เมทิโลน (Methylone)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 13 มีนาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- ผลกระทบของการใช้เมทิโลนมีอะไรบ้าง?
- กลไกการออกฤทธิ์ของเมทิโลนเป็นอย่างไร?
- ประโยชน์ทางคลินิกของเมทิโลนมีอะไรบ้าง?
- รูปแบบการจัดจำหน่ายเมทิโลนมีอะไรบ้าง?
- เมทิโลนมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง?
- เมทิโลนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เอมพาโทเจน (Empathogens)
- ยาเสพติด (Narcotic drug)
- ประเภทยาเสพติดให้โทษ ยาเสพติด (Illegal drugs)
- วัตถุออกฤทธิ์ (Psychotropic substances)
- ยาคาทิโนน (Cathinone)
- ยาต้านเศร้า(Antidepressants)
- ยากระตุ้นความบันเทิง (Recreational drug)
- ยากระตุ้น (Stimulant drugs)
- กลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome)
บทนำ
สาร/ยาเมทิโลน(Methylone หรือ 3,4-methylenedioxy-N-methylcathinone หรือย่อว่า MDMC หรือ Beta k-MDMA หรือ BK MDMA ภาษาในตลาดคือ M1) ตามกฎหมายไทยจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่1 มีการออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท และเป็นยาในกลุ่ม เอมพาโทเจน(Empathogens)ชนิดหนึ่ง
ยาเมทิโลน มีโครงสร้างพื้นฐานทางเคมีคล้ายยาCathinone สารประกอบ/ยาชนิดนี้ถูกสังเคราะห์ขึ้นครั้งแรกเมื่อ ปี ค.ศ.1996 (พ.ศ.2539) ระยะเริ่มแรก ยาเมทิโลน ถูกนำมาใช้เป็นยาต้านเศร้าจนกระทั่งปี ค.ศ.2004 (พ.ศ.2547) มีผู้บริโภคบางกลุ่มใช้ยาเมทิโลนเป็นยากระตุ้นความบันเทิง และถูกลักลอบจำหน่ายในหลายประเทศ
ลักษณะการเสพยาเมทิโลนทำได้หลายวิธี อาทิ รับประทาน สูดเข้าทางจมูกโดยตรง แต่ผู้ที่แอบเสพยานี้ได้ปรับเปลี่ยนการใช้ยาเมทิโลนในลักษณะยาฉีด โดยฉีดเข้าหลอดเลือดดำ หรือไม่ก็ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ตลอดจนกระทั่งใช้เหน็บทวารหนัก
ยาเมทิโลน จะออกฤทธิ์ที่สมอง โดยกระตุ้นให้เกิดการหลั่งสารสื่อประสาท หรือออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดเก็บกลับของสารสื่อประสาทบางชนิดในสมอง เช่น Serotonin, Norepinephrine, และ Dopamine สารสื่อประสาทดังกล่าวจะมีอิทธิพลต่ออารมณ์ของผู้ที่ได้รับยาเมทิโลน โดยทำให้รู้สึกว่าเกิดสมาธิ มีความตั้งใจมากขึ้น มีความกระปี้กระเปร่า และรู้สึกดีต่อสภาวะที่สมองถูกกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ดังกล่าว จึงอาจกล่าวได้ว่ายาเมทิโลนก็อยู่ในกลุ่มของยากระตุ้น(Stimulan drugs)ได้เช่นเดียวกัน
ผลกระทบของการใช้เมทิโลนมีอะไรบ้าง?
