการใช้เมลาโทนินในช่วงกำลังให้นมบุตร
  • การได้รับยาเมลาโทนินอาจทำให้ง่วงนอน ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการทำงานที่อันตราย เช่น การทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรหรือขับขี่ยานพาหนะ
  • ไม่ควรดื่มแอลกฮอล์ในช่วงที่มีการใช้ยาเมลาโทนินเนื่องจากแอลกฮอล์อาจลดประสิทธิภาพของยาเมลาโทนินในการสนับสนุนการนอนหลับ
  • ไม่ควรสูบบุหรี่ในช่วงที่มีการใช้ยาเมลาโทนินเนื่องจากการสูบบุหรี่อาจลดประสิทธิภาพของยาเมลาโทนินในการสนับสนุนการนอนหลับ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเมลาโทนิน) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่ม เติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาเมลาโทนินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเมลาโทนินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

1. เมื่อใช้ยาเมลาโทนินคู่กับยานอนหลับกลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine group) และยานอนหลับที่ไม่ใช่กลุ่มเบนโซไดอะซีปีนเช่น โซพีเดม (Zolpidem), โซพีโครน (Zopiclone) พบว่าการใช้ยาเมลาโทนินร่วมกับยานอนหลับเหล่านี้ส่งผลเพิ่มอาการผิดปกติของความใส่ใจสิ่งต่างๆ ความทรงจำ และการประสานงานของร่างกาย จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทั้งคู่ร่วมกัน

2. เมื่อใช้ยาเมลาโทนินคู่กับยาฟลูวอกซามีน (Fluvoxamine: ยาต้านซึมเศร้า) จะทำให้ระดับยาเมลาโทนินในเลือดเพิ่มขึ้นกว่าระดับปกติประมาณ 17 เท่าจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทั้งคู่ร่วมกัน

3. ระมัดระวังการใช้ยาเมลาโทนินคู่กับยาที่มีผลกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ทำลายยาชนิด CYP1A2 เช่น คาร์บามาซีปิน (Carbamazepine: ยากันชัก), ฟีนีทอย (Phenytoin: ยากันชัก), ไรแฟมปินซิน (Rifampicin: ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย, ยาต้านวัณโรค) ซึ่งจะส่งผลทำให้ระดับยาเมลาโทนินในร่างกายลดลง รวมถึงการสูบบุหรี่พบว่ามีผลทำให้ระดับยาเมลาโทนินลดลงเช่นเดียวกัน

4. ระมัดระวังการใช้ยาเมลาโทนินคู่กับยาที่มีผลยับยั้งการทำงานของเอนไซมทำลายยาชนิด CYP1A2 เช่น ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียกลุ่มฟลูออโลควิโนโลน (Fluoroquinolone antibiotic) เช่น ซิปโปรฟ็อกซาซิน (Ciprofloxacin), เลโวฟ็อกซาซิน (Levofloxacin) ซึ่งจะส่งผลทำให้ระดับยาเมลาโทนินในร่างกายสูงขึ้นจึงอาจส่งผลให้ผลข้างเคียงสูงขึ้น

5. เมื่อใช้ยาเมลาโทนินคู่กับไซเมทิดีน (Cimetidine: ยายับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอา หาร) จะส่งผลทำให้ระดับยาเมลาโทนินในร่างกายลดลง ประสิทธิภาพที่ทำให้นอนหลับจึงอาจลดลง

ควรเก็บรักษายาเมลาโทนินอย่างไร?

แนะนำเก็บยาเมลาโทนิน ณ อุณหภูมิห้อง เก็บยาให้พ้นจากแสงแดดและแสงสว่างที่กระทบยาได้โดยตรง หลีกเลี่ยงนำยาสัมผัสกับความร้อนที่มากเช่น เก็บยาในรถที่ตากแดดหรือเก็บยาในห้องที่มีอุณหภูมิสูง (มีแสงแดดส่องถึงทั้งวันหรือเป็นเวลานาน) ไม่เก็บยาในห้องที่ชื้นเช่น ห้องน้ำ หรือห้องครัว โดยควรเก็บยาในภาชนะบรรจุเดิมและเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาเมลาโทนินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเมลาโทนินที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Circadin Prolonged-released tablet 2 มิลลิกรัม Neurim

บรรณานุกรม

  1. Lacy CF, Armstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 21th ed. Ohio: Lexi-Comp,Inc.; 2013-14.
  2. Micromedex Healthcare Series, Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado
  3. Product Information: Circadin, Melatonin, Neurim, Thailand.
  4. TIMS (Thailand). MIMS. 130th ed. Bangkok: UBM Medica;2013