การลักลอบใช้ยาเมทิโลนอย่างผิดวิธี โดยไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์ สามารถส่งผลกระทบ(ผลข้างเคียงรุนแรง)ต่อผู้ใช้ยา/ผู้บริโภค/ผู้ป่วยได้ 2 ลักษณะ ดังนี้ คือ
1. ผลกระทบทางร่างกาย: เช่น
1.1 ยาเมทิโลนจะกระตุ้นให้ผู้เสพ รู้สึกมีพลัง สามารถ วิ่ง ปีนเขา หรือเต้นรำ ได้เป็นเวลานานๆ มักถูกลักลอบใช้ในช่วงเทศกาลรื่นเริงเฉลิมฉลองรวมถึงนักร้องบางกลุ่มก็เคยถูกกล่าวว่ามีการใช้ยาเมทิโลนขณะที่รองเพลงในวงของตนเอง
อย่างไรก็ตาม ฤทธิ์การกระตุ้นของเมทิโลนจะทำให้ผู้เสพมีอาการขบฟันแน่น ตัวสั่น มือไม่สามารถอยู่นิ่งได้ และอาจรุนแรงจนกระทั่งสูญเสียการควบคุมส่วนต่างๆของร่างกาย และบางสภาวะ ยาเมทิโลนจะทำให้ผู้ที่เสพยามีความรู้สึกเจ็บ/ปวดเหมือนโดนอะไรมาทิ่มแทงได้เช่นกัน
1.2 ทำให้การรับรู้และการตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอกมากขึ้น จนก่อให้เกิดความหวาดระแวงมากเกินไป
1.3 เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการเต้นของหัวใจคนปกติขณะพักอยู่ที่ 60–100 ครั้ง/นาที ผู้ที่ได้รับยาเมทิโลนจะมีอัตราการเต้นของหัวใจเกิน 100 ครั้ง/นาทีขึ้นไป ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักมากขึ้น จนอาจเกิดอาการเหนื่อยหอบ และหัวใจเต้นผิดจังหวะจนเสียชีวิตได้
1.4 ทำให้การควบคุมอุณหภูมิของร่างกายผิดปกติไป โดยผู้ที่เสพยาเมทิโลน อาจมีอาการตัวเย็นสลับกับอาการตัวร้อน แต่จะพบเห็นผู้ที่เสพเมทิโลนมีอาการตัวร้อนมากกว่าตัวเย็น
1.5 กระตุ้นให้ร่างกายมีการขับเหงื่อออกมามากกว่าปกติ
1.6 ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ด้วยยาเมทิโลนสามารถส่งผลให้เกิดภาวะหลอดเลือดหดตัวจนเป็นเหตุให้เลือดไหลเวียนได้ยากยิ่งขึ้น จึงทำให้ความดันโลหิตสูงในที่สุด
1.7 เกิดภาวะร่างกายสูญเสียน้ำ/ภาวะขาดน้ำมากกว่าปกติ และมักจะมีอาการปากแห้งร่วมด้วย ภาวะดังกล่าวเป็นผลมาจากอัตราการเต้นของหัวใจที่สูงขึ้นจนกระทบต่อกระบวนการเผาผลาญพลังงานและเกิดการสูญเสียน้ำในระบบการทำงานของร่างกายเพิ่มขึ้น
1.8 การขับถ่ายปัสสาวะทำได้ยากขึ้น ด้วยยาเมทิโลนจะกระตุ้นให้ร่างกายปลดปล่อยฮอร์โมนที่ยับยั้งการขับปัสสาวะอย่าง ADH(ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง)
1.9 การมองเห็นภาพไม่ชัดเจน เกิดการแกว่งของภาพเคลื่อนไปมาอย่างรวดเร็ว ทำให้ตาพร่าชั่วคราวจากตาไม่สามารถปรับความชัดเจนของการมองเห็นได้เหมือนปกติ มีภาวะตากระตุก และรูม่านตาขยาย
1. รักษาสุขภาพร่างกายและจิตใจให้แข็งแรงเช่น การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
1.10 เกิดภาวะนอนกัดฟัน แต่ภาวะกัดฟันจากยาเมทิโลนจะน้อยกว่าผู้ที่เสพยา MDMA/ยาอี
2. ผลต่อการรับรู้และสภาพจิตใจของผู้บริโภค:
2.1 กดความรู้สึกวิตกกังวล หรือลดภาวะตระหนกจนเกินเหตุ แต่ขณะเดียวกันต้องใช้ยาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงจะทำให้ภาวะวิตกกังวลหายไป หรือกล่าวว่าเริ่มเสพติดยานี้แล้ว
2.2 เกิดอารมณ์เคลิบเคลิ้มหรือรู้สึกมีความสุขมากขึ้น ขณะที่ฤทธิ์ของยาเมทิโลนยังคงอยู่ในร่างกาย แต่อารมณ์เหล่านี้จะสูญหายไปเมื่อหมดฤทธิ์ของยา
2.3 มีอาการกล้าแสดงออกทางสังคมได้มากขึ้น ลดภาวะหวาดกลัว ลดการต่อต้านหรือลดตอบสนองจากสิ่งเร้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเฝ้าระวังตัวเองหรือจะกล่าวว่าสภาวะการป้องกันตัวเองถดถอยและไม่ปกติ
2.4 มีความรู้สึกว่าเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วและอยากได้ยาเมทิโลนเพิ่มขึ้นๆตลอดเวลาเพื่อให้ความรู้สึกนี้ผ่อนคลายลง
2.5 อาจกระตุ้นอารมณ์ทางเพศเล็กน้อย และ
2.6 มีความตื่นตัวไม่อยากนอน ไม่อยากพักผ่อน ซึ่งจะส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างมากในที่สุด
อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้เสพยาเมทิโลนที่เริ่มมีอาการติดยาชนิดนี้แล้ว เมื่อยาหมดฤทธิ์ สารสื่อประสาทของสมองที่เคยปลดปล่อยออกมา ก็จะถูกดูดเก็บกลับคืนเซลล์ประสาท หรือสูญเสียไปกับการใช้งานที่มากเกินไป จนส่งผลให้มีอาการต่างๆต่อไปนี้ตามมา เช่น เกิดความวิตกกังวล ความรู้สึกของประสาทสัมผัสของร่างกายถดถอย มีอารมณ์ซึมเศร้า หงุดหงิด การเคลื่อนไหวของร่างกายทำได้ไม่ดีเท่าเดิม ความคิดอ่านไม่เหมือนปกติ/แย่ลงมาก มีอาการตื่นตระหนกอยู่เรื่อยๆ เป็นต้น
กลไกการออกฤทธิ์ของเมทิโลนเป็นอย่างไร?
ยาเมทิโลนสามารถกระตุ้นทำให้มีการหลั่งสารสื่อประสาทในบริเวณเซลล์ประสาทก่อนไซแนปส์/ก่อนการเชื่อมต่อกระแสประสาทระหว่างเซลล์(Presynaptic releasing agent) เช่น Serotonin , Norepinephrine, และ Dopamine การปรับปริมาณสารสื่อประสาทดังกล่าวให้สูงขึ้น ทำให้การทำงานของสมอง และสภาพจิตใจเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้มีอาการเคลิ้มสบายหมดกังวล แต่ก็เกิดมีความตื่นตัว ของร่างกายจนเกินปกติ การเสพยานี้บ่อยๆ ต่อเนื่องจะส่งผลให้ติดยา และเกิดอาการ ถอนยาเมื่อหยุดเสพตามมา
ประโยชน์ทางคลินิกของเมทิโลนมีอะไรบ้าง?
ประโยชน์ทางคลินิกของยาเมทิโลน เช่น
- เคยใช้เป็นยาต้านเศร้าโดยการออกฤทธิ์กระตุ้นสมอง
- ใช้เป็นยากระตุ้นความบันเทิง(Recreational drug)
รูปแบบการจัดจำหน่ายเมทิโลนมีอะไรบ้าง?
มีการพบเห็นการลักลอบจำหน่ายยาเมทิโลนเป็น
- ยาชนิดรับประทาน
- ยาผงสูดพ่นเข้าทางจมูก
เมทิโลนมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง?
ยาเมทิโลน สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อตา: เช่น รูม่านตาขยาย
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ตัวสั่น อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เหงื่อออกมาก
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น วิตกกังวล มีอาการหวาดระแวง หลงผิด ประสาทหลอน ซึม กระสับกระส่าย ตื่นตระหนก มีความคิดอยากทำร้ายตนเองจนถึงขั้นฆ่าตัวตาย
******ทั้งนี้ การลักลอบซื้อหายาเมทิโลน มาใช้เอง จะทำให้เกิดอันตรายจากผลข้างเคียงของตัวยาได้อย่างรุนแรง เป็นพิษต่อการทำงานของ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท และระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย ตลอดจนกระทั่งมีการเสพติดยา และมีอาการถอนยาตามมา นอกจากนี้ยังเป็นการผิดกฎหมาย เสี่ยงต่อการถูกจับกุมและต้องโทษจำคุกด้วยเมทิโลนอยู่ในกลุ่มยาเสพติดให้โทษ
เมทิโลนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเมทิโลนเป็นยาที่ทำให้เกิดการหลั่งสารสื่อประสาทในสมองอย่าง Serotonin, Norepinephrine, และ Dopamine, เพิ่มมากขึ้น จึงห้ามใช้ยานี้ร่วมกับกลุ่มยา MAOIs ด้วยจะทำให้สารสื่อประสาทในสมองดังที่กล่าวมา เพิ่มปริมาณมากขึ้นจนเป็นเหตุ ให้เกิดภาวะ Serotonin syndrome มีภาวะโคม่า และทำให้เสียชีวิตในที่สุด
บรรณานุกรม
- http://permitfortraveler.fda.moph.go.th/Document/%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%9A%203%20NARCO-list-update-26.08.2016.pdf [2018,Feb24]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Methylone [2018,Feb24]
- https://psychonautwiki.org/wiki/Methylone [2018,Feb24]
- http://www.narconon.org/drug-abuse/methylone-effects.html [2018,Feb24]